Skip to main content
sharethis

เกาหลีใต้เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีแนวโน้มกลายกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ มีประชากรเกิดน้อย วัยแรงงานลดลง ทำให้มีความพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ อย่างการลดกำลังพลทหาร ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ รวมถึงการแก้ปัญหาในประเด็นเศรษฐกิจและวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมอัตราการเกิดของประชากร


ภาพจาก Stephen Cysewski (CC BY-NC 2.0)

28 มี.ค. 2559 บทความจากอีสต์เอเชียฟอรัมระบุถึงการที่เกาหลีใต้มีแนวโน้มเผชิญปัญหาสังคมผู้สูงอายุจากข้อมูลการคาดการณ์ประชากรโลกของสหประชาชาติ (United Nations World Population Prospects หรือ UNWPP) ที่ระบุว่าในปี 2557 มีประชากรชาวเกาหลีใต้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 6.4 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 12.7 ของประชากรในประเทศทั้งหมด รวมถึงประเมินว่าภายในอีก 10 ปีข้างหน้าคือปี 2569 จำนวนประชากรผู้สูงอายุในเกาหลีใต้จะเพิ่มขึ้นเป็น 10.7 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 20.5 ของประชากรทั้งหมด

ข้อมูลของยูเอ็นยังแสดงให้เห็นว่าประชากรผู้สูงอายุในเกาหลีใต้มีการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดมากเมื่อเทียบกับช่วงยุคสงครามเกาหลีในปี 2493 ที่มีประชากรผู้สูงอายุเพียง 551,000 คน หรือร้อยละ 2.9 เท่านั้น

อีซังอก (Lee Sang Ok) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ และตันเต็กบูน (Tan Teck Boon) นักวิจัยของวิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส ราชา รัตนัม (RSIS) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ ระบุในบทความว่ามีอยู่ 2 ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกาหลีใต้กำลังคืบหน้าสู่สังคมสูงอายุ หนึ่งในนั้นคือการที่ชาวเกาหลีใต้มีอายุยืนขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงสงครามเกาหลีราว 60 ปีที่แล้ว โดยข้อมูลจาก UNWPP ระบุว่าในช่วงปี 2496 ชาวเกาหลีใต้มีอายุเฉลี่ย 48.2 ปี แต่ในปี 2557 มีการสำรวจพบว่าชาวเกาหลีใต้มีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 81.9 ปี

ขณะเดียวกันเกาหลีใต้ก็มีอัตราการเกิดของประชากรลดลง ทำให้มีการประเมินจาก UNWPP ว่าประชากรเกาหลีใต้จะเพิ่มถึงจุดสูงสุดในปี 2578 ที่ 52.7 ล้านคน จากในปี 2557 ที่มีอยู่ 50 ล้านคน ก่อนที่จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนถึงช่วงสิ้นศตวรรษ ความเปลี่ยนแปลงด้านจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วนี้ยังส่งผลอย่างมากต่อด้านเศรษฐกิจ งบประมาณ สังคม และความมั่นคง

ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่าเกาหลีใต้มีการใช้งบประมาณด้านสาธารสุขเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ของจีดีพีในปี 2538 เป็นร้อยละ 7.2 ของจีดีพีในปี 2556 และยิ่งมีภาวะประชากรสูงวัย การใช้งบประมาณสาธารณสุขก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อด้านการเงินในส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับภาษีหรือปรับลดงบประมาณในด้านอื่นๆ ของรัฐเพื่อตอบสนองต่อด้านสาธารณสุข

บทความอีสต์เอเชียฟอรัมระบุถึงผลกระทบในด้านอื่นว่า การลดลงของจำนวนประชากรยังทำให้แรงงานเกาหลีใต้ลดลงไปด้วยซึ่งทำให้เศรษฐกิจเติบโตน้อยลงเว้นแต่จะมีการเพิ่มผลิตผลทางแรงงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้มีแผนการยืดอายุเกษียณออกไปจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ภายในปี 2560 และมีการพิจารณาขยายอายุเกษียณของข้าราชการจาก 60 ปี เป็น 65 ปี เพื่อรองรับปัญหาประชากรที่ลดลงนี้ แต่ก็ยังมีความกังวลว่าอาจจะมีตำแหน่งงานไม่มากพอให้กับประชากรสูงวัยและอาจจะเกิดความตึงเครียดของคนต่างรุ่น ถ้าหากคนรุ่นใหม่เห็นว่าการยืดอายุเกษียณออกไปจะเป็นอุปสรรคต่อโอกาสในหน้าที่การงานของพวกเขา

อีซังอกและตันเต็กบูนระบุในบทความว่าวิกฤตประชากรเกาหลีใต้ยังจะส่งผลถึงเรื่องความมั่นคงด้วย โดยหลักการแล้วเกาหลีใต้ยังคงอยู่ในภาวะสงครามกับเกาหลีเหนือ จากข้อมูลของกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ระบุว่าเกาหลีใต้ใช้งบประมาณร้อยละ 2.4 ของจีดีพีในช่วงปี 2554-2558 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่มาจากปัญหาประชากรอาจจะทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ปรับลดงบประมาณการทหารลง อีกทั้งประชากรที่ลดลงก็จะส่งผลถึงกำลังทหารในกองทัพเกาหลีใต้ไปด้วยจากการที่เกาหลีใต้อาศัยกำลังทหารจากการเกณฑ์ทหารชายอายุ 18 ปี เป็นส่วนใหญ่ โดยข้อมูลของ UNWPP ระบุว่าจำนวนประชากรชายเกาหลีใต้อายุ 18 ปี เพิ่มขึ้นมากที่สุดในปี 2534 อยู่ที่ 465,000 คน แต่ก็มีการประเมินว่าประชากรชายจะลดลงเหลือแค่ 176,000 คน ในช่วงปลายศตวรรษโดยจะลดลงจากเดิมร้อยละ 62

บทความในอีสต์เอเชียฟอรัมระบุว่า เกาหลีใต้มีความพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยการใช้เทคโนโลยี เช่น มีความต้องการให้ทุกบ้านมีเครื่องมือที่เป็นหุ่นยนต์อย่างน้อย 1 ชิ้นภายในปี 2563 เพื่อช่วยดูแลผู้สูงอายุและส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในแรงงานเพิ่มมากขึ้น โดยที่เกาหลีใต้เริ่มนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้แล้วและจัดว่าเป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของหุ่นยนต์มากที่สุดในโลก จากข้อมูลของสมาพันธ์วิทยาการหุ่นยนต์นานาชาติระบุว่าในปี 2557 เกาหลีใต้มีปริมาณหุ่นยนต์ 478 ตัว ต่อคนงาน 10,000 คน และประเทศเกาหลีใต้ยังพยายามยกระดับการใช้เครื่องกลอัตโนมัติมากขึ้นกว่าเดิมด้วย

การหันมาพึ่งพาหุ่นยนต์และเครื่องกลยังเป็นอีกหนึ่งวิธีการแก้ปัญหาด้านความมั่นคง จากการที่กองทัพเกาหลีใต้มีแผนปรับลดกำลังพลจาก 633,000 นาย เหลือ 522,000 นาย ภายในปี 2565 เพื่อปรับตัวกับการลดลงของจำนวนประชากรวัยหนุ่มสาวแล้วหันมาพึ่งพาอาวุธเครื่องกลอัตโนมัติและหุ่นยนต์แทน

บทความในอีสต์เอเชียฟอรัมระบุอีกว่าทางการเกาหลีใต้ยังพยายามแก้ไขปัญหาอื่นๆ อย่างเรื่องค่าเล่าเรียนสูง คนหนุ่มสาวว่างงาน และค่านิยมในสังคมที่ไม่เอื้อต่อการเป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว เพื่อส่งเสริมให้อัตราการเกิดสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีกระแสเรียกร้องให้ต้อนรับชาวเกาหลีที่อยู่นอกประเทศกลับมาประเทศตัวเองและแม้กระทั่งแสวงหาผู้อพยพเพื่อเพิ่มประชากรของตัวเองด้วย

 

เรียบเรียงจาก


South Korea’s demographic dilemma, Lee Sang Ok and Tan Teck Boon, East Asia Forum, 25-03-2016
http://www.eastasiaforum.org/2016/03/25/south-koreas-demographic-dilemma/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net