Skip to main content
sharethis

กรรมการสิทธิฯ ระบุการได้สัญชาติหลังการเกิดไม่ควรจำกัดสิทธิทางการเมือง ฮิวแมนไรท์วอทช์ชี้คนไร้รัฐในไทยมี 5 แสนกว่าคน รวมถึงคนพิการ คนกลุ่มชาติพันธุ์ คนเร่ร่อน ฯลฯ ไร้การเหลียวแลจากรัฐบาลทั้งที่จ่ายภาษีเช่นเดียวกัน

26 มี.ค. 2559 เวลา 14.00 น. Photo Journ Festival Edition 2nd ร่วมกับคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานแสดงภาพถ่ายในหัวข้อคนไร้สัญชาติ และจัดเสวนาเรื่องบุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทย ที่ มธ. ท่าพระจันทร์ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นการที่รัฐทำให้บุคคลกลายเป็นคนไร้สัญชาติ โดยคนเหล่านี้ขาดการคุ้มครองหรือเข้าถึงสิทธิทางกฎหมายที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในประเทศไทย

คนไร้สัญชาติกับสิทธิทางการเมือง
เตือนใจ ดีเทศน์ อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ กล่าวว่า เรื่องคนไร้รัฐ ไร้สัญชาตินั้นมี 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่เกิดนอกประเทศไทยและได้อพยพเข้ามาอยู่ประเทศไทย แต่ยังไม่ได้สำรวจรายการบุคคลให้เข้ามาอยู่ในระบบทะเบียนราษฎร เด็กเหล่านี้ถือเป็นเด็กไร้รัฐ เพราะไม่มีจุดเกาะเกี่ยวทางกฎหมาย 2.เกิดในประเทศไทยแต่พ่อแม่หรือผู้ปกครอง ไม่ได้แจ้งเกิดให้ มีตัวอย่างมากมาย เช่นชาวไทยภูเขา กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่พื้นที่ห่างไกล 3.เด็กที่เกิดนอกหรือในรัฐก็ตามแต่ซึ่งได้รับการสำรวจมีชื่อในระบบทะเบียนราษฎรแล้ว แต่ยังไม่มีสัญชาติไทย 10 ปีที่ผ่านมาทางการมีความเป็นกังวลว่าจะมีเด็กที่ถูกแอบอ้างว่าเกิดในประเทศไทยแต่ไม่ได้เกิดจริงๆ จึงมีแนวทางที่จะให้แม่ที่จะตั้งครรภ์ไปฝากท้องที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ดังนั้นผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ทุกคนก็จะมีใบประจำตัวไปตรวจสุขภาพหลังจากตั้งครรภ์และไปคลอดที่โรงพยาบาล ซึ่งจะได้รับเอกสารที่ยืนยันว่าเกิดในโรงพยาบาลนั้นๆ ในประเทศไทย

ในส่วนของโรงเรียนมีหน้าที่สำรวจเด็กนักเรียนให้เข้าเรียน ซึ่งจะต้องทำบัตรประจำตัวนักเรียนที่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยการรับนักเรียนเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐ ปี 2548 ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้ามากของประเทศไทยที่เด็กที่อยู่ในประเทศไทยสามารถเข้ารับการศึกษาตั้งแต่ประถมวัยจนถึงปริญญาเอกได้ และได้รับวุฒิบัตรเท่าเทียมกับผู้ที่มีสัญชาติไทยทุกประการ ซึ่งแก้ปัญหาเรื่องโรงเรียนรัฐไม่รับเด็กไร้สัญชาติเข้าเรียนได้ หรือรับแต่ประทับตราสีแดงว่าเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย ระเบียบกระทรวงฯ ชุดนี้จึงออกมาเพื่อแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อนักเรียนนักศึกษาที่ไร้สัญชาติ

เตือนใจ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการจะผลักดันในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนคือเรื่องสิทธิทางการเมืองของคนไร้สัญชาติที่เพิ่งได้สัญชาติภายหลัง เนื่องจากผู้ที่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด จะสามารถสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน องค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาผู้แทนวุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภาได้ แต่ถ้าได้สัญชาติไทยหลังการเกิด จะเสียสิทธิทางการเมืองคือไม่สามารถสมัครดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้

“การเกิดหรือไม่เกิดในประเทศมันมีความสำคัญหรือไม่ถ้าคนคนนั้นเป็นคนที่มีคุณภาพ การได้สัญชาติตอนเกิดหรือหลังการเกิดไม่ควรจำกัดสิทธิทางการเมือง ในสหรัฐอเมริกาอาชีพเดียวที่จำกัดสัญชาติว่าจะต้องเกิดในประเทศคือประธานาธิบดีเท่านั้น นอกนั้นสามารถเป็นได้ทุกอาชีพ” เตือนใจ กล่าว

เสียงสะท้อน ‘การเป็นคนดีมีประโยชน์ในสังคมไทยไม่ช่วยอะไรหากไร้สัญชาติ’
ยอด ปอง บุคคลไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ดาระอั้ง จังหวัดเชียงราย ซึ่งปัจจุบันเป็นครู และเคยได้รับรางวัล "ค้นค้นฅน อวอร์ด" ครั้งที่ 4 สาขาเยาวชนต้นแบบ กล่าวว่า เกิดมาก็ไม่รู้ว่าตัวเองไร้สัญชาติรู้เพียงว่าฐานะยากจน และพ่อแม่อพยพมาตั้งรกรากที่จังหวัดเชียงราย เมื่อเห็นครอบครัวลำบากเมื่อมีโอกาสได้เรียนจึงตั้งใจศึกษาหาความรู้และพยายามทำกิจกรรมต่างๆ เพราะเชื่อว่าหากมีความสามารถอนาคตจะได้รับสัญชาติไทยมีสิทธิเท่าเทียมเหมือนคนอื่นๆ ในการศึกษาช่วง ม.4-ม.6 ยอดไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ ของภาครัฐ ทำให้ในช่วงที่เรียนหนังสือต้องเผชิญกับความยากลำบากเพราะต้องทำงานหารายได้และอาศัยการอุปการะของผู้ใหญ่ในโรงเรียนที่สงสาร จนกระทั่งคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เห็นความสามารถและรู้ว่ายอดเป็นคนไร้สัญชาติจึงขออุปการะยอดในการส่งเสียเรียนต่อในระดับปริญญาตรี

ยอด กล่าวถึงอุปสรรคในช่วงเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยว่า หลังจากได้ทุนการศึกษาเขามีความมุ่งมั่นที่จะสอบเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่สามารถสมัครเข้าเรียนได้เพราะไม่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ทำให้เขาต้องเลือกมหาวิทยาลัยที่สามารถรับตรงได้เท่านั้น โดยในที่สุดเขาก็ได้เรียนต่อสาขาศึกษาศาสตร์ นาฏยสังคีต มหาวิทยาลัยบูรพา ที่ตรงกับความถนัดและความมุ่งหมายของเขา ในระยะเวลาที่ผ่านมาสิ่งที่ยอดต่อสู้ควบคู่มาตลอดคือการขอสัญชาติไทย โดยในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยบูรพา เขาได้มีโอกาสเข้าโครงการบางกอกคลินิก ซึ่งปรึกษาการแก้ปัญหาเรื่องคนไร้สัญชาติของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมายจาก รศ.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ยอด กล่าวถึงความท้อแท้จากการเป็นคนไร้สัญชาติว่า คนทั่วไปมักจะมองว่าคนไม่มีสัญชาติไม่เหมือนคนไทยคนอื่น การที่ไม่มีสัญชาติทำให้โดนกลั่นแกล้งหลายอย่างในระบบการแข่งขัน อย่างตอนที่โรงเรียนส่งชื่อเข้าแข่งขันโครงการนักเรียนพระราชทาน ตอนนั้นแม้ยอดจะได้เข้ารอบระดับประเทศเพื่อชิงรับรางวัลพระราชทาน แต่สุดท้ายก็ถูกตัดโอกาสนั้นไปเพราะมีคณะกรรมการเห็นว่ายอดไม่มีสัญชาติไทย ทำให้ยอดรู้สึกว่ายอดไม่มีโอกาสเท่าคนอื่น เพียงเพราะไม่มีสัญชาติไทย แม้จะมีความสามารถหรือความตั้งใจทำงานก็ตาม

‘คนไร้รัฐ’ผู้เสียภาษีที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง
สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานกรรมการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะหลักการสากลระบุว่า คนหนึ่งคนต้องมีรัฐหนึ่งรัฐให้ความคุ้มครองดูแล หมายความว่าคนหนึ่งคนจะมีสองรัฐให้ความดูแลก็ได้ หรือสามรัฐก็ดี ซึ่งโดยหลักการต้องไม่มีบุคคลใดไร้รัฐ แต่ข้อเท็จจริงในปัจจุบันมีคนไร้รัฐนับล้านคนที่อยู่ในประเทศไทย เมื่อเขาเหล่านั้นไม่มีสัญชาติระบุ สิทธิที่เขาจะได้รับในฐานะที่เขาเป็นคนก็น้อยกว่าบุคคลที่รัฐให้ความดูแล สถานการณ์คนไร้สัญชาติ สุรพงษ์เชื่อว่ามีคนไร้รัฐหรือไร้สัญชาติอยู่ทุกตำบลในประเทศไทย ยกตัวอย่าง แถวสนามหลวง ท่าพระจันทร์มีจำนวนมาก เราอาจจะเห็นเด็กเร่ร่อนเดินอยู่ริมถนนซึ่งเด็กเหล่านี้หลายคนเป็นเด็กไร้สัญชาติไทย โดยข้อเท็จจริงคือคนเหล่านี้เป็นคนไทยเหมือนเราทุกประการแต่เขาไม่ได้ไปแจ้งเกิด หรือคนบางคนสติไม่ดี พิการในบางเรื่อง คนที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล ปัญหาเหล่านี้ทำให้ไม่ได้รับการแจ้งเกิดและจัดทำทะเบียนบ้านทำให้คนเหล่านี้ก็กลายเป็นคนไร้สัญชาติและสูญเสียสิทธิการคุ้มครองจากรัฐ นอกจากนี้ยังมีกรณีคนประเทศเพื่อนบ้านที่อพยพมาทำงาน แต่งงานในประเทศไทยจำนวนมาก และมามีลูกในประเทศไทยโดยไม่ไปแจ้งเกิด

ข้ออ้างของหน่วยงานรัฐ คือ หากรัฐไทยให้สัญชาติคนจำนวนเกือบล้านคนจะทำให้ประเทศเสียหายหรือไม่ คนส่วนใหญ่มองว่าคนเหล่านี้ไม่เสียภาษีให้รัฐและทำไมต้องเอาภาษีของคนไทยไปจ่ายให้คนเหล่านี้ด้วย ข้อเท็จจริงคือ คนเหล่านี้เกิดในรัฐไทย ปัจจุบันก็อาศัยอยู่ในรัฐไทยและมีการเสียภาษีเหมือนคนไทยทุกอย่าง ภาษีหลักๆ มี 2 แบบ 1.ภาษีรายได้ส่วนบุคคล มีรายได้มากจ่ายมากมีน้อยจ่ายน้อย มีรายได้น้อยมากๆไม่ต้องจ่าย ชาวบ้านทั่วไปที่ฐานะไม่ดีก็ไม่ได้จ่ายทางตรงเพราะมีรายได้น้อยมาก ในข้อนี้ไม่ใช่ว่าเขาไม่เสียภาษีแต่เขาได้รับการยกเว้น แบบ 2.ภาษีทางอ้อมหรือที่เรียกง่ายๆว่า VAT คนเหล่านี้ก็ต้องจ่ายเช่นเดียวกับคนไทยทุกคน เช่น ขึ้นรถประจำทาง ซื้ออาหาร ซื้อของใช้ต่างๆ เช่าห้อง ฯลฯ เขาจ่ายทุกอย่างแต่ไม่ได้รับการคุ้มครองดูแลเช่นคนในรัฐ และภาษีเหล่านี้ไม่ได้มีมาเพื่อบริการคนให้ภาษี ซึ่งหลักการการเก็บภาษีจะเก็บจากการที่คนในประเทศได้ประโยชน์จากรัฐแล้วจึงจะต้องจ่ายภาษีคืน พูดง่ายๆ คือมีรายได้ให้กับแผ่นดินนี้

สำหรับปัญหาคนไร้สัญชาติกับการขาดโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิต สุรพงษ์ ยกตัวอย่างกรณี หม่อง ทองดี คนไร้สัญชาติที่เป็นข่าวโด่งดัง หม่อง ทองดี อายุ 12 ปี นักพับเครื่องบินกระดาษร่อนได้นานที่สุดในประเทศไทย หม่อง ทองดีได้รับเลือกเป็นตัวแทนเยาวชนไทยให้เดินทางไปแข่งขันพับจรวดที่ประเทศญี่ปุ่น แต่เนื่องจากหม่อง ทองดีแม้จะเกิดในประเทศไทยแต่ก็ไม่ได้รับสัญชาติไทยจึงไม่อนุญาตให้ออกนอกประเทศได้ ทนายความจึงดำเนินการฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องสิทธิการไปแข่งขันให้หม่อง ทองดี จนใกล้วันเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นหม่อง ทองดีก็ยังไม่ได้รับการรับรองหนังสือเดินทาง จึงมีการดำเนินเรื่องช่วยเหลือให้เดินทางไปพบอธิบดีกรมการปกครองเพื่อขอให้รับรองหนังสือเดินทาง แต่อธิบดีกรมฯตอบปฏิเสธ ทนายความจึงยื่นฟ้องร้องที่ศาลปกครองเพื่อให้ได้รับหนังสือเดินทางไปให้ทันการแข่งขันที่ญี่ปุ่น ซึ่งในที่สุดก็ถอนฟ้องคดี เนื่องมาจากสังคมกดดันให้นายกรัฐมนตรีฯ และกรมอธิบดีรับรองหนังสือเดินทาง จนในที่สุดหม่อง ทองดีได้เดินทางไปญี่ปุ่นและชนะการแข่งขันอันดับที่ 3 สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย แต่ท้ายที่สุดหม่อง ทองดี ก็ไม่ได้รับการให้สัญชาติไทย ไม่มีโอกาสในด้านสิทธิการศึกษา กรณีนี้สะท้อนปัญหาเด็กชนกลุ่มน้อยที่เขามาเกิดในประเทศไทยและเป็นคนที่มีคุณภาพแต่รัฐกลับละเลย ซึ่งที่ผ่านมาแม้รัฐอ้างว่ามีนโยบายจะให้คนกลุ่มนี้มีสัญชาติแต่ปัจจุบันก็ไม่ได้มีการช่วยเหลืออย่างแท้จริง

การถูกกระทำอย่างไร้มนุษยธรรมของคนไร้สัญชาติ อคติบนฐานคิดรัฐชาติ
สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย(HRW) กล่าวว่า ไม่ว่าคนอยู่ที่ไหน ดินแดนไหน เกิดที่ไหน สถานะทางกฎหมายเป็นอย่างไร จะต้องมีสิทธิของความเป็นคนหรือสิทธิมนุษยชนที่ไม่สามารถพรากไปจากบุคคลเหล่านั้นได้ ปัจจุบันเราผูกติดกับความเป็นรัฐชาติ ความคุ้มครองของคนมันผูกติดอยู่กับความเป็นพลเมือง ถ้าไม่มีความเป็นพลเมืองอย่างน้อยก็ต้องอยู่ในสายตาของรัฐ ปัญหาคือเมื่ออยู่ในโลกปัจจุบันซึ่งเป็นรัฐสมัยใหม่ คนจำนวนมากไม่อยู่ในสายตาของรัฐ คนถูกทำให้ไร้รัฐ เมื่อไร้รัฐก็ปราศจากการคุ้มครองแล้วถูกเอารัดเอาเปรียบโดยที่ไม่สามารถได้รับความยุติธรรม หรือบางกลุ่มที่แต่เดิมมีตัวตนอยู่แล้วก็ถูกผลักออกไปให้อยู่ชายขอบ คนที่มีวิถีชีวิตที่ไม่ได้ปรับให้เข้ากับความเป็นรัฐสมัยใหม่ ก็หาที่ทางของตัวเองไม่เจอในระบบเช่นนี้

สุนัย ยกตัวอย่าง กรณีคนไร้รัฐที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5 แสนกว่าคน ในกลุ่มจำนวนนี้ก็มีชาวเลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญกลุ่มใหญ่ ชุมชนชาวเลที่อยู่มาในบริเวณรัฐไทยระยะเวลากว่า 100 ปี แต่เมื่อเกิดรัฐชาติสมัยใหม่ เราจะเห็นว่ามีชาวเลในหลายชุมชนในจังหวัดทางภาคใต้ อย่างกรณีของสตูล กระบี่ ภูเก็ต และระนอง ได้รับผลกระทบหลายกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลจะมีหลายกลุ่มย่อย ได้แก่ อูรักลาโว้ย มาเก็น และมอร์แกน ในกลุ่มอูรักลาโว้ยและมาเก็นนั้นมาตั้งถิ่นฐานบนบกและส่วนใหญ่ได้รองรับความเป็นพลเมืองจากรัฐแล้ว แต่กลุ่มที่มีความน่าสนใจและมีจำนวนน้อยที่สุดในกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในประเทศไทย คือ ชาวมอร์แกน ที่มีประชากรประมาณ 700-800 คน ส่วนมากอยู่ในหมู่เกาะทางทะเลอันดามัน ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับการรองรับเป็นพลเมืองจากรัฐไทยทั้งที่อยู่ในดินแดนแถบนี้มาตลอด ก่อนหน้าที่จะเป็นรัฐชาติทะเลไม่มีพรมแดน ชาวเลทุกกลุ่มตั้งแต่คนแก่จนถึงรุ่นปัจจุบัน ทุกคนพูดว่าเขาไม่มีความเข้าใจไม่เห็นความสำคัญว่าทำไมต้องมาตีเส้นแบ่ง ทะเลก็คือทะเล บ้านเขาอยู่ในทะเล พอแบ่งพรมแดน แบ่งเขตคุ้มครองฯ แบ่งเขตพื้นที่สงวนฯ ชาวเลยิ่งไม่เข้าใจวิธีคิดเหล่านี้ มอร์แกนในกลุ่มชาวเลเป็นกลุ่มที่มีวิถีชีวิตเร่ร่อน ซึ่งใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับทะเล ทำให้ไม่สามารถเอาตัวเองเข้ามาอยู่ในสายตาของรัฐเพราะฐานะยากจน ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทย และติดอคติจากเจ้าหน้าที่รัฐที่มองว่าเป็นคนอื่น

สุนัย กล่าวถึงปัญหาการขอสัญชาติในประเทศไทยว่า แทนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปสำรวจการมีอยู่ของคนเหล่านี้ แต่คนเหล่านี้จะต้องเข้ามาหาเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อหาหลักฐานยืนยันว่าเขาเป็นคนที่เกิดในรัฐไทย ดังนั้นมีชาวมอร์แกนจำนวนมากตั้งแต่เกิดจนตายก็ไม่ได้รับสัญชาติไทยและพวกเขาเหล่านี้ถูกมองว่าไม่มีตัวตนในทางกฎหมายในทางรัฐศาสตร์ ทั้งที่เขามีตัวตนแต่ปราศจากการคุ้มครองเพราะไม่มีการยึดโยงกับรัฐ มันจึงเป็นนิยาม Stateless at Sea ความไร้รัฐทำให้สูญเสียสิทธิความเป็นคนของรัฐไป สิ่งที่ทำได้ก็คือการผลักดัน พ.ร.บ.สัญชาติ การรณรงค์ให้คนไร้รัฐสามารถเข้าถึงสถานะความเป็นพลเมืองของรัฐได้ ในทางตรงคือการให้พวกคนไร้สัญชาติที่อยู่ในรัฐไทยได้เลขประจำตัว 13 หลัก หรืออาจจะเป็นบัตรที่สถานะด้อยลงมาอย่างน้อยก็ได้รับการยอมรับโดยรัฐ

“ถิ่นที่อยู่ของชาวเลกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่า ชาวเลอยู่ในทะเล กลุ่มที่อยู่ในทะเลอย่างมอร์แกน เขาคิดว่าทะเลคือบ้าน พอเกิดพรมแดนรัฐชาติ คนเหล่านี้ไปหากินเข้าไปในพม่าก็ถูกไล่ยิง บาดเจ็บล้มตาย พอเข้ามาฝั่งไทยก็มีปัญหาในเขตอุทยาน ก็จะถูกจับ ทั้งๆ ที่วิถีที่เขาทำนั้น ทำมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย อีกอย่างที่สื่อมวลชนควรต้องรับรู้ คือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ทำให้ภาพชาวเลไปขัดใจนักท่องเที่ยว มีนักดำน้ำเชิงอนุรักษ์จำนวนมากที่พอเห็นเครื่องมือจับปลา ก็ไปทำลายอุปกรณ์ทำมาหากินของชาวเล เพราะเห็นว่าชาวเลมาทำลายสัตว์น้ำ มาทำลายธรรมชาติ บางกรณีก็ไปหาเรื่องทำร้ายร่างกายแล้วชาวเลก็จะเสียเปรียบเพราะไม่มีสถานะในความเป็นพลเมือง มองว่าเป็นตัวทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม อย่างชาวเลในระนองก็จะออกทะเลไกลมาก ก็มีการจ้างจับปลาด้วยระเบิดไดนาไมท์ คนทั่วไปไม่เสี่ยงที่จะเอาระเบิดลงไประเบิดปลาใต้น้ำ แต่นายทุนก็จ้างชาวเลให้ลงไประเบิดปลาเพราะความสามารถของชาวเล เราก็จะเจอชาวเลจำนวนมากที่แขนขาดขาขาด เนื่องจากการทำงานที่เสี่ยงอันตราย เมื่อบาดเจ็บก็ถูกลอยแพไม่สามารถเข้ารักษาพยาบาลได้” สุนัย กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net