Skip to main content
sharethis

29 เม.ย.2559  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกระแสการต่อต้านรัฐธรรมนูญ โดยมีการชักชวนให้โหวตโนว่าเรื่องนี้จะห่วงหรือไม่ มีกฎหมายอยู่แล้ว และจากการที่ห่วงนี้ถึงมีกฎหมายออกมา อย่ามาบอกว่าเป็นการแสดงความคิดเห็น ถามว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและบิดเบือนหรือไม่ ถ้าเอารัฐธรรมนูญทั้งฉบับออกมาคลี่ดู จะเห็นว่าส่วนไหนที่ทำเพื่อส่วนรวม และส่วนไหนที่เป็นการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ ที่จะต้องคุ้มครองบ้านเมืองให้ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ต้องไปดูตรงนั้น อย่ามาบอกว่ารับหรือไม่รับ มันไม่ใช่

“ถ้าเป็นห่วงก็หยุดการเคลื่อนไหว บอกเขาอย่างนี้ ผมบอกแล้วให้ชี้แจงในทางสร้างสรรค์ได้ ไม่ใช่มาล้มรัฐธรรมนูญ มันผิดกฎหมาย และคนพูดก็จะโดนด้วย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
 
ต่อกรณีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด อย่างเช่นการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มันมีกฎหมายหลายฉบับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เขาเขียนมาอย่างไร พ.ร.บ.ประชามติ เขียนอย่างไร คำว่าโดยสุจริต และไม่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง ถ้าบิดเบือนก็ผิด ไม่บิดเบือนก็ไม่ผิด คำง่ายๆ ทำไมไม่เข้าใจ แล้วอย่างนี้จะปกครองบ้านเมืองต่อไปกันอย่างไร ไม่ต้องมาตีความกฎหมาย ที่ผ่านมาทะเลาะกันเพราะตีความรัฐธรรมนูญ ตีกันอยู่นั่น อันนี้เดี๋ยวก็ตีกันอีก ตีความรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วก็ตีความรัฐธรรมนูญเข้าข้างตัวเอง ที่ผ่านมาตีความกันได้มาก เพราะไม่มีกฎหมายลูก แต่วันนี้รัฐธรรมนูญจะมีกฎหมายลูกตามมาทั้งหมด
 
“ถ้าเป็นคนดีจะกลัวอะไร กลัวตำรวจจับเหรอ คุณกลัวไหม ถ้าคุณไม่ทำความผิดก็ไม่ต้องกลัว จะไปขยายเป็นปากเป็นเสียงให้คนที่ชอบทำความผิดทำไม แล้วคุณไม่รู้เหรอเขาทำอะไรมาบ้าง รู้ไหม” นายกฯ กล่าว
 
ต่อคำถามถึงกรณีที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอ ถ้ายังเกิดความวุ่นวายช่วงทำประชามติ อาจเสนอให้ไม่ต้องทำประชามติ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าอย่างไร พูดส่งเดชกันไปเรื่อย สื่อก็ขยายความกันไป เขาเจตนาดี ตนไม่ได้ว่าเขาพูดส่งเดช แต่ต้องดูว่ารัฐธรรมนูญเขียนอย่างไร ถ้าไม่มีการทำประชามติมันจะเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่ได้อีก แล้วจะไปทางไหนกันคิดว่าทางกรธ. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประชาชนก็มีเจตนาดี และที่มาพูดกันทุกวัน เชื่อว่าทุกคนมีเจตนาดี มีบางคนเท่านั้นที่เจตนาไม่ดี นั่นแหละกฎหมายเขียนไว้ตรงนี้ ถ้าดีแล้วใครจะไปทำอะไร ก็เชิญเป็นกันต่อไปได้ ถ้าไม่ผิดกฎหมาย
 
กรณีกลุ่มเห็นต่างเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญโดยไม่เห็นด้วย นั้น  พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้าไม่เห็นด้วยก็ผิดกฎหมาย ไม่เห็นด้วยก็ไปกาตอนลงประชามติ ไม่ใช่มาเดินเคลื่อนไหวล้มไม่ล้ม มันคนละเรื่อง ถามอย่าให้งงตัวเอง ตนจะได้ตอบไม่งง เขาเขียนแล้วว่าให้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่มีใครว่า แต่ถ้าจะไปชักจูงคนมาโหวตโน หรือใส่เสื้อ ทำผิดกฎหมายก็ต้องโดนจับ ไม่ใช่ว่าตนไปปิดกั้น แล้วอีกฝ่ายทำหรือไม่ ตนเลือกปฏิบัติเหรอ วันนี้คนที่ออกมาด่าอยู่ข้างไหน ข้างใคร ตนพยายามไม่ดูฝ่ายแล้วนะ ดูใบหน้าแต่ละคนซึ่งก็หน้าเดิม ซ้ำอยู่ที่เดิม 10 ปีมาแล้ว
 
สำหรับความพยายามเรียกร้องให้นานาประเทศเข้ามาสังเกตการณ์ทำประชามติ นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่สนใจ อยากจะมาก็มา แต่ไม่เป็นทางการ ตนไม่ได้ห้าม ไปเดินดูตามจุดที่ทำประชามติว่าสุจริตหรือไม่ ตอนเลือกตั้งก็ให้เขามาดูว่าจะเป็นอย่างไร ตนไปห้ามเขาไม่ได้ ใครไปใครมาประเทศไทยห้ามไม่ได้อยู่แล้ว และวันนี้ตนห้ามเขาพูดกับสื่อเหรอ ในโทรทัศน์ก็ไม่เคยห้าม เห็นพูดกันโครมๆ ถ้าตนใช้กฎหมายจริงๆ จับได้หมดอยู่แล้ว ทำไมไม่ดูตรงนี้
 
เมื่อถามว่า ถ้านานาประเทศเข้ามาสังเกตการณ์จริงมีข้อกังวลอะไรหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่กังวล เพราะเจตนาของตนบริสุทธิ์ในการทำประชามติ แต่ใครทำให้ไม่บริสุทธิ์ ตนทำให้ประเทศของตนเอง
 

สุเทพเชื่อประยุทธ์เอาอยู่สู่ประชามติได้ คาดคนส่วนใหญ่อยากเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย

ขณะที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน กล่าวว่า หากการให้ความเห็นของตนเองและกปปส.ขัดต่อพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 พร้อมให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการตามกฎหมายได้ ขณะเดียวกันกปปส.ยินดีจะส่งตัวแทนเข้าร่วมเวทีแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านสถานีโทรทัศน์ หากได้รับเชิญจาก กกต.

“ส่วนการออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการทำงานของ คสช. รวมถึงแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดียของกลุ่มต่างๆ เชื่อว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะควบคุมสถานการณ์ต่างๆ จนนำไปสู่การทำประชามติได้ เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ประเทศเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย จึงไม่น่ากังวลถึงสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ และขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ผมไม่ขอฝากอะไรถึงนายกรัฐมนตรีเพราะให้กำลังใจมามากแล้ว” สุเทพ กล่าว
 

จตุรนต์ถามนี่หรือการลงประชามติที่ประเทศไทยต้องการ

วานนี้ (28 เม.ย.59) จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจว่า ฟังคำชี้แจงโฆษกกรธ.แล้วก็เห็นภาพชัดขึ้นว่าจะมีอาสาสมัครที่เป็นคนของทางราชการ 3 แสนกว่าคนออกชี้แจงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้มีข้อมูลว่ามีนักศึกษาวิชาทหารและบุคลากรอื่นอีกจำนวนมากก็ชี้แจงเช่นกัน ส่วนผู้ที่เห็นต่างทำอะไรได้บ้างนั้น ผู้มีอำนาจท่านว่าให้พูดกับตัวเองหรือพูดอยู่ในบ้านได้เท่านั้น

"ฝ่ายหนึ่งจะใช้คนหลายแสนโดยไม่ให้อีกฝ่ายชี้แจงอะไรได้เลย นี่หรือการลงประชามติที่ประเทศไทยต้องการ" จาตุรนต์ กล่าว

 

เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์ สำนักข่าวไทย และ แฟนเพจ Chaturon Chaisang

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net