Skip to main content
sharethis

กลุ่มคณะปูชนียบุคคลไทย ขอนายกฯ หยุดต่ออายุใบอนุญาตเหมืองแร่ทองคำที่จะสิ้นสุด13 พ.ค.นี้ ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย

21 เม.ย. 2559 เวลา 11.00 น. ณ ศูนย์ศึกษาวิภาวดี มหาวิทยาลัยรังสิต มีการแถลงเจตนารมณ์ หยุด!เหมืองทอง ซึ่งกลุ่มคณะปูชนียบุคคลไทยยื่น 5 ข้อเสนอถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยให้ยุติการต่อใบอนุญาตเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร ที่กำลังจะหมดอายุใน 13 พ.ค.นี้

กลุ่มคณะปูชนียบุคคลไทย ซึ่งประกอบด้วย ศาสตราจารย์ระพี สาคริก, รตยา จันทรเทียร, พล.ต.อ.วิสิษฐ์ เดชกุญชร, ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ, อาทิตย์ อุไรรัตน์, นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ และ รสนา โตสิตระกูล แถลงว่า สืบเนื่องจากกรณี ศ.ระพี สาคริก ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร ได้ยื่นหนังสือถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 27 ก.ค.2557 ซึ่งส่งผลให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งลับไปยัง จ.พิจิตร ทำให้เกิดคณะกรรมการ 5 ฝ่าย เพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหาจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ผลการตรวจในคราวแรกพบว่าทั้งดิน น้ำ พืช และในกระแสเลือดของประชาชนบริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำมีสารโลหะหนักปนเปื้อน ทั้งนี้จากการตรวจเลือดในปี 2558 พบว่า สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิม โดยพบเด็กและเยาวชนกว่าร้อยละ 60 มีสารโลหะหนักในร่างกายเกินค่ามาตรฐานอันจะส่งผลต่อการเจริญเติบโต ขณะที่ด้านเศรษฐกิจพบว่ารัฐได้ผลประโยชน์จากแร่ทองคำเพียงร้อยละ 6.6 ผลประโยชน์ส่วนใหญ่กลับตกเป็นของต่างชาติ ซึ่งถือเป็นความน่าอับอายของคนไทยทั้งชาติที่ประหนึ่งไม่รู้คุณค่ามรดกที่บรรพชนมอบไว้ให้ อีกทั้งในด้านสังคมนั่นเล่าก็เกิดความแตกแยกในชุมชนอย่างน่าสลดใจ วัด โรงเรียนถูกทิ้งร้าง สิ่งแวดล้อมและสุขภาพเลวร้าย

แถลงการณ์ระบุว่า ในโอกาสที่ใบอนุญาตประกอบโลหกรรมเหมืองแร่ทองคำจะสิ้นสุดลงในวันที่ 13 พ.ค.ที่จะถึงนี้  กลุ่มคณะปูชนียบุคคลไทยจึงขอให้รัฐบาลหยุดต่อใบอนุญาตดังกล่าว และมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้
1. ขอให้หยุดต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน)
2. ขอให้เร่งรัดการตรวจพิสูจน์สิ่งแวดล้อมเพื่อเร่งฟื้นฟูเยียวยาประชาชนและพื้นที่เกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
3. โปรดกำชับให้ข้าราชการรักษาหน้าที่ต่อชาติประชาชนเหนือกว่าการปกป้องผลประโยชน์ของเอกชน
4. โปรดสั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการคุ้มครองผลประโยชน์ของคนงานเหมืองทองคำให้ได้รับการชดเชยอย่างสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอให้มีมาตรการประกันความเจ็บป่วยในอนาคตของคนงานและชาวบ้านอันเนื่องจากสารพิษที่อาจสะสมในขณะปฏิบัติหน้าที่และดำเนินชีวิตให้ได้รับความเป็นธรรม ตลอดไปถึงอนาคตด้วย
5. ขอให้ยุตินโยบายทำเหมืองแร่ทองคำทุกพื้นที่ของประเทศ

นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตอนนี้พิสูจน์ชัดเจนว่าชุมชนล่มสลายต้องย้ายหมู่บ้าน ไม่สามารถอยู่อาศัยได้เพราะได้รับผลกระทบจากสารเคมีจากการทำเหมืองแร่ มีสารพิษตกค้างในกระแสเลือดของประชาชน และสัตว์ที่อยู่ในบริเวณนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มเด็กๆ ที่ได้รับสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาต่อสมอง ดังนั้น 1.ต้องมีมาตรการที่เด็ดขาดในการจัดการเรื่องเหมืองแร่ทองคำ หรืออะไรที่สร้างผลกระทบต่อประชาชน 2.ต้องเร่งทำการวิจัยว่าเหมืองต่างๆ เป็นสาเหตุของการเกิดผลกระทบต่อคนในพื้นที่อย่างจริงจัง โดยหน่วยงานหลักที่ต้องรับผิดชอบ คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นิรันดร์ กล่าวถึงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน กรณีเหมืองทองคำ เหมืองโปแตช ที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนทำนั้นสร้างรายได้ไม่กี่พันล้านแต่ต่างชาติกลับได้เป็นแสนล้าน ถ้าคนไทยยังไม่สามารถทำได้ควรเก็บไว้และไม่ปล่อยให้เป็นอำนาจของทุนข้ามชาติ ในขณะที่คนไทยยากจนรัฐบาลจะโทษแต่ชาวบ้านไม่ได้เพราะรัฐบาลไม่เคยปฏิรูประบบการเกษตรให้ชาวบ้านสามารถลืมตาอ้าปากได้ เรากำลังเอาการพัฒนาที่รัฐอ้างว่าเป็นความเจริญให้ประโยชน์กับชาวต่างชาติ และไปยัดเยียดความตายให้คนในพื้นที่ ดังนั้น รัฐบาลต้องไม่ไปเผลอทำนโยบายและกฎหมายรับรองการทำเหมืองแร่เหล่านี้ เช่น พ.ร.บ.แร่ ที่กำลังอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(ส.น.ช.) หรือรัฐบาลกำลังเปิดสัมปทานอีก 12 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เกษตรกรรม

"ถ้าเอาความเด็ดขาดของทหาร เอาความเด็ดขาดของ คสช.ที่บอกว่าอำนาจเป็นกฎหมาย มาใช้เป็นประประโยชน์ต่อประชาชนในประเทศท่านจะเป็นวีรบุรุษของคนไทย ท่านต้องอย่าทำลายโอกาสในการช่วยเหลือคนไทย" นิรันดร์ กล่าว

รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า สมัยที่เป็นสมาชิกวุฒิสภามีโอกาสได้ดูรายได้รายจ่ายของรัฐบาลในเรื่องค่าราคารวมแร่ ซึ่งคิดมูลค่าแค่ 2-3% เท่านั้นของรายได้ทั้งหมดของแผ่นดิน ล่าสุดในปี 2559 มีราคารวมแร่ประมาณ 1,146.4 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 0.5% ของรายได้ในแผ่นดินโดยคิดจากรายได้แร่ทั้งระบบ มูลค่าที่ได้นั้นเมื่อเทียบกับสิ่งที่ประเทศสูญเสียในเรื่องพื้นที่ป่าและสิ่งแวดล้อมนั้นคุ้มค่าหรือไม่ รัฐบาลที่ประกาศคำมั่นสัญญาว่าจะคืนความสุขให้ประชาชนก็ควรทำเป็นรูปธรรม โดยขอให้ คสช.หยุดต่อสัมปทานเหมืองทองคำที่จะสิ้นสุดในเดือน พ.ค.นี้

สุนี ไชยรส อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า เหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร เป็นกรณีตัวอย่างที่พิสูจน์อะไรหลายเรื่อง การละเมิดสิทธิทางธรรมชาติที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน แม้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 กับปี 2550 จะระบุเรื่องเกี่ยวกับสิทธิชุมชนกับสิทธิการดูแลชุมชนที่เขียนไว้ดี แต่พบว่าในความเป็นจริงนั้นก็ยังไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของชุมชนได้

สุนีกล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือรัฐธรรมนูญฉบับที่รอทำประชามตินี้ยังไม่อธิบายเรื่องสิทธิชุมชนอย่างชัดเจน ยิ่งทำให้อนาคตเรื่องเหมืองแร่ในเมืองไทยน่าเป็นห่วง ในเรื่องนโยบายเกี่ยวกับพื้นที่ป่ากับการทำเหมืองแร่นั้นรัฐบาลต้องพิจารณาและมีมาตรการในการใช้พื้นที่ป่าจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ ตั้งคำถามถึงเรื่องนโยบายป่าไม้ด้วยว่า เหตุใดรัฐจึงดำเนินการกับชาวบ้านได้ แต่กับกลุ่มบริษัทเหมืองแร่ที่บุกรุกพื้นที่ป่า กลับไม่มีการจัดการ

รตยา จันทรเทียร อดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า เหมืองทองคำที่มีกระบวนการผลิตทันสมัยอย่างบริษัทอัครา รีซอร์สเซส นั้นมีตั้งแต่ปี 2544 ส่วนตัวทราบมาว่าประเทศไทยมีทองคำประมาณ 700 ตัน แต่คนไทยไม่สามารถทำได้เองต้องใช้เทคนิคจากบริษัทต่างชาติ โดยประเทศที่สามารถย่อยแร่ทองได้มี ออสเตรเลีย อังกฤษ และฮ่องกง การส่งแร่เหล่านี้ออกไปจะเห็นว่าประเทศไทยได้ผลประโยชน์กับธุรกิจเหล่านี้ไม่ถึง 10% ซึ่งประเด็นนี้เฉพาะเรื่องมูลค่าของประเทศ ยังไม่รวมถึงเรื่องปัญหาสุขภาพของคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแร่ไซยาไนด์ที่เป็นสารเคมีสำคัญในอุตสาหกรรมเหมืองทองที่สร้างผลกระทบให้แก่คนในพื้นที่

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัน อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เราไม่ควรจะอนุญาตให้มีเหมืองอีกต่อไป แล้วการสร้างเหมืองในพื้นที่ป่าสงวน ควรต้องมีกฎหมายห้ามไม่ให้มีสัมปทานเหมือง และไม่ควรให้สัมปทานเหมืองในพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่อาศัยหรือเป็นแหล่งเกษตรกรรม ถ้าจะมีในพื้นที่จะต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างชัดเจน

"เป็นไปไม่ได้ที่การทำเหมืองจะไม่มีผลกระทบเพราะใช้สารเคมีในกระบวนการทำอย่างมาก ทหารที่เข้ามานั่งในสภาจะมาแก้กฎหมายเพื่อการขุดแร่ไม่ได้ เฉพาะเหมืองทองพิจิตร การขุดเหมืองทองเป็นการขุดเปิดเอาโลหะหนักใต้ดินมาอยู่บนดิน ดังนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อน้ำ เนื้อดิน ต่อผู้คน ต้องยุติวิธีทำเหมืองแบบนี้และมีกฎหมายควบคุมอย่างชัดเจน"

“ประเทศไทยเหมือนผู้หญิงสวยที่ถูกให้เขาเอาเปรียบทั้งวันทั้งคืน การทำเหมืองทองเสียค่าสัมปทานให้ประเทศไทยจำนวนเงินแค่นั้นน้อยมาก ถ้าเทียบกับรายได้ที่ต่างชาติเข้ามาเอาไปจากเรา” ไกรศักดิ์ กล่าว

ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ราษฎรอาวุโส นักวิจัย นักวิชาการเกษตร กล่าวว่า เมืองไทยมีที่ให้ทำมาหากินมากมายปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาทำไม แล้วมาบ่นว่าคนไทยจน ถ้าขยันหน่อยก็รวยได้ ระพีเน้นให้คนไทยอดทน อดกลั้น ทดแทนความยากจน การนำบริษัทต่างชาติเข้ามาเป็นเหมือนดาบสองคม อยากให้การศึกษาสอนให้เห็นคมที่จะเข้ามาทิ่มแทงตนเอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net