ครม.ไฟเขียวปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา เงินไม่ถึง 2.6หมื่นต่อเดือน ไม่ต้องเสีย

ที่ประชุม ครม. เห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  เริ่มเสียภาษีเมื่อมีเงินได้ 26,000 บาทต่อเดือน คาดว่าจะมีภาษีสูญเสียของปีภาษี 2560 ประมาณ 32,000 ล้านบาท แต่จะทำให้ระบบภาษีมีความเป็นธรรมยิ่งขึ้น

19 เม.ย.2559 กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

โดยมาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบ ทำให้การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนของผู้เสียภาษีมีความเหมาะสมสอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน เป็นการบรรเทาภาระภาษีโดยผู้เสียภาษีทุกรายจะมีภาระภาษีลดลงและผู้เสียภาษีที่มีเฉพาะเงินได้ประเภทเงินเดือนและหักลดหย่อนส่วนตัวโดยไม่ใช้สิทธิลดหย่อนรายการอื่น จะเริ่มเสียภาษีเมื่อมีเงินได้ 26,000 บาทต่อเดือน

รวมทั้ง เป็นการส่งเสริมการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ งานสร้างสรรค์และนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในหลายด้านรวมทั้งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจด้านฐานความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่ปรับเพิ่มขึ้น และจะลดจำนวนแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91) ประมาณ 1,000,000 แบบ อันจะช่วยลดภาระและงบประมาณในกระบวนงานกรรมวิธีแบบแสดงรายการภาษีและลดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีของผู้เสียภาษีที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี

โดยการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คาดว่าจะมีภาษีสูญเสียของปีภาษี 2560 ประมาณ 32,000 ล้านบาท แต่จะทำให้ระบบภาษีมีความเป็นธรรมยิ่งขึ้น

สำหรับรายละเอียดมีดังนี้ : 

1. ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายของเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า ฯลฯ อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร จากเดิมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เป็นร้อยละ 50 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

2. ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร จากเดิมให้หักได้เฉพาะค่าแห่งลิขสิทธิ์โดยให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 ของค่าแห่งลิขสิทธิ์แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ขยายเพิ่มให้ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 ของเงินได้ดังกล่าวแต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้

3. ปรับปรุงการหักค่าลดหย่อน ดังนี้
(1) ค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท
(2) ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสของผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท 
(3) ค่าลดหย่อนบุตรจากเดิมคนละ 15,000 บาท และจำกัดจำนวนไม่เกิน 3 คน เป็นคนละ 30,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร และยกเลิกค่าลดหย่อนการศึกษาบุตร (จากเดิมที่ให้หักลดหย่อน 2,000  บาท/คน)
(4) ในกรณีที่คู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000 บาท
(5) กองมรดกเดิมให้หักลดหย่อนได้ 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท
(6) ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เดิมให้หักลดหย่อนแก่หุ้นส่วนคนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท เป็นคนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท
 

4. ปรับปรุงขั้นเงินได้ และบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้

บัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประมวลรัษฎากร

บัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ที่มีการปรับปรุงตามพระราชกฤษฎีกา

บัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ที่นำเสนอในครั้งนี้

เงินได้สุทธิ

ร้อยละ

เงินได้สุทธิ

ร้อยละ

เงินได้สุทธิ

ร้อยละ

1 - 100,000

5

1 - 300,000

5

1 - 300,000

5

1000,001 - 500,000

10

300,001 - 500,000

10

300,001 - 500,00

10

500,001 – 1,000,000

20

500,001 – 750,000

15

500,001 – 750,000

15

1,000,001 – 4,000,000

30

750,001 – 1,000,000

20

750,001 – 1,000,000

20

4,000,001 ขึ้นไป

37

1,000,001 – 2,000,000

25

1,000,001 – 2,000,000

25

 

2,000,001 – 4,000,000

30

2,000,001 – 5,000,000

 30

 

4,000,001 ขึ้นไป

35

5,000,001 ขึ้นไป

35

5. ปรับปรุงเกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี ดังนี้
(1) กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว
- หากผู้มีเงินได้เป็นโสด จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 50,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 100,000 บาท
- หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 100,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้รวมกันเกิน 200,000 บาท
(2) กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน
- หากผู้มีเงินได้เป็นโสด จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
- หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 60,000 บาทเป็นต้องมีเงินได้รวมกันเกิน 120,000 บาท
(3) กรณีกองมรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่ง จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาทเป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
(4) กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท

6. การปรับปรุงดังกล่าวข้างต้น ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2560 เป็นต้นไป การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะทำให้การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความเหมาะสมเป็นธรรม สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและค่าครองชีพในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นการช่วยบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้มีเงินได้โดยผู้เสียภาษีที่มีเฉพาะเงินได้ประเภทเงินเดือนและหักลดหย่อนส่วนตัวโดยไม่ใช้สิทธิลดหย่อนรายการอื่น จะเริ่มเสียภาษีเมื่อมีเงินได้ 26,000 บาทต่อเดือน 

เรียบเรียงจาก สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 19 เมษายน 2559 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล และ รายงานข่าวของกลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท