Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




ความเป็นไปได้อย่างหนึ่งของการล้อเลียนไปจนถึงการประณาม ชิน ชินวุฒ เรื่องเกณฑ์ทหาร คือมุมมองในแง่ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนคนรวย

เป็นความจริงที่ว่าคนส่วนใหญ่ที่โดนเกณฑ์ทหารมาจากบ้านคนมีรายได้น้อย เพราะถ้าคนรวยมีช่องทางหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารมากมาย ส่วนชนชั้นกลางก็ไปเรียน รด. กันเป็นส่วนใหญ่ เหลือแต่ผู้ชายที่ไม่ได้เรียนหนังสือหรือเรียนในโรงเรียนที่เส้นเล็กกว่าโรงเรียนใหญ่ ทำให้มีเส้นส่งเด็กเข้าเรียน รด.ได้น้อยกว่าในกรณีที่เด็กสอบไม่ผ่าน

คนไทยจำนวนหนึ่งจึงมีภาวะร่างทรงแห่งความเป็นคนดีมีศีลธรรมชั่วคราว เชิดชูคนรวยหรือคนพิเศษในสังคมที่เข้ารับการเกณฑ์ทหาร ประณาม “คนรวย” หรือคนพิเศษในสังคมที่ร้องไห้โอดครวญไม่อยากเป็นทหาร แล้วยกตัวอย่างคนจนๆว่า พวกเขายังยอมเกณฑ์ทหารกันเลย ทำไมคนรวยต้องใจตุ๊ดไม่มีความเป็นลูกผู้ชาย (อ้าว แล้วใจตุ๊ดมันเป็นยังไง แล้วความเป็นลูกผู้หญิงมันเป็นยังไง แล้วมันผิดตรงไหน?) สู้คนเหล่านี้ไม่ได้เลย

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ครอบครัวยิ่งมีฐานะยากจน “ลูกชาย” ยิ่งเป็นเสาหลักของครอบครัว และถ้าหากเป็นครอบครัวที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบเหมือนในหนังในละคร แต่อยู่กับคนรุ่นตายาย ลูกชายยิ่งเป็นกำลังหลักหาเลี้ยงครอบครัวยิ่งขึ้นไปอีก

แล้วการที่อยู่ดีๆ ทหารมาเอาลูกชายจากไปเป็นเวลา 2 ปีโดยบอกว่าเป็น “หน้าที่” แต่หน้าที่แบบไหนที่ทำให้ครอบครัวคนมีฐานะต่ำต้องลำบากขึ้นและเสี่ยงที่จะถดถอย ถลำสู่ความยากจนลึกลงไปอีก

เพราะฉะนั้น การที่บอกว่าคนรวยควรยอมรับการเกณฑ์ทหารเหมือนคนจนๆ เขาบ้าง จึงไม่ต่างกับการบอกว่า “ดูสิเธอ คนจนลำบากแบบนี้ เจอความไม่เป็นธรรมแบบนี้ เธอก็จงโดนแบบนี้เสียบ้าง ลำบากเท่าๆกัน ได้เจอไม่เป็นธรรมเท่าๆกัน ก็จะได้เท่าเทียมกันไงเธอ” ทั้งที่ไม่ว่าจะรวยหรือจน ก็ไม่ควรต้องเผชิญอะไรแบบนี้ โดยไม่ต้องพูดถึงว่าครอบครัวคนรวยมีลูกไปเกณฑ์ทหาร ย่อมสบายกว่าคนจนที่ลูกชายเป็นเสาหลักของครอบครัวแล้วโดนไปเกณฑ์ทหารแน่ๆ

ไปถามคนเรียน รด. ดูก็ได้ ก็จะรู้ว่าพวกเขาเกือบทั้งหมดไม่ได้สนใจใน “วิชาทหาร” แล้วเรียนหรอก แต่ที่เรียนเพราะจะได้ไม่ต้องลุ้นจับใบดำใบแดง เพราะต้องการความมั่นคงในอนาคตของตัวเอง และเป็นความมั่นคงให้กับคนอื่นๆของครอบครัวที่ตนเองอาจต้องเป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงชีพในอนาคตก็ได้

แต่คนไทยจำนวนมากก็ยังยกตัวอย่างประเทศอิสราเอล เกาหลีใต้ หรือสิงคโปร์มาบอกว่าประเทศเหล่านี้ยังมีการเกณฑ์ทหารเลย โดยที่ไม่ได้คิดกันต่อเลยว่าก็อ้างได้แต่ประเทศเหล่านี้เท่านั้นแหละ เพราะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่ (เกือบทั้งหมด) ไม่มีการเกณฑ์ทหารกันแล้ว ประเทศพัฒนาแล้วที่ยังคงมีทหารเกณฑ์ต่างก็มีเหตุผลพิเศษของตัวเอง อิสราเอลอยู่ท่ามกลางประเทศมุสลิมที่เป็นปรปักษ์รายล้อม เกาหลีใต้มีเกาหลีเหนือ สิงคโปร์เป็นประเทศเกาะเล็กๆที่ถ้าไม่มีการเกณฑ์ทหารก็จะไม่มีทหารเป็นของตัวเองเลย

สำหรับประเทศไทยอะไรคือความจำเป็นที่จะต้องยังมีการเกณฑ์ทหารอีก ประชาชนก็ตั้ง 60 ล้านคน คนสนใจเป็นทหารอาชีพก็เยอะแยะ ภัยคอมมิวนิสต์ก็ไม่มีแล้ว จะยังเอาแรงงานชายออกจากตลาดแรงงานปีละหลายแสนคน กระทบทั้งคนเล็กคนน้อยและเศรษฐกิจในภาพรวมไปเพื่ออะไร

คำว่า “หน้าที่” และ “รับใช้ชาติ” เป็นคำสวยหรูดูดี แต่ถ้าคิดเพิ่มอีกนิดนึง ก็ควรจะรู้ว่าไม่ว่าจะในสถานการณ์ไหน “หน้าที่” ที่เหมาะสมไม่ควรเป็นหน้าที่ทำให้คนอื่นลำบาก ไม่ควรทำให้ครอบครัวคนจนต้องเสียสละแบบที่ทำให้ตัวเองยากจนลงไปอีก และคนรับใช้ชาติไม่ได้มีแค่ทหาร ในความเป็นจริง ทหารก็ไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆที่ความเป็นไปได้ในการทำลายชาติกับรับใช้ชาติมีค่าเท่าๆกันนั่นแหละ (จงแยกความแตกต่างระหว่างทหารชายแดนกับทหารการเมืองออกจากกัน)

ไม่ได้มีปัญหากับอาชีพทหาร เข้าใจความสำคัญของอาชีพทหาร ไม่รู้จักชิน ชินวุฒ เป็นการส่วนตัว ไม่ได้เป็นแฟนคลับ แสดงความคิดเห็นขณะอาศัยอยู่ในประเทศเล็กๆในยุโรปที่ไม่มีการเกณฑ์ทหารแล้ว และเคยโดนเพื่อนดัชซ์ถามตรงๆว่าไม่รู้สึกแย่บ้างหรอที่ประเทศยูยังเกณฑ์ทหารอยู่ อ่านคอมเม้นใต้ข่าวแล้วหดหู่ จึงคิดว่าสังคมไทยควรคิดเรื่องเหตุผลและผลกระทบของการเกณฑ์ทหารให้มากกว่านี้เสียที

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net