Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

- 1 -

ปีที่แล้วมีโอกาสเจอวิศวกรไทยที่ทำงานกับบริษัทโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เยอรมัน เขาอยู่เยอรมันหลายสิบปี ทำงานและใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นนานเสียจนพูดไทยไม่ค่อยชัด ผมขาวมีมากกว่าผมดำ คาดว่าอายุน่าจะห้าสิบกว่าถึงหกสิบปี

เขาเล่าว่า ช่วงนี้เยอรมันมีนโยบายทยอยปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะกระแสสิ่งแวดล้อมมาแรงมาก บริษัทเลยต้องส่งผู้เชี่ยวชาญโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างเขาไปประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อสำรวจหาประเทศที่มีความเป็นไปได้หรือต้องการจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

แน่นอนว่า ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

- 2 -

หลังจากพบว่าแร่ใยหินที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของหลังคา ฝ้าเพดาน แผ่นกันความร้อน ฯลฯ เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอด ประเทศพัฒนาแล้วก็ยกเลิกการผลิต การนำเข้า และการใช้วัสดุที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ

เหมืองแร่ใยหินที่ใหญ่ที่สุดของโลกอยู่ในรัสเซีย รัสเซียเป็นประเทศที่ไม่ยอมรับว่าแร่ใยหินก่อให้เกิดผลร้ายต่อสุขภาพ และพยายามส่งออกแร่ใยหินไปประเทศต่าง ทั่วโลก

แม้ว่าเรื่องผลร้ายของแร่ใยหินนี้เขียนไว้ในแบบเรียนของเด็กไทยมาราวยี่สิบสามสิบปีแล้ว แต่ประเทศไทยยังมีกระเบื้องหลังคาผลิตจากวัสดุแร่ใยหินขายอยู่ในตลาดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

คนที่เชื่อว่าแร่ใยหินไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคงมีเพื่อนสนิทเป็นคนรัสเซีย

- 3 -

เหมืองถ่านหินหลายแห่งทั่วโลกต้องปิดตัวลง เพราะความห่วงกังวลเรื่อง climate change และพลังงานถ่านหินก็ปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศในอัตราสูง

ราวยี่สิบปีก่อนเยอรมนียอมปิดเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ในแคว้นรัวห์ แม้จะทำให้มีคนงานตกงานกว่าหกหมื่นคน

ในยุคนี้ ราคาหุ้นบริษัทเหมืองถ่านหินก็ถูกคาดการณ์ว่าจะลดต่ำลง เพราะพลังงานถ่านหินถือว่าไม่ยั่งยืน สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก การลงทุนในธุรกิจถ่านหินจะลดลง

แต่ในขณะเดียวกันนี้ มีกระแสโฆษณาชวนเชื่อในเมืองไทยว่า เดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีทำเหมืองถ่านหินที่สะอาด ซึ่งถือว่าแปลกมาก เพราะที่ว่าสะอาด เขามักใช้กับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ นั่นคือ ปล่อยคาร์บอนสู่อากาศน้อย ตัวนิวเคลียร์จึงไม่ถือว่าสกปรก ที่สกปรกก็คือกากนิวเคลียร์

คนที่บอกว่าถ่านหินสะอาด คงไม่ชอบนิวเคลียร์

- 4 -

ตั้งแต่จาเร็ด ไดอะมอนด์ - ศาสตราจารย์ผู้เขียนเล่ม Collapse ที่เล่าถึงเหตุของการตัดสินใจของสังคมมนุษย์ที่นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองหรือการล่มสลาย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน -วิพากษ์ว่าการทำเหมืองในออสเตรเลียเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่ความไม่ยั่งยืน

เขาฟันธงว่าเหมืองทองเป็นที่สุดของเหมืองยอดแย่ เพราะเทคนิกการทำเหมืองนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก ถือว่าไม่ยั่งยืน และเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะนำมาสู่ความล่มสลายของสังคม

แม้ว่าการส่งออกทองของออสเตรเลียไปประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย จะสร้างรายได้มาก แต่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่หมายถึงระบบนิเวศ อันเป็นต้นทางของอาหาร ที่อยู่อาศัย น้ำดื่ม อากาศหายใจ และการมีสุขภาพที่ดีไปจนรุ่นลูกรุ่นหลาน - ดูเหมือนจะเป็นราคาที่คนออสเตรเลียเริ่มไม่อยากจ่าย

ในยุคที่คนออสเตรเลียใส่ใจสิ่งแวดล้อมในฐานะมรดกที่ส่งต่อให้ลูกหลาน เทคโนโลยีทำเหมืองจึงต้องส่งออกมายังประเทศอื่น รวมทั้งประเทศที่มีคนชอบทองอยู่มากอย่างประเทศไทย

- 5 -

ดูเหมือนเทรนด์ของโลกยุคปัจจุบันที่คนไม่ค่อยพูดถึงก็คือ ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วเริ่มขยับไปใช้เทคโนโลยีที่สะอาดขึ้น มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ก็ส่งออกหรือส่งต่อเทคโนโลยีเก่าของตัวเองมายังประเทศกำลังพัฒนา โดยเทคโนโลยีเหล่านี้โดยมากเป็นเทคโนโลยีสกปรก ประสิทธิภาพต่ำ

อย่างว่าแหละ เรื่องแบบนี้ใคร-ใครก็รู้ แต่รู้แล้วไม่เปลี่ยน นี่เรียกว่าอะไรดีหนอ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net