ประชาชาธิปไตยใหม่ เดินหน้า Vote No ลั่นจะไม่ทน รับร่างรธน.ไปก่อน อัดเป็นปฏิปักษ์ปชต.

30 มี.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (30 มี.ค.59) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ผ่านมา ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement - NDM) ออกแถลงการณ์ เรื่อง จุดยืนของขบวนการต่อการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า NDM จะไม่อดทนยอมรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ไปก่อน เพื่อที่จะตระหนักในภายหลังว่ามันได้สร้างความเสียหายในระยะยาวอีกต่อไป จึงแสดงจุดยืนสนับสนุนให้ประชาชนไปร่วมลงประชามติ #ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว และร่วมกันหาหนทางไปสู่ระบอบประชาธิปไตยด้วยมือของประชาชนเอง

นอกจากนี้ NDM ยังระบุถึง 15 เหตุผลที่ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ เป็นปฏิปักษ์ต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ว่า ใช้ถ้อยคำกำกวมเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพ ให้สิทธิชุมชนแบบครึ่งๆ กลางๆ ตัดโอกาสทางการศึกษาระดับมัธยมปลายและอาชีวศึกษา เหลือเพียงการศึกษาภาคบังคับ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่บิดเบือนความต้องการแท้จริงของประชาชน ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลที่จะให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ถึง 3 ชื่อ โดยบุคคลดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ทำให้ประชาชนไม่อาจคาดหมายได้ว่าใครใน 3 คนจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

รวมทั้ง การเลือก ส.ว. ที่เป็นเพียงการเลือกกันเองในกลุ่มบุคคลจากวงการอาชีพต่างๆ ย่อมมีกลุ่มคนที่ถูกกีดกันออกไป  ขณะที่ ศาล ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน แต่มีอำนาจมาก และเปิดโอกาสให้เกิดรัฐราชการได้ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ยังคงเป็นไปได้ยากมาก นอกจากนี้ คสช. ยังคงมีอยู่หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่หลังการเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่ มีการนิรโทษกรรมและรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำและการใช้อำนาจโดย คสช. ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต 

แถลงการณ์ NDM ระบุด้วยว่า กลับมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่ยิ่งขัดต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย โดย 250 ส.ว. มาจากการสรรหาซึ่งมี คสช. เป็นผู้คัดเลือกในขั้นตอนสุดท้าย พร้อมผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง เปิดช่องยกเว้นให้ไม่ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมาได้ เป็นต้น
 

 

แถลงการณ์ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement - NDM)

เรื่อง จุดยืนของขบวนการต่อการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 13.30 น. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้แถลงข่าวเปิดเผยรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมจากร่างแรกเมื่อสองเดือนที่แล้ว

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่มีความเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังคงมีบทบัญญัติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ดังที่มีอยู่ในร่างก่อนหน้า ได้แก่

1. การใช้ถ้อยคำกำกวมเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น ห้ามใช้สิทธิเสรีภาพเป็นอันตรายต่อ “ความมั่นคงของรัฐ” (มาตรา 25) การอนุญาตให้ตรากฎหมายไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญได้หากไม่ขัดต่อ “หลักนิติธรรม”

2. การให้สิทธิชุมชนแบบครึ่งๆ กลางๆ ที่สุดท้ายแล้วยังคงถูกครอบด้วยคำว่า “ตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ” (มาตรา 43) จึงเป็นเพียงสิทธิที่ชุมชนได้รับมอบมาตามกรอบที่รัฐกำหนดไว้ ไม่ใช่สิทธิที่ชุมชนเป็นคนกำหนดเอง

3. การตัดโอกาสทางการศึกษาระดับมัธยมปลายและอาชีวศึกษา เหลือเพียงการศึกษาภาคบังคับ (มาตรา 54) และให้รัฐบาล คสช. มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา (มาตรา 261) ซึ่งส่งผลในทางปฏิบัติเป็นการครอบงำเด็กผ่านหลักสูตรของ คสช.

4. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่บิดเบือนความต้องการแท้จริงของประชาชน ใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว นำคะแนนที่ประชาชนเลือกคนไปคิดให้กับพรรคที่เขาอาจไม่ได้อยากเลือก (มาตรา 91) โดยไม่มีบัตรที่สองให้ประชาชนปฏิเสธพรรคนั้นได้ ทำให้นักการเมืองบางคนแอบอิงคะแนนเสียงเข้ามาเป็น ส.ส. ได้ง่ายขึ้น

5. ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลที่จะให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ถึง 3 ชื่อ โดยบุคคลดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. (มาตรา 88) ทำให้ประชาชนไม่อาจคาดหมายได้ว่าใครใน 3 คนจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

6. การเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นเพียงการเลือกกันเองในกลุ่มบุคคลจากวงการอาชีพต่างๆ (มาตรา 107) ซึ่งในความเป็นจริงย่อมมีกลุ่มคนที่ถูกกีดกันออกไป ไม่สามารถครอบคลุมประชาชนได้ทั้งหมด

7. ศาล ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน (มาตรา 203, 204, 217) แต่มีอำนาจมาก เช่น อำนาจร่วมตีความประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (มาตรา 5) อำนาจเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้ง (มาตรา 104) อำนาจกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมบังคับใช้กับนักการเมือง (มาตรา 219) เป็นต้น

8. หากคณะรัฐมนตรีพ้นตำแหน่งตามมาตรา 144 (รู้เห็นการเปลี่ยนแปลงเนื้อหางบประมาณที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องแก่ผู้เสนอให้เปลี่ยนแปลง) ให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทนและคัดเลือกนายกรัฐมนตรีรักษาการ (มาตรา 167(4), 168) เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดรัฐราชการได้

9. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ยังคงเป็นไปได้ยากมาก (มาตรา 256) เนื่องจากต้องการเสียงจากทุกพรรคการเมืองที่ไม่ได้มีผู้เป็นรัฐมนตรี เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 20 และเสียงจาก ส.ว. ถึง 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด

10. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงมีอยู่หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่หลังการเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่ และยังคงมีอำนาจเต็มตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 (มาตรา 265) และกรอบเวลาในการจัดการเลือกตั้งภายหลังจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ซึ่งยังคงไม่มีความแน่นอน เนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาจไม่เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติได้ โดยไม่ได้มีการกำหนดกระบวนการหลังจากนั้น (มาตรา 267)

11. มีการนิรโทษกรรมและรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำและการใช้อำนาจโดย คสช. ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต (มาตรา 279)

ในขณะเดียวกัน กลับมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่ยิ่งขัดต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ได้แก่

1. การให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรก จำนวน 250 คนมาจากการสรรหาซึ่งมี คสช. เป็นผู้คัดเลือกในขั้นตอนสุดท้าย โดยมีปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ รวม 6 คน เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง (มาตรา 269) มีอำนาจตีความประเพณีการปกครอง (มาตรา 5) เร่งรัดการปฏิรูปประเทศ โดย ครม. ต้องแจ้งความคืบหน้าต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน (มาตรา 270)

2. การเปิดช่องยกเว้นให้ไม่ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมาได้ (มาตรา 272)

3. การกำหนดให้รัฐต้องให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากการทุจริตแก่ประชาชน และจัดให้มีมาตรการป้องกันและขจัดการทุจริต (มาตรา 63) ซึ่งในทางปฏิบัติจะเป็นเพียงเครื่องมือในการควบคุมเฉพาะนักการเมืองเลือกตั้ง และหนุนเสริมสถานะขององค์กรที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน

4. การบัญญัติให้กำลังทหารใช้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้วย (มาตรา 52)

ทั้งหมดทั้งมวลนี้แสดงให้เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังคงพยายามบ่อนเซาะสถาบันที่มาจากการเลือกตั้งให้อ่อนแอ และเอื้อให้สถาบันที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเป็นผู้บงการการเมืองไทยในระยะยาว ไม่ต่างจากร่างเมื่อสองเดือนที่แล้ว จึงไม่มีทางที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะนำพาประเทศไทยไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จะไม่อดทนยอมรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ไปก่อน เพื่อที่จะตระหนักในภายหลังว่ามันได้สร้างความเสียหายในระยะยาวอีกต่อไป เราขอแสดงจุดยืนสนับสนุนให้ประชาชนไปร่วมลงประชามติ #ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว และร่วมกันหาหนทางไปสู่ระบอบประชาธิปไตยด้วยมือของประชาชนเอง

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement - NDM)

30 มีนาคม 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท