Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

ปัจจุบันเราได้อยู่ในต้นศตวรรษที่ 21 แล้ว ศตวรรษที่ได้ปวารณาตนว่าจะเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร การสื่อสารรวมถึงการแสวงหาความรู้และเนื้อหาอื่นใด (contents) ที่ต้องการทราบก็สามารถถูกค้นคว้าหาเจอได้อย่างง่ายดาย ด้วยความสามารถของตัวผู้ต้องการที่จะทราบหรือก็คือผู้เรียนนั่นเอง ซึ่งผู้สอนหรือผู้ทำหน้าที่ป้อนเนื้อหาในอดีตต้องปรับตัวไปเป็นผู้แนะนำแทน[1] สังคมในยุคนี้จึงเป็นสังคมที่เข้าถึงกันได้ง่ายด้วยการเลื่อนไหลของข้อมูลที่ไม่มีเส้นจำกัด

สังคมในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมที่เกี่ยวกับการศึกษาซึ่งมักจะเริ่มมีการตระหนักถึงทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ดังกล่าวแล้ว เป็นต้นว่าการจัดสัมมนาหรือปาฐกถาให้บุคลากรรวมถึงตัวนักศึกษาเข้าใจว่าทักษะเหล่านั้นคืออะไร แม้สังคมการศึกษาไทยยังไม่ได้เปลี่ยนผ่านไปเป็นสังคมแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ว่าอย่างสมบูรณ์ แต่สังคมการศึกษาไทยนี้ได้รับรู้และเริ่มมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทันต่อสังคมโลกแล้ว และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นกลุ่มสังคมหนึ่งที่มีการปรับตัวนี้อย่างมากจากการสังเกต เนื่องด้วยความเป็นวัยแห่งการค้นหา วัยแห่งการเรียนรู้ และเป็นวัยที่มีกำลังหรือพลังงานในการสร้างสรรค์อยู่มาก ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันสังคมนักศึกษาโดยส่วนใหญ่ก็กลายเป็นกลุ่มสังคมหนึ่งที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ศตวรรษที่ว่านี้แล้วอย่างมากพอสมควร เมื่อเทียบกับสังคมอื่น แต่กระนั้นก็ตามก็มีบางอย่างที่ยังไม่เคยถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างสมบูรณ์จากการเปลี่ยนผ่านนี้ โดยมีผลผลิตหรือชุดความคิดรวมทั้งแนวปฏิบัติบางอย่างทิ้งไว้ให้เห็น สิ่งนี้ก็คือระบบ “การรับน้อง” แต่ในขณะเดียวกันสังคมนักศึกษาที่ได้รับทักษะแห่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าวมา ได้นำทักษะนั้นมาปรับปรุงประยุกต์ระบบรับน้องของตนเองเพื่อปกป้องให้ซ่อนเร้นจากสังคมภายนอก จึงกลายเป็นความลักลั่นของการดำเนินกิจกรรมนักศึกษาของสังคมเก่าและสังคมใหม่ ที่ดูเหมือนว่าสังคมนักศึกษาจะรู้จักปรับตัวได้ดีและอยู่รอด

ความรุนแรง การกดขี่ การลุแก่อำนาจของนักศึกษารุ่นพี่ และการกระทำอื่นที่ส่งผลให้เกิดกระทบกระเทือนทั้งทางร่างกายและจิตใจนั้น กลายเป็นภาพใหญ่ซึ่งไม่มีภาพดีอยู่เลยในระบบการรับน้องของประเทศไทย ซึ่งมีมาตั้งแต่อดีตแรกก่อตั้งมหาวิทยาลัยเลยก็ว่าได้ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ได้อธิบายถึงปมเงื่อนสำคัญสองประการในความสัมพันธ์ของนักศึกษารุ่นพี่และรุ่นน้องจากการ “รับน้อง” ในสมัยเมื่อ 20 กว่าปีก่อนไว้คือการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของรุ่นน้องและการที่อำนาจของรุ่นพี่เป็นอำนาจที่สมบูรณ์ไร้การโต้แย้ง การกระทำต่างๆ เกิดโดยการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของรุ่นน้อง ใช้อำนาจที่สถาปนาแต่งตั้งตนเอง ถือตัวว่าอยู่มาก่อนจึงเป็นพี่ คนมาใหม่จะต้องเป็นน้อง มีการบังคับให้น้องใหม่ทำสิ่งต่างๆ มากมายผสมกับการขู่บังคับ การกำหนดกิจกรรมทุกอย่าง การเริ่มประชุม การเลิกประชุม การเลื่อนเวลาเลิกประชุม ก็ล้วนตกเป็นการกำหนดของรุ่นพี่ที่รุ่นน้องไม่มีส่วนร่วมนั้นเลย[2]

เป็นที่น่าประหลาดใจมากว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตดังกล่าวยังคงมีอยู่ในสมัยปัจจุบันและดูเหมือนจะถูกรักษาได้อย่างไม่เพี้ยนไปจากเดิมมากนัก แต่ที่แตกต่างคือการมีนวัตกรรมการบิดเบือนความจริงเพิ่มเติมขึ้นมา มันคือการซ่อนสิ่งที่เกิดขึ้นในกิจกรรมรับน้องจากการจับจ้องของสังคมภายนอก ที่ผู้สร้างหรือผู้ดำเนินกิจกรรมทำได้ดีพอกับความสามารถในการสื่อสารในโลกสังคมปัจจุบันของเขา เช่นการตั้งกฎห้ามถ่ายภาพในห้องเชียร์อย่างเด็ดขาดเนื่องจากเกรงว่าจะมีภาพหลุดออกไปในสังคมออนไลน์ ซึ่งจะเป็นการเปิดเผยสิ่งที่ตนทำอันนำไปสู่การวิจารณ์ของสังคมภายนอก วิธีการหรือกระบวนการถ่ายทอดระบบรับน้องให้คงอยู่ได้อย่างไรนั้นผู้เขียนยังไม่มีความเข้าใจเพียงพอที่จะอธิบายได้ และระบบการรับน้องในปัจจุบันเป็นอย่างไร มีความดีหรือประโยชน์ และมีความไม่ดีหรือโทษอย่างไรนั้นก็คงจะไม่กล่าวถึง เนื่องจากมีการพูดกันอย่างกว้างขวางมากแล้วโดยเฉพาะในช่วงเปิดปีการศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยในทุกปี แต่จะนำเสนอถึงสิ่งที่ระบบรับน้องในอดีตสามารถส่งผ่านมาถึงปัจจุบันได้ และยังมีอยู่ให้เห็นร่ำไป สิ่งนี้ได้หล่อหลอมความคิดของนักศึกษาไปจนถึงการปฏิบัติตัวของนักศึกษาเองในสังคมนักศึกษานี้ มันคือความเป็นเผด็จการและสังคมศักดินาในนักศึกษา


มรดกจากรับน้องที่ยังคงมีชีวิตและถูกถ่ายทอดต่อไป

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแก่ตัวร่างกายและจิตใจรุ่นน้อง คำสั่งจากรุ่นพี่ที่สามารถสั่งให้รุ่นน้องทำอะไรก็ได้โดยที่รุ่นน้องไม่สามารถอุทธรณ์ได้เลย การสั่งสอนให้รุ่นน้องเชื่อฟังรุ่นพี่และชุดแนวคิดหรือชุดคำสอนต่างๆ จากรุ่นพี่ และสิ่งอื่นซึ่งผู้เขียนคงไม่อธิบายเพิ่มหรือขยายความซ้ำก็คิดว่าผู้อ่านจะเข้าใจดีถึงการเป็นเผด็จการดังกล่าว “เผด็จการ” นี้จะซึมเข้าไปในตัวรุ่นน้องทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว แต่แล้วในวันหนึ่งวันที่รุ่นน้องในวันเก่ากลายเป็นรุ่นพี่ในวันใหม่ก็จะทำในสิ่งเดียวกันนี้ต่อรุ่นน้องของตนซ้ำอีก นี่คือการถ่ายทอดความเป็นเผด็จการทีว่า ในบางสังคมนักศึกษาได้สร้างหรือรับเอาระบบโซตัสซึ่งเป็นหลักการห้าข้อ[3] มาใช้เป็นเหมือนอุดมการณ์ค่านิยมของสังคมตน คำสอนหรือข้อกำหนดหนึ่งของโซตัสที่เป็นตัวอย่างเผด็จการได้ดีคือ “คำสั่ง” (order) คำนี้ถูกตีความแบบเปิดพจนานุกรมได้ว่าการเชื่อฟังคำสั่งของรุ่นพี่แบบห้ามมีข้อโต้แย้งและคำสั่งที่ว่านี้ก็หาได้มีเหตุผลรองรับ ซึ่งในขณะเดียวกันบางสังคมนักศึกษาได้ตีความ “order” ว่าเป็นเพียงกฎระเบียบหรือข้อกำหนดของสังคมในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งความหมายอย่างหลังนี้พอจะมีเหตุผลและรับได้

นอกเหนือจากนี้มีสิ่งหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจของระบบรับน้องแบบนี้ คือความสนิทสัมพันธ์กันระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องแบบกลุ่มแคบและเฉพาะ ซึ่งมักเกิดในช่วงเวลาหลังจากการรับเป็นน้อง[4] นั่นคือ “ระบบอุปถัมภ์” เผด็จการทำให้พี่และน้องห่างไกลกันมากเพียงใด ความต้องการสนิทและรู้จักกันแบบจริงๆ ก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น เห็นจากเมื่อน้องและพี่เริ่มรู้จักกันแม้น้องจะเกร็งและกลัวรุ่นพี่อยู่ก็ตาม แต่รุ่นพี่ก็จะทำตัวให้รุ่นน้องรับรู้ถึงอีกด้านของเผด็จการคือความมีอัธยาศัยของตัวเอง และตอนนี้พี่และน้องก็จะเริ่มสนิทกันแต่ก็จะทำได้และเกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มเล็กเท่านั้นเพราะการสนิทในกลุ่มใหญ่จะทำให้ระบบเผด็จการที่สร้างไว้ในตอนต้นสลายลงไป

รุ่นน้องคนไหนสนิทรุ่นพี่ก็เหมือนจะได้รับสิทธิพิเศษได้รับการคุ้มครองปกป้องจากรุ่นพี่เป็นอย่างดี เกิดความสัมพันธ์ต่างตอบแทนขึ้นระหว่างพี่และน้อง กลายเป็นระบบศักดินาสวามิภักดิ์ที่น้องจะต้องสังกัดมูลนายรุ่นพี่ คอยช่วยเหลือรุ่นพี่โดยเฉพาะในเรื่องกิจกรรมต่างๆ และรอโอกาสว่าวันหนึ่งตนก็จะได้รับความดีความชอบ ความไว้ใจจากรุ่นพี่ จนถูกเลือกให้มาทำหน้าที่ที่เฉพาะและใหญ่โตขึ้นเช่นหัวหน้านักศึกษา และอาจถูกเลือกให้มาทำหน้าที่แทนรุ่นพี่ในตำแหน่งสำคัญเลยก็ได้เช่นนายกสโมสรนักศึกษา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอิทธิพลสำคัญที่จะมีบทบาทในการอธิบายสภาพความเป็นไปเรื่องการเมืองในสังคมนักศึกษาที่มีกิจกรรมนักศึกษาหรือกิจการนักศึกษาเป็นศูนย์กลางต่อไป ภาพความสัมพันธ์แบบสังกัดมูลนายนี้สามารถสังเกตได้ง่ายจากตัวอย่างของชมรมนักศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาหนึ่งที่รวมอยู่ในสโมสรนักศึกษาคณะที่เป็นสังคมนักศึกษาใหญ่กว่า

จะเห็นได้ว่าระบบรับน้องได้สั่งสมอุดมการณ์ความเป็นเผด็จการและศักดินาไว้ได้ในคราวเดียวกัน เป็นมรดกที่นักศึกษารุ่นใหม่รับมาและมักจะยอมรับเสียด้วยจนทำการส่งมรดกนี้ต่อกันไปเรื่อยๆ ก่อนที่จะได้อธิบายถึงรูปแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจหรือวัฒนธรรมทางการเมืองที่เกิดในหมู่นักศึกษาผ่านกิจกรรมหรือกิจการนักศึกษานั้น จะขออธิบายโครงสร้างขององค์การนักศึกษารวมทั้งกลุ่มนักศึกษา ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มอำนาจทางการเมืองก่อนไว้พอสังเขป และเนื้อหาต่อจากนี้จะอธิบายถึงโครงสร้างและรูปแบบทางการเมืองในสังคมนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยเฉพาะ ซึ่งผู้เขียนมีความคุ้นเคยอยู่ดี


โครงสร้างองค์การนักศึกษาและกลุ่มนักศึกษา

โครงสร้างองค์การนักศึกษาในทุกมหาวิทยาลัย ได้ใช้หลักการแบ่งแยกอำนาจเพื่อจำลองรูปแบบการปกครองจริงในระดับประเทศ โดยมักจะอ้างเสมอว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม จำลอง และสร้างความรู้ความเข้าใจในระบบประชาธิปไตย[5] แต่อย่างไรก็ตามอำนาจรวมสมมติของนักศึกษาทั้งหมด (เสมือนอำนาจอธิปไตย) นั้น ถูกแบ่งออกเป็นเพียงสองส่วนคืออำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ โดยไม่มีอำนาจตุลาการแต่อย่างใด ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีการออกแบบให้มีในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[6] และความแตกต่างจากระบอบจริงของไทยอีกประการคือไม่มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกันไว้มากเท่าระบบรัฐสภาที่ประเทศไทยใช้ กล่าวคือแทบจะไม่มีความสัมพันธ์ทั้งการสนับสนุนและตรวจสอบระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ รูปแบบที่เห็นอาจกล่าวได้ว่าเป็นประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดีหรือระบบที่ใช้ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเอง ซึ่งที่มาของอำนาจสองฝ่ายนี้อิสระต่อกัน

หน่วยของกลุ่มนักศึกษาที่จะอธิบายต่อไป จะขอแบ่งเป็น “องค์กรนักศึกษา” ซึ่งเป็นหน่วยนักศึกษาตามระเบียบมหาวิทยาลัย มีตัวตนทั้งทางระเบียบและทางปฏิบัติ และ “กลุ่มนักศึกษา” ซึ่งใช้เรียกหน่วยนักศึกษาอื่นที่มหาวิทยาลัยไม่ได้รับรอง แต่ก็มีตัวตนในทางปฏิบัติที่กระทบและมีความสัมพันธ์ในสังคมนักศึกษาส่วนใหญ่เช่นกัน

โครงสร้างและขอบเขตหน้าที่ขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถูกกำหนดไว้ในระเบียบมหาวิทยาลัยที่มักจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่จะคงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์ดั้งเดิมเสมอ ระเบียบปัจจุบันเริ่มบังคับใช้เมื่อปีการศึกษา 2555 ซึ่งตราตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยฉบับใหม่ที่นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ[7] กำหนดให้องค์การนักศึกษาประกอบด้วยสภานักศึกษาและสโมสรนักศึกษา

สภานักศึกษาทำหน้าที่คล้ายสภานิติบัญญัติเพียงแต่เน้นการเป็นผู้แทนนักศึกษาและเน้นการตรวจสอบสโมสรนักศึกษา มากกว่าการตรากฎหมายนักศึกษา สมาชิกสภานักศึกษาประกอบไปด้วยตัวแทนจากทุกคณะ จำนวนคณะละสองคน และจะประชุมกันเองเพื่อเลือกประธานสภานักศึกษาและตำแหน่งอื่นในสภานักศึกษา

แม้ว่าระเบียบและประกาศมหาวิทยาลัยที่ออกตามระเบียบนั้น จะกำหนดชัดเจนว่าให้สมาชิกสภานักศึกษาทุกคนมาจากการเลือกตั้งของคณะที่ตนแทน แต่ในทางปฏิบัตินั้นมักจะใช้การเสนอชื่อแต่งตั้งซึ่งมีจำนวนกว่าสี่ในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เนื่องจากมีผู้สมัครรับเลือกตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนสมาชิกที่ต้องมีในแต่ละคณะ หากมีผู้สมัครเท่ากับจำนวนที่ต้องการก็จะเสนอแต่งตั้ง หากมีไม่มากพอก็จะใช้วิธีไปหามาให้ได้ ซึ่งมักจะถูกแทรกแซงโดยสโมสรนักศึกษาคณะอำนาจการกำหนดตัวสมาชิกสภานักศึกษาจึงตกเป็นของกลุ่มอำนาจที่ครองสโมสรนักศึกษาคณะนั้นอยู่ สมาชิกสภานักศึกษาคณะจึงเป็นแค่เบี้ยน้อยในโอวาทของสโมสรนักศึกษาคณะตัวเอง

การจะตรวจสอบหรือถ่วงดุลคงจะไม่เกิดตามเจตนารมณ์ของระเบียบแน่ เพราะสภานักศึกษากลายเป็นสภาผู้รับใช้หรือสภาภายใต้การควบคุมของฝ่ายบริหารแทนคือสโมสรนักศึกษาคณะ บางคณะโดยเฉพาะคณะที่มีบุคลากรทางการเมืองให้เลือกมากมักจะประสบปัญหาการแบ่งปันอำนาจในชนชั้นนำ คือการมีจำนวนคนที่ต้องการอำนาจมากกว่าจำนวนตำแหน่งที่มีให้ได้ ทำให้บุคลากรบางคนที่ไม่เป็นที่ต้องการของกลุ่มอำนาจใหญ่ในสโมสรนักศึกษาคณะถูกกำจัดออกมาอย่างง่ายดาย โดยการมอบหมายให้ไปเป็นสมาชิกสภานักศึกษาของคณะนั้น จนมีคำเรียกสมาชิกสภานักศึกษาแบบนี้ว่า “สภาสโมสรคัดทิ้ง” คือเป็นคนที่สโมสรนักศึกษาคณะไม่ต้องการจึงถูกส่งมาประจำที่สภานักศึกษา

ตัวอย่างดังกล่าวคงจะเพียงพอที่จะสะท้อนความอ่อนแอและไม่มีอำนาจในการนำหรือเคลื่อนไหวอย่างสมบูรณ์ของสภานักศึกษา ในทางปฏิบัติสภานักศึกษาจึงเป็นเพียงกลุ่มนักศึกษาอำนาจน้อยที่ต้องเผชิญความหลายหลายจนแตกแยกได้ง่ายอีกด้วยจากการมีคนมาจากหลายคณะ สภานักศึกษาจึงมักจมกับปัญหาของตัวเองมากกว่าจะไปสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มนักศึกษาอื่นเพื่อพัฒนาอำนาจตนได้ และที่สำคัญสภานักศึกษาไม่มีระบบรับน้อง จึงไม่มีการกำเนิดและถ่ายทอดมรดกเผด็จการและศักดินาในสภานักศึกษาเลย ความสัมพันธ์ทางการเมืองกับหน่วยนักศึกษาใดๆ หรือแม้แต่ตัวปัจเจกนักศึกษาเองของสภานักศึกษาจึงจืดชืดและเงียบเหงา

สโมสรนักศึกษาคือองค์กรนักศึกษาที่มีบทบาทและอำนาจมากที่สุดระดับมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารประกอบด้วย สโมสรนักศึกษาคณะทุกคณะและชมรมนักศึกษาส่วนกลาง มีคณะกรรมการบริหารเป็นผู้ดำเนินงานมีองค์ประกอบคือนายกสโมสรนักศึกษา กรรมการตำแหน่งอื่นๆ ทั่วไป และนายกสโมสรนักศึกษาคณะทุกคณะด้วย

หน้าที่ที่สำคัญของสโมสรนักศึกษาคือการจัดกิจกรรมและบริหารงบประมาณที่มีจำนวนมหาศาลผ่านการจัดสรรงบประมาณไปสู่องค์กรนักศึกษาทุกองค์กร แม้ว่าระเบียบปัจจุบันกำหนดให้สโมสรนักศึกษาคณะสังกัดต่อสโมสรนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และกำหนดให้นายกสโมสรนักศึกษาคณะเป็นกรรมการโดยตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารสโมสรนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้วสโมสรนักศึกษาคณะยังคงเป็นอิสระต่อสโมสรนักศึกษาส่วนกลางอย่างมาก แม้ว่าตนจะต้องเข้าร่วมแบ่งงบประมาณจากสโมสรนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยก็ตาม เจตนารมณ์ของระเบียบที่เหมือนว่าต้องการให้สโมสรนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยสามารถควบคุมและนำนโยบายของตนไปสู่สโมสรนักศึกษาคณะได้นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย

คณะกรรมการบริหารสโมสรนักศึกษาส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนหลัก มาจากการเลือกตั้งของนักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัย เป็นการเลือกตั้งแบบชุดคือเลือกทีมผู้สมัครทั้งทีมคราวเดียวรวม 11 คนเข้ามาทำหน้าที่ อีกส่วนคือนายกสโมสรนักศึกษาคณะซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง จะมีการได้มาโดยวิธีต่างๆ ตามแต่คณะที่ตนสังกัดกำหนด ซึ่งมีทั้งการเลือกตั้งบุคคลเดี่ยวมาทำหน้าที่นายกสโมสรและการเลือกตั้งแบบชุดหรือทีม จะเห็นได้ว่าการได้มาซึ่งอำนาจของแต่ละองค์กรนักศึกษาในระดับสโมสรนักศึกษาเหล่านี้เป็นอิสระต่อกันมาก ภาพที่สโมสรนักศึกษาคณะจะเคารพเชื่อฟังสโมสรนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจึงเห็นได้ยาก

ชมรมนักศึกษาต่างๆ ทั้งชมรมด้านกีฬา และชมรมด้านที่ไม่ใช่กีฬา ก็จะมีสองระดับทั้งในระดับคณะและมหาวิทยาลัยโดยจะสังกัดสโมสรนักศึกษาคณะและสโมสรนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยตามลำดับ แม้ว่าชมรมนักศึกษาเหล่านี้จะสังกัดสโมสรนักศึกษาใดสโมสรนักศึกษาหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติก็จะเป็นอิสระจากสโมสรนักศึกษาค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่แต่ละชมรมได้กำหนดตัวผู้นำหรือประธานชมรมขึ้นมากันได้เอง ไม่ถูกครอบงำจากสโมสรนักศึกษา

และด้วยความเป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาคที่เน้นรับนักศึกษาจากภาคเหนือ ทำให้นักศึกษาที่มาจากจังหวัดภาคเหนือเกือบทุกจังหวัดมีจำนวนมากพอที่จะรวมกลุ่มกันจัดกิจกรรมได้ การรวมกลุ่มเหล่านี้ก็มักจะมีแบบแผนคล้ายกับหน่วยนักศึกษาในองค์การนักศึกษา อาจใช้ชื่อว่าชมรม กลุ่ม หรือแม้กระทั่งคำว่าสโมสรนักศึกษาจังหวัดเลยก็มี กลุ่มนักศึกษาจังหวัดเหล่านี้แน่นอนว่าจะเป็นหน่วยนักศึกษาซ้อนอยู่ในหน่วยนักศึกษาปกติ กล่าวคือนักศึกษาหนึ่งคนเป็นสมาชิกทั้งขององค์กรนักศึกษาตามระเบียบมหาวิทยาลัยและกลุ่มนักศึกษาจังหวัดตนเอง การซ้อนกันของกลุ่มนักศึกษาที่ว่านี้ก็มักจะเกิดความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มนักศึกษาเองกับองค์กรนักศึกษา ซึ่งบางครั้งได้ส่งผลต่ออำนาจทางการเมืองขององค์กรนักศึกษาเลยทีเดียว เป็นต้นว่ากลุ่มนักศึกษาจังหวัดพะเยาที่มีมากในชมรมฟุตบอลสามารถกำหนดให้คนของตัวเองเป็นประธานชมรม หรือสามารถเคลื่อนไหวให้ชมรมกระทำบางอย่างตามที่กลุ่มนักศึกษาจังหวัดพะเยาต้องการได้

มรดกที่ได้รับและปรับเปลี่ยนมาจากการรับน้องของนักศึกษา ได้ถูกผสมผสานเอาวิถีการใช้ชีวิตแบบคนหนุ่มสาวในปัจจุบัน อย่างการจัดเจนถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ มาผนวกใหม่ทำให้ยิ่งมีความรัดกุมและปลอดจากการจ้องมองจากสังคมมากขึ้น นักศึกษารุ่นพี่ที่ทำกิจกรรมก็มีเกราะหรือหัวโขนอย่างหนึ่งที่ได้รับการรับรองจากมหาวิทยาลัยคือการเป็นผู้นำองค์กรนักศึกษา ยิ่งตอกย้ำถึงความมีอำนาจหรือสิทธิ (authority) ในการจัดการกิจกรรมนักศึกษามากขึ้น นอกจากนี้แม้กลุ่มนักศึกษานอกระบบที่มหาวิทยาลัยมิได้รับรองก็มีตัวตนอยู่พร้อมกับสิทธิอำนาจเช่นกับองค์กรนักศึกษาอันเกิดจากการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างหมู่ผู้นำนักศึกษาเองซึ่งจะได้กล่าวในตอนต่อไป มรดกและความเป็นไปขององค์กรนักศึกษาเหล่านี้ได้เกิดอำนาจบางอย่างที่ถูกสถาปนาขึ้นจากวิถีการดำเนินกิจกรรม ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวมากซึ่งจะได้วิเคราะห์ต่อไปในตอนที่ 2

 

อ้างอิง

[1]  The Partnership for 21st Century Learning, (2015, May). P21 Framework Definitions.

[2] ธเนศวร์ เจริญเมือง. (2535, กรกฎาคม – ธันวาคม). การสร้างระบบเผด็จการในรั้วมหาวิทยาลัย. สังคมศาสตร์ปริทัศน์, 16(1), 31-47.

[3] ประกอบด้วย seniority, order, tradition, unity, และ spirit ย่อเป็น SOTUS โดยการตีความหรือแปลความหมายนั้น มักจะเป็นไปตามที่ผู้ตีความต้องการอันให้ตนได้ประโยชน์

[4] กระบวนการแสดงออกว่าน้องได้รับการยอมรับจากรุ่นพี่ ทำนองว่าอนุญาตให้น้องเข้าร่วมกลุ่มที่รุ่นพี่ปกครองอยู่ พี่จึงเลยยอมนับรุ่นน้องว่า “น้อง”

[5] มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ระเบียบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัย เชียงใหม่ พ.ศ. 2554.

[6] สุนทรี อาสะไวย์ และสุภาภรณ์ จรัลพัฒน์. (2530). กำเนิด อมธ. กับความเคลื่อนไหวในขบวนการนักศึกษา. ใน สมบัติ จันทรวงศ์ และชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (บก.). อยู่เมืองไทย: รวมบทความทางสังคมการเมือง เพื่อเป็นเกียรติแด่ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ในโอกาสอายุครบ 60 ปี. (น. 183-227). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

[7] พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2551. (2551, 6 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 125 ตอนที่ 44 ก. หน้า 28-57.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net