เปิดมุมนักวิเคราะห์ กรณี OIC ขานรับกระบวนการสันติภาพ-กลุ่มผู้แทนมุสลิมใต้

เปิดมุมมอง 2 นักวิเคราะห์ กรณีองค์การความร่วมมืออิสลามขานรับกระบวนการสันติภาพและกลุ่มผู้แทนมุสลิมภาคใต้ในถ้อยแถลงล่าสุด ทั้ง รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช และ ผศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ ชี้เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการพูดคุย

องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี (Organization of Islamic Cooperation – OIC) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 15 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ในการประชุมผู้นำของโอไอซีล่าสุดที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี มี 2 ข้อที่พูดถึงกรณีภาคใต้ของไทย ดังนี้  

แถลงการณ์ของโอไอซี ระบุว่า โอไอซีขานรับรูปแบบการจัดตั้ง “กลุ่มตัวแทนชุมชนมุสลิมในภาคใต้” และการตัดสินใจเดินหน้ากระบวนการสันติภาพของรัฐบาลไทยภายใต้การอำนวยความสะดวกของมาเลเซีย

นอกจากนี้ โอไอซียังเรียกร้องให้กลุ่มตัวแทนชุมชนมุสลิมดังกล่าว เปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและร่วมมือทำงานด้วยเจตนาบริสุทธิ์ เพื่อรับประกันว่ากระบวนการสันติภาพจะได้รับการยอมรับอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เช่นเดียวกับการตระหนักถึงสันติภาพ ความสามัคคี และบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศไทย

ขณะเดียวกัน โอไอซีเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับประกันความปลอดภัยในการเดินทางของสมาชิกกลุ่มดังกล่าวนี้ และคุ้มครองไม่ให้พวกเขาถูกควบคุมตัวและดำเนินคดีระหว่างเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพ

นอกจากโอไอซีได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในภาคใต้ของไทยแล้ว ยังแสดงความหวังว่ารัฐบาลไทยจะดำเนินมาตรการที่สร้างสรรค์ในการปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้ รวมถึงในแถลงการณ์ร่วมไทย-โอไอซี เมื่อปี 2550 ที่มีการเน้นย้ำอีกครั้งในปี 2555 ระหว่างที่เลขาธิการโอไอซี และผู้แทนในขณะนั้น เดินทางเยือนไทยด้วย

สำหรับประเด็นนอกเหนือจากปัญหาชายแดนใต้ของไทย บรรดาผู้นำโอไอซีได้ประกาศร่วมกันว่าจะต่อสู้กับลัทธิก่อการร้าย ขจัดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนต่างนิกายศาสนา และแก้ไขกรณีพิพาทในภูมิภาค พร้อมทั้งประณามอิหร่านที่แทรกแซงกิจการภายในของหลายรัฐในภูมิภาคและรัฐสมาชิกอื่นๆ (เนื้อหาภาษาไทยจากสำนักข่าวอิศรา http://www.isranews.org/south-news/scoop/item/46290-oic_46290.html)

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิเคราะห์อิสระเกี่ยวกับสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้วิเคราะห์เรื่องนี้ว่า การเปิดการพูดคุยเพื่อสันติภาพทำให้โอไอซีเริ่มมองท่าทีในการจัดการปัญหาภาคใต้ของรัฐไทยในเชิงบวกมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้โอไอซีเคยวิจารณ์ไทยในปี 2555 ว่าการแก้ปัญหาไม่มีความคืบหน้ามากนักและเรียกร้องให้ไทยเปิดการพูดคุยกับผู้นำของชาวมลายูมุสลิมเพื่อหาทางออก

“รัฐบาลไทยจำเป็นจะต้องยอมรับสถานะของมาราปาตานีในฐานะคู่สนทนาและสร้างความเชื่อมั่นว่า ตัวแทนของมาราปาตานีจะได้รับการคุ้มครองจากการถูกดำเนินคดีในระหว่างการพูดคุย หากต้องการที่จะเดินหน้าไปสู่การเจรจาเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน” รุ่งรวี กล่าว

รุ่งรวีกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ท่าทีของรัฐบาลไทยยังคงครึ่งๆ กลางๆ ด้านหนึ่งก็อยากจะยุติความรุนแรงด้วยการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เกรงว่าการยอมรับสถานะของมาราปาตานีจะเป็นการ“ยกระดับ” ขบวนการในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

“หากเรามองดูการแก้ไขปัญหาของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ ก็จะเห็นว่า การยอมรับการดำรงอยู่ของขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชไม่ได้ทำให้รัฐบาลอยู่ในภาวะที่เสียเปรียบแต่อย่างใด ความขัดแย้งด้วยอาวุธส่วนใหญ่ในโลกนี้ก็มักจะยุติด้วยการเจรจามากกว่าการสู้รบจนทำให้อีกฝ่ายพ่ายแพ้ทางการทหารอย่างราบคาบ” รุ่งรวี กล่าว

รุ่งรวี กล่าวทิ้งท้ายว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของการพูดคุยสันติภาพนั้นเกี่ยวพันโดยตรงกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองในส่วนกลาง โดยเฉพาะเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะการพูดคุยจำเป็นจะต้องอ้างอิงถึงกฎหมายสูงสุดของประเทศ เมื่อในขณะนี้ยังมีการถกเถียงกันไม่จบว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะหน้าตาเป็นอย่างไร การพูดคุยในเชิงเนื้อหาเกี่ยวกับการออกแบบรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์และวัฒนธรรมเฉพาะคงจะยังไม่สามารถดำเนินไปได้ การพูดคุยในช่วงนี้ก็จะยังคงต้องเน้นเรื่องมาตรการการสร้างความไว้วางใจกันไปก่อน

สามารถ ทองเฝือ

สามารถ ทองเฝือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์และผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มองว่า โอไอซีเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลาง และเนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้สังเกตการณ์ในที่ประชุมโอไอซีด้วย คำแถลงจึงออกมาในลักษณะที่พูดถึงฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐว่ามุสลิมในภาคใต้ของประเทศไทยไม่ได้พูดถึงชื่อมาร่าปาตานีโดยตรง

“แต่หากประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิกผู้สังเกตการณ์ โอไอซีน่าจะพูดถึงชื่อมาร่าปาตานีไปเลย การใช้คำว่ามุสลิมในภาคใต้ของไท ถือเป็นการรักษามารยาทกับสมาชิกองค์ประชุมถึงจะเป็นสมาชิกผู้สังเกตการณ์หรือถือเป็นสมาชิกเกรดสองก็ตาม ซึ่งโอไอซีมีสมาชิกถาวรที่เป็นประเทศมุสลิมมี 57 ชาติ” สามารถ กล่าว

สามารถ กล่าวด้วยว่า การแถลงเช่นนั้นน่าจะทำให้การเดินหน้ากระบวนการสันติภาพชายแดนใต้อาจจะดีขึ้น เพราะดีกว่าไม่พูดอะไรเลยต่อมุสลิมในประเทศไทย การที่โอไอซีพูดถึงแสดงว่าเขาสนใจ แต่ด้วยเหตุที่ขอบเขตของบทบาทหน้าที่ของโอไอซีแล้ว โอไอซีไม่สามารถเข้ามายุ่งเกี่ยวในกระบวนการสันติภาพได้โดยตรงหรือจะเข้ามาเป็นฝ่ายที่ 3 ก็ไม่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท