Skip to main content
sharethis

‘สมคิดแฟ็คเตอร์’ เดินหน้าโมเดล ‘ขุนศึก-ประชารัฐ’ หลังคำสั่ง คสช. เคลียร์ทาง ปลดล็อกกฎระเบียบทั้งผังเมือง-อีไอเอ ดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน 22 แห่ง หวั่นใช้คำสั่งปราบปรามผู้มีอิทธิพลเป็นเครื่องมือกดดันชาวบ้านไม่ให้คัดค้าน

ที่มาของภาพประกอบ: เว็บไซต์รัฐบาลไทย พ.ศ. 2558 [1], [2], [3], [4] / YouTube หอการค้าไทย

ประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเรื่องหลักเกณฑ์และรายละเอียดของโครงการหรือกิจการที่ได้รับการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสําหรับการประกอบกิจการบางประเภทประกาศณวันที่ 29 มีนาคม 2559  ซึ่งออกประกาศโดยพล.อ. ประยุทธ์จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยอาศัยอำนาจจากคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 4/2559เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภทกำลังเปิดทางให้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 7 โรง ตามแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015)อาจกลายเป็นชนวนเพิ่มความขัดแย้งในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น ที่กระบี่ สงขลา และลำปาง ให้คุกรุ่นขึ้น

จะเห็นว่านับตั้งแต่สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามารับหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจถูกปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจคือจุดตายของทุกรัฐบาลโดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารด้วยแล้ว การผลักเศรษฐกิจให้เดินหน้ายิ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยประคับประคองความมั่นคงและความชอบธรรม

ด้วยความเชื่อมั่นใน ‘สมคิดแฟ็กเตอร์’ ของตัวสมคิดเอง คาดว่าเศรษฐกิจจะเดินหน้าได้จากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เดียวที่เหลืออยู่ตอนนี้ รวมถึงการระดมความคิดจากผู้บริหารระดับสูงในภาคธุรกิจของไทย จนเกิดเป็นคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศหรือคณะกรรมการประชารัฐ ที่ถูกต้องข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นเอกชนกับรัฐมากกว่า เพราะไม่มีตัวแทนของภาคประชาชนเลย

แต่เมื่อมองการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสมคิด การเรียกโมเดลนี้ว่า ‘ประชารัฐ’ อาจไม่ถูกต้องนัก แต่ควรเรียกว่า‘ขุนศึก-ประชารัฐ’ เพราะชัดเจนแล้วว่า อาศัยกลไกทหารและอำนาจในมือ คสช. เป็นตัวจักรสำคัญเพื่อปูทางให้แก่โครงการขนาดใหญ่และสกัดกั้นการคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่

ฝ้ายคำ หาญณรงค์ ผู้ประสานงานคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม ตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่งต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้คือยุทธศาสตร์ที่ถูกวางมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อทยอยปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนการลงทุน

ตั้งแต่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสําหรับการประกอบกิจการบางประเภท

คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 9/2559 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่เปิดโอกาสให้โครงการพัฒนาต่างๆ สามารถเดินหน้าไปได้โดยไม่ต้องรอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ แต่ให้สามารถดำเนินการคู่ขนานกันไป

คำสั่งเหล่านี้ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกคัดค้านจากฟากฝั่งประชาชนและเอ็นจีโอ ตามที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม แค่การปลดล็อกกฎระเบียบดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอ จึงตามมาด้วยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่13/2559 เรื่องการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งถูกมองว่าเป้าประสงค์ที่ซ่อนเร้นไม่ใช่เพียงการปราบปรามผู้มีอิทธิพล แต่เพื่อสกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มต้านรัฐบาล

แต่นั่นก็อาจจะยังไม่ใช่เป้าประสงค์ที่ซ่อนเร้นทั้งหมดเป็นไปได้ว่า คำสั่งที่ 13/2559 จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือควบคุมการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่คัดค้านโครงการต่างๆ กรณีที่เกิดขึ้นแล้วก่อนการประกาศคำสั่งที่ 13/2559 เพียง 3 วันคือกรณีของทวีศักดิ์ อินกว่าง ตัวแทนชาวบ้านเชียงรากใหญ่ที่ออกมาคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งถูกหน่วยทหารในพื้นที่เรียกให้ไปรายงานตัว โดยเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มีอิทธิพลและเป็นเจ้าของบ่อน

ทวีศักดิ์ กล่าวว่า เขาได้อธิบายกับทางทหารว่าเขาไม่ใช่ผู้มีอิทธิพล ไม่ได้ดำรงชีพด้วยอาชีพที่ผิดกฎหมายใดๆ ซึ่งภายหลังการรายงานตัวเขาต้องลงชื่อในบันทึกความเข้าใจว่ารับรู้และได้ทำการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน

คำสั่งที่ 13/2559 ให้อำนาจทหารยศร้อยตรีขึ้นไปเป็นเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม มีอำนาจเรียกตัวบุคคลมารายงานตัวได้ สามารถตรวจค้นเคหะสถานที่มีเหตุสงสัยได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น และสามารถควบคุมตัวไว้ได้ 7 วันโดยไม่ต้องตั้งข้อหา

ฝ้ายคำแสดงความกังวลว่า คำสั่งที่ 13/2559 จะปิดกั้นชาวบ้านจากการมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะยิ่งกว่าเดิม

คำสั่งที่ออกมาเป็นระลอกนี้จึงเป็นการจับมือระหว่างระหว่างขุนศึกกับกลุ่มทุนที่ต้องการให้โครงการต่างๆ เดินหน้าและกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซบเซา โดยจะเห็นว่าหลังจากปูทางด้วยคำสั่งต่างๆ แล้ว ประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติก็ตามมาแทบจะทันทีหลังจากนี้ โมเดล ‘ขุนศึก-ประชารัฐ’ ที่มี ‘สมคิดแฟ็คเตอร์’ เป็นผู้กำกับ คงจะเร่งทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นระลอก เมื่อทุกอย่างถูกเคลียร์ทางไว้ให้แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net