Skip to main content
sharethis

ในอินโดนีเซียกำลังจะมีการจัดประชุมหารือเกี่ยวกับกรณีการสังหารหมู่ประชาชนระหว่าง พ.ศ. 2508-2509 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตนับล้านคน โดยที่นักสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้มีการดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริงและเปิดโอกาสให้ญาติผู้ได้รับผลกระทบพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากที่รัฐบาลอินโดนีเซียมักบ่ายเบี่ยงที่จะพูดถึงเหตุการณ์นองเลือดในยุคนั้นมาโดยตลอด

อดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต (ขวา) ขณะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมีนาคมปี พ.ศ. 2511 3 ปีหลังจากที่เขาตอบโต้การรัฐประหารในเหตุการณ์ "30 กันยายน 1965" (พ.ศ. 2508) และทำการรัฐประหารซ้อน ทั้งนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอินโดนีเซียเพิ่งเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าในช่วงที่ซูฮาร์โตขึ้นมามีอำนาจ หลังทำการสอบสวนมาเป็นเวลา 3 ปี (ที่มาของภาพ: แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

14 เม.ย. 2559 เว็บไซต์ข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่ามีการเรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียดำเนินกระบวนการสืบหาข้อเท็จจริงและการไกล่เกลี่ยปรองดองกรณีการสังหารหมู่ผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในช่วงราว 50 ปีที่แล้ว ก่อนการประชุมหารือวันที่ 18-19 เม.ย. ที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งจัดโดยใช้ทุนของรัฐบาล

กลุ่มนักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนยังตั้งความหวังว่าในที่ประชุมดังกล่าวจะมีการเสนอให้ยกเลิกการสั่งห้ามครอบครัวของผู้ที่มีความเกี่ยวพันกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI) ในอดีตไม่ให้เข้าทำงานในตำแหน่งข้าราชการหรือรับตำแหน่งของทหารกับตำรวจได้ โดยที่คำสั่งห้ามฉบับดังกล่าวซึ่งออกมาเมื่อปี 2514 มีการกีดกันชาวอินโดนีเซีย 40 ล้านคนไม่ให้ทำงานในตำแหน่งเหล่านี้

เคนเนธ รอธ ผู้อำนวยการบริหารฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้ทำอะไรผิด พวกเขาแค่มีปู่ย่าตายายหรือทวดของพวกเขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรค PKI เท่านั้น และการยกเลิกรายช่อบัญชีดำนี้จะถือเป็นความก้าวหน้าในเรื่องการปรองดอง

ในช่วงยุคสงครามเย็นปี 2508-2509 ที่ยังคงมีความหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสม์ เคยมีเหตุการณ์สังหารหมู่กลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียซึ่งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกมาก่อน โดยในเดือน ก.ย. ปีที่แล้วถือเป็นช่วงครบครอบ 50 ปีเหตุการณ์ในครั้งนี้

นักกิจกรรมมองว่าจากที่เหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับความโหดร้ายที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองอย่างลึกซึ้ง การจัดการหารือในจาการ์ตาจึงถือว่ามาถูกทางและเป็นแรงผลักดันให้เกิดการไกล่เกลี่ยเพื่อความปรองดองในวงกว้าง

รอธบอกว่าการไกล่เกลี่ยเพื่อความปรองดองควรจะเริ่มจากกระบวนการพูดความจริง การให้โอกาสแก่ผู้รอดชีวิตและผู้เข้าร่วมส่วนหนึ่งได้พูดต่อสาธารณะเพื่อที่ชาวอินโดนีเซียจะได้รับทราบเรื่องราวจากมุมมองประสบการณ์ของพวกเขาโดยตรง

อย่างไรก็ตามเดอะการ์เดียนรายงานว่ารัฐบาลอินโดนีเซียมีท่าทีปฏิเสธที่จะยุ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การนองเลือดที่เคยเกิดขึ้นในประเทศตัวเองมาโดยตลอด โดยการพยายามปิดกั้นสื่อที่รายงานเรื่องความโหดร้ายในยุคสมัยนั้น และปฏิเสธผลการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอินโดนีเซีย (Komnas HAM) ในปี 2555 ทีมีการระบุถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเลวร้ายในยุคนั้น อีกทั้งยังเคยมีกรณีที่ชายชาวสวีเดนถูกขับออกจากประเทศและถูกขึ้นบัญชีดำจากการพยายามไปเยี่ยมหลุมศพที่เกาะสุมาตราที่ซึ่งมีพ่อของเขาและผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ 40 รายถูกฝังอยู่

ทั้งนี้ประธานาธิบดีคนล่าสุดของอินโดนีเซีย โจโค วิโดโด ที่เคยให้คำมั่นว่าจะเน้นย้ำเรื่องการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนก็ถูก วิจารณ์จาก แฮริส อะชาร์ ผู้ประสานงานคณะกรรมการเพื่อคนหายและเหยื่อความรุนแรงว่าวิโดโดทำได้น่าผิดหวังในเรื่องสิทธิมนุษยชน เนื่องจากรัฐบาลของเขาไม่ได้ทำอะไรเลยในการชีให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอินโดนีเซียยังส่งคำร้องอย่างเป็นทางการเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ เปิดเผยเอกสารประวัติศาสตร์ที่เชื่อว่ามีการบันทึกเรื่องเกี่ยวกับการที่สำนักข่าวกรองกลางอเมริกา (CIA) มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ในปี 2508-2509

 

เรียบเรียงจาก

Indonesia urged to hold truth and reconciliation process over massacres, The Guardian, 13-04-2016 http://www.theguardian.com/world/2016/apr/13/indonesia-truth-and-reconciliation-process-communist-massacres

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net