ที่ประชุม สนช.รับหลักการแก้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพิ่มโทษ-ฐานความผิด

28 เม.ย.2559 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ 160 เสียง ต่อ 0 งดออกเสียง 3 เสียง รับหลักการในวาระที่ 1 ของร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 15 คน มีกรอบระยะเวลาในการทำงาน 60 วันก่อนส่งกลับมาให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบในวาระ 2 และ 3 ต่อไป

ดาวน์โหลดร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ http://library.senate.go.th/document/mSubject/Ext52/52708_0001.PDF

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวถึงเนื้อหาที่แก้ไขเพิ่มเติมในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า มีทั้งสิ้น 19 มาตรา โดยเพิ่มโทษและกำหนดโทษบทลงโทษใหม่ อาทิ

- การเพิ่มเติมฐานความผิดและกำหนดโทษผู้ที่ส่งข้อมูลหรืออีเมลแก่บุคคลอื่น จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือรำคาญ

-การกำหนดโทษกระทำความผิดให้หนักขึ้นและเพิ่มเติมฐานความผิดแก่ผู้ที่นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยทุจริตหรือหลอกลวง

-การเพิ่มโทษผู้นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์หรือเผยแพร่ ส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จ ที่อาจเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ สาธารณะ และเศรษฐกิจ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
-แก้ไขเพิ่มเติมโทษผู้ให้บริการที่ให้ความร่วมมือ หรือรู้เห็นให้มีการกระทำผิดในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน 

-เพิ่มบทลงโทษแก่ผู้นำภาพของผู้อื่นที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ หรือดัดแปลงด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการเข้าสู่ระบบ ที่ทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรืออับอาย

“ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการที่มีอำนาจเปรียบเทียบความผิดตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จำนวน 3 คน โดย 1 ในนั้นจะต้องเป็นเจ้าพนักงานสอบสวน ซึ่งคณะกรรมการนี้จะมีอำนาจสั่งปรับได้ โดยไม่ต้องนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล และถือเป็นที่สิ้นสุด สำหรับโทษผู้ฝ่าฝืนตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 20 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 – 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เช่น หากกระทำความผิด ต่อข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงของประเทศ จะรับโทษจำคุก 3-5 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000 ถึง 300,000 แต่หากกระทำความผิดจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุก 5-20 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท ตามลักษณะฐานความผิดในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้” อุตตม กล่าว

โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ สมาชิก สนช. อภิปรายตั้งข้อสังเกตว่า มาตรา 15 ที่ให้รัฐมนตรีออกประกาศขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ หากผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่า ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรี ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษนั้น เห็นว่าควรเป็นกระบวนการพิจารณาทางศาลเท่านั้น เพื่อความรอบคอบ และเป็นสากล เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ต้องมีความน่าเชื่อถือ

สุรางคณา วายุภาพ สมาชิก สนช. มีความกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิ เพราะการแก้ไขเนื้อหาที่ให้มีคณะกรรมการ อาจสุ่มเสี่ยงเรื่องการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รวมถึงการตีความจะก้าวล่วงอำนาจศาลหรือไม่

วรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิก สนช. อภิปรายในส่วนของ มาตรา 4 ระบุว่า ที่มีการเพิ่มโทษกรณีผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่น อันเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาทนั้น ต้องมีลักษณะหรือพฤติกรรมอย่างไร การเสนอโทษปรับไว้สูงมีหลักการแนวคิดอย่างไร เพราะมีข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นการกระทำให้เกิดความรำคาญเท่านั้น ไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายมาก และกังวลว่าจะกระทบสิทธิเสรีภาพมากไปหรือไม่ บางครั้งจะตีความอย่างไรในการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เพราะระดับความรำคาญของคนไม่เท่ากัน

อุตตม กล่าวว่า สำหรับประเด็นในมาตรา 4 ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนว่าการกระทำลักษณะใดที่เข้าข่ายกระทำการก่อความรำคาญต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย และโพสต์ทูเดย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท