อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: ความเหลื่อมล้ำและความรุนแรงที่เบลเยี่ยม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ขอประนามการคร่าชีวิตคนบริสุทธิ์ที่เบลเยี่ยมอย่างไร้มนุษยธรรม ไม่ว่าผู้ก่อการร้ายจะอ้างเหตุผลที่สูงส่งประการใดก็ไม่มีน้ำหนักแม้แต่น้อยให้แก่การกระทำที่ไม่มีจิตใจเยี่ยงมนุษย์เช่นนี้ ต้องย้ำด้วยว่าหากจะคิดถึงการสร้างรัฐศาสนาก็จะต้องสร้างด้วยศรัทธาของการเห็นคุณค่าของมนุษย์รัฐศาสนาไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยความหวาดกลัว ไม่ว่าจากชนชาติศาสนาเดียวกันหรือเพื่อนร่วมโลกต่างศาสนา

แทนที่การก่อการร้ายอันต่อเนื่องจากปารีส ประเทศฝรั่งเศส มาถึงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม จะทำให้รัฐตะวันตกทั้งหลายหวาดกลัวกลับจะเปิดโอกาสให้เกิดการรวมตัวกันของประชาคมยุโรปเข้มแข็งมากขึ้น และที่น่ากังวลมากว่าจะเกิดการตอบโต้ที่รุนแรงทำร้ายและทำลายชีวิตเพื่อนมนุษย์ลงมาสู่ระดับคนธรรมดาสามัญด้วย

การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นกลางเมืองเช่นนี้จะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อชุมชนมุสลิมที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ในประเทศเบลเยี่ยม (และที่อื่นๆ ในยุโรป) เพราะการรับรู้ข่าวสารผ่านสื่อเป็นการสร้างแบบ“เหมารวม” ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดที่ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างคนร้ายกับคนดีได้ เพราะภาพโดยรวมจะทำให้เข้าไปว่ากระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นจากกลุ่มหัวรุนแรงหรือกลุ่มเน้นศาสนา(Fundamentalism) การเสนอภาพรวมเช่นนี้ก่อให้เกิดความเกลียดชังระหว่างพลเมืองด้วยกัน โดยไม่ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจใดๆ เพิ่มขึ้นเลย

เราควรจะทำความเข้าใจความแตกต่างกันระหว่าง “สงคราม”กลางเมืองของกลุ่มไอเอสหรือกลุ่มอื่นๆ ในพื้นที่ตะวันออกกลาง กับการก่อการร้ายในประเทศแถบยุโรป เพราะกระบวนการที่ทำให้เกิดการต่อสู้ในตะวันออกกลางกับรากเหง้าของปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ยุโรปมีความแตกต่างกันในหลายมิติ แม้ว่าทั้งสองกระบวนการนี้มีความเชื่อมต่อกันอย่างสำคัญก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีประเทศเบลเยี่ยมซึ่งต้องอธิบายกันให้มากไปกว่าการเหมารวมง่ายๆ

เบลเยี่ยมเป็นประเทศที่ผู้นำในประเทศต่างๆ มองว่าเป็นศูนย์กลางของการรวมกลุ่มผู้ก่อการร้าย เพราะมีคนเดินทางไปร่วมรบกับกลุ่มไอเอสในซีเรียมากที่สุดในยุโรป การก่อการร้ายที่ปารีสก็เป็นคนจากเบลเยี่ยม ซึ่งภายหลังจากเหตุการณ์ที่ปารีส สื่อมวลชนหลายประเทศ เช่น อิตาลีเปลี่ยนคำเรียก “เบลเยี่ยม”ให้สอดคล้องไปกับชื่อประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามว่า “Belgistan”

พื้นที่เขตเดียวที่ทำให้เบลเยี่ยมถูกตัดสินว่า เป็นศูนย์กลางของนักรบศาสนาในยุโรป (Europe's jihadi central) ได้แก่ เขต Molenbeek ในกรุงบรัสเซลส์ ซึ่งมีคนมุสลิมอยู่ในพื้นที่ประมาณร้อยละ 25 ของประชากรในพื้นที่ ความเป็นมาของพื้นที่นี้เริ่มจากพี่น้องชาวมุสลิมได้เดินทางเข้ามาในเบลเยี่ยมช่วงทศวรรษ 1960 เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมทำให้ต้องการแรงงาน รัฐบาลเบลเยี่ยมในขณะนั้นจึงมีนโยบายเชื้อเชิญคนเข้ามาทำงานเรียกว่า แขกรับเชิญมาทำงาน (Guest worker program) คนงานส่วนใหญ่เดินทางมาจากประเทศมอรอคโค (Morocco) ประมาณร้อยละ 70 จากประเทศตุรกีประมาณร้อยละ 20 ที่เหลือมาจากประเทศอียิปต์ ปากีสถาน และอื่นๆ โดยส่วนใหญ่เข้ามาทำงานในพื้นที่ Molenbeek ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมสำคัญ

ต่อมาราวปลายทศวรรษ 1970 ระบบเศรษฐกิจของเบลเยี่ยมทรุดลง จึงยกเลิกนโยบายแขกรับเชิญมาทำงาน แต่คนงานที่มาทำงานก่อนหน้าก็ยังคงอยู่ในพื้นที่ต่อไป และได้ดึงเอาเครือญาติจากพื้นถิ่นของตนเข้ามาเพื่อแสวงหาอนาคตกันมากขึ้น จนเป็นชุมชนมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในเบลเยี่ยม

นับจากปลายทศวรรษ 1970 การผลิตภาคอุตสาหกรรมของเบลเยี่ยมเปลี่ยนมาสู่การรับจ้างผลิตตามกระแสการลงทุนของต่างชาติ ซึ่งไม่ใช่อุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นอีกต่อไป จึงทำให้แรงงานมุสลิมในพื้นที่ Molembeek กลายเป็นคนว่างงานมากถึงร้อยละ 40 ขณะเดียวกันภาคการเกษตรของเบลเยี่ยมก็เปลี่ยนมาสู่การใช้เครื่องจักรมากขึ้น ส่งผลให้คนอพยพเข้ามาหางานทำในเขตเมืองมากขึ้น ยิ่งเบียดขับคนมุสลิมให้ว่างงานมากขึ้นด้วย

จากพื้นที่อุตสาหกรรมที่รุ่งโรจน์จึงได้กลายเป็นพื้นที่ของคนยากจนที่เป็นเสมือนคนต่างชาติไป คนที่อพยพมาเพื่อหาอนาคตที่ดีกว่ากลับพบว่าเมื่อมาถึงรุ่นลูกและหลาน (ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นจำนวนถึงร้อยละ 35 อันแตกต่างไปจากชุมชนมุสลิมในประเทศยุโรปอื่นๆ) กลับไม่มีอนาคตให้แสวงหาอีกต่อไป

การกลายเป็นพื้นที่ของคนยากจนและมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนา ยิ่งทำให้ Molenbeek ไม่ได้รับการดูแลจากรัฐเท่าพื้นที่อื่นๆ ประกอบกับเบลเยี่ยมเองก็มีปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์อยู่ เพราะมีคนสองกลุ่มหลักที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน (ฝรั่งเศสและฮอลันดา) ความใส่ใจในชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้จึงไม่มากนัก

ความยากจนและมองไม่เห็นอนาคตของคนมุสลิมจำนวนหนึ่งในพื้นที่ ทำให้พวกเขามีทางเลือกไม่มากนัก โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นทางหนึ่ง ได้แก่การสร้างและเข้าร่วมแก๊งค์อาชญากรรมระดับต่างๆ ซึ่งการพักอาศัยร่วมกันเป็นชุมชน ทำให้พวกเขาสามารถอยู่รอดปลอดภัยจากอำนาจรัฐได้มากพอสมควรเพราะรัฐเองก็มัวแต่พะวงประเด็นประชากรชาติพันธุ์สองกลุ่มหลัก จึงกล่าวได้ว่า ด้วยเงื่อนไขทั้งหมดนี้ กลุ่มแก๊งค์ได้ทำให้พื้นที่ Molenbeek กลายเป็นพื้นที่ปลอดอำนาจรัฐ ซึ่งต่อมาในช่วงทศวรรษหลังนี้จึงกลายเป็นการเปิดโอกาสให้เป็นพื้นที่หลบภัยและการเข้ามาหลบซ่อนตัวของกลุ่มก่อการร้ายหลังจากสงครามอิรัก

ความยากจนและมองไม่เห็นอนาคต ทำให้วัยรุ่นและเยาวชนจำนวนหนึ่งที่ต้องเจ็บปวดกับอัตลักษณ์ตัวเองจวบจนกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้เข้ามาเชื่อมต่อ และทำให้ชีวิตที่ไม่มีความหมายใดๆ ของเขามีความหมายมากขึ้น ด้วยการเชื่อมต่อกับการต่อสู้เพื่อศาสนาพวกเขา จึงเปลี่ยนจากคนเบลเยี่ยมที่ยากจนไร้ความสำคัญมาสู่การเป็นนักรบเพื่อศาสนา ซึ่งสำหรับพวกเขาแล้วมีความสำคัญและมีความหมายมากกว่าการมีอัตลักษณ์ของชาติ

การก่อการร้ายเบลเยี่ยมจึงไม่ใช่เพียงแค่อิทธิพลหรือการชักจูงจากกลุ่มไอเอสเท่านั้น หากแต่สัมพันธ์อยู่กับเงื่อนไขเฉพาะหลายประการไม่ว่าความยากจนในพื้นที่ หรือสัดส่วนอายุของคนในชุมชนรวม ไปถึงเงื่อนไขของรัฐที่ไม่เข้มแข็งด้วย ดังนั้นการแก้ไขปัญหาใน Molebeek จึงไม่ใช่เรื่องของการใช้การทหารเท่านั้น หากแต่ต้องคิดกันถึงกระบวนการสร้างความหมายและอนาคตให้แก่ผู้คนในพื้นที่

ในสังคมปัจจุบันเรามักจะถูกทำให้คิดและรู้สึกอะไรแบบ “เหมารวม” ไปหมด ซึ่งจะเร้าอารมณ์ให้มองเห็นเฉพาะ “พวกเขา/พวกเรา” เท่านั้น อันจะนำมาซึ่งการทำร้ายกันมากขึ้น เราคงต้องช่วยกันข้ามพรมแดนของการเหมารวมเช่นนี้นะครับ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท