Skip to main content
sharethis

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือรณรงค์วันแรงงานขอรัฐรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ขอให้มีการแก้กฎกระทรวงที่ยกเว้นกลุ่มอาชีพบางกลุ่มที่ไม่ให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม ให้แรงงานทุกคนทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ขอค่าแรงขั้นต่ำ 421 บาทต่อวันทั่วประเทศ


เครือข่ายแรงงานภาคเหนือรณรงค์พร้อมยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่

2 พ.ค. 2559 ที่ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ ได้มีการรณรงค์เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติและวันแรงงานสากลโดยเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ซึ่งประกอบไปด้วย ประกอบไปด้วย มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, มูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง (EMPOWER), มูลนิธิ MPLUS, เครือข่ายปฏิบัติการผู้หญิงไทยใหญ่ (SWAN), กลุ่มพลังเยาวชนไทใหญ่ (SYP), สหพันธ์คนงานข้ามชาติ, กลุ่มแรงงานสามัคคี, สมาคมส่งเสริมสิทธิแรงงาน, สหภาพแรงงานอุตสากรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์, สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์, เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ, กลุ่มคนรับงานมาทำที่บ้าน, ละครชุมชน “กั๊บไฟ”, เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และเครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคเหนือ

โดยข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานสากลของเครือข่ายแรงงานภาคเหนือระบุว่าด้วยวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันกรรมกรสากล” ซึ่งเป็นวันที่คนทำงานทั่วโลกได้รำลึกถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมของคนทำงาน เป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของคนทำงานในทุกสาขาอาชีพ สิทธิอันชอบธรรมที่คนทำงานสมควรได้รับในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับประชาชนคนกลุ่มอื่น ๆในฐานะที่คนทำงานเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้าและทัดเทียมกับนานาประเทศ

ในโอกาสนี้ ทางเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วย องค์กรที่ทำงานด้านส่งเสริมสิทธิด้านแรงงาน กว่า 15 องค์กร นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่และตัวแทนคนงานในพื้นที่ ได้ประเมินและพิจารณาถึงสถานการณ์ด้านแรงงานภายในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่ายังมีปัญหา การละเมิดสิทธิแรงงาน ได้แก่ การจัดตั้งสหภาพแรงงานของคนงานในพื้นที่ภาคเหนือ ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคในการจัดตั้ง ไม่สามารถขยายสหภาพแรงงานให้เพิ่มขึ้นและขาดความเข้มแข็ง รวมถึงไม่ได้มีส่วนร่วมในคณะกรรมการไตรภาคีชุดต่างๆ แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด แรงงานข้ามชาติยังไม่ได้รับสิทธิตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด เช่น เวลาทำงาน วันทำงาน วันหยุด วันลา ต่าง ๆ  การทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด  ปัญหาด้านสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน ยังพบว่าเอกสารข้อแนะนำ วิธีการใช้และเก็บรักษาอุปกรณ์การทำงานและสารเคมีอันตราย การป้องกันและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ยังไม่มีการแปลเป็นภาษาของคนงาน ไม่มีการอบรมชี้แจงถึงข้อควรระวังของการใช้สารเคมีต่างๆ ให้กับคนงานได้มีความรู้และเข้าใจก่อนนำไปใช้ การเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม เนื่องจากนายจ้างไม่ได้นำลูกจ้างขึ้นทะเบียนประกันสังคม และบางส่วนมีปัญหาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ เช่น การใช้สิทธิเบิกเงินสงเคราะห์บุตร ที่มีเงื่อนไขต้องให้ข้าราชการ ซี 3 รับรองทุกปี และกรณีรับเงินชราภาพ ที่ยังไม่มีมาตรการชัดเจนในการรับสิทธิ นอกจากนี้ ยังพบว่าแรงงานข้ามชาติถูกจำกัดสิทธิ เสรีภาพในการเดินทาง และถูกเรียกรับผลประโยชน์

จากการประชุม เพื่อระดมปัญหาและข้อเสนอของกลุ่มคนทำงานและเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ กว่า 200 คน จึงมีข้อเรียกร้องมายังผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ดังนี้

ข้อเรียกร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแรงงานประจำจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ นักวิชาการ นักกฎหมายที่สนใจด้านแรงงาน และสหภาพแรงงาน เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานของคนงาน และการเข้าถึงสิทธิด้านแรงงานของคนงาน

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล (1.) ขอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของบริษัทจัดหางาน เพื่อแก้ไขปัญหาการทำงานผิดประเภทของแรงงาน โดยบริษัทจัดหางานนำคนงานไปทำงานไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในสัญญาการจ้างงาน เป็นเหตุให้คนงานข้ามชาติกลายเป็นผู้ทำผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 (2.) ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนแรงงานและออกใบอนุญาตทำงาน ลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมาการจดทะเบียนต้องใช้เอกสารจำนวนมากและมีหลายขั้นตอน เสียค่าใช้จ่ายสูง

(3.) ขอให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 สิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน (4.) ขอให้รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 421 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ

(5.) ขอให้รัฐบาลกำหนดให้พนักงานบริการเป็นอาชีพที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทุกฉบับ (6.) ขอให้แก้ไขพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ให้คนงานข้ามชาติทำงานได้ทุกอาชีพตามความสามารถของตน และขยายอายุคนทำงานจนถึง 60 ปี และ (7.) ขอให้มีการแก้กฎกระทรวงที่ยกเว้นกลุ่มอาชีพบางกลุ่มที่ไม่ให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม ให้แรงงานทุกคนทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ในกองทุนชราภาพ ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกที่จะรับเป็น บำเหน็จชราภาพ หรือ บำนาญชราภาพได้ โดยไม่กำหนดอายุของผู้ประกันตน

ส่วนข้อเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย นั้นขอให้กระทรวงมหาดไทยแก้ไขกฎระเบียบในการเดินทางของแรงงานข้ามชาติ รวมถึงกลุ่มผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน กลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูง ให้มีเสรีภาพในการเดินทาง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net