Skip to main content
sharethis

31 มี.ค. 2559 วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 174 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว จำนวน 15 คน กำหนดแปรญัตติ 7 วัน กรอบระยะเวลาดำเนินการภายใน 60 วัน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น โดยกำหนดให้มีการแจ้งสิทธิการได้รับค่าตอบแทน หรือค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่ผู้เสียหายหรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหาย หรือแก่จำเลยที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง หรือ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด หลังปัจจุบันผู้เสียหายจำนวนมากไม่ทราบถึงสิทธิดังกล่าว พร้อมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ขณะเดียวกันได้เพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาตามความเหมาะสม อาทิ สามารถสอบถามหรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้องที่จำเป็นมาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ รวมถึงกำหนดอำนาจหน้าที่และการดำเนินการของอนุกรรมการ การใช้สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัย ตลอดจนกำหนดวิธีการยื่นคำขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทนหรือค่าใช้จ่าย อาทิ กรณีผู้เสียหายไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย พร้อมทั้งปรับปรุงรายการท้ายร่าง พ.ร.บ. เพื่อให้การจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาสามารถกระทำได้รวดเร็ว ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ด้านสมาชิก สนช.อภิปรายเห็นดัวยกับหลักการในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากส่งผลดีต่อผู้เสียหายที่เป็นผู้ถูกกระทำ อย่างไรก็ตามได้ฝากข้อสังเกตและข้อเสนอแนะหลายประเด็น อาทิ ขอให้รัฐกำหนดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้ง่ายขึ้น ควบคู่กับการสื่อสารประชาชนเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างทั่วถึงด้วย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

         

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net