Skip to main content
sharethis

วิษณุเผยผลหารือเลขาธิการ กสทช.ให้ประมูลคลื่น 900 MHz เร็วขึ้นจากกำหนดเดิม 24 มิ.ย. เป็นกลางเดือน พ.ค.นี้ และจะเปิดโอกาสให้ ทรู ที่ได้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz อีกราย เข้าร่วมประมูลได้

8 เม.ย. 2559 เว็บไซต์โลกวันนี้ รายงานว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการหารือร่วมกับเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับแนวทางจัดการคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz หลังจาก บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ทิ้งใบอนุญาตว่า คงไม่มีการใช้ มาตรา 44 เพื่อให้สิทธิกับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส ตามที่ร้องขอเข้ารับใบอนุญาตในราคาที่แจส โมบายฯ ประมูลได้

ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันที่จะให้มีการเปิดประมูลใหม่คลื่น 900 MHz แต่ให้ กสทช.ไปหาวิธีเร่งรัดให้เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมวันที่ 24 มิ.ย.59 โดยเบื้องต้นคาดว่าจะจัดการประมูลได้เร็วสุดในช่วงกลางเดือน พ.ค.นี้ และจะเปิดโอกาสให้ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz อีกราย เข้าร่วมประมูลได้

ส่วนปัญหาที่ลูกค้า 2G ของเอไอเอส อาจจะต้องเผชิญปัญาหซิมดับหลังจากสิ้นสุดคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองในวันที่ 14 เม.ย.นี้นั้น รัฐบาลและ กสทช.จะหาทางเยียวยาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซิมดับ ไม่ว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งอย่างไรต่อการร้องขอขยายเวลาของเอไอเอสก็ตาม

นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาตามแนวทางที่ กสทช.เสนอ 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ใช้วิธีการประมูลตามปกติ ที่ กสทช.เคยประกาศไว้ 2.การให้สิทธิทางเอไอเอส เข้าซื้อในราคาที่ แจสฯ ชนะประมูล โดยไม่ต้องผ่านการประมูลใหม่อีก และ 3. ใช้วิธีการประมูลใหม่ แต่ทำให้ขั้นตอนการดำเนินงานรวดเร็วขึ้น

ที่ประชุมได้พิจารณาในข้อดีและข้อเสียในทุกด้าน มีความเห็นว่าวิธีที่ 2 ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ เพราะเมื่อไม่มีการประมูลจะเป็นการตัดโอกาสคนอื่นที่จะสนใจ ดังนั้น จึงมีมติให้ใช้วิธีที่ 3 โดยเปิดโอกาสให้กับทุกรายที่เคยเข้าร่วมประมูลครั้งที่แล้ว ยกเว้น แจสฯ รวมทั้งเปิดให้รายอื่นที่สนใจเข้าประมูลในครั้งนี้ได้เหมือนกันทั้งหมด แต่ให้ใช้ฐานราคาที่แจสฯ ประมูลได้เป็นราคาเริ่มต้น

ในด้านวิธีการนั้นให้ทาง กสทช.ไปพิจารณาว่าจะดำเนินการให้รวดเร็วได้อย่างไร ซึ่งเบื้องต้นเชื่อว่าระยะเวลาที่จะสามารถเปิดประมูลได้เร็วสุด คือ กลางเดือน พ.ค. อย่างไรก็ตาม หากใช้กฎหมายปกติของ กสทช.แล้วไม่สามารถทำให้เร็วขึ้นได้ ก็ให้เสนอมายังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอใช้อำนาจหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ในการแก้ปัญหา

สำหรับกรณีที่อาจจะเกิดความกังวลว่าจะเกิดการผูกขาดหาก TRUE ชนะในครั้งนี้อีก นายวิษณุ ยืนยันว่า รัฐบาลได้คิดไว้แล้ว แต่เนื่องจากเหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น จึงไม่อยากตอบในเรื่องนี้

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาซิมดับของเอไอเอสหลังจากวันที่ 14 เม.ย.นั้น ที่ประชุมได้มีการหารือในเรื่องนี้ โดยรัฐบาลและ คสช.ให้คำยืนยันว่าไม่ว่าศาลจะให้ความคุ้มครองเพิ่มเติมหรือไม่ รัฐบาลและ คสช.ก็พร้อมหามาตรการช่วยเหลือเยียวยาไม่ให้เกิดปัญหาซิมดับเกิดขึ้น โดยให้ทาง กสทช.ไปคิดมาว่าหากจะมีการเยียวยาจะใช้ตามมาตราปกติของ กสทช. หรือจะให้ คสชใช้ ม.44 ในการดูแลเรื่องนี้

“เรื่องนี้ทำด้วยความโปร่งใสเป็นธรรม คำนึงถึงผู้บริโภค และให้โอกาสกับทุกฝ่าย” นายวิษณุ กล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ที่ประชุม กสทช. มีมติ 5:3 ตัดสิทธิ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล เข้าร่วมประมูล 4G คลื่น 900 MHz ในวันที่ 24 มิ.ย.2559 เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาตามหลักการที่ว่า บริษัท ทรูฯ ชนะประมูลคลื่น 900 MHz ไปแล้ว จึงไม่ควรถือครองใบอนุญาตอีกใบในคลื่นเดียวกัน


วานนี้ (7 เม.ย.) ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ทวีตภาพหนังสือประทับตรา "ด่วนที่สุด" จากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)  ถึง เลขาธิการ กสทช. ลงวันที่ 7 เม.ย. 2559 ลงนามโดย พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งมีเนื้อหาขอให้พิจารณาทบทวนข้อเสนอของบริษัท แอดวานซ์ไวร์เลส เน็ตเวอร์ค จำกัด ขอรับช่วงคลื่นต่อจากบริษัท แจสโมบาย บรอดแบนด์ ที่ประมูลได้ในราคา 75,654 ล้านบาท อย่างรอบคอบ พร้อมขอให้เลขาธิการ กสทช.แจ้งผลการพิจารณาต่อ สตง. โดยด่วนด้วย



ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net