สัมภาษณ์ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ 'บุหรี่' ที่หายไปของ 'จิตร ภูมิศักดิ์'

บทสัมภาษณ์ในวาระครบรอบ 50 ปี การเสียชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์ ประชาไทพูดคุยกับ รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับการพยายามแก้ไขภาพบุหรี่ออกภาพโปสเตอร์จิตร ผู้เขียนบทความ ‘จิตร ภูมิศักดิ์ในความทรงจำของใคร อย่างไร’ บทความที่เสนอมุมมองเกี่ยวการลบภาพบุหรี่ออกจากภาพของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่นอกจากสะท้อนกระแสสังคมที่มีอิทธิพลกับผู้คนในขณะนั้นแล้ว ยังอธิบายได้ถึงวิธีการเลือกที่จะจดจำวีรบุรุษในแต่ละสังคมอีกด้วย

ประชาไท: อะไรเป็นกระบวนที่สร้าง จิตร ภูมิศักดิ์ ให้เป็นวีรบุรุษในขบวนการนักศึกษา
ชูศักดิ์: ผมคิดว่ามันเริ่มจากงานเขียนก่อนครับ ที่จริงจิตรก็เป็นที่รับรู้ของคนจำนวนหนึ่งก่อนหน้านั้นแล้ว ตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา เช่น งานศิลปะเพื่อชีวิต ผมก็เคยได้อ่านก่อน 14 ตุลาแล้ว มันก็มีคนอยู่ส่วนหนึ่งที่รู้จักงานของเขา ในหมู่นักศึกษา มีคนจำนวนหนึ่งที่พอจะรู้จักชื่อจิตร พอหลัง 14 ตุลาที่บรรยากาศทางการเมืองมันเปิดกว้าง มีประชาธิปไตยมากเป็นพิเศษ มันก็ทำให้งานของจิตรเป็นที่รับรู้มากขึ้น โดยเฉพาะการเอาโฉมหน้าศักดินาไทยมาพิมพ์ใหม่ ซึ่งเป็นงานชิ้นสำคัญที่มันอธิบายอดีตต่างไปจากที่เราเคยรับรู้หรือเข้าใจกัน มันก็ทำให้จิตรเป็นนักคิดที่มีบทบาทสำคัญต่อขบวนการนักศึกษาประชาชนในช่วงนั้น

มีข้อเสนอของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่เสนอไว้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีบทบาทอยู่พอสมควรที่สร้างให้จิตรเป็นฮีโร่ของนักศึกษาในยุคนั้น สหายจัดตั้งที่อยู่ในเมืองมีการผลักดันในการเชิดชูจิตรหรือมีการทยอยเอาผลงานของจิตรมาพิมพ์ใหม่ ผ่านสำนักพิมพ์ที่พรรคคอมมิวนิสต์มีสายสัมพันธ์ด้วย มันก็ทำให้งานของจิตรมีการเผยแพร่มากขึ้น จนงานของจิตรเป็นที่รู้จักกันเยอะ งานหลักๆ ที่นักศึกษามักพูดถึงก็คือ ศิลปะเพื่อชีวิตกับโฉมหน้าศักดินาไทย
 

ทำไมทางพรรคคอมมิวนิสต์ถึงเลือกที่จะเชิดชูจิตร ทั้งที่มีนักคิดฝ่ายซ้ายที่มีชื่อเสียงอยู่หลายคน เช่น นายผี อัศนี พลจันทร์ หรือเปลื้อง วรรณศรี
นักคิดคนอื่นก็เป็นที่รับรู้อยู่บ้าง อย่างงานของนายผีหลายชิ้นก็ได้รับการตีพิมพ์ออกมา งานข้อคิดจากวรรณคดีที่ชำแหละวรรณคดีโบราณ โดยเฉพาะลิลิตพระลอก็มีการพูดถึงอยู่บ้าง ผมว่ามันไม่ได้มีจิตรคนเดียวที่มีการหันไปรื้อฟื้นงานของฝ่ายซ้ายในอดีตมาเผยแพร่ใหม่ งานของเปลื้อง วรรณศรีหรืองานของศรีบูรพาก็เอามาพิมพ์ใหม่ ในบรรดาอดีตฝ่ายซ้ายในยุคนั้นจิตรอาจจะเด่นที่สุด

อันนี้พูดยากว่าทำไม อาจจะเป็นเพราะว่าจิตรหนุ่มที่สุด มันอาจจะมีความรู้สึกที่นักศึกษาสามารถเชื่อมโยงไปถึงตัวเขาเองมากกว่า เป็นไปได้อีกว่าการที่เขาตายในหน้าที่นักปฏิวัติที่ถูกอาสาสมัครรักษาดินแดนฆ่า มันไปพ้องกับเรื่องเช กัววารา ซึ่งก็เป็นหนึ่งในฮีโร่ของฝ่ายซ้ายในยุคนั้น อาจารย์สมศักดิ์ก็เสนอว่าจริงๆ แล้วพรรคคอมมิวนิสต์ก็มีบทบาทอยู่ในระดับหนึ่งที่ผลักดันให้เช กัววารา กลายเป็นฮีโร่ในสังคมไทย

ถ้าจะถามว่าทำไมขบวนนักศึกษาต้องมีฮีโร่ อาจารย์สมศักดิ์เสนอไว้ว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่พรรคคอมมิวนิสต์มองว่านักศึกษาปัญญาชนในเมืองยังติดลักษณะที่ชื่นชอบฮีโร่อยู่ ก็เลยต้องหาฮีโร่ฝ่ายซ้ายขึ้นมาสักคนสองคนที่จะเป็นจุดเชื่อมโยงให้คนเหล่านี้มาสนใจแนวคิดของสังคมนิยม นั่นก็เป็นคำอธิบายชุดหนึ่งได้

ในส่วนที่ผมเสริมหรือมองเพิ่มก็คือว่า ปรากฏการณ์นิยมฮีโร่ในยุคนั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของกระแสวัฒนธรรมแบบที่เรียกว่าสังคมแบบมหรสพ มันเป็นกระแสในวัฒนธรรมโดยรวมที่เริ่มจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่ทุกวันนี้เราเรียกว่าเซเล็บ ถ้าพูดแบบภาษาสมัยนี้ ในยุค 60 ถึง 70 ของบ้านเรา มันมีนิตยสารหลายฉบับที่เอานักร้องนักดนตรีหรือดารามาเผยแพร่เป็นรูปโปสเตอร์ เหมือนในหนังสือสตาร์พิคส์ ในแง่ของวัฒนธรรมมวลชน มันมีกระแสที่จะหันมาเชิดชูยกย่องคนดังอยู่ ถ้าเรามองในกรอบอย่างนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ หรือเช กัววาราก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสดังกล่าว


ภาพต้นฉบับที่จิตรคาบบุหรี่

การลบบุหรี่ออกจากภาพของจิตรมีความเป็นมาอย่างไร
จำได้ว่ามันมีกลุ่มนักศึกษาคิดที่จะพิมพ์ภาพโปสเตอร์จิตร ภูมิศักดิ์ โดยภาพที่ผู้คนพอจะคุ้นเคยกันอยู่บ้างก็คือภาพที่จิตรคาบบุหรี่ ซึ่งตอนนั้นไม่มีคนได้เห็นภาพถ่ายจริงหรอก ภาพดังกล่าวเป็นเพียงภาพที่สเกตช์มาจากภาพจริง ซึ่งตอนนั้นผมก็ได้เห็นแล้ว ต่อมาภาพดังกล่าวมีการพิมพ์ออกมาขาย ซึ่งก็มาพร้อมกระแสที่มีภาพเช กัววาราที่มีออกมาก่อน หลังจากที่ภาพนี้ออกมาขายได้ไม่นานก็มีการพูดกันในขบวนการนักศึกษาว่ามันไม่เหมาะหรือเปล่าที่เป็นรูปจิตรสูบบุหรี่ อีกทั้งมีเงื่อนไขพิเศษที่ว่าขบวนการนักศึกษาในตอนนั้นเกิดการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเรียกร้องวิพากษ์ชีวทัศน์หรือแบบแผนวิธีปฏิบัติในชีวิตว่านักปฏิวัติ นักสังคมนิยม ฝ่ายซ้ายหรือนักศึกษาควรจะมีวิถีชีวิตที่ดีงามด้วย เรื่องการสูบบุหรี่ กินเหล้า เที่ยวซ่องพวกนี้ก็จะถูกวิจารณ์ กระแสอันนี้มันก็มีผลให้คนเขาพูดกันว่าโปสเตอร์จิตรรูปนี้มันไม่เหมาะ ผมเลยเข้าใจว่าโปสเตอร์นี้มันเลยไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าไหร่ ผมก็ไม่ทราบว่าถึงขั้นเก็บไม่ขายเลยหรือเปล่า ผมจำได้ว่ามันเคยขายอยู่หน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนั้นมันก็หายไป แต่พอหลัง 6 ตุลาก็มีการเอาภาพดังกล่าวมาพิมพ์ใหม่ และก็ยังเป็นรูปเดียวกับโปสเตอร์คาบบุหรี่ แต่ครั้งนี้บุหรี่มันถูกแต่งถูกตัดออกไปแล้ว ก็กลายเป็นรูปจิตรไม่สูบบุหรี่ เป็นที่มาของบทความผมชื่อว่า จิตร ภูมิศักดิ์ในความทรงจำของใคร อย่างไร
 


ภาพโปสเตอร์ที่เป็นภาพสเก็ตช์ จากภาพถ่ายต้นฉบับ

 

มันตลกตรงที่ภาพดังกล่าวเกิดจากการแอ็คท่าถ่ายภาพของจิตร เหมือนจะทำให้ดูเหมือนเป็นผู้ชายแมนๆ ซะหน่อย เลยเอาเหล้ามาถือ เอาบุหรี่มาคาบไว้
 

 

การลบบุหรี่ออกจากปากของจิตรสะท้อนให้เห็นอะไรในขบวนนักศึกษาขณะนั้น
กรณีนี้มันซับซ้อน ถ้าพูดให้ง่าย คนที่อยู่ในขบวนการนักศึกษาเขาอาจมองว่าฮีโร่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในทุกด้าน ทำให้เขารู้สึกว่าถ้าจิตรสูบหรี่จะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี เหมือนกับสมัยนี้ดาราต้องไม่เสพยาบ้า ก็กลายเป็นเรื่องแบบนั้นไป มันก็เป็นปัญหาในเรื่องวิธีการสร้างฮีโร่ แต่จริงๆ แล้วผมคิดว่ามันก็ไม่ได้ง่ายและไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น ที่บอกว่าฮีโร่ต้องดีทุกด้านมันก็...จริงๆ ก็ไม่ใช่หรอก มันหมายถึงว่าในสังคมฮีโร่ต้องเป็นแบบอย่าง แต่มันไม่ได้หมายความว่าต้องดีทุกด้าน เผอิญกรณีสูบบุหรี่ในยุคนั้นมันไปสอดคล้องกับการรณรงค์เรื่องชีวทัศน์เยาวชนหรือนักศึกษา ทำให้ประเด็นเรื่องบุหรี่มันเซนสิทีฟขึ้นมาทันที อย่างที่บอก ฮีโร่ไม่จำเป็นจะต้องดีในทุกด้าน แต่ด้านที่จะต้องดีหรือไม่พึงกระทำในแต่ละช่วงแต่ละยุคมันก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งจริงๆ ตอนนั้นการสูบบุหรี่ไม่ใช่เรื่องไม่ดีหรือเสียหายอะไรในสังคมหรอก ไม่เหมือนสมัยนี้ที่มีคนมารณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ แต่โดยเงื่อนไขพิเศษในขณะนั้นในขบวนการมีการรณรงค์เรื่องชีวทัศน์อย่างที่ว่า ภาพถ่ายดังกล่าวไม่ชัดเจนว่าเป็นช่วงที่จิตรเรียนอยู่หรือไม่ จากที่มีการสืบค้นพบว่าเป็นภาพที่จิตรไปเที่ยวอยุธยากับเพื่อน มันตลกตรงที่ภาพดังกล่าวเกิดจากการแอ็คท่าถ่ายภาพของจิตร เหมือนจะทำให้ดูเหมือนเป็นผู้ชายแมนๆ ซะหน่อย เลยเอาเหล้ามาถือ เอาบุหรี่มาคาบไว้

ในหมู่นักศึกษาในขณะนั้นมันก็มีวัฒนธรรมสองอย่างที่ปนๆ กันอยู่คือวัฒนธรรมแบบพระเอก แบบหนังฮอลลิวูด มันก็มาตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา อิทธิพลของวัฒนธรรมแบบอเมริกายุค 60 พวกฮิปปี้อะไรแบบนี้ มันก็มีบทบาทกับขบวนการนักศึกษาพอสมควร ภาพของคนที่ดูเหมือนกับว่ามันขบถกับสังคม มันก็ดูน่าสนใจ เมื่อมันมาผสมกับขบวนการหรืออิทธิพลของฝ่ายซ้าย ซึ่งก็จะมีวัฒนธรรมหรือวิธีคิดอีกชุดหนึ่ง ที่มองความเป็นวีรบุรุษที่ต้องเข้มงวดต่อตัวเอง มีแบบแผนชีวิตที่บริสุทธิ์ค่อนข้างมาก มันก็เลยเหมือนกับว่ามาปะทะกันอยู่ ภาพจิตรที่ต้องเปลี่ยนจากสูบบุหรี่มาเป็นไม่สูบบุหรี่ มันสะท้อนให้เราเห็นถึงการปะทะกันของวัฒนธรรมสองกระแสที่อยู่ในขบวนการนักศึกษา
 

ทำไมถึงมีการหันมาเชิดชูจิตรแทนเช กัววารา
เชเดิมก็เป็นฮีโร่ที่ขบวนการนักศึกษายกย่องเชิดชูอยู่แล้ว มีหนังสือชีวประวัติของเชมาก่อน 14 ตุลา จากที่อาจารย์สมศักดิ์ ได้เสนอไว้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์มองว่าถึงแม้เชจะเป็นนักปฏิวัติ แต่เชมีลักษณะเป็นนักปฏิวัติแบบฉายเดี่ยว คือร่วมปฏิวัติเสร็จก็ไม่ได้อยู่คิวบาต่อ ไม่สร้างขบวนการปฏิวัติของตัวเองขึ้นมา ถ้ามองในแง่พรรคคอมิวนิสต์ที่เคร่งคัดในระเบียบวินัย อย่างเรื่องการนำลักษณะที่รวมหมู่ เชก็อาจไม่ใช่ฮีโร่ที่พรรคคอมมิวนิสต์พึงประสงค์เท่าไหร่ มันมีลักษณะแบบวีรชนเอกชน ก็เลยหันมาเชิดชูจิตรแทน

ในสังคมอื่นๆ มีการเลือกจำอะไรบางอย่างและไม่จำอะไรบางอย่างของวีรบุรุษ เรื่องราวของจิตรก็มีลักษณะนี้ใช่ไหม
อันนี้มันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ทุกที่ก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น กระบวนการการสร้างฮีโร่เป็นกระบวนการของการเลือก ตั้งแต่จะจำใคร ไม่จำใคร มีกระบวนการเลือกสรรว่าใครควรจะเป็นฮีโร่ ในสังคมไทยคุณก็จะเห็นอยู่ว่ามีใครบ้างที่เราจดจำ บุคคลประเภทไหนที่เราจะจำหรือไม่จำ มันก็เหมือนประวัติศาสตร์ ซึ่งมันจะบอกเราได้เยอะเกี่ยวกับสังคมนั้นว่าสังคมหนึ่งเลือกที่จะจำคนแบบหนึ่ง อีกสังคมเลือกที่จะจำคนแบบหนึ่ง แต่การจะจำ เราก็ไม่เลือกที่จะจำทั้งหมดของเขา จะเลือกว่าจะจำอะไร ไม่จำอะไร ถ้าจะพูดอย่างกว้างๆ เช่นสังคมอเมริกันที่พยายามจะเชิดชูความเป็นปัจเจกชน เชิดชูอุดมการณ์ประชาธิปไตย ความเป็นอิสระ เขาก็เลือกจะเชิดชูบุคคลอยู่จำนวนหนึ่งอย่าง เช่น กลุ่ม Founding Father ที่เข้าร่วมการปฏิวัติในการปลดปล่อยอเมริกาออกจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ก็จะเลือกจำคนแบบหนึ่งที่เน้นบุคลิกหรือภาพของคนที่เป็นอิสรชนต่อต้านอาณานิคมอังกฤษ

หรือกรณีลินคอล์นที่ถูกเชิดชูในการเลิกทาส ทั้งที่เราก็รู้ว่าจริงๆ แล้วสงครามกลางเมืองไม่ได้มีแค่เรื่องการเลิกทาส มันมีปัญหาอื่นด้วย แต่เราก็จำเขาในฐานะที่ผลักดันให้เกิดการล้มระบบทาสในอเมริกา ในเมืองไทยเราก็เห็นว่ามีการเลือกจำวีรบุรุษในอดีตของเรา เราจะเลือกจำวีรบุรุษที่เน้นการกู้ชาติหรือการปกป้องรักษาชาติเอาไว้ มีคนตั้งคำถามว่าหมกมุ่นกับการกู้ชาติปกป้องเอกราชเท่านั้นหรือ มันมีเรื่องอื่นตั้งมากมายที่คนในอดีตก็ทำ แค่เราเลือกไม่จำวีรกรรมเหล่านั้น เช่น เวลาเราเลือกจำพระมหากษัตริย์ที่สำคัญๆ จะพบว่ากษัตริย์ที่เรามักจดจำจะต้องผูกพันกับการกู้ชาติหรือเอกราชของชาติ แต่กษัตริย์องค์อื่นที่เขามีบทบาทด้านอื่นๆ เราก็มักจะไม่จำ ก็แสดงว่าวีรบุรุษจะเป็นตัวแทนของอุดมการณ์บางอย่างในสังคมนั้นๆ

 

เมื่อสังคมได้เรียนรู้หรือเมื่ออุดมการณ์หรือค่านิยมใหม่ๆ เข้ามาในสังคม ฮีโร่ในอดีตซึ่งเคยรับใช้อุดมการณ์บางอุดมการณ์ก็ถูกตรวจสอบ ก็เหมือนกับจิตร ภูมิศักดิ์เจอกระบวนการที่ถูกจำในลักษณะต่างๆ กันมาหลายยุคหลายสมัยที่ไม่เหมือนกัน

แล้วที่ประเทศไทยหมกมุ่นอยู่กับเรื่องการเสียดินแดน มันเป็นความพยายามจะปิด ปมเรื่องการเสียเอกราชของเราหรือเปล่า
เรื่องนี้น่าจะเป็นเหตุผลเล็กๆ ไม่ใช่เหตุผลใหญ่ แต่ผมคิดว่ามันมีเป้าหมายหรือมีวาระที่ใหญ่กว่านั้น พอคุณให้ความสำคัญกับการกอบกู้เอกราช ถ้าเราเน้นเรื่องนี้มากแสดงว่าเราต้องมีกองทหารที่ใหญ่โตและแข็งแรงจำนวนมาก มันไม่ใช่แค่เรื่องปมด้อย มันทำให้สถาบันบางสถาบันกลายเป็นสถาบันที่ใหญ่มากในสังคมไทย ไม่ใช่แค่ปมเรื่องการเสียเอกราช แต่มันทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องมีทหารที่เป็นรั้วของชาติ เราก็ต้องเพิ่มจำนวนทหารเยอะๆ ที่มีคนเริ่มพูดว่าทำไมต้องเกณฑ์ทหาร คนก็บอกว่าต้องเกณฑ์ทหารไว้ปกป้องชาติไง แต่ถ้าเราไม่รู้สึกว่าชาติเราจะล่มสลาย เราก็จะเริ่มมีความรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นต้องมีกำลังทหารมากขนาดนี้ ประเทศไทยมีความคิดแบบอิสราเอลที่คิดว่าตัวเองล้อมรอบไปด้วยศัตรู
 

มีการพยายามสร้างวีรบุรุษทางเลือกใหม่ๆ ขึ้นมา สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ของอุดมการณ์ชุดต่างๆ ใช่ไหม
มันก็เป็นธรรมดา เวลาเราพูดถึงฮีโร่มันก็มีในระดับปัจเจก เหมือนเวลาไปถามคนถึงดาราในดวงใจหรือนักเขียนในดวงใจ เขาก็เป็นฮีโร่ของแต่ละบุคคล แต่ถ้าจะพูดถึงบุคคลสำคัญที่เป็นความทรงจำร่วมของคนในชาติ มันก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับกลไกจำนวนมากในสังคมว่าใครจะเป็นตัวแทนหรือความทรงจำร่วมของสังคม ใครที่ถูกเชิดชูขึ้นมา มันก็สะท้อนสังคมนั้นว่ายึดค่านิยมอะไรเป็นค่านิยมหลัก มันก็จะมีกลุ่มทางเลือกที่จะเสนอวีรบุรุษทางเลือกเพื่อจะไปแข่งกับค่านิยมหรืออุดมการณ์หลักของสังคม อย่างที่คุณยกตัวอย่างลุงนวมทอง ไพรวัลย์ แสดงว่าประชาธิปไตยของสามัญชนไม่ได้ถูกพูดถึงใช่ไหม อย่างกรณีคุณสืบ นาคะเสถียร ที่กลายเป็นฮีโรของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไป ทั้งที่คนจำนวนมากที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่จำเป็นต้องฆ่าตัวตายเหมือนคุณสืบก็ได้ ประเด็นคุณสืบก็น่าสนใจทั้งที่การตายของเขาก็อธิบายได้ลำบากเหมือนกันว่าทำไมต้องฆ่าตัวตาย แต่ก็กลายเป็นเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มันก็มีการแข่งกันไป

นี่ก็แสดงว่าฮีโร่มันไม่อมตะ มันก็ผ่านกระบวนการแข่งขันกันไปตลอด เพราะเมื่อสังคมพัฒนาและเรียนรู้มากขึ้น มันก็มีการมาทบทวนฮีโรเก่าเสมอ อย่างนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยในอังกฤษก็มีการกลับไปทบทวนฮีโร่ของมหาวิทยาลัย บางแห่งถึงขั้นไปทุบรูปปั้นทิ้งหรือเปลี่ยนชื่อตึกไปเลย เมื่อสังคมได้เรียนรู้หรือเมื่ออุดมการณ์หรือค่านิยมใหม่ๆ เข้ามาในสังคม ฮีโร่ในอดีตซึ่งเคยรับใช้อุดมการณ์บางอุดมการณ์ก็ถูกตรวจสอบ ก็เหมือนกับจิตร ภูมิศักดิ์เจอกระบวนการที่ถูกจำในลักษณะต่างๆ กันมาหลายยุคหลายสมัยที่ไม่เหมือนกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท