Skip to main content
sharethis

ถึงแม้ว่ารัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของ 'สีจิ้นผิง' จะสวมหน้ากากเล่นบทเป็นผู้ปราบการทุจริตคอร์รัชัน แต่ในการเปิดโปง 'เอกสารปานามา' เผยให้เห็นว่ามีญาติผู้นำจีนแอบจดทะเบียนบริษัทนอกประเทศตัวเองไว้หลายคนรวมถึง 'ญาติประธานเหมา' สะท้อนการฉกฉวยของชนชั้นนำและยังถือเป็นการขัดกฎพรรคตัวเอง

(ซ้าย) สีจิ้นผิง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน และ เผิงลี่หยวน ภริยา (ที่มา: Wikipedia/Angélica Rivera de Peña/CC BY-SA 2.0)  (ขวา) การประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 18 เมื่อ 11 พฤศจิกายน ปี 2555 (ที่มา: Wikipedia/VOAChinese/Public Domain)

10 เม.ย. 2559 'ปานามา เปเปอร์ส' หรือ 'เอกสารปานามา' เป็นการเผยแพร่เอกสารลับของบริษัท มอสแซค ฟอนเซกา จากแหล่งที่มาผู้ไม่ประสงค์ออกนาม เอกสารเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการติดต่อทำธุรกรรมทางการเงินอย่างการตั้งบริษัทภายนอกประเทศ ถึงแม้ว่าการตั้งบริษัทภายนอกประเทศจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีอะไรเลวร้ายหรือผิดกฎหมายในตัวมันเอง แต่ผู้มั่งคั่งระดับโลกหลายคนก็ใช้การตั้งบริษัทภายนอกประเทศในแบบที่เอื้อต่อการทำธุรกรรมอำพรางเพื่อปกปิดเส้นทางการเงิน หรือใช้ไปในเชิงการทุจริตคอร์รัปชัน การฟอกเงิน และการหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร

หลังจากมีการเปิดโปงในเรื่องนี้หลายประเทศส่วนใหญ่มีการประท้วงต่อต้านกลุ่มคนร่ำรวยที่มีรายชื่ออยู่ในเอกสารเรียกร้องให้มีการชี้แจงต่อเรื่องดังกล่าว หรือกรณีที่มีตำแหน่งทางการเมืองก็มีการเรียกร้องให้ลาออก แต่การประท้วงเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

รายงานของดิอิโคโนมิสต์ เผยให้เห็นว่าในเอกสารปานามาเผยให้เห็นรายชื่อของคนในครอบครัวประธานาธิบดีสีจิ้นผิงในฐานะเจ้าของบริษัทภายนอกประเทศซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน แต่สื่อทางการจีนก็พยายามเซนเซอร์ในเรื่องนี้ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศเคยกล่าวอ้างเมื่อวันที่ 5 เม.ย. อ้างว่าไม่พบส่วนเกี่ยวข้องระหว่างผู้นำจีนกับเรื่องอื้อฉาวนี้ แต่ก็ไม่ได้กล่าวอะไรไปลงลึกไปกว่านั้น หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษบางฉบับของจีนกล่าวหาว่าเรื่องของปานามาเปเปอร์สนี้ถือเป็นความพยายามของกลุ่มชาติตะวันตกที่ต้องการเล่นงานผู้นำทางการเมืองของประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตกด้วย

หนึ่งในญาติของประธานาธิบดีจีนที่ถูกเปิดโปงในเอกสารปานามาคือ เติ้งเจียกุย พี่เขยของเขา เป็นเจ้าของบริษัทในอาณาเขตหมู่เกาะบริติชเวอร์จินถึง 3 แห่ง โดยที่ก่อนหน้านี้ บลูมเบิร์กเคยพบหลักฐานว่าเติ้งเจียกุยและภรรยาของเขาซึ่งเป็นพี่สาวของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมีทรัพย์สินมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ แต่ไม่นานก่อนหน้าที่สีจิ้นผิงจะได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีบริษัทเหล่านี้ก็ไม่อยู่ในสถานะใช้งานอีกต่อไป

นอกจากนี้คณะกรรมการระดับสูงพรรคคอมมิวนิสต์จีนสองรายก็ถูกพบว่าญาติของพวกเขามีความเกี่ยวพันกับ มอสแซค ฟอนเซกา ได้แก่ จางเกาลี่ รองนายกรัฐมนตรีและ หลิวหยุนชาน หัวหน้ากรมการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีน รวมทั้งหมดแล้วมีคนที่เป็นคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งในปัจจุบันและอดีตรวมแล้ว 8 รายที่มีธุรกรรมลับนอกประเทศ รวมทั้งอดีตผู้นำที่มีชื่อในประวัติศาสตร์อย่างเหมาเจ๋อตุง อดีตประธานพรรคคอมมิวนิสต์ หูเย่าปัง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อราว 30 ปีที่แล้ว หลี่เผิง อดีตนายกรัฐมนตรี เจิงชิงหง อดีตรองประธานาธิบดี เจียชิงหลิน ผู้ที่เกษียณจากคณะกรรมการพรรคในปี 2556 นอกจากนี้ยังมีกรณีของป๋อซีไหล อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงคู่แข่งทางการเมืองของสีจิ้นผิงที่ตอนนี้เขากับภรรยาถูกสั่งจำคุก

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าเรื่องเหล่านี้ไม่น่าแปลกใจนักสำหรับประเทศจีนที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นมาก ลูกหลานของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศนี้มักจะได้เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่เรื่องอื้อฉาวเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่น่าอับอายสำหรับเหล่าผู้นำจีน เอกสารปานามาเผยให้เห็นเรื่องการเงินปกปิดของครอบครัวชนชั้นนำจีนที่ถึงแม้จะมีคนสงสัยเรื่องนี้อยู่แล้วแต่ก็ยากที่จะพิสูจน์ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้แสดงให้เห็นถึงหลักฐานการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยตรงแต่ก็ทำให้เห็นชัดเจนขึ้นว่ากลุ่มชนชั้นนำมีความมั่งคั่งและสิทธิพิเศษมากเพียงใด ไม่ว่าสีจิ้นผิงจะอ้างนโยบายต่อต้านปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นมากแค่ไหนก็ตาม

ดิอิโคโนมิสต์ระบุอีกว่าหลักฐานในครั้งนี้ไม่ได้มาจากแค่สำนักข่าวใดสำนักข่าวหนึ่ง แต่เป็นข้อมูลโดยตรงมาจากบริษัทดำเนินธุรกิจนอกประเทศ นอกจากนี้ไม่เพียงแค่เหล่าผู้นำจีนเท่านั้น ยังมีชาวจีนรายอื่นๆ จำนวนมากที่อาศัยจุดนี้เป็นตัวหลบเลี่ยงภาษีทำให้จีนถือเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับมอสแซค ฟอนเซกา โดยที่บริษัทนี้มีสำนักงานในฮ่องกงและเมืองอื่นๆ ของจีนอีก 8 แห่ง สมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ หรือ ICIJ ระบุว่าในช่วงปลายปี 2558 มอสแซค ฟอนเซกา ได้รับค่าธรรมเนียมจากการตั้งบริษัทนอกประเทศ 16,300 แห่ง จากฝีมือของสำนักงานในจีน คิดเป็นร้อยละ 29 ของการตั้งบริษัทที่ยังคงมีอยู่โดยมอสแซค ฟอนเซกา

และแม้ว่าการเอาชื่อญาติจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขตอาจจะไม่ได้เอาไปใช้ทำสิ่งผิดกฎหมาย แต่ก็มีกฎหมายห้ามเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนจดทะเบียนหรือลงทุนกับบริษัทนอกอาณาเขตประเทศ ก่อนหน้านี้ในปี 2547 สีจิ้นผิงซึ่งยังเป็นหัวหน้าระดับท้องถิ่นอยู่เคยกล่าวให้เหล่าผู้นำพรรคคอย "ควบคุม" ญาติๆ ของตัวเองเอาไว้ให้ดี

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าการเปิดโปงในครั้งนี้จึงทำให้ผู้นำจีนต้องเผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่าเขาควรจะปราบปรามคอร์รัปชันหนักขึ้นกับกลุ่มครอบครัวที่มีอิทธิพลในจีนหรือปล่อยพวกเขาไปและลดความสำคัญในการรณรงค์ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันลง

เรียบเรียงจาก

The Panama papers embarrass China’s leaders, The Economist, 07-04-2016 http://www.economist.com/news/china/21696504-panama-papers-embarrass-chinas-leaders

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net