Skip to main content
sharethis

ฟูมิโอะ คิชิดะ รมว.ต่างประเทศญี่ปุ่นบรรยายที่จุฬาฯ ชี้ประเทศลุ่มน้ำโขงจะบรรลุการพัฒนาโดยไม่มีใครตกขบวนต้องมี “การเชื่อมโยงที่มีชีวิต” กระตุ้นการไหลเวียนของสินค้า/ผู้คน เสนองบช่วยภูมิภาค 7.5 แสนล้านเยน เสนอ “3 หลักนิติธรรมทางทะเล” แก้พิพาททะเลจีนใต้ - ย้ำไทย-ญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจสำคัญ เป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกของญี่ปุ่น หวัง พล.อ.ประยุทธ์ ฟื้นคืนรัฐบาลพลเรือน ตามที่กล่าวกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่าจะให้ไทยมีประชาธิปไตยยั่งยืน

ฟูมิโอะ คิชิดะ รมว.กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น บรรยายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 2 พ.ค. 2559

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการบรรยายสาธารณะด้านอาเซียน โดยเชิญฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนประเทศไทย เป็นผู้บรรยายในหัวข้อ “คำกล่าวนโยบายด้านอาเซียน: ความหลากหลายและเชื่อมโยง บทบาทในฐานะหุ้นส่วนของญี่ปุ่น”

ตอนหนึ่ง รมว.ต่างประเทศของญี่ปุ่นชี้ให้เห็นว่ากลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงจะบรรลุการพัฒนาโดยไม่มีประเทศใดตกขบวน จำเป็นต้องมี “การเชื่อมโยงที่มีชีวิต” เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของสินค้าและผู้คน ทำให้สาธารณูปโภคที่สร้างขึ้นเกิดประโยชน์สูงสุด ญี่ปุ่นไม่เพียงสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแต่จะช่วยปฏิรูปกระบวนการศุลกากรข้ามแดนเพื่อให้การขนส่งสินค้าราบรื่น

ด้วยความร่วมมือของญี่ปุ่นการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2เชื่อมมุกดาหาร-สะหวันนะเขต ทำให้การขนส่งสินค้าเส้นทางกรุงเทพฯ-ฮานอย จาก 2 สัปดาห์ทางทะเล ร่นเวลาเหลือ 3 วันทางบก หากปรับปรุงงานศุลกากรจะยิ่งราบรื่นกว่าปัจจุบันนี้ ขณะที่พม่าเริ่มใช้เทคโนโลยีระบบศุลกากรญี่ปุ่น ทำให้ร่นพิธีการศุลกากรจาก 2 ชั่วโมงเหลือ 1 นาที การเปิดสะพานทซึบาซะเชื่อมพนมเปญ-โฮจิมินห์ซิตี้ ทำให้ไม่ต้องรอข้ามฝั่งด้วยเรืออีกต่อไป ชี้หากส่งเสริมความร่วมมือในลักษณะนี้ หวังว่าในอนาคตจะทำให้เดินทางจากกรุงเทพฯ ตอนเช้าไปรับประทานเฝอที่โฮจิมินห์ซิตี้ได้ในตอนเย็น หรือเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปชมพระอาทิตย์ตกดินที่ฝั่งมหาสมุทรอินเดียภายในวันเดียวได้

ชี้ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแม้จะมีธรรมชาติอันสมบูรณ์ แต่ไม่อาจหนีพ้นภัยธรรมชาติ ญี่ปุ่นจะดำเนินมาตรการใหม่สร้างเสริมขีดความสามารถและแบ่งปันความรู้และประสบการณ์เพื่อตอบสนองต่อปัญหาในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ของแม่น้าโขง โดยกรอบความร่วมมือใหม่ “ความคิดริเริ่มการเชื่อมโยงญี่ปุ่น-แม่โขง” (Japan-Mekong Connectivity Initiative) ใช้ทุนช่วยเหลือภูมิภาคลุ่มน้าโขงมูลค่า 7.5 แสนล้านเยน โดยหวังว่าไทยจะร่วมผลักดันกรอบความร่วมมือนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นย้ำด้วยว่า โดยปราศจากสันติภาพและเสถียรภาพ ความมั่งคั่งในภูมิภาคจะเกิดขึ้นไม่ได้ อาเซียนและหุ้นส่วนรวมถึงญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับมีปัญหาหมักหมมต่างๆ ซึ่งรวมถึงการก่อการร้าย ลัทธิการใช้ความรุนแรง และปัญหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเล จึงต้องแก้ไขปัญหาด้วยกันและรักษากฎระเบียบในภูมิภาคนี้ ต้องให้ความสำคัญกับ “ความหลากหลาย” และหลักการพื้นฐานของ “หลักนิติธรรม” คุณค่าที่จะใช้แก้ปัญหาการก่อการร้าย คือ ความเมตตาต่อความหลากหลาย โดยสนับสนุนมาเลเซียให้ใช้แนวทางสายกลางสู้กับฝ่ายสุดขั้ว

เรื่องความมั่นคงทางทะเล ท้าทายหลักนิติธรรมมากที่สุด ญี่ปุ่นกำลังประกาศ “3 หลักการว่าด้วยนิติธรรมทางทะเล” 1) การอ้างสิทธิต้องอยู่บนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ 2) ไม่มีการใช้กำลังหรือบังคับเพื่อผลักดันในการอ้างสิทธิ 3) การหาข้อยุติโดยสันติวิธี ชี้ต้องสร้างระเบียบภูมิภาคที่ซึ่ง “หลักนิติธรรม” ต้องถูกส่งเสริมและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และสรุปแนวในการปฏิบัติ (Code of Conduct) ที่มีประสิทธิภาพในทะเลจีนใต้โดยเร็ว

ด้านความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ย้ำไทยกลายเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจสำคัญที่ญี่ปุ่นขาดไม่ได้ เพราะเป็นฐานการผลิตและส่งออกในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (Global Supply Chain) ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น มี 4,500 บริษัทของญี่ปุ่นดำเนินกิจการ ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ไทยให้การสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้านมานานแล้วเพื่อลดช่องว่างการพัฒนาในภูมิภาค ญี่ปุ่นคาดหวังต่อไทยในฐานะหุ้นส่วนหลักของความร่วมมือของประเทศญี่ปุ่นในลุ่มแม่น้าโขง และเป็นหุ้นส่วนในการผลักดัน “ความริเริ่มการเชื่อมโยงญี่ปุ่น-แม่โขง”

และหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลังจัดการภารกิจต่างๆ ในประเทศตลอดจนการฟื้นคืนการบริหารประเทศโดยรัฐบาลพลเรือน ชี้เคยกล่าวกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ โดยย้ำว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน จึงหวังว่าประชาชนไทยจะก้าวผ่านปัญหายุ่งยากที่กำลังเผชิญอยู่และแสดงบทบาทที่มากขึ้นกว่าที่ผ่านมาในเวทีภูมิภาคและเวทีโลก

โดยคำบรรยายของรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น มีรายละเอียดดังนี้

000

คำกล่าวนโยบายด้านอาเซียน “ความหลากหลายและเชื่อมโยง บทบาทในฐานะหุ้นส่วนของญี่ปุ่น”

1. บทนำ

ผมชื่อ ฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น วันนี้ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสบรรยายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งมีชื่อเสียงและประวัติศาสตร์อันยาวนาน ในโอกาสนี้ผมขอแสดงความขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ให้การสนับสนุนและทุกท่านที่มาร่วมรับฟังเป็นจานวนมากด้วย ก่อนอื่นขอแสดงความขอบคุณในกำลังใจอันอบอุ่นอย่างมากจากประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมถึงประเทศไทย ต่อสถานการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเกาะคิวชูเมื่อเดือนที่แล้ว โดยเฉพาะแถลงการณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ซึ่งทำให้เราตระหนักอีกครั้งว่าประเทศญี่ปุ่นกับอาเซียนมีความเชื่อมโยงกันอย่างแน่นแฟ้น

อาเซียนตั้งอยู่ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิคและมหาสมุทรอินเดีย คล้ายกับเป็นหัวใจของเอเชีย เป็นตลาดขนาดใหญ่ซึ่งมีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน และปัจจุบันกำลังกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและบริโภคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ความสำคัญของอาเซียนไม่ใช่เฉพาะเศรษฐกิจ เนื่องจากอาเซียนเป็นแกนของกรอบทางการเมืองของเอเชียตะวันออก ดังเช่น East Asia Summit (EAS) และ ASEAN Regional Forum (ARF) อาเซียนจึงมีบทบาทหลักในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งในเอเชีย เราจึงสามารถคาดเดาได้ไม่ยากว่าความสัมพันธ์หุ้นส่วนกับอาเซียนของญี่ปุ่นมีความสำคัญและมีคุณค่ามากแทบจะขาดไม่ได้

เมื่อ 3 ปีครึ่งที่แล้ว ผมเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ประเทศที่ได้เยือนเป็นครั้งแรกคือ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน นั่นคือภารกิจในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศของผมเริ่มต้นจากประเทศอาเซียน ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่จะกล่าวว่า การเดินทางมาไทยและลาวครั้งนี้ ทำให้ผมเดินทางเยือนครบทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน แสดงถึงหลักระยะทางที่สำคัญทางการทูตต่ออาเซียนของผม ซึ่งนั่นได้แสดงถึงความสำคัญที่ญี่ปุ่นให้กับอาเซียนผ่านการปฏิบัติของผมในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น สิ่งที่ผมอยากจะกล่าววันนี้คือญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนกันที่ขาดไม่ได้สาหรับอาเซียนในความพยายามที่จะแสดงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ โดยใช้ “ความหลากหลาย” ที่มีและการให้ความสำคัญต่อ “ความเชื่อมโยง” ในอาเซียนให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่

 

2. พัฒนาการด้านความสัมพันธ์ญี่ปุ่นกับอาเซียน ตลอด 3 ปีครึ่งที่ผ่านมา

(ความก้าวหน้าตลอด 3 ปีครึ่งที่ผ่านมา)

ความสัมพันธ์ญี่ปุ่นกับอาเซียนได้มีความก้าวหน้าในหลายด้านในช่วงเวลา 3 ปีครึ่ง ตั้งแต่ผมได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เมื่อปี 2013 ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อาเซียนครบรอบ 40 ปี และในโอกาสการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ญี่ปุ่นและอาเซียนยืนยันว่าจะส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนกัน ซึ่งประกอบไปด้วย 4 เสาหลักคือ “สันติภาพและเสถียรภาพ” “ความมั่งคั่ง” “ความเป็นอยู่อันดี” และ “ใจถึงใจ” นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังได้ประกาศความช่วยเหลือใหม่ในการสร้างประชาคมผ่านทางความร่วมมือด้านการพัฒนาอย่างเป็นทางการของรัฐบาลญี่ปุ่น (Official Development Assistance (ODA)) มูลค่า 2 ล้านล้านเยน ในระยะเวลา 5 ปี และยังจะให้การสนับสนุนใหม่สาหรับการรวมตัวของอาเซียนผ่านทางกองทุน Japan-ASEAN Integration Fund (JAIF 2.0) อีกเป็นจานวน 100 ล้านดอลลาห์สหรัฐ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น-อาเซียน มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในช่วงเวลา 3 ปีครึ่งที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2013 อาเซียนนับเป็นจุดหมายของการลงทุนในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียของญี่ปุ่น นอกจากนั้น ผู้ที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นจากอาเซียนคิดย้อนหลังไปเพียง 2 ปี ในปี 2013 มีจานวนประมาณ 1.17 ล้านคน ได้เพิ่มขึ้นในปี 2015 เป็น 2.1 ล้านคน ซึ่งนับเป็นเกือบสองเท่า

(ปีแห่งการสถาปนาประชาคมอาเซียน)

เนื่องจากเมื่อปลายปีที่แล้วประชาคมอาเซียนได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ปีนี้จึงนับเป็นปีแห่งการสถาปนาอันน่าจดจำของประชาคมอาเซียน ประเทศญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในความพยายามที่จะสร้างและรวมตัวกันของประชาคมอาเซียน รวมถึงการแก้ไขช่องว่างภายในภูมิภาคอาเซียน ในการสนับสนุนอาเซียนญี่ปุ่นเน้นย้าในการเคารพต่อ “ความหลากหลาย” ของอาเซียน รวมถึงหลักการพื้นฐานอันได้แก่ “ความเป็นเอกภาพ” และ “การเป็นศูนย์กลาง” ผมคิดว่าแทบจะไม่จำเป็นต้องกล่าวเลยว่าการรักษาและส่งเสริมความเป็นเอกภาพของประชาคมอาเซียน การรักษาการเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคเอเซียตะวันออก และการใช้ “ความหลากหลาย” ซึ่งมีอยู่ในด้านต่างๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคมให้เป็นประโยชน์ ต่างก็เป็นกุญแจสำคัญที่จะบรรลุถึงสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่งคั่งของภูมิภาคนี้

 

3. ความท้าทายในอนาคตและการสนับสนุนของญี่ปุ่น

(ความท้าทายในการเข้าสู่ปี 2025)

การส่งเสริม “ความเชื่อมโยง” มีความจำเป็นอย่างมาก ในการเติมเต็มศักยภาพของอาเซียน ขณะที่ต้องใช้ “ความหลากหลาย” ให้เป็นประโยชน์และสร้าง “ความเป็นเอกภาพ” ให้เข้มแข็ง นั่นคือสิ่งที่ถูกนิยามไว้อย่างแท้จริงใน “วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025” ซึ่งอาเซียนได้ประกาศไว้ในการจัดตั้งประชาคมอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว เพื่อใช้เป็นแนวทางในอนาคต

(การเสริมสร้างความเชื่อมโยง)

เพื่อส่งเสริมการรวมตัวของอาเซียน การบรรลุการพัฒนาเป็นสิ่งที่จำเป็นสาหรับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงซึ่งมีศักยภาพอย่างเต็มเปี่ยม เราจะทำอย่างไรให้ผลของการพัฒนาครอบคลุมและขยายตัวทั่วภูมิภาคนี้โดยไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งตกขบวนการพัฒนา คำตอบก็คือ “การเชื่อมโยง” นั่นเอง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจจำเป็นต้องกระตุ้นไหลเวียนของสินค้าและผู้คน โดยเชื่อมโยงภูมิภาคด้วย ถนน สะพาน และระบบราง เป็นต้น รูปแบบการสนับสนุนของญี่ปุ่นนั้นไม่เพียงสนับสนุนการสร้างถนนและสะพานเท่านั้น เรายังช่วยในการปฎิรูปกระบวนการทางศุลกากรระหว่างชายแดนเพื่อให้การขนส่งสินค้าราบรื่นมากขึ้น ช่วยให้เกิดการพัฒนาภูมิภาครอบระเบียงเศรษฐกิจ นำไปสู่การไหลเวียนของคนและสินค้า รวมทั้งทำให้สาธารณูปโภคที่สร้างขึ้นได้ใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นี่คือการเชื่อมโยงที่มี "ชีวิต” ตามความคิดของผมครับ

สะพานข้ามแม่น้าโขงแห่งที่ 2 (หมายเหตุ - เชื่อม จ.มุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขต) ซึ่งเชื่อมโยงตะวันออกของไทยและลาวที่ได้เปิดใช้เมื่อปี 2006 จากความร่วมมือของญี่ปุ่น ทำให้การขนส่งระหว่าง กรุงเทพฯ-ฮานอย ซึ่งใช้เวลา 2 อาทิตย์ทางทะเล ลดลงเหลือเพียงอย่างเร็วที่สุด 3 วันทางบก ซึ่งผมคิดว่าถ้าได้มีการปรับการทางานด้านศุลกากร การขนส่งจะราบรื่นยิ่งกว่าปัจจุบันนี้ ที่ท่าเรือที่ย่างกุ้งที่จะใช้เทคโนโลยีระบบศุลกากรของญี่ปุ่น จะทำให้ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจเบื้องต้นทางศุลกากร คาดว่าจะลดลงจากประมาณ 2 ชั่วโมง เหลือเพียงภายใน 1 นาทีเท่านั้น การขยายของการพัฒนารอบนอก เช่นการพัฒนาทวายของพม่าซึ่งเป็นประตูทางตะวันตกของระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ ผมคิดว่าจะนำไปสู่การใช้สาธารณูปโภคที่ระเบียงเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น

เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ได้มีการเปิดใช้สะพาน “ทซึบาซะ” (Tsubasa) ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างพนมเปญกับโฮจิมินห์ ซิตี้โดยความร่วมมือของญี่ปุ่น ทำให้ไม่จำเป็นต้องรอเรือ 7-8 ชั่วโมงอีกต่อไป ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือลักษณะนี้ ทำให้ถ้าออกจากกรุงเทพฯ ตอนเช้าไปทางตะวันออกจะสามารถไปรับประทานเฝอที่โฮจิมินห์ซิตี้ได้ในตอนเย็น หรือออกจากกรุงเทพฯ ตอนเที่ยงไปทางตะวันตกจะสามารถไปชมพระอาทิตย์ตกที่มหาสมุทรอินเดียในวันเดียวกันเกิดขึ้นได้ ซึ่งผมหวังว่าจะเห็นอนาคตแบบนี้ในเวลาอีกไม่นาน

(การพัฒนาบุคลากร)

นอกจากการพัฒนาสาธารณูปโภคแล้ว การพัฒนาบุคลากรซึ่งมีบทบาทในอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศก็มีส่วนสำคัญ ภายใต้ “การริเริ่มในการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม (Industrial Human Resource Development Cooperation Initiative)” ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาเบะได้ประกาศไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2015 ญี่ปุ่นจะดำเนินการอย่างหนักแน่นเพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมโดยคำนึงถึงความต้องการบุคคลากรของแต่ละประเทศด้วยการประสานงานกับบริษัทและสถาบันการศึกษาของญี่ปุ่น ในประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย ได้จัดให้มีการประชุมโต๊ะกลมเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Round Table Conference of Human Resource Development) จากการประชุมนี้ทำให้เราตระหนักว่าประเทศไทยต้องการช่างเทคนิคและวิศวกรซึ่งเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้น เพื่อตอบสนองต่อเรื่องนี้ การสร้างความเข้มแข็งภาคการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาและอาชีวศึกษามีความสำคัญยิ่ง เราจึงกำลังเตรียมการเพื่อส่งเสริมการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาซึ่งผลิตช่างเทคนิคและวิศวกร เราจะส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นรูปธรรมและเข้าถึงความต้องการเฉพาะของแต่ละประเทศ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งตั้งชื่อตามพระนามของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 ของไทยผู้ทรงมีบทบาทในการพัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้าอย่างมาก มีสำนักงานของ ASEAN University Network/Southeast Asia Engineering Education Development Network (SEED–Net) ซึ่งเป็นเครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำของญี่ปุ่นและอาเซียน มีนักเรียนเก่าคนหนึ่งของ SEED-Net ที่เรียนจบจากกัมพูชา และศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่ของโครงการพัฒนาทางด่วนพนมเปญ การสนับสนุนของญี่ปุ่นต่อแนวทางการพัฒนาบุคลากรในอาเซียนนำไปสู่การผูกโยงระหว่างญี่ปุ่นและอาเซียนทางบุคลากร ผมมีความเชื่อมั่นว่าการสร้างเครือข่ายบุคลากรลักษณะนี้ทำให้การเชื่อมโยงของอาเซียนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

(การช่วยเหลือแม่น้ำโขง)

เราไม่สามารถที่จะกล่าวถึงภูมิภาคลุ่มน้าโขงโดยปราศจากการพูดถึงแม่น้าโขง ปัจจุบันนี้ประเทศลุ่มแม่น้าโขงประสบภัยแล้งอย่างหนัก ขณะที่บางปีประสบกับอุทกภัย ภัยธรรมชาติมีความรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก ภูมิภาคลุ่มน้าโขงถึงแม้จะมีธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ก็ไม่อาจหนีพ้นจากภัยธรรมชาติที่รุนแรงนี้ ฉะนั้นญี่ปุ่นจึงจะได้ดำเนินมาตรการใหม่ต่างๆ เช่น การสร้างเสริมขีดความสามารถและแบ่งปันความรู้และประสบการณ์เพื่อตอบสนองต่อปัญหาในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ของแม่น้าโขง

(การสร้างกรอบความร่วมมือเพื่อให้ตระหนักถึงการเชื่อมโยงที่มี “ชีวิต”)

การพัฒนาและใช้สาธารณูปโภคให้เกิดประโยชน์ การปรับปรุงระบบ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการสนับสนุนความร่วมมือเพื่อแม่น้าโขงซึ่งไหลผ่านกลางภูมิภาคลุ่มน้าโขง ทั้งหมดที่ผมกล่าวมานี้ต่างก็เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงที่มี “ชีวิต” แน่นอนประเทศและผู้ที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้าโขงมีบทบาทในการทำให้การเชื่อมโยงในภูมิภาคมีชีวิตขึ้น วันนี้ผมจึงเปิดตัว “ความคิดริเริ่มการเชื่อมโยงญี่ปุ่น-แม่โขง (Japan-Mekong Connectivity Initiative)” ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือใหม่เพื่อสนับสนุนความพยายามของแต่ละประเทศ ผมอยากจะสร้างกรอบการสนับสนุนนี้ด้วยความร่วมมือกับประเทศลุ่มน้าโขงโดยใช้ทุนสำหรับการให้ความช่วยเหลือภูมิภาคลุ่มน้าโขงมูลค่า 750,000 ล้านเยนในระยะเวลา 3 ปีจากนี้ด้วย ความริเริ่มนี้จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายโดยปราศจากความร่วมมือจากประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือจึงหวังว่าเราจะจับมือกันและผลักดันกรอบความร่วมมือนี้ต่อไป

(การเชื่อมโยงที่ขยายจากทางบกถึงทางทะเล)

การเชื่อมโยงที่ผมพูดถึงเมื่อสักครู่เป็นการเชื่อมโยงทางบก ทั้งนี้การเชื่อมโยงทางทะเลก็มีความสำคัญสำหรับการพัฒนาภูมิภาคในอนาคตเช่นเดียวกัน อย่างที่กล่าวตั้งแต่ต้นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งอยู่ระหว่าง 2 มหาสมุทร ถ้ามองดูแผนที่โลก ทางตะวันตกของภูมิภาคแม่น้าโขงมีมหาสมุทรอินเดีย ประเทศต่างๆ รอบอ่าวเบงกอล เช่น อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา กำลังบรรลุการพัฒนาอย่างเข้มแข็ง ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคลุ่มน้าโขงกับประเทศริมมหาสมุทรอินเดียกำลังแน่นแฟ้นมากขึ้น อีกด้านหนึ่งทางภาคตะวันออกภูมิภาคลุ่มน้าโขงมีมหาสมุทรแปซิฟิกโดยผ่านทะเลจีนใต้ บูรไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Trans Pacific Partnership [TPP])แล้ว และส่วนไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ก็แสดงความสนใจในการเข้าร่วมเป็นภาคีด้วยเช่นกันซึ่งญี่ปุ่นยินดีเป็นอย่างยิ่ง ประเทศญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนเวียดนามเพื่อส่งเสริมกลไกภายในประเทศให้พร้อมรองรับการดำเนินการตามข้อตกลงนี้ เมื่อใดก็ตามที่แนวทางความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership [RCEP]) ได้ข้อสรุป มันจะครอบคลุมภูมิภาคซึ่งแผ่ขยายจากมหาสมุทรอินเดียไปถึงมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีอาเซียนกับภูมิภาคลุ่มน้าโขงอยู่ระหว่างกลาง ในการสร้างโอกาสสูงสุดจากตลาดอันเป็นเอกภาพและเชื่อมภูมิภาคเหล่านี้ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น การส่งเสริมการเชื่อมโยงทางบกและทางทะเลของอาเซียนซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ญี่ปุ่นจึงไม่ลังเลที่จะให้จัดหาความร่วมมือให้แก่อาเซียน

 

4. ความร่วมมือในภูมิภาคและโลก

แน่นอนสันติภาพและเสถียรภาพเป็นเงื่อนไขในการบรรลุความเจริญทางเศรษฐกิจ ปราศจากสันติภาพและเสถียรภาพความมั่งคั่งในภูมิภาคจะเกิดขึ้นไม่ได้ ในภูมิภาคนี้อาเซียนและหุ้นส่วนรวมถึงญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับมีปัญหาหมักหมมต่างๆ ซึ่งรวมถึงการก่อการร้าย ลัทธิการใช้ความรุนแรง และปัญหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเล เราจึงต้องแก้ไขปัญหาด้วยกันและรักษากฎระเบียบในภูมิภาคนี้ ถึงที่สุดแล้วสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญคือ “ความหลากหลาย” และหลักการพื้นฐานของ “หลักนิติธรรม”

(ความหลากหลาย)

ผมอยากจะย้ำความสำคัญของ “ความหลากหลาย” ต่อการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคนี้ ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นได้ร่วมยึดถือคุณค่าสากล อันได้แก่ เสรีภาพ ประชาธิปไตย และหลักสิทธิมนุษยชนร่วมกับอาเซียน ญี่ปุ่นก็เคารพต่อสถานการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศของประเทศอาเซียน รวมถึงความหลากหลายทางด้าน ศาสนา เชื้อชาติ และความเชื่อ ตลอดมา

ทางสายกลาง/ความพอดีซึ่งเป็นคุณค่าที่ในการแก้ปัญหาการก่อการร้าย คือ ความเมตตาต่อความหลากหลาย อย่างที่เห็นเป็นสัญลักษณ์จากการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นที่จาร์กาต้าเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ภัยคุกคามของการก่อการร้ายกำลังจะเพิ่มมากขึ้นในอาเซียนเช่นกัน บนพื้นฐานปรัชญานี้ ประเทศญี่ปุ่นให้การสนับสนุนหลักการทางสายกลาง/ความพอดีที่มาเลเซียกำลังส่งเสริมอยู่ โดยใช้กองทุน JAIF ดาเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงสุดขั้ว

(หลักนิติธรรม)

“หลักนิติธรรม” เป็นพื้นฐานในการนับถือ “ความหลากหลาย” ตาม “วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025” ระบุไว้ว่าประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community [ASC]) ในฐานะประชาคมที่มีกฎระเบียบเป็นพื้นฐาน ร่วมยึดถือคุณค่าและบรรทัดฐานร่วมกัน ส่งเสริมหลักการพื้นฐานอาเซียนที่ยึดถือคุณค่าและบรรทัดฐาน รวมถึงหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศร่วมกัน ปัจจุบันนี้หลักการของ “หลักนิติธรรม” ที่ถูกท้าทายมากที่สุดคือด้านความมั่นคงทางทะเล โดยญี่ปุ่นกำลังประกาศ “3 หลักการว่าด้วยนิติธรรมทางทะเล” ประกอบด้วย “1) การอ้างสิทธิต้องอยู่บนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ 2) ไม่มีการใช้กำลังหรือบังคับเพื่อผลักดันในการอ้างสิทธิ 3) การหาข้อยุติโดยสันติวิธี” เมื่อเดือนที่แล้วในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) ที่ฮิโรชิม่า ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผม มีการยืนยันความสำคัญในการรักษากฎระเบียบทางทะเลบนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ และได้มีการแสดงการคัดค้านอย่างหนักต่อการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสภาพปัจจุบันแต่เพียงฝ่ายเดียวในทะเลจีนใต้ เราต้องสร้างระเบียบภูมิภาคที่ซึ่ง “หลักนิติธรรม” ต้องถูกส่งเสริมและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ในมุมมองนี้ ผมอยากจะเรียกร้องอีกครั้งในการสรุปแนวในการปฏิบัติ (Code of Conduct [COC]) ที่มีประสิทธิภาพในทะเลจีนใต้โดยเร็ว EAS คือเวทีหลักที่จะทำให้ “หลักนิติธรรม” เกิดความมั่นคง ในการประชุม EAS เมื่อปีที่แล้ว ผู้นำ 18 ประเทศในภูมิภาครวมถึงญี่ปุ่นและอาเซียน ได้ตกลงกันว่าเราจะพยายามจัดการกับปัญหาด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคและส่งเสริมบทบาทของเวทีนี้ เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจต่อหลักนิติธรรมเราต้องให้ EAS ซึ่งเป็นเวทีที่มีบทบาทมากที่สุดในภูมิภาคนี้แข็งแกร่งมากกว่านี้ การผลักดันความร่วมมือในภูมิภาคโดยอาเซียนเป็นแกนกลางร่วมกับประเทศอื่นๆ เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าญี่ปุ่นย่อมจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

(การครบรอบ 50 ปีของอาเซียน)

ปีหน้าจะครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาอาเซียนนับเป็นความทรงจำ ประเทศญี่ปุ่นได้เดินเคียงบ่าเคียงไหล่ในฐานะหุ้นส่วนก่าแก่กับอาเซียนมาเป็นเวลา 40 ปี ญี่ปุ่นด้วยการจับมือจะให้การสนับสนุนเพื่อส่งเสริม “ความเชื่อมโยง” ในขณะที่ให้ความสำคัญต่อ “ความหลากหลาย” ของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าสู่การพัฒนาของอาเซียนในอีกครึ่งศตวรรษต่อไป

ในการประชุมผู้นำ G7 ที่เมืองอิเซะชิมาปีนี้ 6 ประเทศจากเอเซียแปซิฟิค รวมถึงประเทศลาวซึ่งเป็นประธานอาเซียนจะเข้าร่วม เดือนกรกฎาคมนี้มีการประชุมว่าด้วยอาเซียนระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ และกันยายนนี้มีการประชุมว่าด้วยระดับผู้นา ในโอกาสที่ผมจะได้เยือนอาเซียนครบทั้ง 10 ประเทศ ผมมีความมาดหมายขึ้นมาใหม่ว่าจะกระชับความร่วมมือของญี่ปุ่นกับอาเซียนให้มากยิ่งขึ้นในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเมื่อเราทางานเพื่อกิจกรรมทางการทูตเกี่ยวกับอาเซียน

 

5. ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น

(กรุงเทพฯ คือจุดกำเนิดอาเซียน)

อาเซียนได้ถือกาเนิดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 1967 การลงนามในแถลงร่วมของรัฐมนตรี 5 ประเทศรวมถึงประเทศไทย ซึ่งเรียกว่า “ปฎิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration)” คือเอกสารการสถาปนาอาเซียน รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยเวลานั้นคือ ฯพณฯ ถนัด คอร์มันต์ ซึ่งได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประหนึ่งว่ามีโอกาสเป็นสักขีพยานในการก่อตั้งขึ้นของประชาคมอาเซียน ขอถือโอกาสนี้ชื่นชมผลงานของท่านและแสดงความเสียใจอีกครั้งจากใจจริง

(ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น)

บนพื้นฐานสถานการณ์ในประเทศที่ค่อนข้างมั่นคง ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการรวมศูนย์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน โดยรักษาไว้ซึ่งนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจสำคัญที่ญี่ปุ่นขาดไม่ได้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (Global Supply Chain) ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ในประเทศไทยมีบริษัทญี่ปุ่นประมาณ 4,500 บริษัทกำลังดำเนินกิจการอยู่ ซึ่งเป็นขนาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากมีบทบาทที่ขาดไม่ได้ในส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจไทยโดยผ่านการลงทุนและการพัฒนาบุคลากรในหลายปีที่ผ่านมา ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ให้การสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้านมานานแล้วในการลดช่องว่างในการพัฒนาภายในภูมิภาคซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการรวมตัวของอาเซียน ญี่ปุ่นมีความคาดหวังอย่างสูงต่อความพยายามต่อไปของไทยในฐานะหุ้นส่วนหลักของความร่วมมือของประเทศญี่ปุ่นในลุ่มแม่น้าโขง และเป็นหุ้นส่วนในการผลักดัน “ความริเริ่มการเชื่อมโยงญี่ปุ่น-แม่โขง” ซึ่งได้กล่าวถึงไว้ก่อนหน้า

ปัจจุบันนี้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา กำลังจัดการภารกิจต่างๆ ในประเทศตลอดจนการฟื้นกลับคืนสู่การบริหารประเทศโดยรัฐบาลพลเรือน ในการประชุมผู้นำกับนายกรัฐมนตรี นายชินโซ อาเบะที่ผ่านมา ท่านนายกฯ ได้ย้ำว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนไทยจะก้าวผ่านปัญหายุ่งยากที่กำลังเผชิญอยู่และแสดงบทบาทที่มากขึ้นกว่าที่ผ่านมาในเวทีภูมิภาคและเวทีโลก

ขอบคุณครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net