Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"ส่วนปัญหาที่มีการนำเสนอทั้งสภาพอากาศที่ร้อนในเดือน เม..-..นั้น ความจริงประเทศไทยก็ร้อนทุกเดือน ดังนั้นข้ออ้างเรื่องสภาพอากาศน่าจะฟังไม่ขึ้น"1

อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล 15 เมษายน 2559

"ทั่วไทยอากาศร้อนจัด ทะลุ 40 องศาฯ เตือน ปชช.ควรงดกิจกรรมกลางแจ้งตอนบ่าย"2

ไทยรัฐออนไลน์ 16 เมษายน 2559

ความใหญ่โตของมหาวิทยาลัยเครือข่ายใน ทปอ. (ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) มีผลอย่างยิ่งกับการตัดสินใจปิด-เปิดภาคการศึกษาทั้งประเทศ แม้ว่าขาใหญ่อย่างสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวว่า หากนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏไม่เห็นด้วยกับการปิดเปิดเทอมตามอาเซียน ก็สามารถขอร้องให้มหาวิทยาลัยต้นสังกัดไปเปิดปิดตามเดิมได้ เพราะว่ามติ ทปอ.ไม่ใช่กฎหมายต้องทำตาม แต่เป็นการขอความร่วมมือ3

ดูเหมือนกับว่า ศูนย์กลางจักรวาลการศึกษานั้นหมุนวนอยู่รอบทปอ. เป็นหลักจนมีความพยายามผลักดันยกเลิกผ่านที่ประชุม ทปอ.มาอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงปี 2558 สมัยประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นประธานแต่ก็ไม่สำเร็จ จนเป็นข้ออ้างของอุดม คชินทร ประธานคนปัจจุบันว่าเคยมีมติ และจะไม่ทบทวนเรื่องนี้อีกต่อไปแล้ว4

คำแถลงการณ์สมาพันธ์นิสิต นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ 15 เม.ย. 2559

กระนั้นทางเครือข่ายนักศึกษาทางราชภัฏที่แม้จะเป็นมวยรองก็ไม่ยอมแพ้ได้เสนอให้ทบทวนอีกครั้งทั้งยังชี้ว่าทปอ.ไม่เคยเผยแพร่การตัดสินใจดังกล่าวต่อสาธารณชน อีกทั้งไม่เคยสำรวจความคิดเห็นของนิสิต นักศึกษาผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมตินี้ด้วย พวกเขายังตั้งเป้าจะเดินหน้าสำรวจความคิดเห็นมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศกว่า 2 พันคน ตั้งเป้าสรุปความคิดเห็นได้ในวันที่ 18 เมษายน จากนั้นจะนำมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารและ คณะกรรมการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาราชภัฏซึ่งมีสมาชิก 38 แห่งทั่วประเทศที่มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยกับการเปิด-ปิดเทอมตามอาเซียน พร้อมด้วยโพลสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาราชภัฏทั่วประเทศดังกล่าว นำเสนอพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ทปอ. รวมถึงที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) พิจารณาต่อไป"5

เครือข่ายดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาจากนิสิต นักศึกษา นอกเครือข่ายราชภัฏด้วย ตามแผนวันที่ 21-24 เมษายนนี้ พวกเขาจะหารือร่วมกับสภานิสิตนักศึกษาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย (สภธ.) 6

 

การเปิดเทอมไม่ตรงกับอาเซียน กับ ทางแยก

ที่ผ่านมานั้นมีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครเป็นแห่งหนึ่งได้เปิดไปตามอาเซียน ขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ประเมินแล้วว่าพบปัญหาจึงประกาศว่าภาคการเรียนศึกษาที่ 1/2559 จะกลับมาเปิดปิดภาคเรียนตามเดิม ส่วนมหาวิทยาลัยแม่โจ้นักศึกษาได้ทำเรื่องร้องขอให้อธิการบดีตัดสินใจ ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอสภามหาวิทยาลัยพิจารณา7

ประสาท อดีตประธาน ทปอ.เคยระบุข้อดีของการเปิดปิดตามอาเซียนไว้ว่า8

1. เป็นสากล การแลกเปลี่ยนคณาจารย์แลกเปลี่ยนนักศึกษาก็สามารถทำได้ง่าย เช่น อาจารย์จะไปทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ สามารถทำได้

2. กิจกรรมที่เกี่ยวกับการศึกษา กีฬา วัฒนธรรม เช่น การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยอาเซียน การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การแสดง การประชุมระหว่างประเทศในอาเซียน ถ้าภาคการศึกษาตรงกันก็จะแลกเปลี่ยนได้ง่าย

3. ภาคการศึกษาที่ตรงกัน เมื่อมีการรับนักศึกษาจากประเทศต่างๆ เข้ามาเรียนหรือมีการแลกเปลี่ยนนักศึกษามันก็มีรอยต่อที่ตรงกัน ไม่เช่นนั้นก็จะค้างอยู่หรือต้องเสียเวลาไปอีกปีหนึ่ง

 

ตารางแสดงการปิด-เปิดเทอมของมหาวิทยาลัยในอาเซียน

จากเหตุผลเรื่องความเป็นสากลและการแลกเปลี่ยนตามภาคการศึกษาที่ตรงกันก็ถูกแย้งโดยสุพจน์ เอี้ยงกุญชร อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ตั้งแต่ปีที่แล้วว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ ในอาเซียนไม่ได้เปิด-ปิดภาคเรียนตรงกันเลย อย่างไรก็ตามการสัมภาษณ์ของอุดม คชินทรยืนยันว่ามีการลงนามความร่วมมือแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์กับประเทศเมียนมาร์ เวียดนาม อินโดนีเซียซึ่งเขาอ้างว่าเปิดภาคเรียนระดับอุดมศึกษาช่วงเวลาเดียวกัน9

การคัดค้าน และไม่เห็นด้วยก็ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเช่น ตัวแทนคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีมติเสนอให้ สกอ.ทบทวนเรื่องนี้ แต่ สกอ.ก็ยังคงยืนยันจะไม่ทบทวน10 กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยไทยได้รณรงค์คัดค้านเรื่องนี้ผ่านทาง www.change.org ซึ่งมีผู้ลงชื่อคัดค้านแล้วกว่า 2 หมื่นรายชื่อ11

ส่วนประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ก็เคยชี้เหตุผลเรื่องอากาศ รวมถึงประเด็นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์หลายวัน12 ซึ่งข้อนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า หลังสงกรานต์นักศึกษาจำนวนมากต้องเตรียมส่งรายงานและสอบปลายภาคในเวลาอีกไม่นาน

การให้สัมภาษณ์ของอุดม คชินทร จึงเป็นการสื่อสารเพื่อแสดงอำนาจของการจัดการมากกว่าเพื่อการแลกเปลี่ยนเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน อุดมเองคงไม่ทราบว่ามหาวิทยาลัยจำนวนมาก ไม่มีห้องปรับอากาศทุกห้องเรียน นักศึกษาจำนวนมากต้องทนเรียนในห้องพัดลม ยังไม่นับว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏบางจังหวัดมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส และต่อให้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นติดเครื่องปรับอากาศ ขอให้จงรู้ด้วยว่า ภาระการจ่ายค่าไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยเหล่านั้นล้วนอยู่ในต้นทุนที่พวกเขาต้องแบกรับดิ้นรนเองทั้งสิ้น

หากจะยกตัวอย่างเปรียบเทียบกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล ในงบประมาณรายได้จากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 มหาวิทยาลัยดังกล่าวมีเงินอยู่ถึง 14,059 ล้านบาท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ที่ 3,459 ล้านบาท ขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏระดับกลางอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 526 ล้านบาท อยู่ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ อยู่ที่ 261 ล้านบาท13 การพูดอะไรพล่อยๆ แบบอธิการบดีบางท่าน อาจต้องส่งพวกเขาเหล่านั้นไปบริหารมหาวิทยาลัยในงบจำกัดดูบ้าง ไม่ใช่บริหารแบบต้นทุนเหนือกว่าชาวบ้านอยู่ร่ำไป

 

มหาลัยปิด โรงเรียนเปิด, โรงเรียนปิด มหาลัยเปิด

นักเรียนจากโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา คือ กลุ่มเป้าหมายของมหาวิทยาลัยต่างๆอยู่แล้ว รอยต่อระหว่างปิดเทอมโรงเรียนในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม กับ เปิดเทอมของมหาวิทยาลัยช่วงเดือนสิงหาคม อาจไม่เป็นปัญหานัก แต่สำหรับมหาวิทยาลัยที่ผลิตบุคลากรที่มีวิชาชีพเกี่ยวกับโรงเรียนทั้งระดับมัธยมศึกษา ประถมศึกษา หรือขั้นปฐมวัยล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของนักศึกษาระดับปริญญาตรี หรือการที่มหาวิทยาลัยจะต้องทำเร่งทำเรื่องจบให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 5 เพื่อจะได้ทันสอบครูผู้ช่วย

คนที่ได้ประโยชน์จากการเปิดปิดตามอาเซียนจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากมหาวิทยาลัยใหญ่โตที่สามารถหา "ลูกค้า" จากต่างประเทศ และการมี connection ของพวกเขา แต่ก็ดังที่สมคิด เลิศไพฑูรย์กล่าวว่า ไม่ได้บังคับ ใครไม่สนใจเข้าร่วมก็สามารถเปิดเองได้ตามปกติ

คำถามและข้อท้าทายของสมคิด และเหล่าชนชั้นนำทางการศึกษาเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าคิดกันต่อระหว่างมหาวิทยาลัยนอก ทปอ. เองที่ได้รับงบประมาณเพียงน้อยนิด เช่นเดียวกับอำนาจการต่อรองทางการเมืองที่ต่ำเตี้ย ให้ประเด็นเปิดปิดภาคการเรียนตามอาเซียนนั้น เป็นประเด็นต่อรองแรกๆ เพื่อสร้างอำนาจเพื่อคานกับเหล่ามหาวิทยาลัยชนชั้นนำทั้งหลายเพื่อสร้างการแข่งขันระหว่างกันอย่างเป็นธรรมมากกว่านี้ มหาวิทยาลัยเองควรมีบทบาทเป็นผู้นำและสร้างเครือข่ายร่วมกับโรงเรียน ครู ผู้ปกครองไปด้วยไม่ใช่ปล่อยให้นักศึกษาต่อสู้ไปโดยลำพัง แล้วรอรับผลโดยที่ตัวเองนั่งงอมืองอตีนอยู่.

 

อ้างอิง

1 " "นพ.อุดม" เผยทปอ.ไม่ทบทวนเปิดปิดเรียน ชี้ไทยอากาศร้อนทุกเดือน". http://www.thairath.co.th/content/605995 (15 เมษายน 2559)

2 "ทั่วไทยอากาศร้อนจัด ทะลุ 40 องศาฯ เตือน ปชช.ควรงดกิจกรรมกลางแจ้งตอนบ่าย". http://www.thairath.co.th/content/606393 (16 เมษายน 2559)

3 ""38น.ศ.ราชภัฏผนึกม.รัฐ ถกโละเปิด-ปิดตามอาเซียน 21-24 เม.ย.นี้ เผย’มรภ.-ม.รัฐ’ กลับไปเปิด-ปิดตามเดิมเพียบ". http://www.matichon.co.th/news/107290 (17 เมษายน 2559)

4 " "นพ.อุดม" เผยทปอ.ไม่ทบทวนเปิดปิดเรียน ชี้ไทยอากาศร้อนทุกเดือน". http://www.thairath.co.th/content/605995 (15 เมษายน 2559)

5 "38น.ศ.ราชภัฏผนึกม.รัฐ ถกโละเปิด-ปิดตามอาเซียน 21-24 เม.ย.นี้ เผย’มรภ.-ม.รัฐ’ กลับไปเปิด-ปิดตามเดิมเพียบ". http://www.matichon.co.th/news/107290 (17 เมษายน 2559)

6 "38น.ศ.ราชภัฏผนึกม.รัฐ ถกโละเปิด-ปิดตามอาเซียน 21-24 เม.ย.นี้ เผย’มรภ.-ม.รัฐ’ กลับไปเปิด-ปิดตามเดิมเพียบ". http://www.matichon.co.th/news/107290 (17 เมษายน 2559)

7 "38น.ศ.ราชภัฏผนึกม.รัฐ ถกโละเปิด-ปิดตามอาเซียน 21-24 เม.ย.นี้ เผย’มรภ.-ม.รัฐ’ กลับไปเปิด-ปิดตามเดิมเพียบ". http://www.matichon.co.th/news/107290 (17 เมษายน 2559)

8 "'ร้อนระอุ วันหยุดเพียบ' สรุปชัด! ไม่เลื่อนเปิด-ปิดเทอมตามอาเซียนเพียบ". http://www.thairath.co.th/content/517045 (9 สิงหาคม 2558)

9 " "นพ.อุดม" เผยทปอ.ไม่ทบทวนเปิดปิดเรียน ชี้ไทยอากาศร้อนทุกเดือน". http://www.thairath.co.th/content/605995 (15 เมษายน 2559)

10 " 'มหาลัยมหาหลอกปิดเปิดเทอมตามอาเซียน??? ". http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1443530432 (29 กันยายน 2558)

11 'พลังสองหมื่นชื่อจุดประเด็นสังคม เสียงค้านท่ามกลางแนวคิดเปิดปิดเรียนตาม AEC". 

https://www.change.org/p/3392877/u/11704812

12 "'อธิการบดี มทร.ธัญบุรี จ วอนทบทวนเปิดเทอมตามอาเซียน ชี้ เจอผลกระทบเพียบทั้งสภาพอากาศและการจัดการเรียนการสอน". http://www.dailynews.co.th/education/328323 (15 มิถุนายน 2558)

13 "พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559". ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 132, ตอนที่ 91 ก, 25 กันยายน 2559  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net