พึงระวัง! กกต.ออก 8 ข้อห้ามโพสต์แชร์ เตือนแม้ไม่ผิดกม.ประชามติ ยังมีคำสั่ง คสช. พ.ร.บ.คอมฯ

29 เม.ย.2559 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการ กกต. กล่าวถึงผลประชุม กกต.ว่า กกต.มีมติให้ออกประกาศ กกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ จะมีผลเมื่อประกาศดังกล่าวลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว คาดว่าจะมีผลไม่เกินสัปดาห์หน้า โดยมีข้อกำหนด สิ่งที่ประชาชนทำได้ 6 ข้อ คือ 

1. ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติมให้เข้าใจอย่างครบถ้วน จากเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแสดงความคิดเห็นของตน 
2. แสดงความเห็นโดยใช้ถ้อยคำที่สุภาพ 
3. แสดงความเห็นด้วยข้อมูลที่มีความชัดเจนไม่กำกวม อันอาจทำให้บุคคลอื่นเห็นว่าเป็นการบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง 
4. การนำเสนอหรืออ้างอิงงานวิจัยตามหลักวิชาการ เพื่อประกอบการแสดงความคิดเห็นให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงบุคคลนั้น ควรตรวจสอบความถูกต้องและแสดงที่มาของงานวิจัยนั้นด้วย 
5. การสัมภาษณ์ผ่านสื่อเพื่อแสดงความคิดเห็นพร้อมเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งของตน 
6. การนำเข้าข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็นพร้อมแสดงเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งของตน ในเว็บไซต์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือการส่งต่อข้อมูลดังกล่าว โดยไม่มีการแสดงความเห็นเพิ่มเติม

รองเลขาธิการ กกต.กล่าวต่อว่า ส่วนที่ทำไม่ได้ 8 ข้อประกอบด้วย 

1. การสัมภาษณ์ผ่านสื่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงหยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ 
2. การนำเข้าข้อมูล (โพสต์) อันเป็นเท็จหรือมีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดมหรือข่มขู่ในเว็บไซต์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือส่งต่อข้อมูล (แชร์) ในลักษณะดังกล่าว 
3. การทำหรือส่งสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายอันมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงหยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่
4. การจัดเวทีสัมมนา อภิปราย โดยกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ไม่มีหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรสื่อมวลชน ตามกฎหมายเข้าร่วม และมีเจตนาเพื่อปลุกระดมทางการเมือง 
5. การชักชวนให้ใส่เสื้อ หรือติดป้าย เข็มกลัด ธง ริบบิ้น หรือเครื่องหมายที่แสดงสัญลักษณ์ความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการขายการแจกจ่ายสิ่งของดังกล่าว ในลักษณะรณรงค์ทั่วไปเพื่อนำไปสู่การปลุกระดมทางการเมือง 
6. การใช้เอกสารใบปลิวหรือแผ่นพับ ที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงหยาบคายหรือปลุกระดมทางการเมือง 
7. การรายงานข่าวหรือการจัดรายการของสื่อมวลชนที่นำไปสู่การปลุกระดมหรือสร้างความวุ่นวายในสังคม 
8. การรณรงค์เพื่อให้เกิดการคล้อยตามของคนในสังคม เพื่อให้ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง มีลักษณะการปลุกระดมหรือขัดขวางการออกเสียง

ธนิศร์ กล่าวด้วยว่า กรณีสื่อมวลชนสามารถรายงาน หรือ เสนอข่าวด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ด้วยความรับผิดชอบ เป็นกลาง คำนึงถึงความเท่าเทียมและไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งนี้ กกต.อาจจะออกประกาศเพิ่มเติม ถ้ามีกรณีใดเกิดขึ้นหลังจากนี้อีกเพื่อให้เกิดความชัดเจน กรณีการกระทำในเรื่องอื่นที่ กกต.อาจเขียนบอกว่าสามารถทำได้ การออกประกาศของ กกต.ยืนอยู่บนพื้นฐาน พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่การกระทำอาจจะผิดกฎหมายอย่างอื่น เช่น พ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ประกาศหรือคำสั่ง คสช. โดยประชาชนพึงระวังความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย ซึ่งประชาชนพบเห็นการกระทำผิดสามารถร้องพนักงานสอบสวนได้เลย ไม่ต้องร้องผ่าน กกต. และพนักงานสอบสวนจะเรียกบุคคลนั้นไปให้ปากคำ และกกต.มีดำริจะเชิญ ผบ.ตร.มาทำความเข้าใจเพื่อให้การปฏิบัติงานเรียบร้อย แต่รอให้ร่างประกาศมีผลก่อน
 

ย้ำผู้ใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด เริ่มลงทะเบียน 1 พ.ค. นี้

สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงการออกเสียงประชามติว่า ขณะนี้ กกต. ได้เตรียมความพร้อมงานในทุกๆ ด้านอย่างต่อเนื่อง นับจากได้ประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ในวันอาทิตย์ที่ 7 ส.ค.นี้ โดยเปิดทำการลงคะแนนออกเสียงตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. และในวันที่ 1 พ.ค.นี้ จะเป็นวันแรกของการเปิดให้มีการลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด

สำหรับผู้มีสิทธิที่อยู่นอกเขตออกเสียงที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงเป็นเวลาน้อยกว่า 90 วัน คือ เข้ามาอยู่หลังวันที่ 10 พ.ค. 2559 ก็สามารถออกเสียงได้โดยต้องลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด ซึ่งช่องทางการยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด สามารถยื่นคำขอได้ 3 ช่องทาง คือ

1. ยื่นด้วยตนเอง สำหรับกรุงเทพมหานคร ยื่นคำขอได้ที่สำนักงานเขต และที่ต่างจังหวัดยื่นคำขอที่สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 59 – 7 ก.ค. 59 ในวันและเวลาราชการ ทั้งนี้สามารถยื่นคำขอเป็นกลุ่มได้ โดยการมอบหมายผู้มีสิทธิอื่นยื่นแทน

2. ยื่นทางไปรษณีย์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.59 – 30 มิ.ย.59 โดยถือวันประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ

3. ยื่นผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ http://election.dopa.go.th  ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.59 – 30 มิ.ย.59 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยระบบจะปิดอัตโนมัติในเวลา 24 นาฬิกาของวันที่ 30 มิ.ย.59

“สำหรับวิธีการก็ง่ายๆ ครับ เพียงท่านเตรียมสำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนรุ่นใหม่ที่เป็น Smart Card แล้วกรอกข้อมูลหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ชื่อตัว ชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด หมายเลขหลังบัตรประจำตัวประชาชน และเลขรหัสประจำบ้าน ซึ่งจะปรากฏตัวอย่างอยู่ที่หน้าจอ เสร็จแล้วก็เลือกเขตจังหวัดที่ประสงค์จะไปใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด เมื่อข้อมูลถูกต้องครบถ้วนแล้วก็เลือกสถานที่ที่จะลงคะแนนใช้สิทธิออกเสียงเพราะบางจังหวัดอาจมีสถานที่ลงคะแนนออกเสียงหลายแห่ง และหากประสงค์ขอยกเลิกการลงทะเบียนก็สามารถกลับไปแก้ไขข้อมูลได้เช่นเดียวกัน”

สมชัย กล่าวเพิ่มเติมถึงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติจะต้องมีสัญชาติไทย  หากผู้ใดสัญชาติไทยโดยแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี มีอายุ 18 ปี บริบูรณ์ในวันออกเสียง คือผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 9 ส.ค. 2541 และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า  90 วัน คือภายในวันที่ 10 พ.ค. 2559

ที่มา เว็บไซต์ กกต. และ ไทยรัฐออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท