Skip to main content
sharethis

<--break- />

ประชาไทสัมภาษณ์ โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (พ.ศ.2540-2544) ถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ วิเคราะห์รายประเด็นพบทั้งข้อดี และข้อเสีย พร้อมแนะทางออกหากประชาชนไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้หยิบรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 มาปรับใช้ให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และมี ส.ส.ร. ของประชาชน ยืดเวลาให้ร่างรัฐธรรมนูญและปฎิรูปไป 3 ปี เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่มาจากฉันทามติที่แท้จริงของประชาชน

ภาพรวมสิทธิเสรีภาพยังพอรับได้ แต่มาตรา 5 บททั่วไปสร้างซูเปอร์บอร์ดโดยไม่จำเป็น

โคทม เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามตินั้น ภาพรวมในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ เป็นสิ่งที่พอจะยอมรับได้ แต่ก็ยังคงมีความเห็นท้วงติงอยู่บ้าง เช่น ในหมวด 3 ที่เขียนว่า ‘สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย’ อาจทำให้คิดได้ว่ามาตราต่างๆ ที่อยู่ภายใต้หมวดนี้จะให้หลักประกันเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น หากเป็นแรงงานต่างด้าว หรือชาวต่างชาติที่มาทัศนาจรอยู่ในประเทศไทย จะได้รับความคุ้มครองเพียงใด โคทมเห็นว่าสิทธิที่เป็นเรื่องพื้นฐานในลักษณะนี้ควรจะครอบคลุมบุคคลทุกคน

โคทม ชี้ต่อไปในมาตรา 25 ที่ระบุไว้ว่า การใดที่ไม่ได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ การเขียนในลักษณะนี้อาจเป็นการเปิดช่องทางให้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยกฎหมายอื่นหรือไม่ แม้ว่าในมาตราถัดไปก็ได้ระบุว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพจะทำได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

“ดูเจตนาแล้วก็คงเป็นไปในทางที่ดี คงไม่ต้องการให้มีกฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพมากนัก แล้วเปิดช่องว่างถ้าไม่มีกฎหมายห้ามก็สามารถทำได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมตีความในร่างกฎหมายว่าด้วยประชามติ ก็ยังไม่เห็นข้อความใดห้ามการรณรงค์เชิญชวนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญให้ลงมติไม่รับร่าง” โคทมกล่าว

หากดูจากร่างแรกรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 เปรียบเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปรับปรุงแก้ไขซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ในหมวดเรื่องสิทธิและเสรีภาพนั้น จะเห็นได้ว่ามีการเพิ่มเติมประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพเข้ามาหลายประการ หลังจากที่ร่างแรกถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว จนมีหลายฝ่ายออกมาตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้วเป็นเกมทางการเมืองหรือไม่ที่ผู้ร่างต้องการให้มีการออกมาร้องขอเรื่องต่างๆ ในรัฐธรรมนูญจากฝั่งภาคประชาสังคมเพื่อเป็นหลักประกันว่าหากมีการบัญญัติเรื่องเหล่านั้นไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว จะได้รับเสียงเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญ โคทม เห็นว่าประเด็นดังกล่าวมีความเป็นไปได้น้อย เพราะเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมไม่ได้มีอำนาจในการกดดันมากขนาดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างรัฐธรรมนูญ หลายๆ ประเด็นที่เพิ่มเข้ามาในร่างรัฐธรรมนูญเป็นการบัญญัติเพิ่มเข้ามาเองของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ มีบางส่วนที่มีการบัญญัติเพิ่มเติมมาให้หลังจากมีการเรียกร้อง เช่น มาตรา 41 เรื่องสิทธิชุมชน คือเขียนให้ชัดขึ้นว่า บุคคลหรือชุมชนมีสิทธิฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ และเพิ่มเติมไปอีกว่ามีสิทธิรับทราบข้อมูลข่าวสารสาธารณะของหน่วยงานรัฐ ตรงนี้เป็นสิ่งที่เพิ่มเข้ามาหลังจากมีการเรียกร้อง รวมทั้งมาตรา 43 มาตรา 46 เรื่องสิทธิผู้บริโภค มาตรา 47 การบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน มาตรา 48 เรื่องสิทธิของแม่ก่อนและหลังการคลอดบุตร

“จริงๆ มีเพิ่มเข้ามา 3 ประเด็นหลักคือมาตรา 46 47 และ 48 ผมเข้าใจแต่เดิมมีอยู่ในหน้าที่ของรัฐ และเอามาย้ำว่าเป็นสิทธิเสรีภาพด้วย ฉะนั้นที่คุณบอกว่ามีการเพิ่มเติมเข้ามาใหญ่โต ผมมาเช็คดู มันก็เหมือนเก่าเป็นส่วนใหญ่” โคทมกล่าว

โคทม กล่าวต่อไปว่า หากดูเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพหลายคนมักจะมองว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติเอาไว้ได้ดีที่สุด คือมีการแบ่งเป็นสัดส่วน และเขียนเรื่องต่างๆ เอาไว้อย่างละเอียด แต่เขากลับเห็นว่า การเขียนกว้างๆ สั้นๆ นั้นดีกว่า แล้วเปิดพื้นที่ให้ได้ตีความตามหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพ

ส่วนที่เขาเห็นว่ามีปัญหาอยู่คือ มาตรา 49 ซึ่งเคยเป็นบาดแผลมาแล้วในมาตรา 68 เดิม(รัฐธรรมนูญ 2550) คือการให้บุคคลยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงหากเห็นว่ามีใครมาล้มล้างระบอบประชาธิปไตย กลายเป็นการขยับให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นศาลการเมืองมากขึ้น

“มาตรา 49 มันเกินไป ให้บทบาทกับศาลรัฐธรรมนูญ ให้อำนาจใครก็ได้ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าเกิดใครไปฟ้องให้เลือกตั้งเป็นโมฆะเพราะมีการทุจริตการเลือกตั้ง จะทำอย่างไร จะคิดอะไรกันเกินไปขนาดนั้น เรื่องนี้ควรให้เป็นความผิดส่วนตัวไป มันมีกฎหมายเลือกตั้งอยู่แล้ว ไม่ต้องมาฟ้องว่าเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย” โคทมกล่าว

โคทมยังกล่าวถึงบททั่วไป มาตรา 5 ว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการถกเถียงกันว่า เราไม่ต้องการซูเปอร์บอร์ดซึ่งก็คือ คณะบุคคลที่มีอำนาจตัดสินและมีอำนาจเหนือองคาพยพของรัฐ แต่ครั้งนี้กลับเขียนไว้ชัดเจนว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดประชุมร่วมระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานองค์กรอิสระ เพื่อวินิจฉัยเมื่อเห็นว่าไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับใช้

“ที่ประชุมร่วมกลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุด ผลจะเป็นอย่างไรยังไม่รู้ เพราะยังไม่เคยใช้ และก็แก้ไม่ได้ด้วย ถ้าจะแก้ต้องไปประชามติก่อน” โคทมกล่าว

เรื่องนี้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าได้ให้อำนาจไว้กับศาลรัฐธรรมนูญเพียงองค์กรเดียวที่จะมีหน้าที่วินิจฉัย แต่สำหรับในร่างนี้ได้กระจายอำนาจการตัดสินใจไปสู่องค์กรต่างๆ เมื่อถามโคทมว่า ในหลักการแล้วองค์กรใดควรจะมีหน้าที่ตัดสินวินิจฉัยตามมาตรานี้ เขาเห็นว่า หากมีการเล่นการเมืองภายใต้กติกาประชาธิปไตยแล้ว กลไกทางการเมืองต่างๆ ที่มีอยู่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวมันเอง

“ผมว่ามันก็แก้ของมันไปได้เอง เราไม่ควรไปกังวัลว่ามันจะแก้ไม่ได้ ผมยกตัวอย่าง ครั้งที่แล้วบอกแก้ไม่ได้ เลือกตั้งไม่ได้ แต่หลังจากประกาศกฎอัยการศึกก็สลายการชุมนุมกันไปหมดแล้ว ถ้าจะจัดเลือกตั้งหลังจากนั้นก็สามารถกระทำได้ รัฐไม่ใช่ไม่มีอำนาจ แต่ตอนนั้นรัฐแบ่งเป็นฝ่ายการเมืองกับฝ่ายประจำ และตอนนั้นฝ่ายประจำคว่ำบาตรฝ่ายการเมืองก็แค่นั้นเอง คว่ำบาตรธรรมดาไม่พอ ยึดอำนาจเลย แล้วไปบอกว่าฉันต้องยึดอำนาจเพราะปัญหาบ้านเมืองมันแก้ไม่ได้ แต่ถ้าตอนนั้นฝ่ายประจำออกมาช่วยให้มีการจัดการเลือกตั้ง มันก็มีการเลือกตั้งได้ มันไม่มีวิกฤตอะไรหรอก แต่เราไปทำให้มันเหมือนจะต้องมีบทบัญญัติพิเศษอะไรขึ้นมา แล้วบทบัญญัติพิเศษจะมาแก้คอร์รัปชัน จะมาแก้วิกฤตการณ์ทางการเมือง มันไม่ได้ทั้งหมดหรอก ส่วนใหญ่ผมเชื่อว่าถ้าสังคมมีจิตสำนึกร่วม มันก็เคลื่อนไปข้างหน้า แต่ถ้ายังไม่มี มันก็จะขยับไปขยับมา ไม่รู้จะไปทางไหนดี” โคทมกล่าว

เห็นด้วยระบบเลือกตั้ง 'ระบบแบ่งสรรปันส่วนผสม' ยันรัฐบาลผสมไม่ใช่ปัญหา

โคทม เห็นด้วยที่จะมีการนำระบบการเลือกตั้งที่ กรธ. เรียกระบบดังกล่าว ‘ระบบแบ่งสรรปันส่วนผสม’ มาใช้ แต่ยังคงติดใจในชื่อเรียกที่ดูไม่เป็นวิชาการ เขาเห็นว่าระบบนี้ควรเรียกว่า ‘ระบบสัดส่วนที่มีสมาชิกแบบผสม’ แทน โดยเหตุผลที่เห็นด้วยกับการนำระบบนี้มาใช้คือ สมมติว่ามีการใช้ระบบแบ่งเขตอย่างเดียว ยังไม่สนองความต้องการที่แท้จริงของประชาชน แต่สามารถทำให้เกิดการตั้งรัฐบาลได้อย่างมีเสถียรภาพ

“ถ้าเป็นแบบแบ่งเขตอย่างเดียว ก็เป็นที่ทราบกันว่าโดยเฉลี่ย คะแนนนำกำชัยคือ 35 เปอร์เซ็นต์ คือผู้สมัครได้คะแนนจากเขตเลือกตั้งของตน 35 เปอร์เซ็นต์ก็อาจจะมาที่หนึ่ง ที่สองอาจจะ 30 ที่สามอาจจะ 20 อะไรก็ว่าไป แปลว่า 35 นี่กำชัย 65 นี่ปราชัยอยู่ใช่ไหม มันก็กลายเป็นการเสริมพรรคใหญ่ให้ตั้งรัฐบาลได้อย่างมีเสถียรภาพ แต่ไม่ได้สัดส่วนกับคะแนนของประชาชน ฉะนั้นระบบสัดส่วนจะมาแก้ตรงนี้” โคทมกล่าว

โคทม กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันหากใช้ระบบสัดส่วนล้วนๆ ผลคือผู้บริหารหลักของพรรคที่เป็นคนจัดทำบัญชีรายชื่อก็จะกุมอำนาจ แล้วผู้สมัครของพรรคก็จะไม่มีความใกล้ชิดกับประชาชน ตัวบุคคลไม่มีความหมาย เพราะแล้วแต่พรรคจะจัดอันดับให้ ประชาชนก็ไม่เห็นหน้าเห็นตา ไม่รู้จักผู้สมัคร แต่มีข้อดีตรงที่เคารพคะแนนนิยม เขาก็เลยคิดระบบผสม ซึ่งพยายามเอาความดีของทั้งสองระบบนี้มาประกอบกัน

โคทมอธิบายต่อถึงระบบการเลือกตั้งแบบผสมว่า มีหลักๆ อยู่ 2 ระบบ คือระบบผสมที่ใช้ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นระบบผสมที่แยกกันระหว่างระบบแบ่งเขตกับระบบบัญชีรายชื่อ เป็นแบบคู่ขนาน ซึ่งไม่ได้แก้พื้นฐานหลักของประเด็นที่ว่าจำนวนที่นั่งของพรรคอาจจะไม่สอดคล้องกับคะแนนนิยม ตัวอย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าพรรคใหญ่ได้เปรียบ เพราะยังได้ที่นั่งแบบแบ่งเขตเกินสัดส่วนของคะแนนนิยม ฉะนั้นการแก้ปัญหานี้ โดยการนำระบบเลือกตั้งแบบผสม ที่มีการคำนวณที่นั่งระหว่าง ผู้สมัครแบบแบ่งเขตกับผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อรวมกัน เมื่อได้จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเยอะแล้ว ส.ส. ที่ได้จากบัญชีรายชื่อก็น้อยลงตามสัดส่วน สุดท้ายก็จะได้สัดส่วนกับคะแนนนิยม พรรคการเมืองก็ต้องทำงานเต็มที่ ออกนโยบายให้ถูกใจประชาชน เพื่อว่าจะผ่านทั้งสองอย่าง

“ส่วนตัวผมยังชอบให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ แต่เขาไม่เอา เหตุผลที่เขาอธิบายผมก็ไม่เข้าใจ เราก็อย่ายึดมั่นถือมั่นในความคิดของเรา ระบบดี แต่วิธีการตรงนี้มันไม่จุใจนัก แต่ผมก็ยังเชียร์ระบบสัดส่วนที่มีสมาชิกผสม ภาษาอังกฤษเรียกว่า MMP: Mix Member Proportional แปลตรงตัวก็คือระบบสัดส่วนที่มีสมาชิกแบบผสม” โคทมกล่าว

ต่อข้อวิจารณ์ว่า หากให้ระบบการเลือกตั้งนี้ บวกกับกลไกอำนาจอื่นๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้รัฐบาลอ่อนแอมากๆ ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ต้องเป็นรัฐบาลผสมเท่านั้น โคทมเห็นว่า เป็นเรื่องจริง แต่ปัญหาจริงๆ อยู่ที่รัฐบาลผสมของไทยที่เคยมีมาไม่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ มาผสมรวมตัวกันเพื่อให้ได้ที่นั่งในการจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น ไม่ได้นำเอาแนวคิด หรือนโยบายของพรรคแต่ละพรรคมาผสมกลมกลืนกันด้วย อย่างรัฐบาลผสมก่อนหน้านี้ เหมือนกับเป็นการมอบสัมปทานกระทรวงให้แต่ละพรรคไปจัดการ

“สมมติได้ ส.ส. 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ ต้องรีบไปคว้าพรรคอื่นมาผสมเลย ให้ได้ ส.ส. สัก 55 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป แต่จริงๆ ผมเห็น อย่างประเทศเยอรมนีที่ใช้ระบบนี้หรือการจัดตั้งรัฐบาลผสมในกรณีของรัฐบาลอังกฤษ ทั้งๆ ที่เขาใช้ระบบคะแนนนำกำชัย แต่เวลาเขาจะจัดตั้งรัฐบาลผสม เขาใช้เวลาเป็นเดือนในการคุยเรื่องนโยบายร่วมของรัฐบาล ถ้าเราจะมาร่วมกัน นโยบายที่คุณไปหาเสียงไว้ ซึ่งไม่ตรงกับนโยบายของฉัน ตรงไหนคือจุดร่วมที่จะรับกันได้ คุยกันนาน แล้วจะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะว่ามันมีแบบแผนเดียวกัน” โคทม กล่าว

สำหรับกรณีการสรรหา ส.ว. โคทม เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมองว่ากระบวนการเลือกตั้งใช้ไม่ได้ แม้การเลือกตั้งจะไม่ใช่กระบวนการที่ดีที่สุด แต่ในระยะยาวมันเป็นกระบวนการที่ไว้ใจได้มากกว่ากระบวนการอื่นๆ ถึงที่สุดแล้วต้องไว้วางใจประชาชน อย่าคิดไปเองว่าประชาชนคิดไม่เป็น

โคทม ระบุว่า วิธีที่ดีที่สุด ไม่ใช่วิธีที่บอกว่ามีผู้รู้ดี คอยคิดแทนทำแทนประชาชน ถึงแม้จะไม่ใช่รัฐบาลของประชาชน แต่ทำเพื่อประชาชน เขาเห็นว่าวิธีคิดแบบนี้ไม่ถูกต้อง รัฐบาลต้องเป็นของประชาชนด้วย เพื่อประชาชน และโดยประชาชน ต้องมีทั้งสามองค์ประกอบ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการถ่วงดุลอำนาจทั้งสามด้าน อำนาจด้านของประชาชนโดยตรงที่เรียกว่าประชาธิปไตยทางตรง ด้านของนักการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยตัวแทน และอำนาจของข้าราชการ สามอำนาจนี้อย่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจของตนเกินกว่าเหตุ

ในประเด็นเรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญ โคทมเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายมาเป็นศาลการเมือง แม้ในความเป็นจริงในต่างประเทศ ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นศาลการเมืองอยู่กลายๆ แต่ไม่ได้เข้ามาตัดสินมากเท่ากรณีของประเทศไทย ตั้งแต่เกิดกลุ่มพันธมิตรฯ เคลื่อนไหวเรื่อยมา มีการใช้หมดทุกกระบวนท่าในการปราบทักษิณ กลายเป็นการช่วงชิงอำนาจกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญควรมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญถูกทำลาย ศาลก็ไม่ว่าอะไร

หากไม่ผ่านประชามติ เสนอหยิบ รธน. 40/50 มาใช้ ส.ส.ร.ใหม่ยกร่าง 3 ปีสร้างฉันทามติ

ต่อกรณีข้อถกเถียงเรื่องทางออก หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติจากประชาชนจะทำอย่างไรต่อไป โคทมเห็นว่า ควรนำรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 มาแก้ไขเท่าที่จำเป็น โดยเพิ่มในหมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมทั้งบทเฉพาะกาลด้วย เพื่อเปิดช่องทางให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้น แล้วให้เวลา 3 ปี ในการร่างรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูป

“ผมถือว่าช่วงนี้เรารณรงค์ 2 เรื่องขนานกันไปเลย เรื่องที่ว่าขอให้ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญให้ดี มีทั้งดีและไม่ดีอยู่ อย่าโฆษณาเกินจริง เห็นภาพด้านเดียว อีกเรื่องคือถ้ามันไม่ผ่าน จากวิกฤตให้เป็นโอกาส เลือกรัฐธรรมนูญที่พอมีความเห็นพ้องเป็นฐานอยู่แล้ว ปี 2540 หรือ 2550 แล้วเราก็เคยใช้มาแล้วด้วย แต่อาจจะมีประเด็นปัญหาที่ต้องปรับนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็กำหนดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญถาวรฉบับที่ 21 ขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ก็ใช้จัดเลือกตั้งไป ใช้บริหารราชการไป สามปีสี่ปี เราไม่ว่ากัน ซึ่งทำได้

“รัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งอยู่ 4 ปี ส.ส.ร.ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 3 ปี แต่สามปีนี้เรายังไม่ได้ใช้รัฐธรรมนูญทันที ให้มีบทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญนี้ค่อยๆ ร่างไป พอมีรัฐธรรมนูญแล้วก็ปรับสักปีหนึ่งเพื่อให้มีกฎหมายลูกรองรับ พอเลือกตั้งคราวหน้าก็ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 มันก็จะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย”

“ถ้าประชามติไม่ผ่าน แปลว่าการร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองครั้งที่ใช้วิธีเอาผู้เชี่ยวชาญมาร่างไม่ถูกใจประชาชน ก็ไม่ควรเอาฉบับที่ไม่ถูกใจมาบังคับใช้ถาวร ผมคิดว่าไม่ควร เรามีเวลาแล้ว เราก็ปฏิรูป สร้างกติกาที่เป็นที่ยอมรับ มีความเห็นเป็นเอกฉันท์พอสมควร ตรงนั้นแหละจึงจะเกิดการปรองดอง การเดินหน้า เกิดการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพราะประชาชนจะรู้สึกเป็นเจ้าของ”

“ขณะนี้บอกว่าต้องการเปลี่ยนผ่านๆ มันตีความไม่เหมือนกัน เปลี่ยนผ่านของผมต้องทะลุจากอำนาจนิยมไปสู่ประชาธิปไตย ผ่านไปสู่ระบบที่การเมืองมีการถ่วงดุลและมีคุณภาพมากกว่านี้ ผ่านไปสู่พลเมืองที่ตื่นตัวมากกว่านี้ ถึงจะผ่าน” โคทม กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net