วิพากษ์การศึกษาฉบับซอสพริก โดย พริษฐ์ ชิวารักษ์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


อ่านข่าวที่ มติชน

วานนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินท่านหนึ่งที่มีชื่อพ้องกับยี่ห้อซอสพริกยี่ห้อดังได้เผยว่าจะเสนอให้คุณลุงนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา 15 ฉบับเพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษา (จะได้เหรอวะ) ทั้งนี้ในเนื้อข่าวจากมติชนมีประเด็นที่น่าสนใจหลายข้อด้วยกัน ผมจึงจับประเด็นและอยากชวนทุกคน "คิดเล่นเห็นต่าง" กับ ฯพณฯ ศาสตราจารย์ซอสพริกทีละประเด็น ดังนี้

1.ข้อเสนอให้เด็กเข้าเรียนตั้งแต่อายุ 3 ขวบ แทนที่จะให้นั่งเล่นอยู่บ้านเฉยๆ เพราะเด็กเล็กเรียนรู้ได้ดีที่สุด
เพนกวิน:  การเรียนรู้ของเด็กเล็กรวดเร็วจริงครับ แต่การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยไม่ใช่การเรียน "ความรู้" เหมือนนักเรียนชั้นประถมและมัธยม แต่คือการส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่างๆ ให้เป็นไปตามวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอารมณ์ ซึ่งพัฒนาการทางอารมณ์นั้น ครอบครัวควรมีบทบาทในการฟูมฟักทะนุถนอม ให้ความรักและให้ทดลองเรียนรู้ไปตามวัย ดังนั้น เด็ก 3 ขวบควรนั่งเล่นอยู่ที่บ้านถูกแล้วครับ แม้การศึกษาชั้นอนุบาลเองถ้าครอบครัวสามารถดูแลเองได้ ครอบครัวก็ควรมีบทบาทในการจัดการศึกษา โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กควรเป็นเพียงทางเลือกสำหรับพ่อแม่เท่านั้น ถ้ารัฐจะสนับสนุนก็ควรสนับสนุนให้พ่อแม่ได้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิดมากกว่า

2.ลดการศึกษาภาคบังคับจาก ม.ต้น เหลือเพียงประถมศึกษา
เพนกวิน:  ระดับของการศึกษาภาคบังคับเป็นการบ่งบอกว่ารัฐต้องการประชากรที่มีความรู้ในระดับไหนในสังคม หากร่นลงเพียงระดับประถม เท่ากับรัฐจะป่าวประกาศว่า ต่อแต่นี้คนไทยมีความรู้เพียง ป.6 ก็พอแล้ว ความรู้ระดับนี้เพียงพอจริงหรือ จริงอยู่ที่ท่านบอกว่าจำนวนปีไม่เท่ากับคุณภาพ แต่เท่าที่ทราบมา ยังไม่มีที่ใดที่สามารถบรรจุความรู้และทักษะพื้นฐานให้จบภายในประถมศึกษาได้ และยิ่งคุณภาพของการศึกษาไทยย่ำแย่อยู่แล้ว การลดปริมาณก็จะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงอีก

3. ไม่กังวลว่าเด็กจะตกหล่นจากระบบการศึกษากลางคัน เพราะพ่อแม่คงจะส่งลูกเรียนต่ออยู่แล้ว
เพนกวิน:  ท่านเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเป็นที่รับเรื่องราวความทุกข์ร้อนของประชาชน ท่านไม่เคยทราบเลยหรือครับว่าประเทศของเรามีเด็กชายขอบที่ต้องออกจากการศึกษากลางคันเป็นจำนวนมาก นักเรียนไทยเกือบ 60% ในแต่ละรุ่น (สามล้านกว่าคน) เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.ต้น) ก็จะตกหล่นออกไปจากระบบการศึกษาทั้งที่ยังมีโครงการเรียนฟรี 12 ปี (และ 15 ปี) ที่ครอบคลุม ม.ปลายอยู่ ก็เพราะผู้ปกครองจำต้องให้นักเรียนลาออกมาช่วยหาเลี้ยงครอบครัว เด็กเหล่านี้ เชื่อว่าหากการศึกษาภาคบังคับร่นลงมาแค่ ป.6 ก็คงจะได้เรียนเพียงเท่านั้น

กรณีเช่นนี้ไม่อาจจะโทษความยากจนข้นแค้นของผู้ปกครองได้เพียงฝ่ายเดียว แต่ควรจะตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดรัฐจึงไม่สามารถสร้างกลไกช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ให้เรียนต่อไปได้

4. ข้อเสนอให้นักเรียนเลือกสายการเรียนตั้งแต่ ม.1
เพนกวิน:  การให้นักเรียนได้เลือกเรียนตามความสนใจเป็นสิ่งที่ดี แต่จะต้องตั้งอยู่ในเงื่อนไขว่านักเรียนได้รู้จักศาสตร์แขนงต่างๆ ได้เป็นอย่างดี รวมถึงนักเรียนจะต้องรู้จักตัวเองมากพอจนเข้าใจว่าตนต้องการอะไร ท่านผู้ตรวจการคิดว่าระบบการศึกษาไทยในระดับประถมศึกษามีความพร้อมที่จะทำให้นักเรียนรู้จักสาขาวิชาต่างๆ อย่างครบถ้วนหรือยัง และระบบแนะแนวทำให้เด็กมีความใฝ่ฝันมากพอแล้วหรือยัง หากยัง การผลีผลามตามข้อเสนอของท่านจะไม่ใช่การเปิดโอกาสให้เด็กเลือกอย่างเสรี แต่จะเป็นการเอาผ้าผูกตาแล้วให้เด็กคว้าเอาสายการเรียนสายใดสายหนึ่งมากำหนดชีวิตที่เหลือของตัวเองมากกว่า

5. แนวคิดให้เด็กที่มีผลการเรียนระดับชั้นประถมศึกษาต่ำกว่า 2.5 ต้องเสียค่าใช้จ่ายการศึกษาเองทั้งหมด
เพนกวิน:  ขออนุญาตแสดงความประหลาดใจแรงๆ ว่าแนวความคิดนี้ออกมาจากคนเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินจริงหรือ แนวคิดของท่านซอสพริกแสดงให้เห็นว่าท่านไม่ได้มองการศึกษาเป็นสิทธิ แต่เป็น “การปรนเปรอ” น่าเกลียดยิ่งกว่าร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับคุณปู่มีชัยที่มองการศึกษาเป็น “การสงเคราะห์” เสียอีก ยิ่งสะท้อนว่าการศึกษาเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยสำหรับคนมีเงินเท่านั้น การศึกษาจะต้องเป็นสิทธิของทุกคนถ้วนหน้า (Universal Access) ไม่ใช่การสงเคราะห์หรือทุนการศึกษาแจกเฉพาะเด็กเก่งเท่านั้น ระบบของท่านเป็นระบบกำจัดโอกาส ที่จะตัดผู้แพ้ออกจากทางเดินโดยไม่ให้โอกาสแก้ตัว ปลายทางของการศึกษาจะยิ่งตีบตันขึ้นไปอีก

การที่เด็กเกรดตกต่ำนั้น ไม่อาจจะสะท้อนศักยภาพที่แท้จริงของเด็กได้ และแม้เด็กจะเรียนอ่อนจริงๆ หน้าที่ของการศึกษาคือการช่วยเหลือให้ปรับปุรงขึ้น ไม่ใช่ไสหัวออกไปในฐานะกากเดนของการศึกษา ท่านหลงลืมมิติว่าการที่เด็กจะพัฒนาได้มากน้อยนั้น ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ (เช่น นักเรียนที่ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานหาเงินทุกวันย่อมมีเวลาทวนหนังสือน้อยกว่าคนอื่น) ดังนั้น การตัดสวัสดิการของเด็กเหล่านี้ นอกจากจะไม่ช่วยกระตุ้นเด็กให้พัฒนาได้แล้ว ยังจะทำให้การพัฒนาตัวเองยากลำบากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเด็กจะต้องห่วงหน้าพะวงหลังกับเรื่องเงินๆ ทองๆ มากขึ้น หรืออาจต้องออกจากระบบไปกลางคันเลยก็ได้

สุดท้าย ฯพณฯ ผู้ตรวจการยังกล่าวว่า

“ข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินทั้งหมด ไม่ถือว่าใจร้ายเกินไป เพราะหลายประเทศทั้งสิงคโปร์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย ก็ทำแบบนี้”

อยากจะขอชี้แจงว่า ทั้ง 3 ประเทศที่กล่าวมาล้วนแต่จัดสวัสดิการเรียนฟรีครอบคลุมถึง ม.ปลาย ทั้งสิ้น ขอให้ทุกท่านร่วมกันพิจารณา ว่าข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน โหดร้ายหรือไม่ อย่างไร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท