ขสมก.แจงโครงการจัดซื้อรถเมล์ใหม่ล็อตแรก ย้ำชานต่ำทุกคัน

ขสมก.ชี้แจงและรับข้อคิดเห็นร่างโครงการจัดซื้อรถเมล์ล็อตแรก 489 คันจาก 3,183 คัน พร้อมย้ำชานต่ำทุกคัน ฟากผู้พิการเชื่อรถชานต่ำช่วยให้คนทุกคนไม่ว่าจะพิการ คนแก่ คนท้อง เด็ก ฯลฯ เข้าถึงรถสาธารณะเท่าเทียมกัน

18 เม.ย. 2559 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพจัดชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นร่างขอบเขตงานโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศเอ็นจีวี จำนวน 489 คัน ณ ห้องประชุม 1 ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน ทั้งตัวแทนผู้ประกอบการ เอ็นจีโอ ตัวแทนภาคประชาชน สื่อมวลชน และตัวแทนคนพิการกว่า 10 คน

ปัจจุบัน ขสมก.มีผู้ใช้บริการกว่า 1.7 ล้านคนต่อวัน สูงกว่ารถไฟฟ้าบีทีเอสที่มีคนใช้บริการเฉลี่ย 600,000 คนต่อวัน และรถไฟใต้ดิน 200,000 คนต่อวัน รถเมล์ชานสูงรุ่นเก่าที่ใช้งานมากว่า 23 ปี สภาพทรุดโทรม จึงไม่สามารถตอบโจทย์ในการเดินทางที่เอื้อต่อคนทุกคนได้ หลังจากยืดเยื้อในการจัดซื้อรถเมล์ล็อตใหม่นานกว่า 8 ปี จนเมื่อปี 2556 ได้มีแผนการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คัน วงเงินกว่า 13,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรถเมล์ธรรมดา 1,659 คัน และรถเมล์ปรับอากาศ 1,524 คัน โดยมีกำหนดระยะเวลาจัดหาให้เสร็จสิ้นภายใน 18 เดือน แต่กลับเกิดปัญหาความล่าช้า และมีการทักท้วงเรื่องราคากลางที่สูงเกินจริง จึงทำให้โครงการถูกชะลอเรื่อยมา

จึงนำมาสู่โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีใหม่ชุดแรกจำนวน 489 คัน จากจำนวนทั้งหมด 3,186 คัน ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้ดำเนินการเร่งจัดซื้อตั้งแต่ปี 2557 อย่างไรก็ดีในขณะนั้น ก็ได้มีการฟ้องร้องอย่างต่อเนื่องในเรื่องของกระบวนการจัดซื้อที่ไม่โปร่งใส จึงทำให้การจัดซื้อยังคงล่าช้าจนถึงปัจจุบัน

ยุกต์ จารุภูมิ รองผู้จัดการฝ่ายบริหาร ขสมก. กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดซื้อรถเมล์ล็อตใหม่ 489 คันว่า แต่เดิมการจัดซื้อรถเมล์ จะกระทำโดยแยกระหว่างผู้ประกอบการจัดซื้อ และผู้ประกอบการที่ทำการซ่อมบำรุง แต่ในระเบียบการใหม่ กำหนดให้ผู้ที่ทำการจัดซื้อจะต้องทำการซ่อมบำรุงด้วย โดยผู้ที่ประมูลสัมปทานได้จะต้องแจกแจงราคาค่าซ่อมบำรุงแบ่งออกเป็นสองช่วงคือตั้งแต่เดือนที่ 1-5 และเดือนที่ 6-10 โดยผู้เข้าร่วมประกวดราคาจะต้องมีทุนจดทะเบียนร้อยละ 5 ของวงเงิน ได้แก่ประมาณ 200 ล้านบาท และผู้ประกอบการสัญชาติไทยทุกประเภทสามารถเข้าแข่งขันประกวดราคาได้ ทั้งประเภทนิติบุคคล กิจการร่วมค้า (Joint Venture) และกิจการค้าร่วม (Consortium)

ยุกต์ยังยืนยันด้วยว่า ในตอนนี้สเปคของรถทั้ง 489 คันที่จะทำการสั่งซื้อ ยังคงเป็นรถชานต่ำ (Low – floor bus) ทั้งหมด

สุระชัย เจียมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า โครงการจัดซื้อรถเมล์ในครั้งนี้พยายามที่จะเปิดกว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งในเรื่องของการจัดการสัดส่วนการเงิน และไม่จำกัดประเภทของรถ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ที่นำเข้ามาทั้งคัน หรือรถเมล์ที่นำเข้ามาประกอบในไทย ก็สามารถใช้ได้ เพียงแต่สเปคของรถนั้นจะต้องตรงตามที่กฎหมายไทยกำหนดไว้ และส่งมอบรถภายในระยะเวลา 90 วัน วันนี้ (18 เม.ย.2559) จึงเปรียบเสมือนกับการรับฟังความคิดเห็น และนำเอาข้อมูลเหล่านั้นไปปรับเท่าที่ทำได้ และจะเคาะราคาในวันที่ 8 ก.ค.2559 และทำสัญญาให้เสร็จสิ้นภายในเดือนเดียวกัน

ด้านบรรยง อัมพรตระกูล ประธานรถร่วม ขสมก.ได้ให้ความเห็นว่า มาตรการการเสนอราคาดังกล่าวดูมีเหตุผลและโปร่งใสแต่แนะให้ผู้ประกอบการนำรถเข้ามาประกอบในไทยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และเสนอให้พิจารณาขนาดของรถเมล์ที่เหมาะสมว่าจำเป็นจะต้องใช้ขนาด 12 เมตรหรือไม่ และหากเป็นขนาด 8 หรือ 10 เมตร จะช่วยประหยัดได้มากขึ้นหรือไม่

อีกฟากผู้เข้าร่วมประมูลราคาในรอบที่แล้วก็แสดงความเห็นว่า ในการประกวดราคาครั้งนี้ อยากให้ ขสมก.ตรวจสอบคุณสมบัติของทุกๆ บริษัทที่เข้าร่วมประมูลว่า โปร่งใส และมีประวัติเสียหายในทางลึกหรือไม่ ตรงกับไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ อดีตประธานคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่แนะว่า นอกจากจะตรวจ และกำหนดคุณสมบัติแล้ว ยังควรระบุข้อห้ามด้วยว่า การทำผิดแบบไหนทำให้หมดสิทธิในการเข้าร่วมประกวดราคา รวมทั้งหากสามารถประมูลด้วยราคาที่ถูกกว่าราคากลาง ตนเองก็สนับสนุน แต่ต้องได้รถเมล์ที่มีสเปคตรงตามที่กำหนด

ด้านผู้ประกอบการรถเมล์สัญชาติจีน ซึ่งนั่งสังเกตการณ์กล่าวว่า ทางบริษัทของตนเคยยื่นข้อเสนอเพื่อทำสัญญาจัดซื้อรถเมล์สเปคดังกล่าวแล้วหลายครั้งตั้งแต่ครั้งรัฐบาลอดีตนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อเนื่องมาจนรัฐบาลอดีตนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนกระทั่งรัฐบาล คสช. แต่เพราะบริษัทนั้นเป็นผู้ประกอบการที่มาจากจีนโดยตรงโดยไม่มีคนไทยเข้าร่วมในลักษณะของกิจการร่วมค้า และกิจการค้าร่วม จึงทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลในวิธีปกติได้ จึงอยากให้ ขสมก.พิจารณารับเรื่อง และมั่นใจว่านโยบาย ซื้อ 1 แถม 1 โดยจะเปลี่ยนรถล็อตใหม่เมื่อใช้ครบ 5 ปี ของบริษัทนั้น จะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงสุด

สุจินดา เชิดชัย หรือเจ๊เกียว เจ้าของอู่ต่อรถและบริษัทเดินรถ เชิดชัย กล่าวว่าปัจจุบันธุรกิจต่อรถในไทยกำลังซบเซา จึงอยากให้กำหนดให้ต้องต่อรถเมล์ในประเทศไทยเท่านั้น เพื่อเปิดโอกาสให้กับอู่ต่อรถต่างๆ และเสนอให้นำเอารถเมล์ที่มีอยู่แล้วมาซ่อมแซม พัฒนา ปรับปรุง พร้อมชี้ว่า รถเมล์ชานต่ำน่าจะไม่สามารถนำมาใช้ได้บนถนนอย่างกรุงเทพฯ ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วม คอสะพานสูง พื้นถนนที่สูงต่ำไม่เท่ากัน ฯลฯ ได้

ด้านตัวแทนคนพิการ มานิตย์ อินทรพิมพ์ ยืนยันว่า อย่างไรรถเมล์ที่จัดซื้อใหม่ทั้งหมดก็ต้องเป็นรถเมล์ชานต่ำ เพื่อให้คนทุกคนสามารถใช้ได้อย่างเท่าเทียม พร้อมยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ที่ปัจจุบันใช้รถเมล์ชานต่ำแล้วร้อยละ 50 และจะใช้รถเมล์ชานต่ำทั้งหมดภายในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะขับเคลื่อนเรื่องระบบขนส่งสาธารณะที่คนทุกคนเข้าถึงได้อย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท