Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เวลาเอ่ยถึงนักเตะที่ยิ่งใหญ่แต่ไม่เคยได้ชูถ้วยฟุตบอลโลก “คิงโยฮัน” หรือ “นักเตะเทวดา” โยฮัน ครัฟฟ์ มักเป็นชื่อแรกที่หลายคนนึกถึง โลกฟุตบอลได้ยินข่าวของเขาอีกครั้งด้วยเรื่องราวของการต่อสู้กับมะเร็งที่เขาประกาศว่า “อยู่ในช่วงพักครึ่งและมีสกอร์นำสองประตู” ในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง  น่าเสียดายที่ครัฟฟ์พ่ายแพ้ต่อโรคมะเร็งและเสียชีวิตในวันนี้ (24 มีนาคม ค.ศ. 2016)  ในโอกาสนี้ ผู้เขียนจึงทำการเขียนถึงชีวิตของอย่างสังเขป เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อเขา ถึงแม้ไม่ได้ดูเขาเล่นอย่างสดๆ แต่ผู้เขียนก็เติบโตกับการดูฟุตบอลภายใต้มรดกหลายประการของเขา

ในความเห็นของผู้เขียน โยฮัน ครัฟฟ์ ไม่ได้เป็นเพียงแค่นักเตะที่เล่นได้ฉลาดและสง่างามที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์วงการลูกหนัง แต่เขายังเป็นผู้จัดการทีมและผู้ทรงภูมิในวงการฟุตบอลที่เปรียบเสมือนเสาหลักของการเล่นฟุตบอลอย่างมีชีวิตชีวา (pro-active) และมักแสดงความเห็นต่อการเล่นฟุตบอลที่เป็นไปอย่าง “น่าเกลียด” ได้อย่างแสบสัน และมีความเห็นที่ค่อนข้างกวนประสาทบ่อยครั้ง เช่นเขาให้ความเห็นต่อการเล่นที่เน้นโชว์ลีลาอย่างพร่ำเพรือว่า ควรไปอยู่ในละครสัตว์ มากกว่าสนามฟุตบอล หรือการเล่นบอลที่ทำได้ยากที่สุดคือการเล่นที่เรียบง่ายที่สุด

ครัฟฟ์เป็นชาวอัมสเตอร์ดัมโดยกำเนิด เขาลืมตาดูโลกในปี ค.ศ. 1947 หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดในสองปี ชีวิตในวัยเด็กของเขาก็ดำเนินไปเฉกเช่นกับนักเตะระดับตำนานหลายคน คือดำเนินชีวิตอย่างลำบากต้องต่อสู้และฝ่าฝันกับอุปสรรคในชีวิต เนื่องจากเขาเสียพ่อไปตั้งแต่เด็ก และพึ่งพิงแม่ที่ทำงานเป็นคนงานของสโมสรอาแจกซ์ อัมสเตอร์ดัม เท่านั้น แต่ชีวิตในวัยเด็กที่ลำบากและการเริ่มต้นเตะลูกหนังในถนนบ่มเพาะความเป็นนักสู้และสัญชาติญาณระดับเทพให้เขา และในเงื่อนไขที่แม่ทำงานให้กับสโมสรฟุตบอลทำให้ฝีเท้าของเขาไปเตะตา วิค บัคคิงแฮม ผู้จัดการทีมชาวอังกฤษที่เติบโตจากจารีตการเล่นบอลที่เน้นการผ่านบอลสั้น ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายนักที่เขาได้รับโอกาสลงสนามนัดแรกให้ทีมเมื่ออายุเพียงแค่สิบเจ็ดปี แต่เขาก็ได้กล่าวว่าหากเขามาเกิดในยุคปัจจุบัน เขาคงโดนเตะออกจากระบบเยาวชน เพราะระบบการคัดเลือกในปัจจุบันเน้นการวัดผลผ่านสถิติ เช่นวิ่งได้เร็วเท่าไหร่ หรือเตะได้ไกลเท่าไหร่ เพราะความฉลาดและวิสัยทัศน์ของเขาไม่สามารถวัดด้วยสถิติได้

ความยิ่งใหญ่ของครัฟฟ์ในฐานะนักเตะเริ่มได้รับการจดจำในฐานะหนึ่งในแกนนำในทีมอาแจกซ์ชุดคว้าถ้วยยุโรปสามสมัยติดต่อกัน (ค.ศ. 1971-3) และการนำชาติที่เคยไร้ลำดับชั้นด้านฟุตบอลอย่างฮอลแลนด์ผ่านเข้าถึงรอบชิงฟุตบอลโลกที่เยอรมนีตะวันตกในปี ค.ศ. 1974 ได้ โดยปราบสามชาติมหาฟุตบอลแห่งอเมริกาใต้อันได้แก่ บราซิล อาร์เจนติน่า และอุรุกวัย ลงเสียราบคาบ ผลงานอันยิ่งใหญ่ของเขาในทีมสโมสรและทีมชาติล้วนอยู่ภายใต้การคุมทีมของ “ท่านนายพล” รินุต มิเชล [1] ผู้เป็นริเริ่มระบบการเล่นที่เรียกกันว่า “โททัลฟุตบอล (Total Football)” อันเป็นระบบที่สามารถเขียนในกระดาษในรูปของ 4-3-3 แต่อยู่บนพื้นฐานของการสลับตำแหน่งของผู้เล่น การขยายและลดพื้นที่ (ดังที่ครัฟฟ์มักกล่าวเสมอว่า เมื่อเป็นฝ่ายรุกขยายพื้นที่ให้กว้างที่สุด และเมื่อต้องตั้งรับบีบพื้นที่ให้แคบที่สุด) การเพรสซิ่งอย่างหนักหน่วง รวมไปถึงปรัชญาที่ว่าผู้รักษาประตูคือผู้เริ่มต้นเกมรุก และกองหน้าคือผู้เริ่มต้นเกมรับ

โจนาธาน วิลสัน นักวิจารณ์ลูกหนังชื่อดังได้กล่าวไว้ว่า ระบบโททัลฟุตบอล ไม่ได้เป็นผลสำเร็จจากความอัจฉริยะของมิเชล ครัฟฟ์ และพวกพ้องเท่านั้น แต่ยังเป็นผลจากการพัฒนาโภชนาการและระบบการดูแลร่างกายที่ทำให้นักฟุตบอลมีสมรรถนะที่ดีขึ้น และการขยายตัวของแนวคิดปรัชญาแบบโครงสร้างนิยมที่มองสังคมหรือสรรพสิ่งที่มีความเป็นองค์รวมและเชื่อมต่อกัน ระบบโททัลฟุตบอลได้สร้างแรงกระเพื่อนให้กับวงการฟุตบอลยุโรปและอเมริกาใต้ ในด้านหนึ่ง วงการฟุตบอลอิตาเลียนได้ทำการผสมผสานการเล่นโททัลฟุตบอลเข้ากับมรดกการตั้งรับแบบคาเตนัตโช่ เช่นเอนโซ่ แบร์ชอต ผู้พาอิตาลีคว้าแชมป์โลกสมัยที่สาม หรือยกระดับการเล่นเพรสซิ่งให้ก้าวร้าวไปอีกระดับ ดังกรณีของอารริโค่ ซาคคี่ ในการคุมทีมเอซี มิลาน ในอีกด้านหนึ่ง ทีมในอเมริกาใต้เริ่มหันมาพัฒนาการเล่นเพื่อมาต่อสู้กับโททัลฟุตบอล เช่นการปรับสปีดการเล่นให้รวดเร็วขึ้น อันปรากฏในทีมอาร์เจนติน่าของเซซ่าร์ หลุยส์ เมนนอตติ เพราะระบบนี้เป็นไม้ตายที่ปราบระบบการเล่นบอลอเมริกาใต้ที่เน้นความสามารถเฉพาะตัวและการทำเกมจากตรงกลาง อันเป็นผลจากการเปลี่ยนจากการคุมตัวต่อตัวเป้นการคุมพื้นที่แทน ครัฟฟ เคยกล่าวว่า หากฮอลแลนด์เปิดพื้นที่ให้เพลย์เมคเกอร์อเมริกาใต้ แผงกองหลังก็เตรียมถูกฉีกขาดวิ่นด้วยลูกจ่ายอันสร้างสรรค์ 

ยิ่งกว่านั้น ชีวิตนักเตะของครัฟฟ์ได้รับการยกระดับเป็นตำนานขึ้นไปอีก เมื่อเขาย้ายไปบาร์เซโลน่า และพาทีมคว้าทีมแชมป์ลีกครั้งแรกในรอบหลายปีได้สำเร็จ และความสำเร็จในคาบสมุทรไอบีเรียของเขาเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศทางเมืองหลังการตายของนายพลฟรังโก เผด็จการที่กดขี่สเปนอย่างยาวนาน ที่ผู้คนได้ปลดปล่อยความเก็บกดทางการเมืองและอัตลักษณ์ โดยเฉพาะในแคว้นที่ถูกกดขี่อย่างคาตาลันและบาสก์ การปาดหน้าทีมในเมืองหลวงอย่าง รีล แมดริด ซึ่งเป็นทีมที่ฟรังโกเป็นผู้อุปถัมภ์ และยังจัดการระเบิดฟอร์มถล่มไปถึงห้าประตู เปรียบเสมือนการแสดงความท้าทายต่อการปกครองที่รวมศูนย์ และในขณะเดียวกัน การท้าทายยังเกิดในแคว้นบาสก์ที่ผู้เล่นของทีมรีลโซเซียดัด และแอลเลติก บิลเลา ถือธงชาติบาสก์ลงสนาม เฉกเช่นเดียวกับในแดนกังหัมส้ม ความสำเร็จในบาร์เซโลน่าของครัฟฟ์อยู่ภายใต้การดูแลของมิเชล และการช่วยเหลือของมิสฟิวด์ไดนาโมระดับตำนาน อย่างโยฮัน นีสเกนส์

หลังจากกลับจากการไปขุดทองในสหรัฐอเมริกาในยุคของความรุ่งเรืองประเดี๋ยวประด๋าวของซอคเกอร์  ครัฟฟ์จบชีวิตนักเตะของเขาที่บ้านเกิดของตัวเองด้วยการกลับมาเล่นให้กับทีมอาแจกซ์ ก่อนจะดราม่าย้ายฟากไปร่วมทีมเฟเนยูรด์ แห่งเมืองรอสเธอร์ดัม อันเป็นคู่แข่งที่ร่วมโลกกันไม่ได้ แต่ก่อนจะแขวนรองเท้า เขาได้พบนักเตะดาวรุ่งคนหนึ่งนามว่า มาร์โก ฟาน บาสเท่น และขอเสื้อของนักเตะคนนั้นเก็บไว้ เพราะคิดว่าเด็กหนุ่มคนนี้ต้องเป็นศูนย์หน้าระดับโลก  อย่างไรก็ตาม ครัฟฟ์ได้รับใช้ทีมชาติในการแข่งขันรายการเดียวเท่านั้น เนื่องจากเขาปฏิเสธในการไปเข้าร่วมฟุตบอลที่อาร์เจนติน่าในปี ค.ศ. 1978 ไม่ใช่เพราะเหตุผลเรื่องจุดยืนทางการเมืองต่อต้านเผด็จการอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เพราะว่าครอบครัวถูกจับไปเป็นตัวประกันก่อนการแข่งขันเริ่มต้นหนึ่งปีหรือสองปี

ครัฟฟ์ใช้ชีวิตหลังจากแขวนรองเท้าของเขา ด้วยการเป็นผู้จัดการทีมของบาร์เซโลน่า ที่สร้างดรีมทีมอันประกอบด้วยเด็กท้องถิ่นอย่างกราดิโอล่า หรือเซร์กี้ บาร์ฆวน และนักเตะระดับเทพอย่างไมเคิล เลาดรู๊ป โรมาริโอ และสตอยคอฟ ที่สามารถพาสโมสรคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพครั้งแรกได้ ครัฟฟ์ยังได้จัดการวางรากฐานการเล่นที่ปัจจุบันรู้กันในนามติกี้ ตาก้า และการพัฒนาเยาวชนที่ศูนย์ลา มาเซีย อันโด่งดัง คงไม่ต้องบอกว่าสิ่งที่ครัฟฟสร้างไว้ยิ่งใหญ่ขนาดไหน เพราะความสำเร็จของบารืซ่าในรอบสิบปีหลัง เป็นมรดกของเขา และไม่ว่ามีตำแหน่งอย่างเป็นทางการในสโมสรหรือไม่ ครัฟฟ์ยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลในคาตาลันเสมอ การแต่งตั้งผู้จัดการทีมต้องได้รับการรับรองจากเขา  แน่นอนว่าแนวทางการพัฒนาฟุตบอลในคาตาลันของเขาเป็นสืบสานมรดกโททัลฟุตบอลที่อยู่พื้นฐานของการเล่นบอลสั้น สลับตำแหน่ง และมีเซนส์ในการรักษาและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ฉลาด

กระนั้นก็ตาม ครัฟฟก็มีข้อเสียเฉกเช่นปุถุชนทั่วไป เขามีนิสัยที่โอหัง เย่อหยิ่ง อวดดี สมกับสมญานามของเขา ดังเห็นได้จากช่วงรับตำแหน่งบริหารที่อาแจกซ์ที่สร้างความขัดแย้งกับคนไปทั่ว และได้แสดงความเห็นถึงผู้บริหารบางคนอย่างไม่เคารพ เช่นในกรณีของเซดอฟฟ์ ที่ครัฟฟ์ให้ความเห็นว่ามานั่งตำแหน่งผู้บริหารได้ เพราะเป็นคนดำ

ในท้ายที่สุด ผู้เขียนในฐานะแฟนบอลคนหนึ่งขอให้ความเห็นว่า ถึงแม้ความสำเร็จของครัฟฟ์เกิดขึ้นจากเงื่อนไขและบุคคลที่รายล้อมเขา แต่บุคลิคที่โดดเด่นและดุดันทำให้เขาเข้าสู่กระบวนการบุคลาธิษฐาน (personification) ของแนวคิดโททัลฟุตบอล ครัฟฟจึงไม่ได้เป็นแค่นักฟุตบอลผู้ยิ่งใหญ่ แต่คือเสาหลักทางศีลธรรมและราษฎร์อาวุโสของสำนักการเล่นฟุตบอลแนวบุกสมัยใหม่ที่ โจนาธาน วิลสัน ขนานว่า “Barcajax”  การไม่ได้แชมป์ฟุตบอลโลกของเขาไม่ได้ทำให้เขาหายไปจากความทรงจำในโลกลูกหนังอย่างแน่นอน เพราะเขาได้ทิ้งมรดกอันมีค่ากว่าการได้เหรียญรางวัล มรดกนั้นคือการเล่นฟุตบอลอย่างมีชีวิตชีวา เพื่อความอิ่มเอมของผู้ชม ซึ่งเป็นปรัชญาที่เขายืนยันตลอดชีวิตของเขา
   
 

อ้างอิง

[1] แต่แชมป์ยุโรปในปี ค.ศ. 1972 และ 1973 มิเชลไม่ได้เป็นผู้จัดการทีม ในขณะนั้นคนคุมบังเหียนคือ สเตฟาน โควัทส์ ชาวรูมาเนีย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net