Skip to main content
sharethis

สมชัย เผยมีนัดหารือกับรองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับบทบาทของ กกต., กรธ., ข้าราชการ และประชาชน ในการเคลื่อนประเด็นประชามติร่าง รธน. ระบุติดใจคำถามพ่วง ยาวไป ห่วงงงกันทั้งประเทศ พร้อมโชว์ตัวเลขงบประชามติ 2,991 ล้านบาท

11 เม.ย. 2559 ผู้จัดการออนไลน์ASTV รายงานว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ในการประชุมหารือร่วมกับ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ บ่ายวันนี้ เบื้องต้นมีประเด็นที่จะนำไปหารือคือ บทบาทของแต่ละฝ่ายหลัง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ว่า สิ่งไหนทำได้ ทำไม่ได้ เรื่องไหนเป็นบทบาทของใครโดยจะต้องมีความชัดเจนในคนสี่กลุ่มคือ บทบาทของ กกต., กรธ. , กลไกข้าราชการ และภาคเอกชนหรือประชาชนทั่วไป ว่าใครจะทำอะไรได้แค่ไหน ถ้าคนที่กำกับดูแลและมีส่วนในการออกกฎหมายยังไม่รู้แปลว่าอะไรก็จะเดือดร้อน และลำบากจึงต้องคุยกันก่อน กกต. เป็นฝ่ายปฏิบัติจึงต้องคุยให้รู้เรื่องเพื่อให้เห็นพ้องต้องกัน
       
สำหรับภาคประชาชนจะทำอะไรได้บ้างนั้น สมชัย กล่าวว่า ในเรื่องบทบาทที่จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจ ภาคเอกชนและประชาชนสามารถตั้งวงถกแถลงเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับ เนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนรูปแบบในการรณรงค์เพื่อให้คนมาใช้สิทธิ์ หรือทำให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหาสาระต้องตีความข้อกฎหมายเพราะมีการตัดคำ ว่ารณรงค์ออกไป อาจทำให้เกิดความเข้าใจว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ทำไม่ได้ แม้กระทั่งการเผยแพร่ความรู้ในแง่เหตุผลว่าควรรับหรือไม่รับจะมีรูปแบบอย่าง ไร อภิปรายได้หรือไม่ เผยแพร่ทางเวปไซต์ หรือไลน์ได้หรือไม่ ใส่เสื้อที่มีข้อความให้ความรู้ได้รึเปล่า ต้องทำความเข้าใจให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เพราะบ้านเมืองเราค่อนข้างจะอยู่ยาก
       
“ผมอยากให้สบาย ๆ มากกว่า ใครอยากทำอะไรก็ทำ แต่อย่าให้เดือดร้อน อย่าให้ผิดกฎหมาย อย่าใช้ข้อความเป็นเท็จหรือใช้ถ้อยคำหยาบคาย หลักการเท่านี้พอ ส่วนคนจะตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิดเป็นเรื่องของศาล กกต. มีหน้าที่บอกว่าสิ่งใดควรทำไม่ควรทำ เมื่อทำแล้วกระบวนการพิจารณาว่าผิดมั้ยศาลจะเป็นฝ่ายตัดสินว่าผิดหรือไม่ ติกคุกหรือเปล่า กกต. จะไม่พูดให้แค่คำแนะนำเท่านั้นเช่นเดียวกับที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งสำนักเลขา ครม.จะมีหนังสือเวียนถึง ครม. ว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ”
       
สมชัย กล่าวถึงตัวเลขงบประมาณ 2,991 ล้านบาทว่า อาจมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มหรือลดลงได้ ตามภารกิจที่ต้องปฏิบัติหลัง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ซึ่งในวันนี้จะต้องชัดเจนและนิ่งในเรื่องงบประมาณโดยวิษณุ จะได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมครม.วันพรุ่งนี้ เพราะขณะนี้งานกำลังจะเริ่มแล้วแต่เงินยังไม่มา กกต. ไม่ได้เป็นเสี่ยด้วย ซึ่งการประชุมครั้งนี้ กรธ. ก็จะร่วมประชุมด้วย จึงต้องดูว่าจะพอใจกับงบประมาณที่ กกต. ตั้งไว้ทำร่วมกับกระทรวงมหาดไทยหรือเปล่า ต้องเติมงบหรือไม่

สมชัย กล่าวด้วยว่า ในฐานะเป็นฝ่ายดำเนินการออกเสียงประชามติอยากให้มีความหมายชัดเจนและเป็นที่เข้าใจของประชาชน เพราะจากการศึกษาการทำประชามติของประเทศต่างๆ พบว่า คำถามจะมีความชัดเจนสั้นกระชับในบรรทัดเดียวแต่คำถามพ่วงของ สนช. ยาวถึงสี่บรรทัด จึงต้องถามรัฐบาลว่าเห็นชอบที่จะดำเนินการตามนี้แล้วงง ๆ กันไปทั้งประเทศหรือไม่ ถ้าต้องการอย่างนั้นก็ได้ แต่ถ้าเห็นว่าสามารถทำให้ดีขึ้น สั้นกระชับ ใช้ภาษาง่ายให้ประชาชนเข้าใจ แต่เนื้อหาสาระยังคงเดิม เช่น ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเปลี่ยนเป็น ส.ส.และส.ว.ร่วมกันลงมติเลือกนายกฯก็จะเข้าใจง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามหากไม่มีการแก้ไข กกต.ก็พร้อมดำเนินการโดยไม่มีข้ออุทธรณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งในวันนี้ได้เตรียมตัวอย่างบัตรประชามติไปให้ดูด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net