Skip to main content
sharethis

พัฒนาการทางระบบรักษาสุขภาพจิตที่ยำแย่ในอินโดนีเซีย ส่งผลให้ยังมีคนที่ถูกจับ "บำบัด" ด้วยวิธีการที่โหดร้ายที่เรียกว่า 'ปาซุง' คือล่ามหรือขังผู้ที่ต้องสงสัยว่าป่วยทางจิตไว้โดยไม่มีการทำความสะอาดร่างกายซึ่งฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่ายังคงมีคนราว 19,000 คน ถูกกระทำเช่นนี้

ที่มาของภาพประกอบ: https://id.wikipedia.org/wiki/Pasung

23 มี.ค. 2559 ในอินโดนีเซียเคยมีการปฏิบัติต่อผู้ที่มีอาการป่วยทางจิตโดยการนำพวกเขาไปล่ามโซ่ไว้เรียกว่า "ปาซุง" (pasung) ถึงแม้ว่าจะมีการสั่งแบนการปฏิบัติเช่นนี้ตั้งแต่ปี 2520 แต่ข้อมูลจากรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ก็บ่งบอกว่ายังมีคนราว 19,000 คนในอินโดนีเซียที่ถูกล่ามไว้หรือถูกกักขังไว้โดยเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่าการกระทำปาซุงถึงแม้จะถูกแบนมานานแล้วแต่การที่อินโดนีเซียยีงขาดบริการด้านสุขภาพจิตและสังคมสงเคราะห์ก็ทำให้ยังคงมีการใช้วิธีการปาซุงอย่างแพร่หลาย โดยจากข้อมูลของรัฐบาลอินโดนีเซียเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่าคนในอินโดนีเซียมากกว่า 57,000 คน เคยผ่านการกระทำปาซุงมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ในปี 2557 มีคนรายงานกรณีปาซุง 1,274 กรณีจาก 21 จังหวัด และมีการช่วยเหลือสำเร็จร้อยละ 93 จากกรณีทั้งหมด แต่ก็ไม่มีข้อมูลระบุว่ามีคนจำนวนมากเท่าใดที่บำบัดสำเร็จและมีจำนวนเท่าใดที่ต้องกลับไปถูกปาซุงอีก

ผู้ที่ถูกปาซุงจะถูกมัดข้อเท้าด้วยโซ่หรือถูกตรึงกับแผ่นไม้เป็นเวลาหลายชั่วโมง หลายวัน หลายเดือน หรือถึงขั้นหลายปี พวกเขามักจะถูกนำไปไว้ภายนอกอาคารในสภาพเปลือยเปล่าไม่สามารถชำระล้างตัวเองได้

นักวิจัยจากฮิวแมนไรท์วอทช์ได้พูดคุยกับชายผู้หนึงที่ล่ามลูกสาวตัวเองไว้เป็นเวลา 15 ปี เพราะกลัวว่าเธอจะถูกทำคุณไสยและไม่มีเงินพาเธอไปหาหมอ โดยบอกว่าเธอมีพฤติกรรมอันตรายอย่างการไปขุดพืชผักคนอื่นและกินข้าวโพดดิบๆ จากต้น ทำให้ผู้เป็นพ่อรู้สึกอับอายและกลัวว่าเธอจะทำอีกจึงได้ผูกเธอไว้ด้วยสายไฟแต่เธอก็แก้มัดหนีออกไปได้ทำให้ผู้เป็นพ่อต้องขังเธอไว้เพราะเพื่อนบ้านกลัวเธอ

ถึงแม้ว่าเธอจะถูกปล่อยตัวออกมา 2 เดือน หลังจากที่ฮิวแมนไรท์วอทช์เข้าไปเยี่ยมครอบครัวนี้ ผู้เป็นพ่อก็บอกว่าเธอถูกขังอยู่ในห้องอยู่ตลอด 15 ปี โดยที่กินอยู่ขับถ่ายในห้องโดยไม่มีการชำระล้างและเธอก็ไม่ได้อาบน้ำเลย เธออยู่ในนั้นโดยไม่สวมเสื้อผ้าและไม่มีใครเข้าไปเยี่ยมเธอ นอกจากอาหารสองมื้อต่อวันที่คนส่งให้เธอลอดช่องกำแพงแล้ว ครั้งเดียวที่เธอได้ติดต่อกับดลกภายนอกคือตอนที่มีเด็กๆ แถวบ้านขว้างปาก้อนหินใส่เธอ

กฤติ ชาร์มา นักวิจัยด้านสิทธิของคนพิการที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุในรายงานว่าถึงแม้ว่าการล่ามผู้คนที่ป่วยทางจิตจะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในอินโดนีเซียแต่ก็ยังเป็นสิ่งที่คนทำกันมาก ที่ผู้คนยังคงทำปาซุงกันอยู่เป็นเพราะรัฐบาลทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอในการให้ทางเลือกที่มีความเป็นมนุษย์มากกว่านี้

ถึงแม้ว่ารัฐบาลกลางของอินโดนีเซียจะมีโครงการริเริ่มทำให้อินโดนีเซียปราศจากการใช้วิธีปาซุงภายในปี 2562 แต่โครงการก็มีอุปสรรคจากระบบการเมืองและจากทรัพยากรหรือโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ โดยงานวิจัยระบุว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีหมู่เกาะจำนวนมากและมีประชากร 250 ล้านคนแต่มีนักจิตเวชวิทยาเพียง 800 คนและมีโรงพยาบาลจิตเวช 48 แห่งเท่านั้น และครึ่งหนึ่งตั้งอยู่ใน 4 จังหวัดจากทั้งหมด 34 จังหวัด

ทั้งนี้ยังมีปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณโดยที่รัฐบาลกลางอินโดนีเซียจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขไว้เพียงร้อยละ 1.5 ในปี 2558 และมีข้อมูลเผยให้เห็นว่าคนที่อาจจะต้องการบริการด้านสุขภาพจิตร้อยละ 90 ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้

โดยคนที่ถูกจับขังไว้ในสถานบำบัดยังเสี่ยงถูกกระทำรุนแรงทางร่างกายและทางเพศ หรือถูก "บำบัด" ด้วยวิธีการที่พวกเขาไม่ยินยอมพร้อมใจอย่างการถูกช็อตไฟฟ้า การจับแยกให้อยู่คนเดียว การกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือการบังคับคุมกำเนิด ทางฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุอีกว่ามีสถานบำบัดบางแห่งที่มีคนอยุ่รวมกันมากเกินไปและมีสุขลักษณะย่ำแย่มากจากการที่พวกเขาถูกบังคับให้ต้องกินนอนและขับถ่ายอยู่ในที่เดียวกัน ทั้งนี้ยังมีการอ้างใช้ "สมุนไพรวิเศษ" การใช้บทสวดทางศาสนา และการช็อตไฟฟ้าโดยไม่มีการใช้ยาสลบกับคนไข้

ในแง่การใช้ความรุนแรงทางเพศในสถานบำบัด มีการระบุในรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ว่าสถานบำบัด 7 แห่งในอินโดนีเซียมีการให้เจ้าหน้าที่ผู้ชายสามารถเข้าออกในส่วนของคนไข้หญิงได้ตามอำเภอใจซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับการล่วงละเมิดทางเพศ

รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ยังเรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียเน้นแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตโดยการยังยั้งไม่ให้มีการทำปาซุง และให้มีการตรวจสอบสถานบำบัดทั้งของรัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมในกฎหมายสุขภาพจิตปี 2557 เพื่อให้สิทธิผู้พิการทางจิตใจเทียบเท่ากับสิทธิของพลเมืองทั่วไป รวมถึงให้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพจิตและพัฒนาระบบสังคมสงเคราะห์ในชุมชน และที่สำคัญไม่แพ้กันคือต้องรับฟังเสียงจากคนที่ป่วยทางจิตและมีการปรึกษาหารือในเรื่องการบำบัดเพื่อทำให้พวกเขาได้รับการบำบัดอย่างยินยอมพร้อมใจ

 

เรียบเรียงจาก

'Living in hell': mentally ill people in Indonesia chained and confined, The Guardian, 21-03-2016 http://www.theguardian.com/global-development/2016/mar/21/living-in-hell-indonesia-mentally-ill-people-chained-confined-human-rights-watch-report

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net