Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



บทความชิ้นนี้เป็นการนำงานเขียนของ Peter Singer เรื่อง The Thucydides Tapes  ในปี 1999 มาทำการปริทัศน์ และอภิปราย เนื่องจากเมื่อตอนเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีรุ่นน้องนักศึกษามาขอคำปรึกษาจากผู้เขียนเกี่ยวกับเรื่องแนวคิด และ ทฤษฎีทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จำนวนมาก และข้อสังเกตหนึ่งที่ผู้เขียนตั้งไว้จากการขอคำปรึกษาที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ในที่ผ่านมา คือ ในแวดวงการศึกษาทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือ IR ในประเทศไทยนั้น มีการเขียนตำราที่เฉพาะด้าน และเจาะจง เกี่ยวกับเรื่องของแนวคิด/ทฤษฎี หรือรวมถึงปรัชญาภายในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศออกมาน้อยมาก (ถึงมากที่สุด)

หากจะให้ไล่เรียงกันอย่างจริงจัง ผู้เขียนพบงานเขียนประเภทดังกล่าวตามชั้นวางหนังสือที่หาซื้อได้ทั่วไปเพียง 2 ชิ้น คือ งานของ สรวิศ ชัยนาม นรุตม์ เจริญศรี และ ศิวพล ชมพูพันธุ์ (นอกเหนือไปจากนี้ จะอยู่เพียงในรูปแบบของเอกสารประกอบการบรรยายที่จัดทำขึ้น และไม่ได้มีจำหน่ายอย่างเป็นทางการตามชั้นวางหนังสือทั่วประเทศ) แม้อาจจะมีคนแย้งว่า จริงๆแล้วประเด็นเกี่ยวกับทฤษฎี แนวคิดทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น มีแทรกอยู่ภายในตำราทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ตำราประเภท IR 101 ภาษาไทย) อยู่มากมาย โดยข้อนี้ผู้เขียนเข้าใจเป็นอย่างดี แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนอยากจะกล่าวไว้คือ ข้อเขียน ข้อเสนอ เกี่ยวกับทฤษฎี แนวคิดทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ปรากฏในตำราลักษณะดังกล่าว ถือได้ว่ามีลักษณะที่รวบรัด กระชับ สั้นตัดตอนมากจนเกินไปและที่สำคัญ คือ ยังขาดซึ่งการนำแนวคิดแต่ละชุดมาทำการโต้แย้งถกเถียงระหว่างกันให้นักศึกษาเห็นภาพได้ (มากไปกว่านั้น ตำราเกี่ยวกับพื้นฐานทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศบางชิ้น มีการนำเสนอแนวคิด ทฤษฎีทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพียง 3 ทฤษฎีในกระแสหลัก เช่น สัจนิยม เสรีนิยม และมาร์กซิสม์เท่านั้น) ซึ่งอาจจะไม่ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่ต้องการทำความเข้าใจเชิงลึก หรือกลุ่มนักศึกษาที่อาจจะมีพื้นฐานภาษาต่างประเทศที่ไม่สู้จะแข็งแรงนัก และมีความต้องการที่จะศึกษาทฤษฎี แนวคิดทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้วยนานาจุดประสงค์ (ทั้งการนำไปใช้ประกอบการสอบวิชาเรียนภายในสาขา การทำรายงาน การวิเคราะห์เหตุการณ์ปัจจุบัน ฯลฯ)

หากจะกล่าวเทียบกับสาขาวิชาอื่น อาทิ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง ปรัชญาการเมือง มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ ในส่วนของตำราประเภททฤษฎีและแนวคิด ก็จะเห็นว่าตำราทางด้านทฤษฎี แนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นมีปรากฏให้เห็นน้อยมาก ซึ่งเหตุผลหลักๆสำหรับประเด็นนี้ คงเป็นเรื่องข้อจำกัดในการเดินทางของความรู้ และวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ อันเนื่องมาจากว่าศาสตร์ทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น เพิ่งจะก่อรูปก่อร่างและมีตัวตนขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 หรือภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ผ่านมานี้เอง

ด้วยปัจจัย ข้อจำกัด และปัญหาข้างต้นนี้ การจะทำความเข้าใจกับแนวคิด ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในกลุ่มนักศึกษาจึงอาจจะมีอุปสรรคค่อนข้างมาก เพราะเมื่อผู้เขียนกล่าวแนะนำตำราภาษาอังกฤษ บทความหรือรายงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ก็มักจะมีเสียงบ่นตามมาทุกครั้งไป ถึงขนาดความยาว และความยากของภาษาที่ใช้ในงานเขียนเหล่านั้น ซึ่งเป็นกำแพงขนาดใหญ่ที่คอยขวางคนเหล่านั้นเอาไว้จากการแสวงหาความรู้ ความเข้าใจในทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อันเป็นวิชาที่เน้นการทำความเข้าใจ และต้องการความคิดเชิงวิพากษ์ในการนำไปประยุกต์ใช้

เมื่อลองกลับไปไล่ไถ่ถามหลายๆคน ผู้เขียนพบว่านักศึกษาหลายๆคน มองไม่เห็นภาพ “การปฏิบัติการ” ของทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือ ก็คือ เรียนได้ จำเนื้อหาได้ แต่ไม่สามารถนำไปประยุกต์ หรือ ใช้วิเคราะห์ในสถานการณ์ที่จำเป็นได้จริง ในส่วนนี้ผู้เขียนเห็นว่า ปัญหาอาจไม่ได้อยู่เพียงที่อาจารย์ผู้สอน หรือ ตัวนักศึกษาเท่านั้น แต่อาจรวมถึง “ตัวบท” ที่มีลักษณะยากต่อการทำความเข้าใจ และมีลักษณะทางภาษาที่แข็งทื่อเกินไป จนไม่เป็นมิตรต่อการทำความเข้าใจของนักศึกษา และนำไปสู่การกลายเป็นกำแพงขวางกั้นต่อพัฒนาการเรียนรู้ทางด้านการประยุกต์ วิเคราะห์ วิพากษ์ทางทฤษฎีของตัวนักศึกษาเองในภายหลัง

ปัญหานี้ผู้เขียนเคยพบมาก่อนหน้านี้แล้วใน 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง ณ เวลานั้นผู้เขียนได้พยายามแก้ไข ช่วยเหลือนักศึกษากลุ่มนั้นด้วยการเขียนเอกสารประกอบการเรียนวิชาทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฉบับย่อไว้ให้ แต่ในปัจจุบันปัญหาดังกล่าวนี้ได้มีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป และเพิ่มเงื่อนไขข้อจำกัดมาอีกประการ กล่าวคือ นักศึกษาหลายคนยังไม่สามารถคิดในลักษณะเชื่อมโยงได้ ไม่สามารถนำตัวบท ทฤษฎีที่ร่ำเรียนไปวิเคราะห์ตีความเหตุการณ์/ปรากฏการณ์ทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้

ผู้เขียนพยายามเก็บปัญหาเหล่านี้กลับมาลองขบคิดดู จนค่อนข้างมั่นใจว่าปัญหาที่วนเวียนอยู่ตลอดเวลา ก็คือ ตัวบทที่มันแข็งทื่อเกินไป บวกกับพื้นฐานของตัวนักศึกษาบางคนและหลายๆคนเองที่อาจไม่มีพื้นเพทางวิชาปรัชญาและทฤษฎี แนวคิดทางการเมืองมาก่อน จึงอาจขาดซึ่งความเข้าใจในประเด็นของทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเกิดคำถามกับตัวเองว่า หากมีการนำ “ตัวบทที่พูดและสนทนาระหว่างกันได้” มาลองเป็นเครื่องมือช่วยในการเรียนรู้เหล่านี้จะเป็นอย่างไร

นั่นนับเป็นเหตุผลสำคัญที่ “The Thucydides Tapes” ของ Peter Singer ซึ่งเป็นงานเขียนที่มีอายุราวกว่า 2 ทศวรรษ ได้รับการดึงกลับเข้ามาที่สังคมไทย ภายในงานเขียนชิ้นนี้ งานเขียนของ Singer ชิ้นดังกล่าวนี้ เป็นความพยายามที่จะรวบรวมเอาทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบันนั้น กลับไปแต่งเป็นนิทาน และบทสนทนา (dialogue) ในรูปแบบของเนื้อเรื่องคู่ขนานสำหรับการศึกษาสงครามเพโลพอนนีเชียน (Peloponnesian War) ของ Thucydides

โดย Singer นั้นจะนำเอาแนวคิดและทฤษฎีของนักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคสมัยใหม่มาทำการโต้เถียงกันภายในสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งก็คือ การประชุม Hellenic Political Science Association Conferences พร้อมกับการปรับเปลี่ยนชื่อของนักวิชาการเหล่านั้น เพื่อให้บทละครของเขาดูมีกลิ่นอายของความเป็นยุคกรีกโบราณมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนชื่อของ Kenneth Waltz ให้กลายเป็น Waltzes  หรือ การเปลี่ยนชื่อของ Hans J. Morgenthau ให้กลายเป็น Morgenthaues การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อทำการหาข้อสรุปถึงประเด็นการกำหนดนโยบายต่างประเทศในช่วงข้อพิพาทระหว่างกรุงเอเธนส์ และกรุงสปาร์ตา ควรจะเป็นไปในทิศทางใด หรือ จะเสนอทฤษฎีใดให้แก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจ (decision-maker) เชิงนโยบายเพื่อใช้เป็นข้อยุติของปัญหาและเรื่องราวทั้งหมดของสงครามเพโลพอนนีเชียน

Singer ได้เริ่มตั้งแต่การให้ Waltzes (Kenneth Waltz) ทำการเสนอแนวคิดที่เรียกได้ว่าเห็นแก่ตัวมากที่สุด ก็คือ สัจนิยมเชิงโครงสร้าง (Structural Realism) ที่มุ่งจะเสนอนโยบายที่ให้ภาคีของตนเองได้ประโยชน์มากที่สุด ผ่านการอ้างคำเตือนของ Pericles (we must learn to depend solely upon ourselves.) และนั่นก็ทำให้ Schwelleres (Randall Schweller) ออกมาโต้แย้ง Waltzes ว่าสิ่งที่ Waltzes เสนอนั้นเป็นการคิดที่ติดอยู่ในอคติวิธีคิดแบบการรักษาสถานภาพดั้งเดิมของรัฐ (status-quo) มากเกินไป และรัฐไม่ควรจะแสวงหาอำนาจที่มากล้นจนเกินไป

ข้อโต้แย้งดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ต้องย้อนกลับมาทางฝั่งของกลุ่มสัจนิยมอีกครั้ง ด้วยข้อเสนอสำคัญของ Morgenthaues (Hans J. Morgenthau) ที่ว่า รัฐเป็นตัวแสดงสำคัญที่สามารถจะแสวงหาอำนาจด้วยวิธีใดก็ได้ (by any means necessary) แล้วใช้แนวคิดสัจนิยมทำการวิเคราะห์ชาวสปาร์ตันว่าแนวโน้มจะทำการชิงโจมตีก่อน (pre-empt) ด้วยความหวาดระแวงซึ่งอิทธิพลของชาวเอเธนส์

ส่วน Keohanes (Robert Keohane) ก็พยายามทำการนำเสนอนโยบายการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  (interdependence) จากความเชื่อที่ว่า รัฐเป็นตัวแสดงที่ไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ได้โดยตนเองแต่เพียงหนึ่งเดียวได้ เช่นนั้นแล้ว รัฐจึงจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน ติดต่อเชื่อมโยง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งในส่วนนี้ Keohanes ได้ยกตัวอย่างถึงเรื่องห้องครัวโดยเชื่อมโยงกับประเด็นทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคนั้นว่า เหล่าธัญพืชธัญหารก็นำเข้ามาจากกรุง Thrace หรืออย่างผลไม้อย่างมะกอกก็ยังต้องนำเข้าและซื้อหามาจากเกาะ Rhodos สิ่งนี้ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า รัฐต่างๆนั้นมีความอ่อนไหวต่อกันมาก เมื่อสังเกตจากพฤติกรรมและการเคลื่อนไหวทางนโยบายต่างประเทศที่แต่ละรัฐกระทำขึ้นนั้นล้วนแล้วแต่ส่งผลถึงอีกรัฐใดรัฐหนึ่งได้เสมอ การอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกันจึงเป็นสิ่งที่มิพึงหลีกเลี่ยง เป็นต้น และยังมีแนวคิด ทฤษฎีของนักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศท่านอื่นๆอีกมากมาย อาทิ ประเด็นเรื่อง Hegemony ของ Robert Gilpin, แนวคิด Constructivism ของ Alexander Wendt ซึ่งภายในงานชิ้นนี้ยังมีการกล่าวกระเซ้าถึงแนวคิดเรื่อง The Clash of Civilizations ของ Samuel P. Huntington ไว้ในตอนช่วงท้ายอีกด้วย

แต่ถึงท้ายที่สุดแล้วเมื่อการสนทนาและโต้เถียงชุดนี้ได้ฉายภาพการถกเถียงกันทางทฤษฎีความสัมพันธืระหว่างประเทศไปได้ชุดใหญ่ ก็ได้มีตัวละครหนึ่งชื่อ Gradutes ได้ปรากฏตัวเข้ามาทำการห้ามศึกวิวาทะนั้นๆ และพยายามเฉลย พร้อมคลายปมเรื่องราวของบทสนทนาครั้งนี้ ให้แก่ผู้อ่านได้ทราบว่า ไม่ว่าทฤษฎีใดๆ หรือแนวคิดใดๆ ก็ย่อมสามารถปฏิบัติใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น หากแต่ว่าปัจจัยเดียวที่พึงจะขวางกั้นพฤติการณ์เหล่านั้นมิให้แสดงออกได้ ก็คือ เรื่องของ “บริบท” ที่มีแนวโน้ม และเป็นตัวโอกาสสำคัญอันจะเข้ามาทำให้นักศึกษา ผู้ศึกษา นักวิจัย นักทฤษฎี นักกำหนดนโยบายได้พบกับจุดแข็งและจุดด้อยของแต่ละทฤษฎีที่จะผุดโผล่ขึ้นมาตามแต่ละบริบทที่แตกต่างกัน บริบทจึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดประสิทธิภาพและ “ความเป็นไปได้” ในการประยุกต์ใช้ทฤษฎี แล้วยังสามารถเป็นกรอบปัจจัยอีกชั้นหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจเลือกใช้เครื่องมือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในการกำหนดนโยบายต่างประเทศที่มีจำนวนมหาศาลได้สะดวกขึ้น

โดยที่สุดของทุกสิ่งแล้วตัวละครชื่อ Gradutes ยังได้เน้นย้ำให้แก่ นักศึกษา และนักอะไรก็ตามที่อยู่ในวงศ์วานของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) จะต้องตระหนักเสมอ และไม่หลงลืมไปว่า “เมื่อคุณตัดสินใจที่จะยึดมั่นหรือรักในจุดแข็ง และขีดความสามารถของทฤษฎีหนึ่งๆทฤษฎีใดแล้ว จงอย่าทิ้ง หรือ ละเลยความสำคัญของทฤษฎีอื่นๆไป หากแต่ควรจะเก็บรอมออมเวลาและหาทางเปิดใจที่จะศึกษามัน(ทฤษฎีอื่นๆ) เพิ่มเติมเอาไว้ให้พร้อมที่จะสามารถหยิบออกมาประยุกต์ใช้งานได้ตลอดเวลา เพราะมันอาจมีประโยชน์ที่จะช่วยเติมเต็มผลงานของคุณได้ในอนาคตเสมอ”

อย่างไรก็ตามแม้งานของ Singer จะไม่ได้โดดเด่น หรือ มีความละเอียดทางทฤษฎีมากนัก แต่ก็เป็นหนึ่งใน “ตัวบทที่สามารถพูดและสนทนาระหว่างกันเองได้” ซึ่งผู้เขียนมองว่าค่อนข้างเป็นประโยชน์ และง่ายต่อการทำความเข้าใจในทฤษฎี IR ขั้นพื้นฐาน หรือ ใช้อ่านทำความเข้าใจเพิ่มเติมภายหลังบทเรียนได้ ด้วยภาษาและสำนวนที่เข้าใจง่าย อาจไม่ถึงขั้นต้องนำไปบรรจุภายใน Course syllabus แต่ผู้เขียนเองก็อยากจะเสนอให้ลองพิจารณาในการนำ Tapes บทละครที่ Peter Singer ประดิษฐ์ขึ้น ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ประกอบการเรียน การสอนวิชาทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอนาคต เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้นของนักศึกษา




หมายเหตุ: ปรับปรุงจากโพสต์บน Facebook Wall ของผู้เขียนเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา (4 March 2016)
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net