ผู้นำหญิงเหล็กแห่งมาลาวีสั่งเลิกการแต่งงานกับเด็ก 850 กรณีและให้กลับไปเรียน

เทเรซา คาชินดาโมโต หญิงผู้นำท้องถิ่นในมาลาวี พบว่าในพื้นที่ของเธอมีปัญหาการแต่งงานกับเด็กจำนวนมากทำให้เด็กโดยเฉพาะเด็กหญิงขาดโอกาสการศึกษาและสร้างความเสี่ยงปัญหาสุขภาพ รวมถึงการกดขี่ทางเพศอื่นๆ ทำให้เธอใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดโดยไม่สนใจคำขู่ฆ่าและข้ออ้างเรื่องประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่น

ที่มาของภาพ: เทเราซา คาชินดาโมโต UN WOMEN/Huffingtonpost

เว็บไซต์อัลจาซีร่าเผยแพร่เรื่องราวของ เทเรซา คาชินดาโมโต ผู้นำเขตเดดซา แถบภาคกลางของประเทศมาลาวี ในทวีปแอฟริกา ซึ่งมีประชากรอยู่ราว 900,000 คน เธอพบว่าในพื้นที่ๆ เธอทำงานอยู่มีกรณีการแต่งงานกับเด็กเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากทำให้เธอต้องใช้อำนาจยับยั้งการแต่งงานกับเด็กเพื่อช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงในเขตของเธอ

คาชินดาโมโตสั่งยกเลิกการแต่งงานกับเด็กไปแล้วมากกว่า 850 กรณี แล้วส่งเด็กเหล่านี้กลับเข้าโรงเรียนเพื่อรับการศึกษา ต่อ คาชินโมโตรู้สึกสะเทือนใจที่ได้เห็นเด็กหญิงอายุ 12 ปีมีลูกและมีสามีที่ยังเป็นวัยรุ่น

จากการสำรวจของสหประชาชาติเมื่อปี 2555 ระบุว่าเด็กหญิงชาวมาลาวีมากกว่าครึ่งหนึ่งต้องแต่งงานก่อนอายุ 18 ปี มาลาวีเป็นประเทศที่มีการแต่งงานกับเด็กมากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก มาลาวียังถูกจัดเป็นหนึ่งในประเทศที่มีดัชนีการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ต่ำระดับท้ายตารางคืออยู่ลำดับที่ 160 จากทั้งหมด 182 ประเทศ

เมื่อปีที่แล้วรัฐสภามาลาวีออกกฎหมายสั่งห้ามไม่ให้มีการแต่งงานจนกว่าเด็กจะอายุ 18 แต่ภายใต้กฎธรรมเนียม อำนาจประเพณี และรัฐธรรมนูญมาลาวี ยังมีการอนุญาตให้เด็กแต่งงานได้ถ้าหากมีความเห็นชอบจากพ่อแม่ โดยที่พ่อแม่ของเด็กที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดมักจะพยายามผลักดันให้เด็กหญิงออกจากบ้านโดยเร็วที่สุดเพื่อลดภาระทางการเงิน

ก่อนหน้านี้เคยมีกลุ่มคุณแม่ที่พยายามประกาศเตือนเรื่องความเจ็บป่วยในระยะยาวของการแต่งงานและมีลูกเร็วเกินไป แต่ก็ไม่มีใครฟัง พ่อแม่เหล่านี้อยากรีบส่งลูกออกไปจากบ้านเพราะรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว เรื่องนี้ส่งผลให้เกิดกรณีต้องผ่าท้องทำคลอดจำนวนมากเพราะร่างกายของเด็กหญิงเหล่านี้ยังเล็กเกินกว่าจะให้กำเนิดบุตรได้

นอกจากนี้เธอยังพยายามทำให้พิธีกรรมการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหญิงหมดไป พิธีกรรมดังกล่าวมีการส่งเด็กหญิงไปยังค่ายที่จะทำการ "ชำระล้างให้บริสุทธิ์" หรือที่พวกเขาเรียกว่า "kusasa fumbi" ที่บางครั้งเด็กหญิงที่ถูกส่งไปมีอายุแค่ 7 ปี ในค่ายดังกล่าวเด็กหญิงจะถูกสอนให้รู้จักการบำเรอผู้ชายด้วยการเต้นยั่วยวนหรือการแสดงออกทางเพศ บางคนจะสามารถ "จบพิธี" หลังจากมีเพศสัมพันธ์กับครูแล้วเท่านั้น ส่วนคนที่กลับบ้านโดยไม่ได้ถูกแตกต้องใดๆ ก็จะโดนพวกที่เรียกว่า "ไฮยีนา" คือกลุ่มผู้ชายที่พ่อแม่พวกเธอจ้างให้เปิดบริสุทธิ์พวกเธอและหวังว่าจะได้เป็นสามีที่ทำให้เธอท้อง

ในประเทศที่มีคน 1 ใน 10 มีเชื้อเอชไอวี พิธีกรรมเช่นนี้ซึ่งมักจะไม่มีการใช้ถุงยางสามารถทำให้เด็กผู้หญิงต้องประสบกับความบอบช้ำและอาจจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร อย่างไรก็ตาม แมรี วายา อดีตเหยื่อที่ถูกกระทำทางเพศซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นโค้ชฟุตบอลทีมชาติฉายา "เดอะควีน" กล่าวว่า หลังจากมีการให้ความรู้เรื่องเชื่อเอชไอวีมากขึ้น ประเพณีเช่นนี้ก็ลดจำนวนลง แต่ความเชื่อเก่าๆ ก็ยังคงฝังหัวอยู่ในพื้นที่ท้องถิ่นบางแห่งเช่นความเชื่อที่ว่าการมีเพศสัมพันธ์กับหญิงพรหมจรรยจะสามารถรักษาอาการป่วยได้

นอจากนี้เด็กในมาลาวีทั้งชายและหญิงยังตกเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดทางเพศจำนวนมาจากการสำรวจขององค์กรยูนิเซฟ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ทำการล่วงละเมิดทางเพศมักจะเป็นญาติของเด็กด้วย มีประเพณีบางอย่างส่งเสริมให้มีการล่วงละเมิดทางเพศกับคนในครอบครัว เช่นถ้าป้า น้า หรือพี่สาวคนโตในครอบครัวล้มป่วยลงจะมีเด็กถูกส่งให้ไปดูแลบ้านแทนและในบางกรณีก็ถูกคาดหวังให้มีเพศสัมพันธ์กับญาติผู้ชายด้วย

คาชินดาโมโต เปิดเผยว่าก่อนหน้านี้เธอเคยพยายามใช้วิธีการเกลี้ยกล่อมไม่ให้พ่อแม่ส่งลูกไปแต่งงานก่อนวัยอันควรด้วยวิธีการสื่อให้เห็นประโยชน์ของการศึกษาว่าช่วยให้ลูกสร้างทรัพย์สินได้มากขึ้น แต่เธอก็จะถูกปฏิเสธโดยพ่อแม่มักอ้างว่าพวกเขาไม่มีสิทธิล้มล้างประเพณีเดิม เมื่อเห็นว่าใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงความเชื่อประเพณีไม่ได้เธอจึงต้องหันมาใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย โดยการให้ผู้นำในระดับย่อยภายในพื้นที่การดูแลของเธอ 50 คนลงนามข้อตกลงที่มุ่งกำจัดธรรมเนียมการแต่งงานก่อนวัยอันควรและสั่งยกเลิกคู่แต่งงานก่อนวัยที่มีอยู่ภายใต้เขตอำนาจของเธอ

คาชินโมโต ยังใช้วิธีการบอกให้ผู้นำชุมชนหยุดพิธีกรรมและประเพณีเหล่านี้ไม่อย่างนั้นจะไล่พวกเขาออก มีผู้นำชุมชนถูกไล่ออก 4 คนในพื้นที่ที่ยังอนุญาตให้มีการแต่งงานกับเด็กอยู่ โดยที่หลังจากนั้นกลุ่มผู้นำชุมชนเหล่านี้กกลับมาบอกเธอว่าจัดการกับปัญหาการแต่งงานกับเด็กแล้วเธอก็ให้ผู้นำชุมชนเหล่านี้กลับมาทำงานเหมือนเดิม

นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมกลุ่มสมาชิกชุมชน, นักบวช, คณะกรรมการท้องถิ่น และองค์กรการกุศลเพื่อให้มีการผ่านร่างเทศบัญญัติสั่งห้ามการแต่งงานกับคนอายุไม่ถึงเกณฑ์ภายใต้กฎหมายแพ่ง ซึ่งเป็นเรื่องยากในตอนแรกแต่คาชินโมโตก็บอกว่ามีคนเริ่มเข้าใจเพิ่มมากขึ้น ผู้นำเขตเดดซาผู้นี้ยังต้องเผชิญกับการถูกขู่ฆ่าแต่เธอก็ไม่ได้เอามาใส่ใจและย้ำกฎหมายตอบกลับไป

คาชินโมโตยังใช้วิธีการทำให้เด็กกลับสู่โรงเรียนด้วยการออกค่าเล่าเรียนหรือหาสปอนเซอร์สนับสนุนค่าเล่าเรียนให้กับเด็กๆ ที่พ่อแม่ของพวกเธอไม่มีเงินส่งเรียน แล้วส่งเครือข่าย "พ่อแม่ลับ" คอยตรวจตราไม่ให้พ่อแม่ไปดึงเด็กออกมาจากโรงเรียน รวมถึงมีการพยายามสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กผู้หญิงด้วยการนำผู้หญิงที่เป็นแบบอย่างจากในเมืองมาขึ้นเวทีพูดคุยกับเด็กๆ ด้วย

"ถ้าพวกเธอได้รับการศึกษา พวกเธอจะสามารถเป็นอะไรก็ได้ตามที่พวกเธอต้องการ" คาชินโมโตกล่าว

 

เรียบเรียงจาก

Malawi's fearsome chief, terminator of child marriages, Aljazeera, 31-03-2016 http://www.aljazeera.com/indepth/features/2016/03/malawi-fearsome-chief-terminator-child-marriages-160316081809603.html

Female chief in Malawi breaks up 850 child marriages and sends girls back to school, Inhabitots, 05-04-2016 http://www.inhabitots.com/female-chief-in-malawi-breaks-up-850-child-marriages-and-sends-girls-back-to-school/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท