Skip to main content
sharethis

อำเภอวังสะพุงมีหนังสือส่งถึงประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง ชี้นโยบายรัฐเร่งด่วนรัฐบาล ให้แก้ปัญหาภัยแล้งก่อน แนะหากยังต้องมีพิจารณาเรื่องการต่ออายุ ใช้พื้นที่ป่าทำเหมือง ขอให้เป็นการประชุมสภาสมัยสามัญในคราวต่อไป

31 มี.ค. 2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย เดินทางไปที่อำเภอวังสะพุง เข้ายื่นหนังสือต่อนายอำเภอวังสะพุง โดยผ่านปลัดอำเภอวังสะพุงซึ่งเป็นตัวแทนรับหนังสือ เพื่อขอคัดค้านการขอเปิดประชุมสภา อบต.เขาหลวง สมัยวิสามัญ ครั้งที่1/2559 โดยกลุ่มฅนรักบ้านเกิดฯ เกรงว่าจะมีการนำเรื่องการขอต่ออายุขอเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขต ป่าสงวนแห่งชาติป่าโคกภูเหล็ก ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (31 มี.ค. 2559) กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้รับทราบว่ามีหนังสือจากอำเภอวังสะพุง เรื่องเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ สมัยที่1/2559 ลงนามโดยนายวิสา ยัญญลักษณ์ นายอำเภอวังสะพุง ส่งถึงประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง

หนังสือดังกล่าวระบุเนื้อหาว่า จากการที่อำเภอวังสะพุงได้รับหนังสือจากสมาชิก สภา อบต.เขาหลวง 16 คน เพื่อขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ครั้งที่ 1/2559 ในวันที่ 4 เม.ย.2559 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการต่ออายุหนังสืออนุญาตการเข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าโคกภูเหล็ก เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำและทองแดง และการยื่นคำขอใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติในเขต ปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากได้รับหนังสือร้องเรียนจากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

อำเภอวังสะพุงพิจารณาแล้วเห็นว่า ขณะนี้รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายเร่งด่วนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่ง “สภา อบต.เขาหลวง ควรพิจารณาให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและความเดือดร้อนของประชาชนใน พื้นที่ก่อนเป็นอันดับแรก”

หนังสือดังกล่าวยังตั้งคำถามกลับไปยัง สภา อบต. เขาหลวงว่า ขณะมีหนังสือขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญนั้น มีหนังสือเร่งรัดหรือทวงถามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่? ประกอบกับการประชุมแต่ละครั้งที่ผ่านมาไม่สามารถจัดได้เนื่องจากมีการคัด ค้านจากกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ อบต.เขาหลวงได้รายงานหรือประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบ ร้อยหรือไม่ อย่างไร

หนังสือของอำเภอวังสะพุงลงท้ายว่า เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเคยนำเข้าที่ประชุมสภา อบต.เขาหลวงมาแล้ว หากมีความจำเป็นต้องพิจารณาอีก ก็สามารถยื่นญัตติพิจารณาในการประชุมสภาสมัยสามัญที่กำหนดไว้ในคราวต่อไปได้

ทั้งนี้ เรื่องราวทั้งหมดสืบเนื่องจากการที่ บริษัททุ่งคำ จำกัด เจ้าของเหมืองทองที่ อ.วังสะพุง ได้ทำหนังสือถึง สภา อบต. เขาหลวงลงวันที่ 28 มี.ค 2559 เพื่อเร่งรัดให้ สภาฯ มีการลงมติต่อการอนุญาติให้ใช้พื้นที่ป่าโคกภูเหล็ก และพื้นที่ สปก. ทำเหมืองต่อไปได้ จากนั้น สมาชิกสภา อบต. จำนวน 16 คนได้ทำหนังสือถึงทางอำเภอวังสะพุงเพื่อขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพราะช่วงการประชุมสภาสมัยสามัญจบลงแล้ว พร้อมกันนั้น สมาชิกสภา อบต. ทั้ง 16 ก็ได้ทำหนังสือถึงประธานสภา อบต. เขาหลวง ขอให้การประชุมสภาสมัยวิสามัญดังกล่าวเป็น "การประชุมลับ" ด้วย

นางสาวภัทราภรณ์ แก่งจำปา สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ระบุว่า ทางกลุ่มฯ ไม่ต้องการให้ สภา อบต.เขาหลวงจัดประชุมลับ เนื่องจาก 1.กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง จึงไม่ควรมีอะไรที่เป็นความลับกับชาวบ้าน 2.ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมในการประชุม 3.สภา อบต.เขาหลวงต้องมีความโปร่งใสต่อชาวบ้าน และ 4.การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญควรต้องเป็นเรื่องเร่งด่วนเท่านั้น เช่น น้ำท่วม ไฟไหม หรือภัยพิบัตต่างๆ ไม่ใช่เรื่องเพื่อเอื้ออำนวยการใช้พื้นที่แก่บริษัทเอกชน

สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ อธิบายว่า การนำเรื่องดังกล่าวเข้าสภา อบต. เป็นกระบวนของท้องถิ่น ที่จะพิจารณาอนุมัติอนุญาตให้บริษัททุ่งคำ ใช้พื้นที่ป่าและที่ ส.ป.ก. ทำเหมืองต่อไปหรือไม่เนื่องจากใบอนุญาตหมดอายุไปตั้งแต่ปีที่แล้ว

“ป่าไม้หมายถึงชีวิตของคนที่อยู่รอบๆ เหมือง ถ้ามีการอนุญาตก็เหมือนกับชาวบ้านต้องตายทั้งเป็น” สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ให้ความเห็นทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net