Skip to main content
sharethis

นิตยสารดิอิโคโนมิสต์เตือนจีนเสี่ยงต่อปัญหาเศรษฐกิจล่มจากภาวะหนี้สินที่ล้มเหลวซึ่งอาจจะส่งผลสะเทือนถึงราคาสินทรัพย์และเศรษฐกิจที่แท้จริง (real economy) โดยแนะว่าจีนควรดำเนินการเพื่อควบคุมให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เนื่องจากพลังในการควบคุมทางการเงินของรัฐบาลจีนไม่ได้มีมากเท่าเดิม

ย่านหลูเจียซุย, เซี่ยงไฮ้ ศูนย์กลางธุรกิจและการเงินการธนาคารของจีน รวมทั้งเป็นที่ตั้งของที่ทำการตลาดหลักทรัพย์ (ที่มา: wikipedia)

ดิอิโคโนมิสต์ฉบับ "Leader" มีบทความเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยระบุว่าหลังจากที่จีนดำเนินการไขก็อกเครดิตเเพื่อเกื้อหนุนให้เกิดการเติบโตหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกก็ดูเหมือนว่าจีนกำลังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไปในแนวทางที่ถูกต้อง แต่การที่จีนเลือกแผนการเกื้อหนุนดังกล่าวอีกครั้งก็ทำให้จีนเดินหน้าไปในทางที่ผิด โดยที่จีนมีอัตราหนี้สินเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อัตราต่อจีพีดีเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 150 เป็นราวร้อยละ 260 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาหลังการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างฉับพลัน

อัตราการกู้ยืมที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเพิ่งสูงขึ้นเป็นสองเท่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นร้อยละ 5.5 จากอัตราการกู้ยืมจากะนาคารในจีน สภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจจีนมืดมนกว่านั้น ทางการจีนต้องการเครดิตมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่มีการเติบโตน้อยลงเรื่อยๆ จนในตอนนี้พวกเขาต้องให้เงินกู้ยืมเกือบ 4 หยวนเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1 หยวน จากการที่รัฐบาลจีนมองข้ามความผิดพลาดของตัวเองก็จะส่งผลให้อัตราหนี้สินเพิมมากขึ้นเรื่อยๆ ไปอีกสองสามปี และเมื่อถึงจุดเปลี่ยนของวงจรหนี้สินแล้ว จะสะเทือนถึงทั้งราคาสินทรัพย์และเศรษฐกิจที่แท้จริง (real economy) ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อใครเลย

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าภัยที่เศรษฐกิจที่จีนก่อขึ้นในบ้านตัวเองจะส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกเนื่องจากจีนมีภาคส่วนการธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสินทรัพย์เทียบเท่าร้อยละ 40 ของจีดีพีทั่วโลก มีตลาดหุ้นรวมมูลค่า 6 ล้านล้านดอลลาร์ รองจากสหรัฐอเมริกา แม้จะมีเหตุตลาดล่มเมื่อปีที่แล้ว อีกทั้งจีนยังมีมีตลาดพันธบัตรมูลค่า 7.5 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้พิษเศรษฐกิจในจีนจะส่งผลต่อโลกจากเมื่อก่อนหน้านี้หลังจากที่ค่าเงินหยวนลดลงร้อยละ 2 ส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกล่มได้ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเล็กน้อยก็ส่งผลต่อผู้ส่งออกสินค้าทั่วโลก และคนที่จะเจ็บหนักคือกลุ่มคนที่ทำกำไรจากอุปสงค์ของชาวจีน

ยังมีคนที่มองโลกในแง่ดีมองว่าจีนจะแก้ปัญหานี้ได้ด้วยสองเหตุผลคือ หนึ่ง การที่จีนแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้มาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เมื่อค้นพบสาเหตุของปัญหาพวกเขาก็มีความสามารถในการแก้ไขมัน สอง คือ การที่จีนมีการควบคุมระบบการเงินของตัวเองทั้งธนาคารใหญ่ของรัฐและเหล่าลูกหนี้รายใหญ่ทั้งหลายทำให้พวกเขามีเวลาจัดการปัญหาเหล่านี้ แต่ดิอิโคโนมิสต์ก็ระบุว่าปัจจัยที่ชวนให้มองโลกในแง่ดีทั้ง 2 อย่างนี้กำลังจะหายไป

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่ารัฐบาลจีนไม่ได้มีความสามารถในการควบคุมระบบการเงินได้มากเท่าเดิมและพยายามอย่างมากในการไล่ตามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ มีการสูญเสียเงินทุนออกไปนอกประเทศ 6 แสนล้านดอลลาร์ ในการใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ มีการทำให้ภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นมาก ในขณะเดียวกันก็มีรายงานพิเศษในสัปดาห์นี้ระบุว่ารัฐบาลจีนเริ่มควบคุมการเงินไม่ได้แล้ว มีการปล่อยกู้อบบขาดการควบคุมเพิ่มมากขึ้นอยางรวดเร็วจนทำให้ "สินทรัพย์เงา" เหล่านี้เกิ่มมากขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 ต่อปีตลอด 3 ปีที่ผ่านมาโดยที่เหล่าธนาคารเงา (กลุ่มองค์กรที่ไม่ได้อยู่ในระบบธนาคารตามปกติแต่มีความเกี่ยวข้องกับการระดมเงินทุน การจัดการสภาพคล่องและระยะเวลาชำระหนี้ การรับโอนความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ และการจัดการอื่นๆ ในเรื่องนี้) พยายามกระจายความเสี่ยงออกไปจากธนาคารปกติ ในทางปฏิบัติแล้วการทำเช่นนี้ทำให้เกิดความพร่าเลือนอย่างมากระหว่างระบบธนาคารปกติทั่วไปกับธนาคารเงา

การกระทำดังกล่าวยังทำให้เกิดความเสี่ยง 2 ประการ คือ หนึ่ง การที่ธนาคารปกติจัดประเภทความเสี่ยงในการกู้ยืมผิดพลาดเนื่องจากกระหายกำไรในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวมากเกินไปจนเสี่ยงทำให้เกิดการสูญเสียต่อธนาคารมากกว่าที่คาดไว้ สอง คือปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจากการที่ธนาคารพึ่งพา "ผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่ง" (wealth management products) มากเกินไป

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าการสร้างหนี้ทับถมตัวเองของจีนในครั้งนี้จะดูไม่เหมือนวิกฤตทางการเงินในอดีต ระบบธนาคารเงาของจีนใหญ่โตก็จริงแต่มันก็ไม่ได้ทำให้เกิดสินค้าใดๆ ที่มีความซับซ้อนหรือออกสู่นานาชาติได้มากพอแบบเดียวกับวิกฤตซับไพรมของสหรัฐฯ เมื่อปี 2551 แต่การพยายามห่อหุ้มระบบการเงินตัวเองเช่นนี้จะทำให้เกิดวิกฤตคล้ายกับในเอเชียช่วงปี 2540-2541 จากการที่ประเทศอย่างไทย เกาหลีใต้ กู้ยืมจากต่างชาติมากเกินไป บ้างก็กังวลว่าวิกฤตที่จะเกิดกับจีนจะคล้ายกับที่เคยเกิดกับญี่ปุ่นช่วงยุคทศวรรษ 1990s ที่ค่อยๆ คืบคลานไปสู่ภาวะซบเซาอย่างช้าๆ แต่ดิอิโคโนมิสต์ก็ระบุว่าระบบการเงินของจีนนั้นมีความโกลาหล และมีแรงกดดันให้เงินทุนหมุนเวียนมากกว่า ทำให้วิกฤตของจีนอาจจะเกิดขึ้นรุนแรงกว่าและฉับพลันกว่าของญี่ปุ่น

ดิอิโคโนมิสต์ระบุต่อไปว่ามีอยู่อย่างหนึ่งที่แน่นอนคือถ้าจีนยิ่งประวิงเวลาแก้ไขปัญหาออกไปก็จะยิ่งทำให้เกิดผลกระทบมากขึ้น พวกเขาควรเตรียมรับมือกับความโกลาหลที่อาจจะเกิดขึ้นโดยวางแผนแบบเดียวกับการรับมือตลาดหุ้นล่มเมื่อปีที่แล้วเอาไว้ล่วงหน้า และแทนที่จะใช้วิธีการกระตุ้นทางการเงินเพื่อทำให้อัตราการเติบโตสูงกว่าเป้าหมายที่เป็นทางการ รับาลจีนควรเก็บแรงไว้จัดการกับหายนะที่แท้จริงที่อาจจะเกิดขึ้น ที่สำคัญกว่านั้นคือการจัดการลดหนี้สินที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยการปิดบริษัทที่ล้มเหลวและปล่อยให้การเติบโตลดลง มันอาจจะยากแต่ก็สายเกินไปแล้วสำหรับจีนที่จะหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดเหลือแต่การทำให้อะไรๆ แย่น้อยลงเท่านั้น

 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
China's financial system : The coming debt bust, The Economist, 07-05-2016

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net