เกย์ กองทัพ กับความจริงที่อัปลักษณ์..... จริงหรือ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

หลังจากที่ผมได้อ่านบทความเรื่อง เกย์ กองทัพ กับความจริงที่อัปลักษณ์ โดย ดร.ปวิน ชัชวาลย์พงศ์พันธ์ ในประชาไทเมื่อวันเสาร์ ผมมีความรู้สึกว่าวาทกรรมทางเพศที่ถูกนำมาใช้ให้เป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยบทความนั้นสมควรที่จะมีการวิพากษ์กันในกลุ่มผู้สนใจด้านการเมือง สังคม และ อัตตลักษณ์ทางเพศ ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเหล่านี้สามารถนำไปสู่ข้อวิพากษ์เรื่องบทบาททางสังคมของกองทัพไทยในสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี

การเปิดประเด็นโดยการกล่าวถึงการซ่อนนัยแห่งเพศไม่ว่าจะเป็น ในความเป็นใหญ่แห่งชาย การจับอวัยวะเพศหรือเปิดเผยในจุดซ่อนเร้นของชาย รวมไปถึง การใช้เรื่องข่าวลือด้านการเป็นชายรักร่วมเพศของผู้นำในกองทัพตามที่ ดร.ปวิน กล่าวในบทความนั้น ไม่สามารถสร้างจุดโต้แย้งที่บอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ ‘น่าอัปลักษณ์’ ในกองทัพไทย ผมคิดว่านักสังคมศาสตร์หรือผู้ที่ศึกษาวิจัยสังคมทั้งในเชิงรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือ ภูมิศาสตร์ ย่อมเข้าใจถึงความสำคัญของ “พื้นที่” อันมีนัยต่อเพศวิถีในแต่ละชุมชนและสังคม (Low, 2006) ในแต่ละพื้นทีนั้น วัตถุ บุคคล ความคิดล้วนมีความเกี่ยวข้องกัน ที่สำคัญ หากเราเพิ่มตัวแปร “เวลา” และ “ความคิด” เข้าไป เราจะยิ่งเห็นมิติแห่งความสัมพันธ์ระหว่างเพศสภาพกับพื้นที่ (Fenster, 2004) การตีขลุมในบทความของ ดร. ปวินที่ว่า การล้อเลียนผู้ชายที่มีอัตตลักษณ์ไม่ตรงกับเพศในการเกณฑ์ทหาร หรือการใช้ประเด็นความคิดที่ว่าเพราะการไม่ใช่ชายแท้จึงไม่สมควรเป็นทหาร มาวิเคราะห์นั้น ผมมองว่าเป็นการมองแบบตื้นเขินเพียงด้านเดียว

ประเด็นแรก ในพื้นที่ที่มีความเป็นชายสูง (ทั้งในเชิงจำนวนปริมาณของเพศชาย และ การมีวัฒนธรรมแบบชาย) เช่น กองทัพ วัดในแทบจะทุกศาสนา เหมืองแร่ เวทีมวย หรือ สนามฟุตบอลนั้น ย่อมมีวิถีในการปฏิบัติเพื่อปกป้องวิถีแห่งชาย ดังนั้นความแตกต่างทั้งในเชิงความคิดและการปฏิบัตที่มีผลกระทบต่อวิถีที่เป็นมาแห่งชาย เช่น การมีผู้ชายกระตุ้งกระติ้งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสถาบันนั้น หรือ การมีจำนวนของเพศหญิงเข้ามาป้วนเปี้ยนในพื้นที่แห่งเพศชาย ย่อมส่งผลสะเทือนต่อเพศชายในพื้นที่เช่นกองทัพ ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าจะเข้าใจได้ไม่ยากนัก หากใจเราปราศจากโมหาคติหรือโทสาคติ

โดยนัยนะ หากเราเปลี่ยนสมการนี้ด้วยคำว่าหญิง แล้วนึกถึงพื้นที่ที่มีความเป็นวิถีแห่งหญิงสูง เช่น เวทีนางงาม โรงเรียนฝึกพยาบาล หรือ ห้องครัว เราก็จะมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่กับเพศเช่นเดียวกัน ซึ่งความเข้าใจทางสังคมศาสตร์ทำให้เราเข้าใจได้ว่ามันไม่ใช่ ‘ความอัปลักษณ์’

ประเด็นที่สอง การเข้ามามีบทบาททางการเมือง (หรือการยึดอำนาจโดยทหาร) นั้น ไม่มีความสัมพันธ์กับเรื่องการเหยียดเพศหรือการตีขลุมโดย ดร.ปวินที่ว่า “ไม่มีใครแก้ไขปัญหาทางการเมืองไทยได้ นอกจากชายชาติทหารที่พร้อมทำงานหนักเพื่อผลประโยชน์ของชาติเท่านั้น” ก็เป็นการสร้างประเด็นที่ไม่เข้มแข็งนัก ในการยึดอำนาจโดยกองทัพไม่ว่าจะครั้งนี้หรือครั้งที่ผ่านมาในอดีต เราจะได้ยินวาทกรรมทำเพื่อชาติ หรือ การสร้างความสงบสุข มากกว่าการกล่าวอ้างความเป้นชาย หรือ ความเข้มแข็ง ที่สำคัญการให้มีทหารหญิงมามีส่วนร่วมมากขึ้นในการยึดอำนาจแต่ละครั้ง นับว่า สถาบันที่มีพื้นที่ความเป็นชายสูงยังเข้าใจความเปลี่ยนไปของดลกในมิติทางเพศพอสมควร

ประการสุดท้าย การกล่าวถึงในเชิงเปรียบเทียบระหว่างกองทัพสหรัฐอเมริกาและไทย โดยมีนัยว่า มีการยอมรับของเกย์ในกองทัพพอเมริกามากกว่าไทย ผมมองว่าการยอมรับในบริบทของ gay civil rights อาจจะเป็นสิ่งที่ตรงประเด็นมากกว่า ดร ปวินก็คงจะทราบถึงความขมขื่นใจของทหารเกย์ในอเมริกากับนโยบาย Don’t ask Don’t tell ที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่รุ่นนายคลินตันและเพิ่งจะเลิกไปไม่นาน ในสังคมไทยเรานั้นความประนีประนอมมีนัยสำคัญอย่างชัดเจนหากเรานำแนวคิดทางสังคมศาสตร์ของงานวิจัยใหญ่ๆเช่น GLOBE Study (Houe et al, 2004) มาศึกษา ดังนั้น ความประนีประนอมระหว่าง ชาย กับ รักร่วมเพศในกองทัพไทยในพื้นที่ที่ชายเป็นใหญ่ เช่น กองทัพ วัด หรือ สำนักบวชต่างๆในเมืองไทยจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เช่นกัน

เราควรเข้าใจว่าเพศสภาพเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นและหล่อหลอมด้วยปัจจัยทางสังคมอันหลากหลาย แน่นอนครับ พื้นที่ และ เวลา (หรือในนัยแบบไทยคือกาละ เทศะ)  มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ต่อความเข้าใจในบริบทความสำคัญและความเปลี่ยนแปลงของเพศสภาพ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างเพศสภาพในกองทัพที่น่าจะมีผลต่อนัยทางการเมืองจึงเป็นสิ่งที่นักวิชาการทางสังคมศาสตร์หลากแขนงควรถกกันเพื่อความงอกงามทางปัญญา

 

อ้างอิง
Fenster, T. (2004). The Global City and the Holy City: Narratives on Planning, Knowledge and Diversity. London: Prentice Hall.
House, R., Hanges, P., Javidan, M., Dorfman, P., and Gupta, V. (2004), Culture, Leadership, and Organizations: The GLOBE Study of 62 Societies. London: Sage Publishing.
Low, M. (2006). The social construction of space and gender, European Journal of Women’s Studies, Vol. 13, No. 2, pp. 119-133. 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: รศ.ดร. ณัฐวุฒิ พิมพา เป็นอาจารย์และนักวิจัยด้านการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ ณ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที (Royal Melbourne Institute of Technology) ประเทศออสเตรเลีย โดยเน้นงานวิจัยเรื่องธุรกิจระหว่างประเทศและความเสมอภาคระหว่างชายและหญิงในออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท