Skip to main content
sharethis

เปิดบีท ปิดไมค์ แล้วปล่อยโฟลว ไปกับแร็พเปอร์สายการเมือง Liberate P ว่าที่สถาปนิกผู้แต่งเพลงเป็นงานอดิเรก เพื่อสื่อสารความคิดและจุดยืน เผยจุดเริ่มต้นสนใจด้านการเมือง มาจากวิดีโอพฤษภาทมิฬ ดูเพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นหนังโป๊!

ปกติถ้าพูดถึงเพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีสังคมการเมือง เล่าเรื่องราวของความอยุติธรรม การกดขี่ ด้วยความคุ้นชินในความทรงจำทั่วไปของคนที่ฟังเพลงบ้าง แต่ไม่ได้เข้าขั้นแฟนพันธุ์แท้เพลงไทย สุดขอบจักรวาลความคิดน้อยๆ บอกเราว่า แนวเพลงแรกสุดที่เรามักจะนึกคือ ‘เพลงเพื่อชีวิต’ อย่าง แสงดาวแห่งศรัทธา, คนกับควาย, จากภูภานถึงลานโพธิ์, เปิบข้าว และเซิ้งอีสาน แต่กับเพลงสมัยใหม่ น้อยครั้งที่จะได้ยินเรื่องราวเหล่านั้นอยู่ในบทเพลง ไม่รู้ว่าเป็นมานานมากน้อยแค่ไหนที่ทิศทางเนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่ในตลาด จะโน้มเอียงไปทางเพลงรักเสียเป็นส่วนมาก

ไม่เว้นแม้แต่เพลงแร็พที่กลับมาโดดเด่นขึ้นอีกครั้ง หลังจากมีรายการ Rap is now ซึ่งเผยแพร่ผ่านทางยูทูบ และเพิ่งได้แชมป์แร็พแบทเทิลสำหรับที่ปี 2 ไปเมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา เมื่อสำรวจเข้าไปดูผลงานของแร็พเปอร์รุ่นใหม่ในวงการ ผลงานที่หลายคนฝากไว้ให้เราได้ฟัง เนื้อหาจำนวนมากพูดถึงเรื่องราวการนำเสนอตัวเอง(Represent) ไม่ก็มีเนื้อหาที่เด่นชัดในเรื่องความรัก เนื้อเพลงแนวสังคมการเมืองก็พอมีอยู่บ้าง แต่ระดับความเข้มข้นหากเทียบกับ เพลงเพื่อชีวิตของคนรุ่นใหญ่ อาจจะห่างอีกหลายช่วงตัว

แต่กับ นัท แร็พเปอร์ที่ใช้ชื่อว่า Liberate P และเพลง OC(T)YGEN ของเขากลับทำให้เรากลับมาคิดใหม่ และอาจจะเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่า เพลงสมัยใหม่เสียดสีสังคมได้ก็เพียงแค่ทำให้ผิวหนังถลอก ไม่ได้ทำให้รอยช้ำภายนอกซึมลึกมาถึงอวัยวะภายใน เพราะกับเพลงของนัท หลายคนที่ได้ฟังต่างเห็นไปในทางเดียวกันว่า ‘ไม่ธรรมดา’

“ให้ 6 ตุลาคมไปถึงสมองตุลาการ ทำประชาคมแต่เสือกไม่ฟังเสียงประชาชน คุณกับผม คนกับคน คนก็คน และคนเหมือนกัน คิดไม่เหมือนผมกลายเป็นคนไม่เหมือนกับมัน ให้รับทราบว่าความเป็นคนแม่งไม่แยกที่ชาติเกิด พวกมึงมีสิทธิ์พวกกูผิดตั้งแต่ชาติกำเนิด มีปืนอำนาจแต่ไม่มีสิทธิ์มาพรากชีวิต ไม่เคยรับผิดชอบ และแม่งก็ผิดตั้งแต่วิธีคิด”

นั่นเป็นท่อนหนึ่งในเพลง OC(T)YGEN จำได้ว่าเราเปิดฟังเพลงนี้หลายต่อหลายรอบ จนที่สุดความคิดวูบหนึ่งลอยเข้ามา จะเสียดายแค่ไหน หากปล่อยโอกาสที่จะได้คุยกับเขาหลุดลอยไป

กว่าจะมาเป็น OC(T)YGEN เพลงแห่งการปลดปล่อย

นัทเล่าให้ฟังว่า เขาเริ่มสนใจเพลงแร็พมาตั้งแต่สมัยเรียน ม.ปลาย และเริ่มทำเพลงกับเพื่อนมาเรื่อยๆ ก่อนหน้าที่จะมาทำเพลงแนวเสียดสีสังคมการเมือง เขาทำเพลงแนว Represent มาก่อน และเคยเข้าร่วมแร็พแบทเทิลในรายการ Rap is now ปี หนึ่ง ส่วนปีที่สอง เขาผ่านเข้ารอบแรกแต่ตัดสินใจสละสิทธิ์ด้วยเหตุผลเรื่องเวลา เรื่องงาน และเรื่องเรียน

เหตุผลหลักๆ ที่นัทเลือกทำเพลงเสียดสังคมการเมืองเป็นเพราะเขาเห็นว่าเพลงแร็พแนวนี้ แม้จะมีอยู่ แต่ก็ไม่ได้มีเนื้อหาที่หนักแน่น พูดให้ง่ายที่สุดเขามองว่า เพลงเหล่านั้นคิดน้อยไปหน่อย และถึงที่สุดอาจจะพูดได้ว่าเป็นเพลงวิพากษ์การเมืองแบบไม่มีกึ๋น

“เอาตรงๆ นะ ผมหมั่นไส้พวกที่ทำเพลงที่แบบสลิ่มๆ หน่อย แล้วมันมีเด็กฟังแล้วเยอะด้วย ผมมองว่าเด็กมันควรจะรับอะไรด้านอื่นบ้าง ที่เขาร้องที่เขาทำมันไม่ผิดหรอก แต่ว่ามันควรจะมีมุมอื่นบ้าง ผมก็เลยทำขึ้นมา เพื่อไล่บี้กับเขา เพราะคนที่ทำเพลงการเมืองส่วนมากก็มีชื่อเสียงด้วยนะ คนตามฟังเยอะ ผมก็ควรทำออกมาชี้บ้างว่ามันมีอีกมุมหนึ่ง”

“อย่างพวก ด่าพระ ด่าธรรมกาย ด่าตำรวจ มันเป็นอะไรที่ Mainstream มาก Fever มาก ถ้าใครฟังแนวนี้มันจะรู้สึกว่าเท่ แต่ผมว่ามันไม่ใช่”

เพลงแรกที่เขาทำ อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นคือ เพลง OC(T)YGEN ซึ่งเป็นเพลงที่มีเนื้อหาพูดถึงเรื่องราวของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื้อเพลงพยายามสะท้อนให้เห็นถึงการกดขี่ การดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่เห็นต่างในสังคม ผ่านคำพูดประชดประชัน เย้ยหยัน และเสียดสี เขาเอาเนื้อเพลงที่แต่งเสร็จสรรพ จะยัดลงไปในบีทเพลง Faucet ของ Earl Sweatshirt แน่นอนในแวดวงคนทำเพลงใต้ดินย่อมรู้และเข้าใจกันดีว่า การเอาบีทของศิลปินต่างชาติมาแล้วใส่เนื้อเพลงของตัวเองลงไปมันคือ การขบถ อย่างหนึ่ง

เมื่อถามตอนไปว่าทำไมถึงเลือกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม มาเป็น Main Idea เขาบอกเราว่า

“มันจริงกว่า มันเป็นอะไรที่เห็นชัดว่า ประชาชนพ่ายแพ้ พวกเราตาสว่างกับ 6 ตุลา แต่กลับ 14 ตุลามันยังเป็นอะไรที่คลุมเครือ”

เนื้อเพลงทั้งหมด ถูกแต่งขึ้นหลังจากการรัฐประหาร 2557 ประมาณ 1 ปี โดยความตั้งใจเดิม เขาต้องการปล่อยเพลงนี้ในวันที่ 6 ตุลาคม 2558 แต่ถึงที่สุดแล้วก็ไม่ได้ทำอย่างที่คิดด้วยเหตุผลสองสามอย่างด้วยกัน แรกสุดคือไม่อยากถูกมองว่าโหนกระแส เหตุผลต่อมาคือ ความกลัว อันเนื่องมาจากความตายจากการ ‘ติดเชื้อในกระแสเลือด’ ที่เป็นข่าวคราวโด่งดังของหมอหยอง รวมทั้งกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน และเหตุผลสุดท้ายเขาบอกเราว่า

“จริงๆ มันก็ทำไม่ทันด้วยแหละ มันต้องคิดเยอะ จะสื่อสารอย่างไรให้มันไม่หนักเกินไป แต่ทำให้คนฟังเข้าใจว่าสิ่งที่เราต้องการจะบอก เพลงที่ได้ฟังกันตอนนี้ ผมเปลี่ยนเนื้อไปเยอะเหมือนกันนะ ถ้าเป็นตอนแรกแบบเพียวๆ นี่ ติดคุกเลยดีกว่า”

ถึงที่สุดแล้ว OC(T)YGEN ได้เผยแพร่วันแรกเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2558 นัทเล่าให้ฟังว่าคืนวันที่ 26 เขานอนไม่หลับ ไม่แน่ชัดนักว่าเป็นเพราะสาเหตุอะไร แต่คืนนั้นเขาลุกขึ้นมาแต่งเพลงในส่วนที่เหลือต่อ ทำเสร็จภายในคืนเดียว และปล่อยลงยูทูบตอนประมาณตีสาม เช้ามาก็ตื่นมาพร้อมกับอาการสลึม สลือ เปิดโทรศัพท์เช็คข้อความในเฟซบุ๊กเห็นข้อความที่เพื่อนทักมาพอจะจับในความได้ว่า “เพจวิวาทะ กับเพจพลเมืองโต้กลับ แชร์เพลงมึงด้วยว่ะ”

“เอาตรงๆ ตอนนั้นมันทั้งดีใจ ตกใจ และก็กลัวปนๆ กัน แต่ผมจะเสียใจมากเลยนะ ถ้าพวกเพจเชียร์รัฐประหารแชร์ไป แต่กลายเป็นว่า ปล่อยเพลงไป วิวาทะแชร์ พลเมืองโต้กลับแชร์ อีกคนที่ผมดีใจคือ คุณสุชาติ (สวัสดิ์ศรี) ก็แชร์”

ภาพจากรายการ RIP IS NOW : THE WAR IS ON

แร็พในบ้านเราส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ แต่ก็ได้มาแค่ฟอร์ม เนื้อหาไม่ได้ติดมาด้วย

นัทเล่าถึงต้นกำเนิดของเพลงแร็พให้ฟังคร่าวๆ ว่า มีต้นกำเนิดมาจากอเมริกา เดิมเป็นเพลงเต้นรำที่เปิดตามผับ แต่เริ่มมีการพัฒนาการโดย MC ได้พูดเชียร์ลงไป จากนั้นได้พัฒนามากขึ้นโดยการแต่งเนื้อร้องใส่ลงไปในเพลง เปิดบีทใส่เนื้อเข้าไปจนครบลูป แล้วก็ร้องวนๆ ซ้ำๆ จนถึงที่สุดพัฒนาการมากลายมาเป็นรูปแบบเพลงแร็ปอย่างที่เราได้ยินกันในปัจจุบัน

จนมาถึงยุคที่เกิดวง NWA ซึ่งถึงเป็นวงที่จุดประกาย การแร็ปแบบเสียดสี เหมือนพวกเขาเริ่ม Fuck the police มันกลายเป็น Fever ตามมา กลายเป็นตัวจุดประกายคนรุ่นหลัง สาเหตุที่แร็ปแบบเสียดสีสังคมเกิดขึ้นก็เพราะ มันเป็นเพลงที่เกิดมาจากคนที่มาจากผู้คนที่ถูกกดขี่ แน่นอน NWA เป็นคนกลุ่มคนผิวสี สิ่งที่พวกเขาทำก็คือการบอกเล่าเรื่องราวของคนดำที่อยู่ในสลัม ในสมัยที่อเมริกายังมีการเหยียดผิวอย่างรุนแรง พวกเขาเล่าเรื่องราวของผู้ที่ถูกตีตราว่าเป็นอาชญากรรม เป็นโจร และเป็นผู้ร้าย และถูกกระทำดูหมิ่นอย่างหนักจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพียงเพราะพวกเขามีสีผิวที่แตกต่างออกไป

นั่นเป็นสิ่งที่นัทบอกให้เราฟังในเวลาไม่นานนัก ก่อนหน้าที่บทสนทนาจะชะงักชั่วครู่ด้วยเหตุว่า บริเวณร้านกาแฟ ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่เรานั่งคุยกันอยู่นั้น กิจกรรมการว๊ากน้อง ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างกระทันหัน เสียงรุ่นพี่ ตะโกนเสียงแข็งดังลั่น สั่งรุ่นน้องมายืนเรียงหน้ากระดาน “เข้าแถว เข้าแถว” “เร็วๆ เร็วๆ” จากนั้นก็ทำทุกอย่างตามระเบียบที่เชื่อว่าสืบทอดส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ราว 5 นาที ระดับเสียงก็เบาลง นัทไม่ได้พูดอะไร นอกจากหันไปมอง แล้วหันกับมายิ้ม คล้ายๆ จะรู้กันว่า ‘มันก็เป็นซะอย่างนี้’

นัทเริ่มต้นเล่าต่อไปอีกครั้งถึงการเข้ามาของเพลงแร็พในประเทศไทย เขาบอกว่าวงแรกที่รับเอาแนวเพลงเข้าคือ TKO (Technical Knock Out) จากนั้นก็มีวง New School แล้วก็มาเป็น โจอี้ บอย ดาจิม ไทเทเนียม จนมาถึงยุคที่ใครๆ ก็รู้จักเพลงแร็ปในยุคปัจจุบัน และการเข้ามาของเพลงแร็ป ไม่ได้เข้ามาเฉพาะเพลง แต่มันไปสร้างชุมชนของคนชอบเพลงแนวนี้ขึ้นมาด้วย เกิดการทำเพลง แลกเปลี่ยน ซื้อขาย จนกระทั่งศิลปินใต้ดินหลายๆ คน กลายมาเป็นที่รู้จักในระดับประเทศ เพลงของพวกเขามีคนฟังจำนวนมาก แต่ถึงที่สุดแล้ว เพลงที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่ คือเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก

นัทสรุปสั้นๆ ว่า การรับเอาอิทธิพลมาจากต่างประเทศของบ้านเรา ถึงที่สุดแล้วไม่ได้เกิดการกลายพันธุ์แต่อย่างใด หากแต่เรารับมาเพียงแค่ฟอร์ม หรือรูปแบบ แต่ไม่ได้รับเอารากของเนื้อหามันมาด้วย หรือในอีกทางหนึ่งเขามองว่า เรารับอิทธิพลจากต่างประเทศในช่วงที่แร็พกำลังกลายมาเป็น Mainstream ที่พยามยามปรับตัวให้เป็นเพลงเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และหยิบเอาเรื่องราวความรักเข้ามาใส่ลงไป

ไม่มีถูก ไม่มีผิด นัทคิดว่าเรื่องเหล่านี้มันเป็นเรื่องของรสนิยมของคนฟัง แต่ปัญหาที่เขาดูจะเอาเรื่องมากกว่าคือ การเห็นคนทำเพลงการเมืองออกมา แต่ฟังดูแล้วมันไม่ได้เรื่องซะมากกว่า

สนใจการเมืองเพราะวิดีโอเกือบจะโป๊-ตาสว่างจากฟ้าเดียวกัน-หลังรัฐประหาร 49 ยิ่งกระจ่างแจ้ง

“ผมตามเรื่องการเมืองมาตั้งแต่ก่อนที่จะรัฐประหารปี 2549 อีก แล้วหลังจากนั้นก็รู้จักเว็บฟ้าเดียวกัน มันก็ตาสว่างเลย”

นั่นเป็นคำตอบเมื่อเราถามเขาว่า เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่พอถามเล่นๆ ลงไปอีกว่า ตามอ่านประชาไทบ้างหรือเปล่า นัทตอบด้วยความเป็นกันเองพร้อมเสียงหัวเราะ

“ไม่เลย ผมไม่ค่อยได้ตามข่าวแบบที่เป็นเว็บ ส่วนมากตามจากคนมากกว่า อย่าง ‘เจียม’ เนี่ย ผมตามมาตั้งแต่ฟ้าเดียวกัน พอมันเริ่มมีเฟซบุ๊ก ผมก็เสริชหา ‘สมเจียม’ เป็นคนแรกๆ นอกนั้นก็อ่านพวกบทความต่างๆ”

หลายคนที่เคยไปฟังเพลงของนัทเช่น OC(T)YGEN หรือเพลงที่ปล่อย DEMO ให้ได้ฟังกันแล้วอย่าง CAPITALISM ร่วมทั้งเพลงที่วางโครงเอาไว้ในอัลบั้มที่พยายามจะทำให้เสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ อีกสองเพลงที่เหลือคือ SAMESKY และ 2475 ก็คงอดคิดไม่ได้ว่า หมอนี่ ต้องอ่านหนังสือสายสังคมศาสตร์มาเยอะแน่ๆ แต่เปล่าเลย นัทบอกเราตรงไปตรงมา แบบไม่ต้องอวดรู้ เขาไม่เคยอ่านหนังสืออย่างที่ว่า นอกจากบทความที่เคยอ่านในเว็บฟ้าเดียวกัน ความคิดเห็นในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน และสเตตัสในเฟซบุ๊กของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มีหนังสือเล่มเดียวที่เคยอ่าน และอ่านจบ เขาตอบแบบใส่รหัส “THE ____ _____ ______”

นัทเล่าความทรงจำเมื่อ 10 ปีก่อน ช่วงรัฐประหารปี 2549 ตอนนั้นเขาเรียนอยู่ ม.5 ความรู้สึกแรกที่รู้ว่ามีการรัฐประหารเกิดขึ้นคือ มันเป็นอะไรที่ไม่ถูกต้อง และไม่คิดว่าจะมีรัฐประหารอีก ที่รู้สึกอย่างนั้นอาจเพราะได้รับอิทธิพลจากพ่อ ซึ่งเป็นคนรุ่นพฤษภาทมิฬ เขาบอกว่าเริ่มคุยเรื่องการเมืองกับพ่อตั้งแต่เรียนอยู่ ม.3 พ่อเล่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น และทหารทำอะไรกับประชาชนไว้บ้าง

แต่เอาเข้าจริงสาเหตุที่เขาเริ่มสนใจการเมือง เมื่อได้ขยี้ลงไปอีกนิด นัทสารภาพกับเราว่า เรื่องราวทั้งหมดมันเกิดขึ้นจาก วิดีโอม้วนเดียว

“ผมไม่ค่อยชอบทหารมาตั้งแต่เด็กแล้ว ตอนเด็กไปเปิดวิดีโอของพ่อดู เหตุการณ์พฤษภาทมิฬอ่ะ แต่จริงๆ ผมคิดว่าเป็นวิดีโอโป๊ (หัวเราะ) เพราะมันถูกซ่อนไว้ไง เอาแล้วโป๊แน่นอน...จากนั้นก็ได้คุยกับพ่อเรื่องนี้ หาอ่านเองด้วย เจอ 14 ตุลา 6 ตุลา พอเห็นรูปคนตาย มันก็สงสัย อ่านไปเรื่อยไม่รู้เข้ามาที่ฟ้าเดียวกันได้ไง แต่คำตอบมันอยู่ในนี้ทั้งหมด”

ตอบสั้นๆ กับเรื่องรัฐประหารปี 2557

สำหรับการรัฐประหารครั้งล่าสุด เขาบอกว่า ไม่เซอร์ไพรส์อะไรมาก เพราะเดาว่าต้องมีการยึดอำนาจอยู่แล้ว เนื่องจากก่อนหน้าการรัฐประหารทุกอย่างถูกปูทางไว้แล้ว

“ไม่ได้เซอร์ไพรส์เลย มันก็เกิดอยู่แล้ว มันรู้อยู่แล้ว ปูทางกันมา มันเป็นอะไรที่ซ้ำซาก หลังจากนี้ไปมันก็อาจจะเกิดขึ้นอีก ถ้าชนชั้นกลางในประเทศเรายังอวยทหารอยู่แบบนี้ แล้วไปยึดติดกับคำว่าระบอบทักษิณ แล้วกลัวคำนี้จนเกินไป พังอ่ะ จริงๆ ผมว่าพวกเขาเข้าใจดีด้วยซ้ำว่าอะไรคือเสรีภาพ แต่ว่ายังอคติอยู่ มองว่าทักษิณมันเลวร้าย เลยคิดว่ายังไงทหารก็ยังดีกว่า เห็นทหารเป็นชาติ เป็นรัฐ มองว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของชาติไปแล้ว ตอนนี้ก็คงอกหักกันระนาว”

ก้าวต่อไปของแร็ปเปอร์สายการเมือง

การทำเพลงสำหรับนัท คืองานอดิเรก เขาทำมันเพราะความชอบล้วนๆ ถึงที่สุดแล้วไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นอาชีพหลัก ปัจจุบันเขาเรียนยังเรียนอยู่ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แน่นอนที่สุดเขายังอยากจะทำงานตามสาขาที่ได้เรียนมาอยู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทิ้งเรื่องการทำเพลงไปเลย โปรเจคระยะสั้นสำหรับเรื่องเพลงที่เขาวางเอาไว้คือ การทำเพลงการเมืองซึ่งวางโครงไว้ทั้งหมด 4 เพลง ให้เสร็จภายในเดือนนี้(เมษายน) ส่วนหนึ่งจะปล่อยให้ฟังในยูทูบ แต่อีกส่วนหนึ่งจะทำขายผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก

เค้าโครงเพลงทั้งหมดที่เขาวางไว้ เพลงแรกที่ปล่อยออกมาแล้วคือ เพลงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพลงที่สอง เป็นเพลงวิพากษ์การกดขี่ทางชนชั้น ชื่อเพลงว่า CAPITALISM ส่วนเพลงที่สามเขาตั้งว่าใจให้ชื่อมันว่า SAMESKY และเพลงสุดท้ายเขาอยากจะพูดถึงเรื่องราวของการปฏิวัติ 2475  

เมื่อเราถามว่า ไม่กังวัลเรื่องกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ บ้างหรือไง คำตอบของเขาคือ ไม่ เขาไม่เห็นว่าความเป็นกลางมีอยู่จริง แม้แต่คนที่พยายามป่าวประกาศว่าตัวเองเป็นกลาง ลึกๆ แล้วคนเหล่านั้นเลือกที่จะเป็นฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง ตลอดเวลา

“คนเรามันต้องมองกันให้มากกว่านั้นแล้ว คือควรจะมองเป็นแนวความคิดมากกว่า ถ้าคุณรักเสรีภาพ คุณก็ต้องพูดเรื่องพวกนี้ ถ้าชอบเผด็จการ แต่ยังอ้างตัวเองว่าเป็นเสรีชนมันก็ไม่ใช่น่ะ มันย้อนแย้ง มันถึงได้เป็นอย่างนี้ไง ทุกวันนี้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net