รายงาน: 50 ปีการจากไปของ จิตร ภูมิศักดิ์ จาก ‘ผีใบ้หวย’ สู่ ‘อาจารย์จิตร’

วันที่ 5 พฤษภาคมนี้ ครบรอบ 50 การตายของจิตร ภูมิศักดิ์ ตลอดเวลากว่า 50 ปี ที่ผ่านมา ตำนานของจิตรถูกนำมาประกอบสร้างอยู่หลายครั้ง ทั้งในพื้นที่และสถานะที่ต่างกันออกไป จาก ‘ผีบักข่อหล่อ’ ถึง ‘อาจารย์จิตร’ และ ‘เจ้าพ่อหวย’

จิตร ภูมิศักดิ์ เสียชีวิตในวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 เป็นเวลากว่า 50 ปีหลังจากการเสียชีวิตของบัณฑิตอักษรศาสตร์ผู้นี้ มีผู้คนนำเรื่องราวเขามาเล่าขานสืบต่อกันมากมาย ทั้งในรูปแบบฐานะที่ต่างกันไปในบริบท สถานที่ และช่วงเวลาที่ต่างกัน จิตรถูกปลูกสร้างให้เป็นทั้งศิลปิน นักคิด นักเขียน นักปฏิวัติ ผู้ทรงอิทธิพลของขบวนการนักศึกษาในเมือง ไปจนถึง ‘เจ้าพ่อจิตร’ ‘อาจารย์จิตร’ ‘บุคคลสำคัญของท้องถิ่น’ ของคนในตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ถึงกับจะพูดได้ว่าชื่อจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นที่รู้จักกันก็เมื่อหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว มากกว่าในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ด้วยซ้ำไป หลายคนอาจจะเรียกมันว่าการเกิดใหม่ของจิตร

ช่วง 14 ตุลา การกำเนิดของตำนานจิตร ภูมิศักดิ์ การแพร่หลายของผลงานจิตร

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นช่วงจิตรเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในหมู่นักศึกษาปัญญาชน จากการที่ผลงานของเขาในขณะที่มีชีวิตอยู่ถูกนำมาตีพิมพ์เผยแพร่อีกครั้ง จนเป็นเหมือนการกลับมาเกิดใหม่ของจิตร

“จิตรนั้นเป็นผู้ ‘มีการก่อเกิดสองครั้ง’ ครั้งแรกคือเขาเกิดและดับไปตามวิถีของของนักสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตยในระบอบเผด็จการ ครั้งที่สองเป็นกำเนิดแห่ง ‘ตำนาน จิตร ภูมิศักดิ์’ นับเป็นตำนานกล่าวขานจนถึงปัจจุบัน วันเกิดครั้งที่สองนี้ อุบัติขึ้นในวันที่คนไทยลืมยากคือ 14 ตุลาคม 2516” เคร็ก เจ. เรย์โนลด์ นักประวัติศาสตร์และเอเชียศึกษาชาวอเมริกา เขียนไว้ในคำนำของหนังสือ ‘ความคิดแหวกแนวของไทย: จิตรภูมิศักดิ์และโฉมหน้าศักดิ์นาไทยในปัจจุบัน’

เดิมทีในช่วงที่จิตรยังคงมีชีวิตอยู่ ชื่อเสียงของจิตรยังจำกัดอยู่เพียงแค่ในวงปัญญาชนบางกลุ่มเท่านั้น เหตุการณ์ที่ทำให้จิตร ภูมิศักดิ์เป็นที่รู้จักกับสาธารณะอยู่บ้างคือ เหตุการณ์ที่จิตรถูกจับโยนบกที่กลางหอประชุมจุฬาลงกรณ์โดยกลุ่มนิสิต นำโดยนายสีหเดช บุนนาค จากการที่จิตรเป็นสาราณียกรให้กับหนังสือประจำปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จิตรมามีชื่อเสียงเป็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากซึ่งเปรียบเหมือนการเกิดใหม่ของจิตรในช่วงยุคเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลังจากที่จิตรเสียชีวิตไปแล้วนานกว่า 7-8 ปี

จุดเปลี่ยนอยู่ที่มีการนำงานเขียนของจิตรมาตีพิมพ์ขึ้นใหม่ โดยปัญญาชนคนอื่นๆ เช่น ประวุฒิ ศรีมันตะ และนิสิต จิรโสภณ ที่นำผลงานของจิตรนำมารวบรวมตีพิมพ์ใหม่ โดยผลงานสำคัญที่ทำให้จิตรเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือ บทความชื่อ ‘โฉมหน้าศักดินาไทย’ ซึ่งจิตรเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2500 ลงในวารสาร ‘นิติศาสตร์ 2500’ ในนามปากกา ‘สมสมัย ศรีศูทรพรรณ’ ซึ่งเป็นบทความที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบศักดินาอย่างเป็นระบบ และเป็นงานที่มีความแปลกใหม่แหวกจากการศึกษาประวัติศาสตร์ในขณะนั้น โดยใช้แนวคิดของฝ่ายซ้ายแนวมาร์กซิสต์เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์สังคม และอีกผลงานสำคัญของจิตรก็คือ ‘ศิลปะเพื่อชีวิต’ ที่ตีพิมพ์ในปี 2550 ในนามปากกา ทีปกร ซึ่งภายหลังได้ถูกนำไปตีพิมพ์รวมกับบทความอื่นๆ ของเขาในชื่อ ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน โดยมีเนื้อหาวิพากษ์การสร้างสรรค์งานศิลปะ ผลงานชิ้นนี้มีอิทธิพลอย่างสูงต่อขบวนการนักศึกษา

ผลงานทั้งสองชิ้นดังกล่าวทำให้ชื่อจิตรกลับมามีชีวิตอีก แต่ไม่ได้เป็นเพียงแค่นายจิตร ภูมิศักดิ์เท่านั้น แต่เป็นชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ ศิลปินนักรบประชาชน โดยหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ผลงานทั้งสองชิ้นนี้ถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้งจนกลายเป็นหนังสือขายดีที่นักศึกษาในช่วงเวลานั้นนิยมอ่าน อีกทั้งมีการขุดค้นผลงานชิ้นอื่นๆ ของจิตร ภูมิศักดิ์ นำมาเผยแพร่ โดยส่วนใหญ่เป็นผลงานที่เคยถูกตีพิมพ์มาก่อนแล้ว แต่ไม่มีใครทราบว่าเป็นผลงานของเขา เพราะจิตรใช้นามปากกาในการเขียน จึงต้องมีการขุดค้นหาผลงานของจิตร  มีการเก็บรวบรวมนิตยสารเก่าที่มีอยู่ตามหอสมุดต่างๆ โดยตีความจากสำนวนการเขียนการนำเสนอต่างๆ เพื่อให้ทราบว่างานชิ้นไหนเป็นของจิตร

“หลัง 14 ตุลามีการพิมพ์หนังสือโฉมหน้าศักดินาไทยใหม่อยู่หลายครั้ง กลายเป็นหนังสือขายดีเป็นอันดับต้นๆ นักศึกษาทุกคนยุคนั้นนิยมอ่านกันมาก ตอนนั้นใครต่อใครก็หันไปอ่านงานของจิตร ทำให้จิตรมีชื่อเสียงโด่งดังอย่างมากมาย ซึ่งตอนนั้นจิตรตายไปแล้วกว่า 7-8 ปี จนถึงกับมีการแต่งเพลงจิตร ภูมิศักดิ์ขึ้นมา โดยสุรชัย จันธิมาธร ในปี 2517 มีการจัดงานสัมมนาเกี่ยวกับจิตร สรุปง่ายๆ คือในช่วงปี 2516-2517 จิตรเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เรื่องราวของจิตรถูกนำมาขุดค้นและเล่าใหม่ งานของเขามีอิทธิพลต่อขบวนการนักศึกษาในสมัยนั้นอย่างมาก” สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงบรรยากาศของขบวนการนักศึกในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ผลงานของจิตรได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่นักศึกษาปัญญาชนขณะนั้น

บรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้างในช่วงหลังการสิ้นสุดของระบอบเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม เป็นยุคที่เสรีภาพและประชาธิปไตยพอจะมีช่องทางได้เติบโตอยู่บ้าง ขบวนการนักศึกษาประชาชนเริ่มเติบโต มีการผลิตผลงานหนังสือทั้งวรรณกรรมและทฤษฎีการเมืองจำนวนมาก ผลงานของนักเขียนหัวก้าวหน้าหลายคน ก็ได้ถูกนำมาเผยแพร่อย่างแพร่หลาย ผลงานและเรื่องราวชีวิตของจิตรก็ถูกขุดค้นขึ้นมาอีกครั้ง

“ที่กล่าวกันว่า จิตรเกิดครั้งที่สอง ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ก็เพราะว่ามีเยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นนั้น ทำการขุดงานคิด งานเขียน และงานปฏิวัติของเขาขึ้นมาอีกครั้ง ดังนั้น สิ่งที่เขาได้ทำไว้ในช่วงทศวรรษ 2490-2500 และถูกลืมเลือนไปเนื่องจากระบอบเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม จึงกลับมามีพลังใหม่ มีคนได้รับแรงบันดาลใจจากจิตร มีคนต้องการเรียนรู้จากจิตร และมีคนต้องการสืบสานปณิธานของจิตร ถ้าจะว่าไปเขาก็กลายเป็นอมตะ และผู้คนกับสังคมนี้ก็จะลืมเขาไม่ได้เช่นกัน น่าเชื่อว่าในอนาคตก็จะมีคนต้องการเรียนรู้จากจิตรอยู่ร่ำไป” ศาสตราจารย์พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ประธานมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์กล่าว

นอกจากนั้น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เองก็เข้ามามีส่วนในการผลักดันสนับสนุนให้มีการเผยแพร่ผลงานของจิตร โดยคนของ พคท. ที่ทำงานอยู่ในเมืองได้นำผลงานของจิตรส่งมอบให้สำนักพิมพ์ที่มีคนของ พคท. ควบคุมอยู่ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานเหล่านั้น

การสร้างตัวตน จิตร ภูมิศักดิ์ ในสถานที่วายชีวา จากผู้ก่อการร้ายสู่บุคคลสำคัญของรัฐ จากผีกลางทุ่งสู่อาจารย์จิตร
ชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ กว่าจะเป็นที่รู้จักในตำบลคำบ่อ สถานที่เสียชีวิตของเขา ต้องใช้เวลากว่า 20 ปีจากวันที่เขาเสียชีวิต ปัจจุบันในทุกวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปีจะมีการจัดงานรำลึกการจากไปของจิตร ในฐานะบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จากที่ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์และผีกลางทุ่งนา การสร้างตัวตนของจิตรในท้องถิ่นจึงต้องผ่านเวลาและกระบวนการมากมาย
 

เขาตายในชายป่าเลือดทาดินเข็ญ ยากเย็นข้นแค้นอับจน
ถึงวันพรากเขาลงมาจากยอดเขา ใต้เงามหานกอินทรี
ล้อมยิงโดยกระหยิ่ม อิ่มในเหยื่อตัวนี้
โชคดี สี่ขั้นพันดาวเหมือนดาวร่วงหล่น
ความเป็นคนล่วงหาย ก่อนตายจะหมายสิ่งใด

เพลงจิตร ภูมิศักดิ์ แต่งโดยสุรชัย จันทิมาธร เพื่ออุปมาเหตุการณ์การเสียชีวิตของบัณฑิตอักษรศาสตร์ จากรั้วจามจุรีที่ต้องจบชีวิตลงด้วยกระสุนของอาสาสมัครรักษาดินแดนและกำนันแหลมหรือคำพน อำพล ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 ณ บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร การตายของจิตร ภูมิศักดิ์ หรือสหายปรีชาวันนั้น ในเวลาต่อมาจะทำให้ตำบลแห่งนี้มีชื่อเสียงในฐานะสถานที่วายชีวาของปัญญาชนนักปฏิวัติคนสำคัญของประเทศไทย โดยใช้เวลากว่า 20 ปี กว่าที่ผู้ก่อร้ายคอมมิวนิสต์จะกลายมาเป็นบุคคลสำคัญของท้องถิ่นที่รัฐส่งเสริมให้มีการหวนรำลึกถึงอย่างสม่ำเสมอ จาก ‘ผีบักข่อหล่อ’ จนกลายมาเป็น ‘อาจารย์จิตร’ ที่เคารพของชาวบ้านในตำบลคำบ่อ

จิตร ภูมิศักดิ์ ได้เข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำลาดยาว ซึ่งจิตรถูกจับกุมในข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ภายหลังจากที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจอมพล ป.พิบูลสงครามเพียงหนึ่งวัน โดยจิตรได้ขอทางพรรคเข้าทำงานมวลชนในเขตงานเลขที่ 555 แถบอำเภอวาริชภูมิซึ่งยังเป็นพื้นที่สีขาว ทั้งยังเป็นพื้นที่มีกำลังทหารตั้งรับอยู่หนาแน่น ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 จิตรอาสาลงจากภูเขามายังหมู่บ้านหนองกุง เพื่อมาขออาหารจากหญิงชาวบ้านเพื่อนำกลับไปให้สหายร่วมรบที่รออยู่บนภูเขา ซึ่งก่อนหน้านั้นหน่วยของจิตรมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐจนต้องล่าถอยไปอยู่บนภูเขา หลังจากหญิงชาวบ้านได้มอบอาหารให้แก่เขาแล้ว หญิงชาวบ้านคนดังกล่าวจึงนำข่าวการมาเยือนของเขา ไปแจ้งแก่กำนันแหลม จากนั้นกำนันแหลมจึงรวบรวมอาสาสมัครรักษาดินแดนไล่ตามจิตรไปถึงทุ่งนาชายป่าและยิงจิตรจนเสียชีวิต ศพของจิตรถูกเผาทำลายทันทีในวันนั้น หลังจากที่จิตรเสียชีวิตลง ก็ไม่มีการเคลื่อนไหวทำงานมวลชนของพรรคคอมมิวมิสต์ในพื้นที่แถบนี้อีกเลย เพราะถูกมองเป็นพื้นที่ ‘ล้าหลัง’ และถูกยึดกุมโดยรัฐ

กำนันแหลม เจ้าของฉายาสี่ขั้นพันดาว ได้เป็นหนึ่งในห้าผู้นำท้องถิ่นในภาคอีสานที่ได้รับคัดเลือกให้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลากว่าสองเดือน ไม่แน่ชัดว่าเป็นผลมาจากวีรกรรมของเขาในวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 หรือไม่ อีกทั้งยังได้รับเลือกเป็นกำนันดีเด่นในปีเดียวกัน จากบทบาทที่กำนันแหลมเป็นหัวเรือสำคัญในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ และมีส่วนในโครงการพัฒนาในชุมชน อย่างตัดถนนเข้าหมู่บ้าน จัดระเบียบหมู่บ้านจนทำให้ท้องถิ่นปราศจากอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ ในส่วนของจิตรกลายเป็น ‘ผีบักข่อหล่อ’ (คำว่าบักข่อหล่อเป็นคำภาษาอีสานใช้อธิบายสิ่งที่มีขนาดเล็กหรือไม่สมบูรณ์ ที่ชาวบ้านเรียกจิตรเช่นนี้ น่าจะมาจากการที่ศพของจิตรขณะที่เสียชีวิตอยู่ในสภาพนอนขดตัวเล็ก) ที่ชาวบ้านหนองกุงร่ำลือกันถึงการให้หวยที่แม่นของผีตนนี้

“ช่วงที่ผมเข้าป่าในช่วงก่อน 6 ตุลา ผมได้มีโอกาสเข้าไปในฐานที่มั่นภูพานของพรรคและได้เข้าร่วมโรงเรียนการเมือง ผมมีความแปลกใจอยู่อย่างหนึ่งคือ ตอนที่อยู่ในเมือง จิตรเป็นเหมือนฮีโร่ เป็นแบบอย่างของเรา แต่พอเข้ามาในป่ากลับไม่มีใครพูดถึงจิตรเลย จะถูกพูดถึงบ้างเฉพาะในกลุ่มนักศึกษา ส่วนสหายชาวนาที่ไม่ได้มีส่วนกับทางบ้านหนองกุง ไม่มีใครรู้จักจิตร” บัณฑิต จันทศรีคำ ผู้เขียนหนังสือ ‘วาระสุดท้ายแห่งชีวิตจิตรภูมิศักดิ์’ กล่าว

โดยบัณฑิตเล่าให้ฟังอีกว่า แม้แต่ในช่วง 2529 ที่มีโอกาสกลับไปลงพื้นที่รอยต่อจังหวัดสกลนคร-อุดรธานีเพื่อตามรอยจิตรภูมิศักดิ์ ณ เวลานั้นจิตรไม่ได้เป็นที่รู้จักหรือเป็นบุคคลสำคัญของตำบลเหมือนในปัจจุบัน

จิตร ภูมิศักดิ์ เริ่มมีตัวตนในตำบลคำบ่อในราวปี 2530 เริ่มจากที่มีกลุ่มสายธารวรรณกรรมจากจังหวัดยโสธร นำโดยพิเชษฐ์ ทองน้อย และสานิต มาสขาว สนใจติดตามชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ เข้ามาในพื้นที่ โดยการเข้าหาพระมหาพงษ์สุริยา เจ้าอาวาสวัดประสิทธิ์สังวร หลังจากทางกลุ่มได้พูดคุยกับทางพระมหาพงษ์สุริยา ทำให้ท่านสนใจเรื่องราวของจิตร นำมาสู่การทำบุญทอดพระป่าสามัคคีให้แก่จิตร และต่อมามีการขุดกระดูกของจิตรขึ้นมาเป็นครั้งแรกเพื่อบรรจุในเจดีย์ในปี 2533 โดยเจ้าอาวาสวัดประสิทธิ์สังวรเป็นผู้ดำเนินการต่างๆ อย่างเสร็จสรรพ จนในปีถัดมาภิรมย์ ภูมิศักดิ์ พี่สาวของจิตรได้เข้ามาทำการบูรณะวัดประสิทธิ์สังวรเพื่อทำบุญให้จิตรและขอซื้อที่ดินในจุดที่จิตรเสียชีวิต จนเกิดการทำบุญเป็นประจำทุกปีในช่วงวันที่ 5 พฤษภาคม เรื่องราวสหายปรีชาก็เริ่มเป็นที่คุ้นเคยของชาวบ้าน

“ชาวบ้านมองจิตรเป็นคนมีความรู้ เป็นคนเขียนหนังสือ เขามองมุมนี้มากกว่า เขาไม่ได้มองมุมนักปฏิวัติ ชาวบ้านเลยเรียกว่าอาจารย์จิตร ซึ่งเรียกตามเจ้าอาวาสเพราะคนที่เล่าเรื่องจิตรให้ชาวบ้านฟังคือเจ้าอาวาส กว่าจิตรจะมีตัวตนในชุมชนก็ใช้เวลามากกว่า 20 ปี นับจากปีที่จิตรเสียชีวิต” บัณฑิต กล่าวเสริม

ในปี 2543 จึงเกิดกิจกรรมงานรำลึกการจากไปของจิตร ภูมิศักดิ์ ขึ้นเป็นครั้งแรก มีการมอบที่ดินในจุดเสียชีวิตของจิตรที่ภิรมย์ซื้อมาให้แก่วัดประสิทธิ์สังวร จิตรจึงไม่ได้เป็นคนแปลกหน้าของตำบลแห่งนี้อีกต่อไป

“ผมมีโอกาสได้ลงไปบ้านหนองกุงในปี 2542 ผมได้ไปเห็นชาวบ้านไหว้เจดีย์จิตร ภูมิศักดิ์กัน ก็เลยเดินไปคุยกับเขา ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าเจ้าพ่อจิตรให้หวยแม่น ต้องไหว้เจ้าพ่อจิตรด้วยบุหรี่เพราะว่าท่านชอบบุหรี่ นอกจากบุหรี่แล้วก็ต้องไหว้ด้วยเบียร์ดาวแดงคือไฮเนเกน ใช้ยี่ห้ออื่นไม่ได้” สุธาชัย กล่าวในงานเสวนา 80 ปีจิตรภูมิ คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 29 ตุลาคม 2553

ส่วนกำนันแหลมต้องคอยหลบผู้คนไปอยู่ที่อื่นเวลาจัดงานรำลึกจิตร มักจะมีคนจากต่างถิ่นที่มาร่วมงานเข้าไปถามหากำนันที่บ้าน

มาถึงในปี 2547 ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตำนานจิตร ภูมิศักดิ์ในตำบลคำบ่อแห่งนี้ เมื่อสถานที่เสียชีวิตของจิตรถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มีการดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณนั้น มีการปรับปรุงเส้นทาง สร้างศาลาพักร้อน ห้องน้ำ ซึ่งได้รับอนุมัติงบประมาณจากผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร และในวันที่ 5 พฤษภาคมของปีเดียวกันผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์การบริหารส่วนตำบลคำบ่อ ร่วมกันจัดงานรำลึก 38 ปีแห่งการเสียชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ จนเป็นจุดเริ่มต้นที่ อบต. เป็นเจ้าภาพจัดงานรำลึกการจากไปของนักปฏิวัติผู้นี้ในปีต่อๆ มา และแปรเปลี่ยนเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำเทศบาลตำบลคำบ่อที่ว่า

‘ภูไทคำบ่อ งามละออผ้าไหม น้ำตกใสแม่คำดี ม้วยชีวีจิตรภูมิศักดิ์'

ท่ามกลางกระแสที่รัฐส่งเสริมการสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การตายของจิตรถูกมองเป็นจุดสำคัญของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐกลายมาเป็นบุคคลที่รัฐท้องถิ่นส่งเสริมให้รำลึกถึง เด็กในโรงเรียนแถบนั่นต่างก็ต้องเรียนเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของจิตร หลังที่รัฐมีการส่งเสริมการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น บ้านหนองกุงแห่งนี้ได้ต้อนรับผู้คนต่างถิ่นหลั่งไหลเดินมาเพื่อศึกษาตามรอยชีวิตของปัญญาชนคนสำคัญคนนี้อย่างไม่ขาดสาย

“รัฐมองจิตรเปลี่ยนไป ด้วยบริบทสังคมที่คลี่คลายลง สงครามเย็นได้สิ้นสุดไปแล้ว ยิ่งมีการเมืองท้องถิ่นเข้ามาก็ทำให้ท้องถิ่นสามารถจัดการอะไรพวกนี้ได้ รัฐส่วนกลางอาจจะยังไม่เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับจิตรก็ได้ แต่รัฐท้องถิ่นเปลี่ยนไปแน่ ไม่ว่าจะเปลี่ยนด้วยอะไรก็ตาม แต่มันเปลี่ยน ตั้งแต่ที่ผมลงไปที่หนองกุงครั้งแรกจนถึงทุกวันนี้ที่มีอะไรต่างๆ มากมายที่ผมก็คิดไม่ถึงเหมือนกัน ถ้าจะให้เครดิตก็คงต้องให้เครดิตกับเจ้าอาวาสในวันนั้น” บัณฑิตทิ้งท้าย

 

โปรดติดตาม

สัมภาษณ์ ‘ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์’ บุหรี่ที่หายไปของจิตร ภูมิศักดิ์ 

ที่นี่ เร็วๆ นี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท