เหลียวหลัง-แลหน้า : การศึกษา "ประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

         

ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เชิญอาจารย์เรนัลโด อิเลโต้ ( Prof. Reynaldo Ileto ) อดีตศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงค์โปร์ มาบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง "Looking Back: Southeast Asian Historiography and the Making of a ‘History from Below `” ในวันที่ 30 มีนาคม 2559

อาจารย์อิเลโต้ ได้อธิบายถึงพลังทางสังคมที่ทำให้ท่านได้หันมาสนใจในการศึกษาประวัติศาสตร์จาก "เบื้องล่าง" โดยเริ่มชี้ให้เห็นว่าโดยเนื้อแท้แล้วท่านเติบโตมาจากครอบครัวชนชั้นสูงในฟิลิปปินส์ ( From above ) แต่จังหวะของชีวิตได้ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลในกลางทศวรรษ 1967 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมอย่างเข้มข้นของนักศึกษา ที่ประท้วงสงครามเวียดนามและตั้งคำถามที่ลึกซึ้งกับความหมายของตัวตนและสังคม จึงทำให้ท่านเริ่มมองออกนอกจากกรอบความคิดเดิมที่เคยกักขังท่านไว้ในช่วงเติบโตที่ฟิลิบปินส์ ( ท่านใช้ภาพวัยนักเรียนที่ถ่ายผ่านหน้าต่างเหล็กดัดที่ดูเหมือนถูกขังในกรงมาประกอบการอธิบาย )

การเริ่มมองปัญหาประวัติศาสตร์ออกจากกรอบประวัติศาสตร์แบบเดิมได้รับอิทธิพลจากนักวิชาการที่มีชื่อเสียงหลายท่านที่เป็นหัวขบวนของการศึกษาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนั้น ที่สำคัญ ได้แก่ โอลิเวอร์ วอลเตอร์  เบนเนดิก แอนเดอร์สัน เป็นต้น

อาจารย์อิเลโต้ จำเป็นที่จะต้องทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ทั้งๆที่เข้าเรียนระดับปริญญาเอก ด้วยเหตุผลของโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมหาวิทยาลัยคอร์แนลที่ต้องการพิจารณาความสามารถของท่านก่อนจะอนุมัติให้ทำปริญญาเอก ด้วยเวลาที่จำกัดเพราะต้องทำวิทยานิพนธ์สองเล่มในเวลาสี่ปี จึงทำให้ท่านหันเหจากความตั้งใจเดิมที่จะศึกษาประวัติศาสตร์อินโดนีเซียมาสู่การศึกษาประวัติศาสตร์ของฟิลิปปินส์

วิทยานิพนธ์ปริญญาโทเรื่อง Magindanao, 1860-1888: The Career of Datu Utto of Buayan ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานจุดประกายให้แก่การศึกษาประวัติศาสตร์ "ท้องถิ่น" ในอีกมิติหนึ่ง  โดยทำให้เห็นพลวัตรภายใต้ปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของ "ท้องถิ่น" กับอำนาจของอาณานิคม ซึ่งประกอบขึ้นทั้งความขัดแย้งภายในของรายาแห่งหมู่เกาะและความสัมพันธ์กับอาณานิคม  วิทยานิพนธ์เล่มนี้ได้รับการพิมพ์เผยแพร่ในนามของโครงการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมหาวิทยาลัย

วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกซึ่งต่อมาพิมพ์เผยแพร่ในชื่อว่า “Pasyon and Revolution: Popular Movements in the Philippines, 1840-1910” ที่ได้ทำให้เกิดแรงกระเพื่อนรุนแรงในการศึกษาประวัติศาสตร์ในหลายระดับ ที่สำคัญ ได้แก่  การเปลี่ยนกรอบการมองประวัติศาสตร์จากขนบเดิมที่เน้นชนชั้นนำมาสู่ "มวลมหาประชาชน"  ซึ่งเปิดมิติของการใช้หลักฐานหลักในการพิสูจน์บทบาทและความหมายของมวลชน

อาจารย์ทวีศักดิ์ เผือกสม ภาควิชาประวัตศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ศึกษาวิจัยความหมายและความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ของอาจารย์อิเลโต้ทั้งหมดไว้เป็นอย่างดี  ซึ่งควรได้รับการพิมพ์เผยแพร่โดยเร็ว  ท่านได้เขียนบทหนึ่งที่เป็นการศึกษาวิทยานิพนธ์ของอาจารย์อิเลโต้ชื่อว่า “บทสวดมหาการุณกับการปฏิวัติฟิลิปปินส์: ประวัติศาสตร์จากมุมมองของคนชั้นล่างของเรย์ อิเลโต้ ”ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่าอาจารย์อิเลโต้ได้เลือกใช้เอกสารชุด "บทสวดมหาการุณ" ที่แพร่หลายในสังคมชาวบ้าน/คนธรรมดาในฟิลิปปินส์มาสู่คำอธิบายว่ามวลมหาประชาชนได้เข้ามาในการปฏิวัติด้วยกรอบคิดและการอธิบายจากการถ่ายโอน "พระเยซู" เข้ามาสู่วีรบุรุษของคนธรรมดาอันนำไปสู่การปฏิวัติของมวลมหาประชาชนชาวฟิลิบปินส์

การศึกษาประวัติศาสตร์จาก "เบื้องล่าง" ของอาจารย์อิเลโต้ในทศวรรษ 1970 ได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงที่ลึกซึ้ง  ขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของกระบวนการแปรเปลี่ยนกระบวนทัศน์การศึกษาประวัติศาสตร์ในโลกหลังทศวรรษ 1960
จากการถือกำเนิดการศึกษาประวัติศาสตร์จาก "เบื้องล่าง" มาจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลามากกว่าห้าสิบปี  จึงน่าจะควรทบทวนว่าจากนั้นมาถึงปัจจุบันอะไรได้เกิดขึ้น และอนาคตของการศึกษาประวัติศาสตร์จาก "เบื้องล่าง" จะเป็นอย่างไร

การอธิบายจุดเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์จาก "เบื้องล่าง" โดยทั่วไปมักจะเริ่มจากงานประวัติศาสตร์ของ E P. Thompson ในหนังสือที่มีชื่อเสียงมาก The Making of English working class  แต่ในบริบทของสังคมช่วงนั้น กลุ่มแรกใช้คำนี้ได้แก่ Communist Party Historian's Group   CPHG  แต่เนื่องจากการใช้ของกลุ่มนักประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งอังกฤษ เน้นเพียงการอธิบายการต่อสู้ทางชนชั้นตามกรอบความคิดของมาร์ก จึงทำให้ความพยายามจะอธิบายว่า "ชนชั้น" ไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนกับพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกของ ซึ่งทำให้ผลงานของ E.P.Thompson ในการทำความเข้าใจการก่อตัวของ "ชนชั้น" ได้รับการยอมรับว่าเป็นการเริ่มต้นของการศึกษาประวัติศาสตร์จาก "เบื้องล่าง" แต่อย่างไรก็ตาม นักคิดฝ่ายซ้ายจำนวนหนึ่งก็ได้พยายามอธิบาย "ชนชั้น" ในบริบทประวัติศาสตร์ในทำนองเดียวกัน เช่น Raymond William ในส่วนที่ว่าด้วย "Structure of Felling"

การเกิดและใช้คำว่า "ประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง" หรือ "History from below" ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลคำเท่านั้น แต่หากได้เป็นการสะสมความคิดที่เสาะแสวงหาแนวทางในการจัดความสัมพันธ์กับ "อดีต" เพื่อตอบคำถามในขณะนั้น จึงมีผลอย่างสำคัญในการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของการศึกษาประวัติศาสตร์

กล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์การศึกษาประวัติศาสตร์นี้ได้พังทลายกรอบความคิดของความรู้ที่อธิบายสังคมที่ดำรงอยู่ในขณะนั้นไปโดยสิ้นเชิง

นับจากนั้นมา การศึกษา "ผู้ที่อยู่ข้างล่าง" ก็ได้สะพัดและสะพรั่งไปทุกขอบเขตของการศึกษา  การศึกษาผู้หญิงในฐานะผู้ที่ถูกทำให้อยู่ข้างล่างก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในเว็บไซด์ของ JSTOR อาทิตย์ที่ผ่านมาได้เน้นว่า When History Became Her story, Too: JSTOR Celebrates Women's History Month ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่าการเกิดขึ้นของประวัติศาสตร์ผู้หญิงเริ่มขึ้นเมื่อ 1970

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1960 ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการมอง "ผู้อยู่ข้างบน" และ "ผู้อยู่ข้างล่าง" โดยเน้นให้เห็นถึงสภาวะของการถูกทำให้คนบางกลุ่ม "อยู่ข้างล่าง" และในหลายมิติก็ได้ทำให้เห็นว่า "ผู้อยู่ข้างล่าง" ล้วนแล้วแต่มีส่วนในการสร้างประวัติศาสตร์ของยุคสมัย ทำให้เกิดการขยายตัวของการศึกษาผู้ที่ถูกนับว่า/มองว่า "อยู่ข้างล่าง" หลากหลายมากมาก ( Who counts as below )

พร้อมกันนั้น ในช่วงเวลาห้าสิบปีที่ผ่านมา  การเสื่อมศรัทธาในระบอบคอมมิวนิสต์ของสตาลิน เรื่อยมาจนการพังทลายลงของระบอบ ได้ทำให้นักวิชาการจำนวนมากพยายามอธิบายความสัมพันธ์ทางสังคมอำนาจที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมมาก พร้อมทั้งรื้อถอนทำลายความคิดที่ตกทอดมาจากขนบความรู้สมัยใหม่ทุกมิติ

นับจากนั้นมา กรอบคิด "ประวัติศาสตร์จากข้างล่าง" ที่เน้นการทำความเข้าใจ "ชนชั้น" ก็ได้ปรับเปลี่ยนการอธิบาย "ผู้ที่อยู่เบื้องล่าง" ที่สลับซับซ้อนมากขึ้น โดยมีความมุ่งหวังที่จะสร้างความรู้เพื่อการปลดปล่อย (Emancipation) ผู้คน โดยมีกรอบแนวคิดที่หลากหลายและซับซ้อน 

กล่าวได้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ก็คือ การเปลี่ยนจาก "ประวัติศาสตร์จากเบื้องล่างมาสู่ประวัติศาสตร์เพื่อคนเบื้องล่าง"  ( History from below to History for below) ดังที่จะได้จากว่า การศึกษาคนชายขอบ การศึกษาประวัติศาสตร์ "ผู้หญิง"  การประวัติศาสตร์ "พื้นที่"/ภูมิศาสตร์มนุษย์ ประวัติศาสตร์ระบอบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ฯลฯ แม้กระทั้งการศึกษาประวัติศาสตร์ "ชนชั้น" ที่หมดความหมายและความสำคัญลงไปในช่วงที่ผ่านมา ก็ได้เกิดความพยายามในการทำความเข้าใจ "ชนชั้น" ในกรอบคิดใหม่ที่เห็นว่า "ชนชั้น" ถูกแทรกเข้ามาทับด้วย "พลเมือง/ประชาชน" แต่ยังสำคัญที่จะต้องศึกษา "ชนชั้น" อยู่เพื่อทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม

ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ทำให้แนวคิด "ประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง" ที่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านประวัติศาสตร์กระแสหลักได้กลายมาเป็น "กระแสทั่วไป" ของการศึกษาประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์ในปัจจุบัน

สำหรับสังคมวิชาการฟิลิปปินส์กลับแตกต่างออกไป  แม้ว่าการศึกษาสังคมจาก "ผู้คนที่ถูกถือว่าอยู่ข้างล่าง" จะสะพัดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านในพื้นที่เกาะต่างๆ  ทางใต้ หรือ ผู้ที่ถูกนับว่าอยู่ข้างล่าง" เช่น การศึกษาเชิงวัฒนธรรมชุมชน  แต่ความนิยมในงานของอาจารย์อิเลโต้สองฉบับที่มีไม่เท่ากันพอจะนำทางให้เห็นถึงความเฉพาะของสังคมฟิลิปปินส์ได้

กล่าวคือ หนังสือที่พิมพ์จากวิทยานิพนธ์ปริญญาโทที่มองประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วยกรอบของปฏิสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับท้องถิ่นและท้องถิ่นกับอำนาจอาณานิคม ได้รับความนิยมสูงมากตลอดมา โดยเฉพาะการศึกษา "ท้องถิ่น" ในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ในหนังสือเล่มล่าสุดของ Dr. Heidi Gloria เรื่อง New History of the Philippines from the Viewpoint of Mindanao ( 2014 ) ก็ยังคงดำเนินอยู่ในกรอบหลักที่อาจารย์อิเลโต้ได้วางเอาไว้ ( ทราบจากอาจารย์ทวีศักดิ์ เผือกสม ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ว่าหนังสือเล่มนี้ของอาจารย์ได้ถูกแอบพิมพ์เผยแพร่โดยกลุ่มนักสู้เพื่ออิสรภาพของกลุ่มเกาะทางใต้ของฟิลิปปินส์ )

แต่หนังสือที่พิมพ์จากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกกลับไม่ได้รับความนิยมมากนักในประเทศ แต่กลับได้รับความชื่นชมจากวงวิชาการต่างประเทศ และกล่าวได้ว่าส่งผลกระทบทางวิชาการในฟิลิปปินส์ไม่มากนัก ผู้เขียนเดาเอาว่าอาจารย์อิเลโต้ก็คงจะเห็น/และรู้สึกเช่นเดียวกัน เพราะท่านได้เน้นว่างานนั้นมีผลกระทบทางปฏิบัติการจริงทางสังคมการเมือง โดยหยิบกรณีพาเหรดงานศพของนีนอย อากิโน มาเป็นตัวอย่าง แต่ก็ไม่ได้พูดหรือเน้นว่าได้นำไปสู่การศึกษาอื่นๆเพิ่มเติมหรือสนับสนุนท่านเลย

เหตุผลที่ทำให้งานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของท่านไม่ได้รับความนิยมในประเทศของตัวเอง ก็เนื่องจากกรอบการคิดว่า "ใครจะถูกนับว่าอยู่เบื้องล่าง" ( Who counts as below ) ซึ่งจะต้องพิจารณาจากระบบความสัมพันธ์ทั้งหมดทุกมิติในสังคมว่าได้สร้างและกำหนดให้ใครอยู่ข่างบนและข้างล่าง ซึ่งในสังคมฟิลิปปินส์แล้ว ในความสัมพันธ์ทางอำนาจจริงๆ ได้ถูกซ่อนเร้นเอาไว้ไม่ให้ปรากฏในความรู้สึกโดยรวมของสังคม  ได้แก่ ความสัมพันธ์ทางอำนาจของคริสต์ศาสนาคาทอลิกกับคนฟิลิปปินส์

หนังสือเรื่อง “Pasyon and Revolution: Popular Movements in the Philippines, 1840-1910” ได้กระแทกแกนกลางของความสัมพันธ์ทางอำนาจนี้  โดยได้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นอิสระโดยสัมพัทธ์ของชาวบ้านกับคำสอนของโบสถ์คาทอลิก ( ลองนึกเปรียบเทียบกับการศึกษา Microhistory ของ Carol Ginzberg เรื่อง The Cheese and the Worms ) จึงทำให้นักวิชาการ/ปัญญาชนฟิลิปปินส์ไม่สามารถที่จะกลืนกรอบคิดของอาจารย์อิเลโตเข้าไปทำงานต่อไปได้ เพราะหากคิดต่อไปในลักษณะนี้ก็จะทำให้กระทบ/กระเทือนรากฐานของสังคมฟิลิปปินส์ในความรู้สึกของพวกเขา

จึงไม่น่าประหลาดใจที่อาจารย์อิเลโต้จำเป็นที่จะต้องเดินทางไปสอนประจำอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศมากกว่าที่จะอยู่สอนในฟิลิปปินส์ เพราะการอยู่ในที่ที่รับความคิดของท่านได้ย่อมมีผลดีต่อตัวท่านมากกว่าการอยู่ในที่ที่มีคนรับความคิดได้น้อย

ดังนั้น แม้ว่าการศึกษา "ประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง" จะดูเป็นเรื่องปรกติในสังคมฟิลิปปินส์

เฉกเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในโลก  แต่ความเฉพาะทางอำนาจวัฒนธรรมก็ยังกำหนด "ผู้ที่อยู่เบื้องล่าง" ไว้ไม่ให้ปรากฏเสียง ( บทบาทของการกดทับเสียง "ผู้อยู่ข้างล่าง" ด้วยวิธีการลึกซึ้ง อ่านได้จากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอาจารย์บุญเลิศ วิเศษปรีชา แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ )

ในสังคมไทยก็เช่นเดียวกัน  แม้ว่าเราจะศึกษา "ประวัติศาสตร์ผู้อยู่ข้างล่าง" มามากพอสมควร แต่คุณลักษณะอำนาจวัฒนธรรมในสังคมก็ยังไม่ปล่อยให้เสียงผู้อยู่ข้างล่างทั้งหมดปรากฏขึ้นได้

เมื่อ "เหลียวหลัง" และมอง "ปัจจุบัน" ของการศึกษา " ประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง" สิ่งที่ต้องใคร่ครวญคิดต่อไปจึงเป็นส่วนของ " อนาคต " ว่าพอจะมีแนวทางใดบ้างที่มองเห็น

1. ต้องพิจารณาความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ซ้อนทับกันหลายมิติ การถูกทำให้เป็น "ผู้ที่อยู่ข้างล่าง" ถูกซ่อนเร้นมากขึ้น เช่น การถูกทำให้เป็นโรคจิตเภท ( โปรดอ่านงานของ Nicolas Rose ผู้เขียนของขอบคุณคุณกฤตภัค งามวาสีนนท์ ที่แนะนำให้รู้จัก/อ่าน )

2.ต้องพิจารณาถึงความเฉพาะของแต่ละพื้นที่วัฒนธรรมและต้องทำความเข้าใจผ่านกระบวนการของการกดทับเสียงของผู้ไร้เสียง ซึ่งอาจจะเป็นการมองจากบนลงล่าง แต่ก็จะเป็นมุมกลับที่ทำให้เข้าใจ " ผู้อยู่เบื้องล่าง" ได้ชัดเจนขึ้น

3.โอกาสและจังหวะของชีวิตประจำวัน/ประจำเดือน/ประจำปี  ที่ถูกทำให้เป็นทั้ง " ผู้อยู่เบื้องล่าง" และ "ผู้อยู่เบื้องบน" เงื่อนไขทั้งหมดของชีวิตผู้คนล้วนแล้วแต่จะนำไปสู่ความเข้าใจ " เบื้องล่าง" ทั้งหมด

การสร้างความรู้เพื่อการเพิ่มอำนาจ ( Empowerment ) อันจะนำไปสู่ชุดความรู้เพื่อการปลดปล่อย (Emancipation) คงเป็นภารกิจที่ไม่สิ้นสุด ( Unfinished Burden ) ของผู้คนในโลก

ขอขอบพระคุณอาจารย์อีเลโต้ที่ได้เริ่มแผ้วถางทางเดินให้แก่คนรุ่นหลัง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท