Skip to main content
sharethis

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ออกแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ คสช. ระบุละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน ขาดฐานะกฎหมายสูงสุดของปท. ขัดกับหลักประชาธิปไตย ทำลายหลักนิติธรรม แถมแก้ยากอย่างยิ่ง-ไม่อยู่ในวิสัยจะทำได้เลย

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง'

17 เม.ย.2559 เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ได้จัดแถลงข่าว เรื่อง ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยระบุว่า เครือข่ายฯ ขอร่วมแสดงความเห็นพ้องกับกลุ่มและองค์กรต่างๆ ในการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ คสช.

แถลงการณ์ของเครือข่ายฯ ระบุว่า ทางเครือข่ายฯ เห็นว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ นอกจากการละเมิดสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนนับแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 จะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางรุนแรงยิ่งขึ้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังจะไม่สามารถเป็นทั้งกลไกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมและฐานของการพัฒนาบ้านเมืองอีกด้วย หากในที่สุด ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นที่ยอมรับตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน คสช. พึงคืนอำนาจด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว และให้รัฐบาลและรัฐสภาหลังการเลือกตั้งดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปที่คำนึงถึงหลักการเสรีประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ และการพัฒนาสังคม การเมืองเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนสืบไป

ทั้งนี้ เหตุผลเพิ่มเติม ของเครือข่ายฯ ที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ คสช.  มีดังต่อไปนี้

 

1. รัฐธรรมนูญเป็น ‘สัญญาประชาคม’ ที่ทุกฝ่ายในสังคมร่วมกันตกลงและสร้างขึ้นเพื่อเป็นกติกาแม่แบบในการดำเนินชีวิตทางการเมืองและสังคมเพื่อความไพบูลย์ร่วมกัน แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ของ คสช. ขาดหลักการและความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะกฎหมายอันสูงสุดของประเทศ กลับเป็นเพียงกฎหมายเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่มบางฝ่ายเท่านั้น 

2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขัดกับหลักประชาธิปไตย ไม่เคารพเสียงทางการเมืองของประชาชน และจงใจสร้างความอ่อนแอแก่ระบบรัฐสภา อาทิ นายกรัฐมนตรีสามารถมาจากบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้ สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. อำนาจอันกว้างขวางของสมาชิกวุฒิสภา การกำหนดจำนวนสมาชิกวุฒิสภาแก่ผู้นำทหาร ระบบการคำนวณคะแนน สส. บัญชีรายชื่อที่ไม่สอดคล้องกับสถานะตัวแทนของราษฎร และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ แทนที่ คสช. จะสิ้นสุดลงตามที่มีสัญญาวาจาไว้ กลับยังคงอำนาจต่อไปอีก อย่างน้อยหนึ่งปีหลังการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญ

3. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำลายหลักนิติธรรมที่ยึดถือ ‘หลักการแบ่งแยกอำนาจ’ อันเป็นแก่นแท้ของการปกครองในระบบเสรีประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังมอบอำนาจทางการเมือง การปกครองอย่างสูงแก่องค์กรตุลาการ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ในการตรวจสอบควบคุมการทำหน้าที่ขององค์กรนิติบัญญัติ (รัฐสภา) และองค์กรบริหาร (รัฐบาล) ทว่ากลับไม่มีกลไกที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบองค์กรนั้นๆ ทั้งๆ ที่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ว่าการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรเหล่านี้มีส่วนในการบั่นทอนตั้งแต่กฎเกณฑ์ทางกฎหมายเบื้องต้นไปจนถึงสนับสนุนการทำลายหลักการประชาธิปไตย

4. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เอื้อให้รัฐละเมิดอำนาจและสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยการสร้างเงื่อนไขในการบังคับใช้กฎหมายในนามของความมั่นคง และทำให้การตีความขอบเขตอำนาจของความมั่นคงอยู่ในมือของกองทัพและกลุ่มคนที่อยู่นอกองค์กรการบริหารของรัฐ ทั้งนี้ ในสังคมเสรีประชาธิปไตย กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้มุ่งให้อำนาจแก่รัฐเท่านั้น แต่ยังต้องมีบทบัญญัติที่จำกัดอำนาจรัฐไม่ให้มีอำนาจจนเกินขอบเขต นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

5. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดเงื่อนไขให้การแก้ไขเนื้อหาในระดับที่ยากอย่างยิ่ง หรือไม่อยู่ในวิสัยจะทำได้เลย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net