คนเวียงแหงจัดมหกรรมเสียงคนต้นน้ำแตงสรุปบทเรียนสิทธิชุมชน-ปัญหาที่ดิน ป่าไม้

เครือข่ายทรัพยากรฯ ลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน อำเภอเวียงแหง เตรียมจัดงานมหกรรมเสียงจากคนต้นน้ำแตง หลังจากชาวบ้านลุกขึ้นมาจัดการดิน น้ำ ป่าด้วยตัวเอง โดยมีหน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน คอยหนุนเสริม เน้นย้ำให้ชาวบ้านเรียนรู้จัดการปฏิรูปทรัพยากร ตั้งแต่ฐานราก เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายต่อไป
 
 
 
 
สืบเนื่องมาจาก เมื่อระยะเวลา 5-10 ปีที่ผ่านมา ฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ในพื้นที่อำเภอเวียงแหงนั้นเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว หลายพื้นที่พบว่า ดินเสื่อม น้ำแห้ง ป่าหาย ซึ่งปัญหาและสาเหตุนั้นมาจาก ประชากรเพิ่มขึ้น อีกทั้งชุดความคิดในวิถีชีวิต และฐานการผลิตการทำเกษตรกรรมของผู้คนในเวียงแหงเริ่มเปลี่ยนไปนั่นเอง      
 
อิสรภาพ คารมณ์กุล ผู้ประสานงาน เครือข่ายทรัพยากรฯ ลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน กล่าวว่า เมื่อก่อนธรรมชาติเวียงแหงนั้นอุดมสมบูรณ์มาก ป่าก็มาก น้ำก็เยอะ น้ำแตงจะไหลนองทุกปี นั่นเป็นตัวชี้วัดเรื่องความอุดมสมบูรณ์เรื่องป่าเรื่องฝน พอมาระยะหลัง ๆ มานี้ฝนน้อย น้ำแตงก็ไม่นองแล้ว จะเห็นได้ว่าการใช้น้ำจากลำน้ำลำห้วยเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าเมื่อก่อนเราใช้น้ำเพาะปลูกหอม ปลูกกระเทียมกันเป็นพืชหลัก มาถึงตอนนี้ก็มีเกษตรกรหลายราย เริ่มปรับเปลี่ยนมาปลูกส้มเขียวหวาน ทำให้ใช้น้ำมากกว่าเดิม นอกจากนั้น ยังมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวกันมากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพด ซึ่งทำให้เราเห็นว่า มันทำให้มีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้นแบบถล่มทลาย ไม่บันยะบันยัง มีการแผ้วถางป่าเพื่อขายบ้างก็มี อีกทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก่อนหน้านั้น ยังเอื้อ หลับหูหลับตา ทำให้มีการบุกรุกป่า ไม่มีใครยับยั้งได้ เพราะว่าได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหานี้มากขึ้นกว่าเดิมอีก                   
 
อนุสรณ์ คำอ้าย นายก อบต.เปียงหลวง กล่าวว่า เมื่อปัญหามันเกิดขึ้นแล้ว เราก็ต้องคิดเรื่องของทรัพยากรน้ำด้วย คิดถึงทรัพยากรป่าไม้ด้วย ถ้าน้ำไม่มี เนื่องจากป่าหาย ต้องย้อนไปว่าเราจะทำอย่างไรให้ป่าคืนมา เราต้องทำเรื่องป่า ให้มันมีน้ำ แล้วเราจะอยู่รอด ถ้าถามว่าวันนี้หากน้ำแห้งเราจะอยู่รอดได้หรือไม่ ไม่เลย ไม่มีทางที่จะอยู่รอด
 
ในขณะ สมพงษ์ ปละทองคำ หัวหน้าหน่วยจุดสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติผาแดง กล่าวว่า พอเข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่เวียงแหง ก็เห็นชัดเลยว่า ในช่วงหลังมีการบุกรุกป่าไปเยอะแล้ว ป่าลดลง ถูกแผ้วถางมากขึ้น ถูกบุกรุกทำลาย มีการเข้าไปใช้ประโยชน์มากขึ้น คือเข้าไปครอบครองพื้นที่ป่ามากขึ้นแล้ว                    
 
หากเราย้อนกลับไปในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่า ปัญหากรณีพิพาทเรื่องป่าไม้และการใช้ที่ดินในพื้นที่อำเภอเวียงแหงก็เริ่มขัดแย้งรุนแรงกันมากขึ้นตามลำดับ มีคดีความการจับกุมชาวบ้านที่บุกรุกพื้นที่ป่ากันถี่ขึ้น รวมทั้งเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับป่า ระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ ดังที่เป็นข่าวพาดหัวตามสื่อต่างๆ กันเป็นระยะๆ จากปัญหาดังกล่าว
 
ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ประธานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อำเภอเวียงแหง กล่าวว่า จะเห็นว่า ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดนรุกล้ำเยอะมาก ถ้าเราคนเวียงแหง ไม่ลุกขึ้นมาจัดการอะไรสักอย่าง มันจะลุกลามไปเยอะ ถ้าเราไม่อนุรักษ์หวงแหนไว้ บางจุดเป็นต้นน้ำ ตรงหัวขุนน้ำแม่แตง เริ่มโดนรุกล้ำเยอะแล้ว จนเดี๋ยวนี้เกิดภาวะแล้ง นั่นทำให้เราต้องฟื้นเครือข่ายลุ่มน้ำแม่แตงตอนบนนี้ขึ้นมา โดยเป้าหมายของเรา ก็คือให้ได้ทั้งสองอย่าง หนึ่ง คือพี่น้องประชาชนมั่นใจในผืนดินที่เขาทำกิน สอง คือสร้างความเข้าใจร่วมกัน ให้พี่น้องช่วยกันรักษาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้อยู่กับเราอย่างยั่งยืนถึงลูกถึงหลานเราต่อไป      
                               
“แน่นอน เมื่อชาวบ้านมีการบุกรุกพื้นที่ป่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ต้องปิดล้อม ไล่จับ และเป็นคดีความส่งฟ้องต่อศาลกันหลายแปลงหลายราย จนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านกันมากขึ้น ตราบใดที่เจ้าหน้าที่ อุทยาน ป่าไม้ ตำรวจ ทหาร จะทำงานแบบแมวจับหนู ยังไงผมก็ว่าไม่ยั่งยืน คนที่จับก็รอจับ คนที่จะขโมยก็รอขโมย ซึ่งไม่มีวันจบ พี่น้องชาวบ้านก็หลบ ๆ ซ่อน ๆ ทำกันอยู่ตลอด เจ้าหน้าที่ก็คอยจะจับ แต่ถ้าเรามาใช้ความคิดร่วมกัน แล้วมาทำงานด้วยกันจะดีกว่า” ประธานเครือข่ายฯ บอกเล่า                                    
 
จนทำให้คนเวียงแหง หันมาจับมือกัน ร่วมพลิกฟื้น “เครือข่ายทรัพยากรฯ ลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน” กันขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันอีกครั้ง โดยการขับเคลื่อนของเครือข่ายฯ ในรอบปีที่ผ่านมา มีการจับมือกับหลายๆ ฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในแต่ละพื้นที่ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(ภาคเหนือ) มีการลงพื้นที่เพื่อทำการประชุมสร้างความเข้าใจในระดับหมู่บ้าน มีการประมวลองค์ความรู้ โดยเอาข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน การขับเคลื่อนชุมชน องค์ความรู้ในอดีต มาผสานกับเทคนิค เครื่องมือที่ใช้ในการสร้างการเรียนรู้แบบใหม่ เรียนรู้เทคนิคการใช้ GPS วัดแนวเขต สำรวจรายแปลง มีการจัดทำฐานข้อมูล รวมไปถึงการคืนข้อมูล ซึ่งได้รับความร่วมมือกับทุกฝ่ายเป็นอย่างดี โดยเฉพาะมีการบล็อกพื้นที่ป่าเอาไว้ได้ชัดเจน จนทำให้การบุกรุกพื้นที่ป่าในรอบปีที่ผ่านมาลดลงอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งในบางชุมชนหมู่บ้าน ยังยินยอมพร้อมใจกันคืนพื้นที่ให้กับรัฐได้อีกจำนวนหลายแปลงด้วย ซึ่งเป็นที่ยินดีและพอใจกันทุกฝ่าย ทั้งชุมชน เครือข่าย ทั้งภาครัฐ เมื่อวันเวลาผ่านไปในรอบหนึ่งปี หลังจากที่เครือข่าย และเจ้าหน้าที่รัฐ ร่วมกันสำรวจแนวเขต มีการบล็อกพื้นที่ ทำให้ปัญหาที่เคยมีมานานเริ่มคลี่คลายลงอย่างเห็นเด่นชัด                                      
สมพงษ์ ปละทองคำ หัวหน้าหน่วยสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าปัญหาการบุกรุกป่าลดลง ในระยะเวลา 1 ปี หลังจากที่ทุกฝ่ายไปช่วยกันบล็อกพื้นที่ มันไปตอบโจทย์บางตัวของคำสั่งของรัฐบาลได้ คำสั่งของกระทรวงได้ คำสั่งของอธิบดีได้ ว่ากระบวนการทำงานของเครือข่ายฯ ร่วมกับรัฐ มันสามารถจะหยุดยั้งได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นชุมชนเองก็ต้องเข้มแข็ง ชุมชนเองจะต้องช่วยกัน
 
“ฉะนั้น ชาวบ้านกับรัฐต้องร่วมกันหาจุดแกนกลางให้ได้ หาจุดที่ไปด้วยกันให้ได้ รัฐมาครึ่ง ชาวบ้านมาครึ่ง มาเจอกันตรงกลางแล้วเดินไปด้วยกัน รัฐนี้ไม่ได้หมายถึงกรมอุทยานอย่างเดียวนะ แต่รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ด้วย แต่หน่วยงานอื่นอาจจะเสริมเข้ามา หนุนเข้ามา เพื่อไปหาเป้าหมายให้ได้”                                          
 
ในขณะ อิสรภาพ คารมณ์กุล ผู้ประสานเครือข่ายฯ ก็มีความมุ่งหวังไว้ว่า หลังจากที่มีการจัดการที่ดินให้กับชาวบ้านได้เรียบร้อยแล้ว จนทุกคนสามารถมีความมั่นคงในที่ดินทำกินแล้ว กิจกรรมที่ทางเครือข่ายฯ อยากทำต่อไป นั่นคือการไปหนุนเสริม ในเรื่องของการส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านให้มีวิถีความเป็นอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป         
 
“คือถ้าทุกอย่างลงตัว มีความพร้อม หลังจากที่เราทำข้อมูลที่ดินเรียบร้อยแล้ว มีความมั่นคงในระดับหนึ่งในเรื่องของสิทธิที่จะทำกิน ณ ที่ดินที่ออกสำรวจ ทางเครือข่ายฯ ก็อยากมาสนับสนุนในเรื่องของอาชีพให้กับพี่น้องชาวบ้าน เราก็จะมาหนุนเสริมในเรื่องการยกร่างโครงการพัฒนาส่งเสริมอาชีพ โดยอาจจะเสนอโครงการไปยังองค์กรหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะทางเกษตร พัฒนาชุมชนก็ต้องมาสนับสนุนในเรื่องพวกนี้ เพราะที่ผ่านมา ทางเครือข่ายฯ ก็ได้ประชุมกันคุยกันแล้วว่า หลังจากเรื่องที่ดินจบแล้ว เราจะเข้าไปในเน้นในเรื่องของระบบฐานการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เข้าไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย หรือไม้ยืนต้น และไม่ใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกเยอะ อีกทั้งหาอาชีพอื่นที่ไม่ต้องใช้สารเคมี ซึ่งถ้าเราหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการประกอบอาชีพกันใหม่แบบนี้ เรื่องของป่าเคยถูกทำลาย การฟื้นป่า มันก็จะฟื้นกลายเป็นป่าโดยอัตโนมัติเองแหละ” ผู้ประสานเครือข่ายฯ บอกเล่า
 
ทั้งนี้ ในระหว่าง วันที่ 24 - 25 เมษายน 2559 นี้ เครือข่ายทรัพยากรฯ ลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน อำเภอเวียงแหง ได้จัดงานมหกรรมเสียงจากคนต้นน้ำแตง ขึ้น ณ บริเวณสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ โดยภายในงาน จะมีการจัดกิจกรรมของเครือข่ายหลากหลายกิจกรรมด้วยกัน ซึ่งมีทั้งกิจกรรมรื่นเริง เช่น คอนเสิร์ตเพื่อผืนป่าต้นน้ำแม่แตงตอนบน แล้ว ยังมีงานถอดองค์ความรู้ เช่น การจัดนิทรรศการกิจกรรมของเครือข่ายฯ และมีวงเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “การเติมเต็มสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า” โดยมี เครือข่ายทรัพยากรฯลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตัวแทนสภาองค์กรชุมชน อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทสม.) และนักพัฒนาเอกชน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน แล้วยังมีนำเสนอวีดีทัศน์“เหลียวหลัง แลหน้า สร้างพลังข้อมูล ปฏิรูปฐานทรัพยากร” ให้ได้ชมภายในงานกันอีกด้วย
 
นุจิรัตน์ ปิวคำ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(ภาคเหนือ) หนึ่งในคณะทำงาน เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน กล่าวว่า ภายในงานครั้งนี้ ยังมีวงเสวนา แลกเปลี่ยนความเห็นต่อบทเรียน ประสบการณ์ สู่แนวทางใหม่ของการจัดการแก้ไขปัญหาป่าไม้ –ที่ดินโดย อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมไปถึงการจัดวงเสวนาเรื่อง “ข้อเสนอ สิ่งที่ท้าทายจากบทเรียนชาวบ้าน สู่การปฏิรูปทรัพยากร ฐานราก สู่การเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย” โดย นายอำเภอเวียงแหง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เชียงใหม่ ผู้แทน กองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ผู้แทนท้องถิ่น 3 ตำบล อำเภอเวียงแหง ผู้แทนสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 ผู้แทนอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ผู้แทนอุทยานแห่งชาติผาแดง ผู้แทนเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ผู้แทนภาคีเครือข่าย ภาคเหนือ                                                                    
“ที่น่าสนใจอีกกิจกรรมหนึ่งในงานมหกรรมเสียงจากคนต้นน้ำแตง ก็คือ มีการจัดพิธีลงนามสนับสนุนสิทธิชุมชนกับการขับเคลื่อนการจัดการทรัพยากรฯ เพื่อสร้างธรรมนูญระดับตำบล และมีพิธีมอบ หนังสือทะเบียนประวัติการใช้ประโยชน์ที่ดินตำบลเปียงหลวง โดย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเปียงหลวง พิธีมอบบัตรประจำตัวทสม. อำเภอเวียงแหง โดย ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่”
 
ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ประธานเครือข่ายทรัพยากรฯ ลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน กล่าวว่า งานมหกรรมเสียงจากคนต้นน้ำแตงในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นงานเปิดตัวเครือข่ายฯ เพราะที่เราได้ทำกันทุกวันนี้ บางครั้งพี่น้องในชุมชนเวียงแหงก็ไม่รู้ว่าเราทำอะไร แต่คนที่ได้เข้ามาใกล้ๆ ก็รู้บ้าง ก็เลยอยากขยายองค์ความรู้ไปถึงพี่น้องประชาชน โดยไฮไลต์ของงาน นั่นคือการทำทะเบียนประวัติการใช้พื้นที่ และถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของเครือข่าย แล้วถัดไป หลังจากงานนี้ พี่น้องที่ได้ใบนี้ไปอวดพี่อวดน้องแล้ว ผมเชื่อว่าการทำงานของเครือข่ายก็จะง่ายขึ้นอีกครับ”
 
และในตอนท้ายของกิจกรรม ยังมีการร่วมกันประกาศธรรมนูญตำบล ขับเคลื่อนสู่ข้อเสนอทางนโยบายและกฎหมาย เกี่ยวกับสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดย เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอเวียงแหง ซึ่งถือเป็นสรุปบทเรียนการทำงานของเครือข่ายฯ ที่ชัดเจน ประสบผลสำเร็จ และสามารถมองเห็นทิศทางข้างหน้าของการดูแลฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่าของเวียงแหงกันต่อไป
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท