Skip to main content
sharethis

ไอลอว์รายงาน ร่างรัฐธรรมนูญมีชัย เปิดโอกาสรัฐสภาลงมติเปิดให้มี นายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อ ที่พรรคการเมืองเสนอ โดยใช้เสียงทั้งรัฐสภาลงมติ 2 ใน 3 เพื่อยกเลิกหลักการเดิม คณะทำงานตั้งข้อสังเกต ใช้ได้เฉพาะเลือกตั้งครั้งแรกเท่านั้น

29 มี.ค. 2559 หลังจากร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้เปิดเผยต่อสาธารณชน เมื่อเวลา 13.39 น. ศ ได้ตั้งข้อสังเกตุใน มาตรา 272 ในบทเฉพาะกาล

มาตรา 272 ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 268 แล้ว หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอตาอประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการ ประชุมร่วมกันของ รัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มี อยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้สภาผู้แทนราษฎรดําเนินการตามมาตรา 159 ต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้

iLaw รายงานว่า หลักการเดิม ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 88 , 158 และ 159 มีหลักการว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ก่อนเลือกตั้ง พรรคละไม่เกินสามรายชื่อ

เมื่อมีการบัญญัติมาตรา 272 ในหมวดบทเฉพาะกาล เท่ากับเป็นการเปิดช่องทางให้รัฐสภาลงมติยกเลิกหลักการดังกล่าวได้ เพื่อเปิดทางให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มีรายชื่อตามที่พรรคการเมืองได้เสนอไว้ได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้

 

1) ส.ส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 250 คน เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา
2) รัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว.ทั้งหมด ลงมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คนจาก 750 คน ให้มีนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ได้
3) ส.ส. เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือ 50 คนเสนอชื่อบุคคลใดก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 251 คน

อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตต่อมาตรา 272 คือ มีเขียนคำว่า "ในวาระเริ่มแรก" ซึ่งน่าจะหมายถึงวาระที่มีการเลือกตั้งครั้งแรกหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประกาศใช้ เท่ากับว่าหลักการที่เปิดช่องให้มี 'นายกคนนอก บัญชี' ได้ตามมาตรา 272 น่าจะใช้กับการเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะมาถึงได้ครั้งเดียว หลังจากนั้นไม่ว่าจะเลือกตั้งกันอีกกี่ครั้งก็ไม่อาจนำมาตรา 272 มาใช้เพื่อตั้งนายรัฐมนตรีจากนอกบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ได้อีกแล้ว

ทั้งนี้ หลักการดังกล่าวมาจากข้อเสนอของ คสช. ซึ่งเกิดจากการประชุมแม่น้ำ 4 สาย สำหรับข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ก่อนจะมีการรับมาพิจารณาของ กรธ. ระบุว่า

ข้อ 3 หลักการในบทถาวรของร่างรัฐธรรมนูญ(ร่างแรก) มาตรา 43 และมาตรา 154 ที่ว่าพรรคการเมืองอาจแจ้งรายชื่อผู้ที่จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็น ชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 รายชื่อและให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรี เฉพาะจากรายชื่อดังกล่าวเท่านั้น ข้อนี้ยังเป็นปัญหาโต้แย้งความเหมาะสมและความจำเป็น หากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าสมควรจะใช้มาตรการนี้เพื่อให้เป็นที่รู้ ล่วงหน้าว่านายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ใดผู้หนึ่งในบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรค การเมืองแจ้ง ก็ควรคำนึงด้วยว่าโดยที่เรื่องนี้เป็นมาตรการที่เพิ่งจะนำมาใช้เป็นครั้งแรก ในประเทศไทยหลังการเลือกตั้งที่ว่างเว้นมาและอาจเป็นครั้งแรกในโลกด้วย การพยายามทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกติกาสากลเป็นเรื่องจำเป็นแต่การดำเนินการ ทุกอย่างและโดยทันทีอาจยังไม่เหมาะสมเพราะอ่อนไหวสุ่มเสี่ยงและอันตราย สำหรับระยะเปลี่ยนผ่าน แม้ปัจจุบันนี้ประชาชนจะมีความรู้ ความคิด มีการศึกษาและประสบการณ์เรียนรู้ความสำเร็จและความล้มเหลวในอดีตมากขึ้น แต่ผลการสำรวจก็แสดงว่าประชาชนอีกไม่น้อยยังมีฐานะความเป็นอยู่ไม่ดี และรอยร้าวที่เกิดจากการเพาะความแตกแยกในอดีตนานปี หรือผลจากความเหลื่อมล้ำในสังคมยังคงฝังใจอยู่ คนเหล่านี้คือผู้ที่จะตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งใหม่และถูกผลักดันให้ออกมา ปะทะกัน ดังนั้นการนำกติกาใหม่ๆ มาใช้อาจเป็นอีกกับดักหนึ่งที่ปิดทางออกในยามวิกฤติจนทำให้การเมืองเดินหน้าต่อไปไม่ได้

อ่านรายงานฉบับเต็มที่ :เว็บไซต์ไอลอว์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net