Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



จากการติดตามวิธีการจับกุมและควบคุมตัวหลังรัฐประหาร พบว่า ยุทธวิธีที่ถูกหยิบนำมาใช้อยู่บ่อยครั้งคือ “การลักพาตัว” ซึ่งการลักพาตัวจะมีลักษณะร่วมกันอยู่หลายประการได้แก่

1) เป็นการจับกุมโดยกลุ่มบุคคลที่อาจเป็นทหารหรือตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ
2) เจ้าหน้าที่จับกุมไม่ได้แจ้งเหตุในการควบคุมตัว หรือไม่ได้แสดงหมายจับ
3) ไม่แจ้งสถานที่ควบคุมตัว
4) ไม่ให้สิทธิในการติดต่อญาติหรือทนายความ
5) การหายตัวไปจะอยู่ในช่วงเวลาไม่เกิน 7 วัน จากนั้นอาจจะปล่อยตัว หรือถูกพาตัวไปดำเนินคดี
6) การหายตัวไปอย่างปริศนาหลายครั้งไม่มีการชี้แจงต่อสาธารณะว่าเกิดอะไรขึ้นและเพราะอะไร

แต่สิ่งที่น่าสนใจพฤติการณ์การจับกุมและควบคุมตัวดังกล่าวก็คือ ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารในการกระทำดังกล่าวได้ กล่าวคือ ตามความเข้าใจว่าเป็นอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 แต่คำสั่งดังกล่าวก็ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างที่กำลังปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นการลักพาตัวดังกล่าวจึงถือเป็นการจับกุมและควบคุมตัวตามอำเภอใจ และเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีอยู่น้อยนิดให้หดหายไป และไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องเสรีภาพในการแสดงออก แต่รวมไปลุกลามไปถึงความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตอีกด้วย


คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 : ขอบเขตอำนาจในการจับกุมและควบคุมตัว

1) อำนาจการจับกุมทำได้เฉพาะการกระทำความผิดซึ่งหน้า และเฉพาะความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.

หากพิจารณาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ในข้อที่ 4 (2) ระบุว่า การที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือที่เรียกว่า "เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย" ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจจับกุมตัวบุคคลที่กระทำความผิดซึ่งหน้าเท่านั้น และการกระทำดังกล่าวนั้นต้องเป็นความผิดเฉพาะตามคำสั่งหัวหน้า คสช. อีกด้วย ซึ่งได้แก่

- ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ฯลฯ (มาตรา 107-112)
- ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร (มาตรา 113 - 118)
- ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธ เครื่องกระสุนปืน ฯลฯ ที่ใช้เฉพาะในการสงคราม
- ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่ง คสช. หรือ หัวหน้า คสช.

2) อำนาจควบคุมตัวทำได้เฉพาะออกหมายเรียกให้บุคคลมาให้ข้อมูลและทำการสอบถามข้อมูลไม่เสร็จ ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 7 วัน และต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลดังกล่าวได้กระทำความผิด หรือ ถูกจับเพราะชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อที่ 16 ระบุว่า การจะควบคุมตัวบุคคล 7 วัน ต้องมีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดได้กระทําความผิดตามที่คำสั่งหัวหน้าคสช. กำหนดไว้ และการควบคุมตัวดังกล่าวต้องเป็นไปโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ที่ควบคุมตัวเป็นสำคัญ เช่น ต้องมีเหตุจำเป็นที่ต้องขยายเวลาเพราะว่าได้ดำเนินการสอบถามข้อมูลอย่างเต็มที่แล้วแต่ยังไม่เสร็จ อีกทั้ง ก่อนที่จะควบคุมตัว ต้องออกเป็นหมายเรียกบุคคลดังกล่าวก่อนจึงจะควบคุมตัวไว้ได้ ไม่ใช่สามารถเข้าไปจับกุมและควบคุมตัวได้ตามอำเภอใจ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทหารจะปฏิบัติต่อบุคคลดังกล่าวในลักษณะเป็นผู้ต้องหามิได้ ส่วนการจะควบคุมตัวในกรณีอื่นก็เช่น ถูกจับกุมจากการชุมนุมทางการเมือง เจ้าหน้าที่ทหารสามารถสั่งให้ผู้ชุมนุมทางการเมืองเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยไม่เกิน 7 วัน


คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558: เปรียบเทียบขอบเขตอำนาจกับข้อเท็จจริงในการจับกุมและควบคุมตัว

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์: การจับกุมโดยไม่ได้กระทำความผิดซึ่งหน้าและก้าวล่วงอำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ซึ่งเขามีหมายจับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง แต่ทว่า เขากลับถูกชายฉกรรจ์แปดคนแต่งกายด้วยเครื่องแบบทหารบังคับให้ขึ้นรถยนต์ส่วนบุคคลที่ไม่มีป้ายทะเบียนแถวประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเขาได้หายตัวไปเป็นเวลากว่า 4-5 ชั่วโมง ก่อนจะถูกนำตัวไปสถานีตำรวจรถไฟธนบุรี

จากข้อมูลเกี่ยวกับการจับกุมและควบคุมตัว  ‘สิรวิชญ์’ พบว่า เป็นกลุ่มคนแต่งเครื่องแบบทหารเข้ามาจับกุม ซึ่งถ้าเป็นการใช้อำนาจจับกุมตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ก็จะต้องเป็นการกระทำความผิดเฉพาะหน้าเท่านั้น (และเป็นความผิดตามที่คำสั่งได้ระบุไว้) แต่ทว่า กรณีดังกล่าวสิรวิชญ์ไม่ได้กระทำความผิดใดๆ หรือถ้าจะอ้างว่าเป็นการจับกุมตามหมายจับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ที่ศาลทหารเป็นคนออก แต่อำนาจการจับกุมนั้นก็ยังเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจหาใช่อำนาจการจับกุมของเจ้าหน้าที่ทหาร

อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตต่อการจับกุมดังกล่าวอีกว่า ไม่มีบุคคลจาก คสช. ออกมาชี้แจงอย่างชัดเจนว่า การจับกุมตัว ครั้งนี้เป็นการจับกุมด้วยเหตุอันใด และเกิดขึ้นได้อย่างไร


วัฒนา เมืองสุข: การจับกุมโดยไม่ได้กระทำความผิดซึ่งหน้าและไม่ใช่ความผิดตามคำสั่ง คสช.

วัฒนา เมืองสุข  ถูกเจ้าหน้าที่ทหารนำกำลังไปที่บ้านในวันที่ 2 มีนาคม 2559 เพื่อพาตัวเขาไปที่ มทบ.11 โดยอ้างว่าเป็นการ “ปรับทัศนคติ” จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 ที่วิจารณ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า ใช้คำพูดไม่เหมาะ จากการกล่าวถึงกรณีทหารตามไปถ่ายรูป ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงศาลาสวดศพว่าเป็นเพราะ "ท่านสวย" อย่างไรก็ดี วัฒนาได้รับการปล่อยตัวในช่วงดึกของวันเดียวกันพร้อมโพสต์เฟซบุ๊กว่า เขาถูกควบคุมตัวเพื่อปรับทัศนคติตั้งแต่ 11.30 - 21.30 หลังจากนั้นถูกพาไปแจ้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่สน.นางเลิ้ง

จากข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนา เมืองสุข พบว่า เขาได้โพสต์ข้อความตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 แต่เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปจับกุมและควบคุมตัววัฒนา ในวันที่ 2 มีนาคม ทั้งนี้ หากดูจากลักษณะการกระทำ ต้องถือว่าการกระทำของบุคคลดังกล่าวได้เสร็จสิ้นตั้งแต่การโพสต์ข้อความเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนั้น ต้องไม่ถือว่าการกระทำของวัฒนาเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า แต่เจ้าหน้าที่กลับนำกำลังเข้าไปจับกุมและควบคุมตัววัฒนาจากบ้านพักไปค่ายทหาร ทั้งที่ไม่มีอำนาจในการกระทำดังกล่าวได้

นอกจากนี้ ภายหลังวัฒนาถูกพาตัวมาแจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่สน.นางเลิ้ง ซึ่งความผิดดังกล่าวไม่ใช่ความผิดที่อยู่ในเขตอำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารหรือ "เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย" จะเข้ามาจับกุมและควบคุมตัวได้

อย่างไรก็ดี จับกุมดังกล่าวก็มีลักษณะเช่นเดียวกับกรณีสิรวิชญ์ นั้นคือ ไม่มีบุคคลจาก คสช. ออกมาชี้แจงอย่างชัดเจนว่า การจับกุมตัว ครั้งนี้เป็นการจับกุมด้วยเหตุอันใด และเกิดขึ้นได้อย่างไร


สราวุธ บำรุงกิตติคุณ: การจับกุมโดยไม่ได้กระทำความผิดซึ่งหน้าและควบคุมตัวตามอำเภอใจ

สราวุธ บำรุงกิตติคุณ แอดมินเพจเปิดประเด็น กลายเป็นกระแสว่าหายตัวไปจากการบอกเล่าของเพจเฟซบุ๊ก ‘หยุดดัดจริตประเทศไทย’ ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  รายงานว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากญาติของสราวุธว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 30 นายได้ควบคุมตัวเขาไปจากที่พักในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2559 โดยในการควบคุมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งเหตุในการควบคุมตัว ไม่แจ้งสถานที่ควบคุมตัวและไม่ได้แสดงหมายจับ และญาติไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับสราวุธได้ในระหว่างการควบคุมตัว

นอกจากนี้เขายังให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีไทย อีกว่า การควบคุมตัวดังกล่าวเกิดจากกรณีที่มีผู้ไม่หวังดีแจ้งความว่าเขาเป็นพวกหมิ่นสถาบัน และรับจ้างทำเพจการเมือง ซึ่งเขาระบุว่าวันที่เกิดการควบคุมตัว มีเจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้ามาจำนวนมาก ทั้งทหาร ตำรวจในท้องที่ เจ้าหน้าที่กองบังคับการกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือปอท. ซึ่งเขายินดีให้ตรวจสอบอุปกรณ์ทุกอย่าง เพราะเชื่อว่าตนเองไม่ได้ทำผิดตามที่ถูกกล่าวอ้าง และเพจ “เปิดประเด็น” นั้นทำเป็นงานอดิเรก

ซึ่งจากข้อมูลเกี่ยวกับเขา พบว่า แม้จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าร่วมการจับกุมดังกล่าวด้วย แต่ทว่าไม่มีข้อมูลใดยืนยันได้ว่า มีการแสดงหมายจับ หรือแจ้งเหตุในการควบคุมตัว ทั้งนี้ จะอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าก็ขาดข้อมูลในการยืนยันการจับกุมตัวดังกล่าวอีกว่า จากกรณีใด หรือถ้าเป็นการโพสต์เฟซบุ๊กก็ย่อมไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าในลักษณะเดียวกับการจับกุมวัฒนา เมืองสุข

นอกจากนี้ การควบคุมตัวบุคคล สราวุธนั้น ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้แจ้งสถานที่ควบคุมตัว รวมถึงให้สิทธิในการติดต่อญาติ หรือทนายความ เพราะญาติก็ไม่สามารถตามหาตัวเขาได้เช่นกัน อีกทั้ง การควบคุมตัวดังกล่าวก็ไม่ใช่การควบคุมตัวตามหมายเรียกที่มีหลักฐานว่าเขาได้กระทำความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ไว้หรือไม่อีกด้วย

และในการควบคุมตัวดังกล่าวก็มีเจ้าหน้าที่กองบังคับการกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. แต่ไม่มีข้อมูลว่า การให้เจ้าหน้าที่ ปอท. เข้าถึงอุปกรณ์ของสราวุธเป็นไปอย่างถูกต้องชอบธรรมและมีการแสดงหมายศาลรวมด้วยหรือไม่ และกรณีดังกล่าวก็เป็นอีกกรณีที่ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ออกมาชี้แจงอย่างชัดเจนว่า การจับกุมตัว ครั้งนี้เป็นการจับกุมด้วยเหตุอันใด และเกิดขึ้นได้อย่างไร


คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558: ผลกระทบกับความเสี่ยงต่อสิทธิเสรีภาพและระบบยุติธรรม

แม้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จะเขียนไว้เพื่อควบคุมการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารอย่างไร แต่ดูเหมือนข้อเท็จจริงจะไม่ปรากฏตามนั้น ทั้งนี้ จะขอไล่เรียงปัญหาจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ทหารภายหลังการมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 รวมไปถึงอำนาจพิเศษอื่นๆ เช่น กฎอัยการศึกด้วย ดังนี้


การจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลใดก็ได้ตามอำเภอใจ ทำให้เสี่ยงต่อการอุ้มหายและซ้อมทรมาน

ต้องยอมรับความจริงที่ว่า กฎอัยการศึกก็ดี คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ก็ดี หรือคำสั่งและประกาศอื่นๆ ของ คสช. ล้วนแล้วแต่เป็น “อำนาจพิเศษ” ทั้งสิ้น เพราะ ในหลักการกระบวนการยุติธรรมปกติ กำหนดว่า การจับกุมโดยไม่มีหมายจับจะทำไม่ได้ เว้นแต่เป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า รวมถึงต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือการกระทำความผิด อีกทั้ง การควบคุมตัวโดยไม่แจ้งสถานที่ควบคุมตัว ไม่ให้พบกับญาติหรือติดต่อทนายความจะกระทำมิได้  แต่การใช้อำนาจพิเศษเหล่านี้ได้ทำลายหลักการข้างต้นจนหมด ซึ่งผลที่ตามคือเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง เช่น การบังคับให้บุคคลสูญหายหรืออุ้มหาย และการซ้อมทรมาน และที่ผ่านมาสังคมไทยมีบทเรียนมาแล้วหลายกรณีไม่ว่าจะเป็น กรณี 28 วันที่หายไปของคุณกริชสุดา หรือคำบอกเล่าของผู้ต้องหาอาวุธที่ถูกซ้อมทรมาน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

การหายตัวไป 28 วัน ของกริชสุดา คุณาแสน และแฟนหนุ่ม อภิรัฐ ศรีปัตเนตร ซึ่งกรณีนี้ทราบเพียงแต่ข้อมูลของกริชสุดาว่า เธอถูกตำรวจจับกุมที่จังหวัดชลบุรีตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557 แต่กลับได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งรวมเวลาที่ถูกควบคุมตัว 28 วัน ทั้งที่ กฎอัยการศึกให้อำนาจควบคุมตัวไม่เกิน 7 วัน และแม้ว่าทางการจะเปิดเผยและยอมรับในภายหลังว่าเธออยู่ในการควบคุมตัวของรัฐและตัวเธอยินยอมด้วยตัวเอง แต่จากการให้สัมภาษณ์ภายหลัง เธอก็บอกว่าเธอถูกปิดตาและมัดมือเป็นเวลา 7 วัน ถูกทำร้ายร่างกายโดยโดนตบหน้า ชกที่ใบหน้าและลำตัว ตลอดจนใช้ถุงคลุมหัวทำให้ขาดอากาศหายใจ และมีความเป็นได้ที่แฟนของเธอจะถูกปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน

ชัชวาล ปราบบำรุง ชายพิการที่เสียขาข้างซ้ายจากอุบัติเหตุ ได้ถูกจับกุมพร้อมกับภรรยากลางสี่แยกในจังหวัดเชียงใหม่โดยเจ้าหน้าที่ทหารราว 50 คน อาวุธครบมือ ระหว่างควบคุมตัวเขาถูกมัดมือไขว้หลังและถูกทำร้ายร่างกายโดยชายที่สวมหน้ากากรูปสัตว์ 2 คน พร้อมกับมีการข่มขู่ว่าจะข่มขืนภรรยยาของเขา จากนั้นถูกนำตัวไปบนรถตู้และถูกทำร้ายร่างกายอยู่ตลอดการเดินทาง นอกจากนี้ระหว่างการควบคุมตัว เขาถูกนำสายไฟพันสำลียัดเข้าไปในช่องทวารหนัก และอีกส่วนหนึ่งนำมามัดที่อวัยวะเพศ เอาน้ำราดแล้วปล่อยกระแสไฟช็อต เมื่อร้องก็ถูกถุงพลาสติกดำคลุมศีรษะทำให้ร้องไม่ได้และหายใจติดขัด นอกจากนี้ยังมีการนำปืนพกสั้นยัดใส่ปากพร้อมบังคับให้สารภาพว่านำอาวุธไปซ่อนไว้ที่ใด เขาถูกควบคุมตัวนานหลายวันก่อนที่จะถูกนำตัวมาแถลงข่าวและแจ้งข้อกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุยิงระเบิด M79 หลายเหตุการณ์

นอกจากนี้ ในส่วนของภรรยาชัชวาล ก็มีข้อมูลจากคำบอกเล่าของเธอว่า ในระหว่างที่ควบคุมตัวเธอจะถูกเจ้าหน้าที่ทหารปิดตาเป็นระยะๆ และมีอยู่ครั้งหนึ่งเจ้าหน้าที่ทหารได้พาตัวเธอไปสถานที่แห่งหนึ่ง โดยมัดมือไพล่หลังและปิดตาใส่หมวกไอ้โม่งคลุมหน้า มีวัสดุคล้ายๆ ถุงน่องคลุมทับอีกที หลังจากที่ถูกพาตัวลงจากรถ เธอได้ยินเสียงผู้ชายคุยกันเสียงดังและแซวกันว่า “มีผู้หญิงมาๆ” และเจ้าหน้าที่จึงพาเดินขึ้นบันไดแล้วบอกให้เข้ามุม ทำเสียงเหมือนจะทำร้าย และมีเสียงของผ้าที่ถูกฉีกขาด ก่อนจะพาตัวเธอกลับ นอกจากนี้ ในการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ทหารบางครั้งมีการปิดตาและใส่กุญแจมืออีกด้วย


การให้ทหารควบคุมตัวบุคคลเพื่อสอบถามข้อมูลได้โดยไม่ต้องมีทนายความ เสี่ยงต่อการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม

การเรียกบุคคลเพื่อมาสอบถามข้อมูลและสามารถควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน ของเจ้าหน้าที่ทหารถือเป็นการแทรกแซงและทำลายความชอบธรรมของการสอบสวนซึ่งเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม กล่าวคือ คำสั่งหัวหน้า คสช. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารสามารถช่วยเหลือ สนับสนุน และเข้าร่วมการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าร่วมการสอบสวนก็ให้ถือว่าเจ้าหน้าที่ทหารคนดังกล่าวเป็นพนักงานสอบสวนไปด้วย

ดังนั้น ถ้าหากให้เจ้าหน้าที่ทหารเป็นพนักงานสอบสวนไปด้วย ก็เท่ากับว่า ข้อมูลซึ่งได้มาด้วยกระบวนการมิชอบ หรือข้อมูลที่ได้มาจากการเรียกบุคคลเพื่อมาสอบถามข้อมูลและควบคุมตัวไว้ไม่เกิน 7 วัน โดยที่ไม่ได้มีทนายความเข้าร่วมการสอบสวนก็จะถูกนำมาใช้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกระบวนการดังกล่าวย่อมขัดต่อหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่กำหนดว่า ในการสอบสวนหรือให้การของผู้ต้องหาต้องมีให้สิทธิกับผู้ต้องหาที่จะมีทนายความเข้าร่วมการสอบสวน และบางกรณีเจ้าหน้าที่พยายามใช้ขั้นตอนดังกล่าวเพื่อบีบบังคับให้ผู้ต้องหารับสารภาพ อย่างเช่น การจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาคดีอาวุธซึ่งได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น

แม้จะไม่ปรากฎโดยแน่ชัดว่า ในสำนวนของพนักงานสอบสวนมีการปนเปื้อนจากกระบวนการได้ข้อมูลด้วยวิธีที่มิชอบมากน้อยเพียงใด แต่การเปิดช่องให้สามารถล้างมลทินให้กับข้อมูลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ก็ถือเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและทำลายความชอบธรรมในการสอบสวนอันส่งผลต่อความถูกต้องชอบธรรมของกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม


การยึด-ตรวจ-ค้นหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่มีหมายศาล เสี่ยงต่อการทำให้หลักฐานขาดความน่าเชื่อถือ

อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 กำหนดไว้ว่า การจะยึดหรืออายัดทรัพย์สินได้นั้น ต้องมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลดังกล่าวได้ใช้เพื่อกระทำความผิดตามที่ระบุในคำสั่ง คสช. ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากต้องรอหมายค้นแล้วจะเป็นการล่าช้าอันจะส่งผลให้ทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทําลาย หรือทําให้ เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ทั้งนี้ เนื่องจากการยึด ตรวจ หรือค้นหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีความละเอียดละอ่อนมาก เพราะมีโอกาสที่ข้อมูลจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือ "ขาดความน่าเชื่อถือ" ดังนั้น การเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่สามารถอ้างเหตุโดยที่ไม่มีองค์กรตุลาการเข้ามาตรวจทางอำนาจดังกล่าวก็ย่อมมีความเสี่ยงที่พยานหลักฐานนั้นจะไม่ถูกต้องชอบธรรม

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบในกรณีการควบคุมตัวสราวุฒิ แอดมินเพจเปิดประเด็น มีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่จากกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดูมีความเชี่ยวชาญในการเก็บหลักฐาน แต่ทว่า จากข้อมูลการจับกุมและควบคุมตัวไม่ได้ระบุว่าการเข้าไปตรวจสอบอุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่นั้นมีการแสดงหมายค้น ที่ต้องเป็นไปตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ที่กำหนดว่า แม้เจ้าหน้าที่จะมีอำนาจสั่งให้บุคคลส่งมอบอุปกรณ์ข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์  แต่ก็ต้องเป็นไปเพื่อการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดเท่าที่จำเป็น อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจก่อน เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องส่งสำเนาบันทึกเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทำความผิดมอบให้เจ้าของคอมพิวเตอร์ที่จะยึดไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วต้องส่งสำเนาบันทึกรายละเอียดและเหตุผลแห่งการดำเนินการให้ศาลที่มีเขตอำนาจภายใน 48 ชั่วโมง หรือกล่าวได้ว่า ตามกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นั้นต้องให้ศาลเข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจอีกชั้นหนึ่งก่อน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ในกรณีของสราวุฒิ แอดมินเพจเปิดประเด็น  แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่ผู้เชียวชาญเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ทว่า ก็ยังเป็นอำนาจที่ใช้โดยมิชอบเพราะไม่ได้เป็นไปตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงหมายศาล และเป็นการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 โดยที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่า การใช้อำนาจดังกล่าวนั้นถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ และท้ายที่สุดหากข้อมูลดังกล่าวถูกนำไปใช้ในการดำเนินคดีแต่มีที่มาที่ไม่ถูกต้อง มันก็จะมีผลต่อความเป็นธรรมของผู้ต้องหาอย่างแน่นอน


การให้อำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลเนื่องจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คือ การรักษาฐานอำนาจและปิดปากประชาชน

ความผิดตามประกาศหรือคำสั่ง คสช. ที่ให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการจัดการปราบปรามได้นั้น มีความผิดฐานการชุมนุมทางการเมืองและกินเนื้อที่ไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์ คสช. อีกด้วย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องให้การคุ้มครอง และมิใช่แค่นั้น เนื่องจากไม่มีการกำหนดความผิดที่ชัดเจนในประกาศหรือคำสั่ง คสช. เรื่องการแสดงความคิดเห็น แต่เจ้าหน้าที่ก็ใช้อำนาจในการจับกุมตัว บุคคล รวมไปถึงควบคุมตัวบุคคล ตามข้อกล่าวหาอื่น เช่น ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อย่างการจับกุม วัฒนา เมืองสุข ที่โพสต์วิพากษ์วิจารณ์ พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ

นอกจากนี้ การให้เจ้าหน้าที่สามารถปราบปรามผู้กระทำความความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในหมวดความมั่นคงได้ อย่างเช่น มาตรา 116 หรือความผิดจากการ “ยุยงปลุกปั่น” ก็กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ตีความได้อย่างกว้างขว้างอันนำไปสู่การจับกุมและควบคุมตัวที่เกินกว่าเหตุ อย่างเช่น  กรณีรินดา ที่ถูกจับจากการโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ และภรรยา โอนเงินไปสิงคโปร์หลายหมื่นล้านบาท และสุดท้ายเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาว่าผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และข้อหาฐานยุงยงปลุกปั่นให้ประชาชนไม่เคารพกฎหมายและก่อเหตุความรุนแรง ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาซึ่งมีโทษสูงสุดถึง 7 ปี ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวเธอที่บ้านและพาค่ายทหาร มทบ.11 โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แสดงหมายจับ ทั้งนี้เธอไม่ได้ติดต่อญาติหรือทนายความแต่อย่างใด


รักวัวให้ผูก : ข้อเสนอแนะต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารตามคำสั่งหัวหน้า คสช.

ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือพลั้งเผลอของ คสช. แต่เจ้าหน้าที่ใต้สังกัดของรัฐบาลต่างก็ทำหน้าที่อย่างแข็งขันอย่างเข้าใจผิด อีกทั้งยังไม่มีการแถลงหรือชี้แจงจาก คสช. หรือ รัฐบาลว่า จะดำเนินการแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น รวมไปถึงจะรับผิดชอบและดำเนินการแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร ดังนั้น เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย จึงมีข้อเสนออย่างน้อยต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังนี้

1) ห้ามการจับกุมผู้กระทำความผิดจากการโพสต์เฟซบุ๊กโดยไม่มีหมายจับ เพราะไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า
2) การควบคุมตัวบุคคลต้องมีหมายเรียกที่ระบุหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลดังกล่าวได้กระทำความผิด อีกทั้ง ต้องควบคุุมบุคคลเฉพาะเท่าที่จำเป็น
3) ในระหว่างการควบคุมตัวเพื่อสอบถามข้อมูลต้องมีทนายความเข้าร่วมด้วยทุกครั้ง
4) การจะยึดค้นพยานหลักฐานโดยเฉพาะหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
5) ยกเลิกการจับกุมและควบคุมจากการแสดงออกทางการเมือง

อย่างไรก็ดี บทเรียนที่แสนสำคัญสำหรับเหตุการณ์อันน่าเศร้าเหล่านี้ก็คือ ความน่ากลัวของอำนาจเบ็ดเสร็จ เพราะไม่ว่าจะเขียนกฎหมายควบคุมการใช้อำนาจไว้รัดกุมแค่ไหน แต่เมื่อขาดกลไกในการคัดคาน ตรวจสอบ ถ่วงดุล ก็ไม่อาจหยุดยั้งสัญชาตญาณของผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจได้ และไม่ใช่แค่นั้น เผด็จการเหล่านี้ยังสามารถลอยนวลโดยไม่ต้องรับผิดได้ เพราะได้นิรโทษกรรมตนเองล่วงหน้าไว้แล้ว ดังนั้น วิกฤติสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมในครั้งนี้จึงไม่ใช่ความผิดของเผด็จการแต่เพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงกลไกต่างที่สนับสนุนให้ความเลวร้ายเหล่านี้ยังดำรงต่อไปอีกด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net