Skip to main content
sharethis

เสวนา “อ่านรัฐธรรมนูญในฐานะวรรณกรรมและศิลปะ” พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ตั้งคำถามว่าจะมองรัฐธรรมนูญเป็นวรรณกรรมได้หรือไม่ - ทัศนัย เศรษฐเสรี ชี้ร่าง รธน.ปัจจุบัน ยากที่จะสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หากเทียบวรรณกรรมก็เป็นวรรณกรรมยอดแย่ - ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี บอกเหมือนรัฐธรรมนูญวันสิ้นโลก ชี้ รธน. ต่างจากวรรณกรรมตรงที่ คนต้องใช้ชีวิตร่วมกับ รธน. ด้วย

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2559 โครงการบัณฑิตศึกษา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดมีการเสวนาวิชาการเรื่อง “อ่านรัฐธรรมนูญในฐานะวรรณกรรมและศิลปะ” โดยมี ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ร่วมเสวนา และดำเนินรายการโดย อ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

รัฐธรรมนูญในฐานะวรรณกรรมแห่งการปลดปล่อย

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เปิดประเด็นการเสวนาด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่มักถูกถามอยู่เสมอในประเด็นรัฐธรรมนูญคือ ก่อนจะวิจารณ์นั้น ได้อ่านจบแล้วหรือยัง ตนจึงอยากตั้งคำถามต่อว่า การจะอ่านให้จบนั้น อ่านอย่างไร? เราจะสามารถอ่านรัฐธรรมนูญให้มีเสรีภาพ ให้มีนัยของการปลดปล่อยได้หรือไม่ หรืออีกนัยหนึ่ง เราจะมองรัฐธรรมนูญเป็นวรรณกรรมได้หรือไม่

ในทางรัฐศาสตร์นั้น รัฐธรรมนูญถูกอ่านได้ใน 5 ลักษณะด้วยกัน กล่าวคือ 1. รัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่ในความเป็นจริง การที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้งบ่อยครั้ง ย่อมก่อให้เกิดคำถามในสถานะสูงสุดดังกล่าว 2. รัฐธรรมนูญในฐานะวัฒนธรรม ซึ่งเป็นข้อเสนอของอ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งอธิบายว่า มีภาวการณ์ของรัฐธรรมนูญที่มากไปกว่าความเป็นกฎหมาย อันได้แก่การเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ล่วงละเมิดไม่ได้ เป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกเขียนไว้ แต่มุมมองเช่นนี้ ก็มักถูกตั้งคำถามว่า แล้วจะอธิบายการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร 3. รัฐธรรมนูญในฐานะเครื่องมือของเนติบริกร ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของพลเมือง เช่น การออกกฎหมายเพื่อป้องกันการซื้อเสียง 4. รัฐธรรมนูญในแบบสำนักอังกฤษ ที่สะท้อนผ่านวิธีคิดของอ.เสน่ห์ จามริก ที่มองรัฐธรรมนูญในฐานะความสัมพันธ์ทางอำนาจของผู้คนในแต่ละยุคสมัย และ 5. รัฐธรรมนูญในแบบอเมริกัน ที่เน้นมิติของเสรีนิยม (liberalism) อาทิ ต้องมี Rule of Law การเคารพสิทธิเสรีภาพ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นต้น

พิชญ์ ได้ทดลองอ่านรัฐธรรมนูญในฐานะวรรณกรรม โดยใช้งานสองชิ้นของ Benedict Anderson (Imagined Community) และ Raymond Williams (Marxism and Literature) ในการนำมาขบคิดในเรื่องรัฐธรรมนูญ ในหนังสือของเบน แอนเดอร์สัน ได้เสนอว่า วรรณกรรมสมัยใหม่ โดยเฉพาะ print capitalism มีส่วนทำให้เกิดความเป็นชาติ ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้เกิดชุมชนจินตกรรม หากรัฐธรรมนูญเป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะสามารถทำหน้าที่ในการสร้างสำนึกความเป็นชาติ ความปรองดอง สร้างความรู้สึกในฐานะคนที่อยู่ในพื้นที่และเวลาเดียวกัน จินตนาการว่าเกิดร่วมโลกเดียวกันและมีความเท่าเทียมกันหรือไม่?

นอกจากนี้ พิชญ์ยังอ้างงานของเรย์มอนด์ วิลเลียมส์ ในการอธิบายวรรณกรรมว่า วรรณกรรมในยุคทุนนิยม ได้ขยับตัวเองออกจากการอ่าน มาสู่รสนิยมในการอ่าน ซึ่งทำให้วรรณกรรมเป็นพื้นที่ของผู้เชี่ยวชาญ ที่สร้างรสนิยมเกี่ยวกับความเป็นชาติ เช่น Englishness หรือความเป็นอังกฤษ ขึ้นมา เช่นเดียวกัน รัฐธรรมนูญ ก็ถูกสร้างโดยบุคคลากรทางกฎหมายที่อ้างตนในความเชี่ยวชาญเรื่องความเป็นไทย และบรรจุสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทยไว้โดยไม่ได้อธิบายว่ามีความหมายเช่นไร ตัวอย่างเช่น การใช้ประโยคที่ว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเป็นมากกว่าประเพณี หากเป็นระบบคิดที่สำคัญ แต่กลับไม่เคยถูกอธิบายว่าคืออะไร แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความย้อนแย้งในตัว อาทิในกรณีของมาตรา 5 วรรค 3 ที่กลับดึงอำนาจสำคัญในการตัดสินประเทศในภาวะขัดแย้งไปอยู่ในมือขององค์กรใหม่ต่างๆ ที่กลับไม่เป็นไปตามประเพณี เป็นต้น

พิชญ์ยังได้กล่าวในช่วงท้ายของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า แม้ในส่วนของอารัมภบทจะกล่าวถึงการกลับไปหาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่กลับไม่มีคำว่ารัฐประหาร ทำให้เกิดข้อกังขาว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ประเภทใดที่ไม่มีการอ้างอิงถึงภาวการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย

 

ความไร้เอกภาพของวรรณกรรมยอดแย่

ทัศนัย เศรษฐเสรี ได้แสดงความเห็นต่อเนื่องจากพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยากที่จะสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีความเป็นเอกภาพ และหากเป็นวรรณกรรม ก็เป็นวรรณกรรมที่ยอดแย่ และมีลักษณะเป็นเอกสารรวมบทความเสียมากกว่า ทั้งนี้เพราะมีความขัดแย้งกันในหมวดและมาตราต่างๆมากมาย ความขัดกันดังกล่าวแสดงให้เห็นผ่านการใช้ถ้อยคำ “เว้นแต่” ที่ปรากฏในมาตราที่สำคัญๆตลอดทั้งรัฐธรรมนูญ

ทัศนัย ได้ใช้งานเขียนของโรลองด์ บาร์ทส์ (Roland Barthes) The Death of the Author และ Philosophical Investigation ของลุดวิก วิตเกนสไตน์ (Ludwig Wittgenstien) ตลอดจน Grammatology ของ ฌาร์ค แดริดา (Jacques Derrida) ในการอ่านตัวบทของร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อถอดรื้อรัฐธรรมนูญและเผยให้เห็นเจตนารมณ์เบื้องหลัง ในขณะที่ในแง่มุมของศิลปะนั้น ทัศนัยได้มองรัฐธรรมนูญในฐานะกิจกรรมทางศิลปะ โดยใช้มิติความคิดเรื่องเสรีภาพ การสร้างสรรค์ และแนวคิดเรื่องภูมิกายาทางการมืองทัศนาในการพิจารณา

หากอ่านรัฐธรรมนูญแบบโรลองด์ บาร์ทส์ ทัศนัยเชื่อว่า จะสามารถอ่านตัวบทที่เป็นกลางได้ โดยถอดผู้ประพันธ์ออกไป ให้อยู่ในฐานะเพียงผู้เล่าเรื่อง ไม่ใช่ผู้มีอัจฉริยภาพ หรือมีความสามารถใดๆ และไม่ใช่นักกฎหมายที่เก่งกาจ หากแต่เป็นร่างทรงของสิ่งที่ประพันธ์ ทัศนัยเห็นว่า การเข้าใจตัวบท ก็จะทำให้เข้าใจบริบทด้วย ผู้อ่านจึงต้องผลักให้ผู้แต่งไปสู่มรณกรรมเสียก่อน จึงจะเข้าใจรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นกลาง ปราศจากอคติ หรือประวัติศาสตร์ต่างๆ แล้วหันมาตั้งคำถามว่าเหตุใดรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงถูกเขียนขึ้น ทำให้ตัวเนื้อหาสารภาพความในใจหรือเจตนารมณ์ของตัวมันเองออกมา

ทัศนัยกล่าวต่อไปว่า การทำให้ผู้แต่งถอยออกจากงานเขียน จะทำให้ผู้แต่งเป็นเพียงสถานะที่ว่างเปล่า และถอดรื้อความสัมพันธ์ที่เป็นเส้นตรงระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่านออก ความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก หรือผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง นอกจากนี้ หากใช้ความคิดของแดริดา ซึ่งอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างเสียงกับงานเขียน ที่ซึ่งเสียงคือเนื้อหาที่แท้จริง และงานเขียนคือระบบสัญลักษณ์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น จะพบว่าต้นเสียงที่มีความศักดิ์สิทธิ์ กลับหาตำแหน่งแห่งที่ไม่ได้ แต่กลับเป็นตัวกำหนดประเพณีทางความคิด แดริดาจึงเห็นว่างานเขียนต่างหากที่ซื่อสัตย์กับผู้อ่านมากกว่าเจตจำนงค์ของผู้เขียน แต่เสียงหรือเจตนารมณ์ที่ไม่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญนี้ ก็ชวนให้คิดว่า อะไรคือเจตนารมณ์ที่อยู่เหนือ Code ของรัฐธรรมนูญ

ในการอ่านรัฐธรรมนูญแบบวิตเกนสไตน์ ทัศนัยเห็นว่า ภาษานั้นมีบริบทของการใช้ และมนุษย์ก็เรียนรู้ภาษาภายใต้ข้อกำหนด ข้อบังคับ และบทลงโทษ ตัวอย่างเช่น ในความสัมพันธ์ระหว่างนายกับบ่าว หากนายสั่งให้บ่าวหยิบของมาให้ แต่บ่าวไม่รู้ หรือหยิบของผิด หรือวางไม่ถูกที่ ก็จะถูกลงโทษไปเรื่อย จนกว่าจะทำถูก ภาษาจึงเป็นทั้งข้อกำหนดและบทลงโทษ และเป็นสิ่งที่มีบริบท ในกรณีของไทย ผู้นำบางคนมีการใช้ภาษาที่ห้วน ไม่สนใจผู้ฟัง ก็เพราะว่าบริบทของวัฒนธรรมการเมืองไทย ให้อำนาจเช่นนั้น ไม่ว่าจะจับเข้าคุก หรืออบรม การอ่านรัฐธรรมนูญแบบวิตเกนสไตน์ ให้เห็นบริบท ทำให้พบว่ามีวัฒนธรรมการเมืองคอยกำกับและลงโทษการอ่านอยู่ หรือแม้จะอ่านแบบบาร์ทส์ อ่านแบบตีความ ก็จะพบข้อกำหนดต่างๆที่คอยลงโทษอยู่

 

รัฐธรรมนูญฉบับวันสิ้นโลก (Apocalypse)

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เริ่มต้นด้วยการอ้างงานเขียนของ L.H. Larue เรื่อง Constitutional Law as Fiction: Narrative in the Rhetoric of Authority ซึ่งเสนอว่า กฎหมายเปรียบเสมือนนิยายชนิดหนึ่ง ที่ประกอบไปด้วยสำนวนโวหาร พล็อตเรื่อง และศิลปะการเล่าเรื่องที่สร้างการโน้มน้าวให้เชื่อ หากปราศจากสำนวนโวหารแห่งการโน้มน้าวจิตใจเสียแล้ว กฎหมายย่อมไม่สามารถสร้างอำนาจทางการ (authority) ขึ้นมาได้ กฎหมายจึงมิใช่สิ่งที่ประกอบสร้างขึ้นจากข้อเท็จจริง (facts) ที่สากล เป็นกลาง หากแต่เป็นนิยาย (fiction) ที่สะท้อนอุดมการณ์ ทัศนะคติ และความเชื่อ ของผู้เขียน

ปิ่นแก้วได้เสนอให้อ่านรัฐธรรมนูญสองฉบับคู่กันไปคือ รัฐธรรมนูญปี 2540 และร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เพื่อเพิ่มอรรถรส และช่วยให้มองเห็นพล็อตเรื่องที่แตกต่างกันของวรรณกรรม ทั้งนี้ หากอ่าน Premble หรืออารัมภกถา ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ในฐานะประชาชนคนธรรมดา จะพบว่าโหมโรงบทนี้ สร้างความรู้สึกฮึกเหิมและหัวใจคับพอง ประหนึ่งเพิ่งไปต่อสู้และได้รับชัยชนะมา เหมือนได้อ่านวรรณกรรมหรือชมภาพยนต์ของมาร์ติน ลูเธอร์คิงส์ ฟังสุนทรพจน์ “I have a dream” ร่วมไปกับประชาชนกว่า 250,000 คน เพราะถ้อยความที่ให้ความสำคัญต่อสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบอำนาจรัฐ

แต่หากหันมาอ่าน Premble ของร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 ก็จะกลายเป็นหนังคนละม้วน ไม่ใช่วรรณกรรมที่พูดถึงการก้าวเดินไปสู่โลกที่ดีกว่าที่ประชาชนเป็นใหญ่ หากแต่เป็นนิยายประเภท Apocalypse วันสิ้นโลก สิ้นหวัง รอ Messiah หรือผู้มาโปรดโลก มาชำระล้างบาปให้มนุษย์ พร้อมกับการเริ่มต้นพันธะสัญญาใหม่ในมวลมนุษย์โลกที่จะไม่ทำบาป ถ้อยความในอารัมภกถาได้วาดภาพวิกฤตของบ้านเมืองและรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการทุจริตฉ้อฉล บิดเบือนอำนาจ อันเกิดจากการขาดความรับผิดชอบของผู้ปกครองบ้านเมือง ที่จะต้องแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมายที่เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมเท่านั้น

ปิ่นแก้วเห็นว่า กฎหมายฉบับวันสิ้นโลกนี้ สร้างเรื่องราวของการกระทำบาปในโวหารของการกระทำทุจริตอันหนักหนาสาหัสในสังคมไทย ที่จำเป็นต้องมีการชำระล้างให้สิ้นซาก วิธีการเขียนเรื่องได้โยนการกระทำบาปให้กับนักการเมือง ให้อำนาจในการไถ่บาปแก่คณะ Messiah หรือผู้มาโปรดโลก ซึ่งอวตารอยู่ในรูปขององค์กร และสถาบันต่างๆ ที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับสังคม ในขณะที่พรากสิทธิและเสรีภาพของประชาชนออกไป ด้วยการหั่นหมวดที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทที่เคยมีอยู่หลายมาตราในรัฐธรรมนูญปี 2540 ออกไปถึง 15 มาตรา พล็อตเรื่องแนวเสรีภาพจึงถูกแทนที่ด้วยพล็อตของการไถ่บาปอย่างสมบูรณ์​ โดยประชาชนที่เคยเป็นพระเอกในวรรณกรรมปี 40 ได้ถูกกำจัดและแทนที่ด้วยคณะ Aristocrat (ชนชั้นนำ)

ปิ่นแก้วได้ทิ้งท้ายว่า แม้ว่าเราจะอ่านรัฐธรรมนูญในฐานะวรรณกรรมก็จริง แต่รัฐธรรมนูญต่างจากวรรณกรรมตรงที่ ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถอ่านแล้วเก็บเอาไว้ หรือดำรงชีวิตอยู่นอกวรรณกรรมชิ้นนี้ได้ หากแต่เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วย และส่งผลกระทบต่อชีวิตทางสังคมและการเมืองของผู้คนอย่างยิ่งงวด และในเมื่อมีความสำคัญขนาดนี้แล้ว เหตุใดชนชั้นนำจึงไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับวรรณกรรมชิ้นนี้ได้?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net