Skip to main content
sharethis

เพราะชาวบ้านรู้ดีว่า ปัญหาเรื่องที่ดินและป่าไม้นั้น การจับกุมไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาและไม่ใช่ทางออก แต่กลับยิ่งสร้างความขัดแย้งกันมากขึ้น แต่การให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม มีการใช้พลังเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน โดยมีการสร้างกลไกระดับตำบล ใช้องค์กรปกครองท้องถิ่น เป็นตัวเชื่อมประสานขับเคลื่อนการทำงานเครือข่าย ไปพร้อมๆ กัน นั้นช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

นุจิรัตน์ ปิวคำ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(ภาคเหนือ) และหนึ่งในคณะทำงานของเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน บอกเล่ากระบวนการทำงานของเครือข่ายฯ ในช่วงแรกๆ ว่า “ในระดับชุมชนหมู่บ้าน เราให้แต่ละชุมชนหมู่บ้านทำกฎกติกาของตัวเอง แต่ว่าพอตอนเริ่มแรกจริงๆ ที่เราทำ เราเริ่มจากกลไกระดับตำบลเลย โดยเริ่มต้นจากตัวท้องถิ่นก่อน ซึ่งเรามองว่า มีผู้นำจากหมู่บ้านต่าง ๆ เป็นตัวแทนเข้ามา ให้นายกเทศมนตรี เป็นคนประกาศแต่งตั้งเป็นคณะทำงานที่มีสถานะเป็นทางการ ไม่ใช่เป็นนิติบุคคลแต่มีสถานะเป็นทางการ ซึ่งทำให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถประสานความร่วมมือการทำงานกันง่ายขึ้น จากนั้น เมื่อใช้กลไกเหล่านี้ ทางเครือข่ายและคณะทำงานร่วม ซึ่งมีทั้งชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ผู้นำท้องถิ่น ร่วมกันทำหน้าที่ในการไปสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่”

เช่นเดียวกับ อนุสรณ์ คำอ้าย นายก อบต.เปียงหลวง ได้บอกเล่าให้ฟังถึงการเข้ามามีบทบาท มีส่วนร่วมกับทางเครือข่ายฯ ว่า “จริงๆ แล้ว การจัดการทรัพยากร มันเป็นภาระหน้าที่ของท้องถิ่นโดยตรงที่ต้องทำ แม้ไม่มีภาคประชาชนมาร่วม ก็เป็นหน้าที่ที่ต้องทำอยู่แล้ว เป็นหน้าที่ที่เราต้องไปชวนเขามาทำอยู่แล้ว แต่ตรงนี้ดีหน่อย ที่ชุมชนเขารวมตัวกัน เป็นเครือข่ายฯ แล้วมาชวนภาครัฐเราทำด้วย ก็สอดคล้องกัน ในส่วนของท้องถิ่นที่เราได้เข้าไปร่วม คือการหนุนเสริมกระบวนการของชุมชน ตรงไหนขาดก็ร้องขอมาที่ท้องถิ่นได้ ในส่วน อบต.เปียงหลวง ผมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเข้าไปดำเนินการโดยให้ทางรองนายกฯ อัมพร เหม่ถ่า เข้าไปเป็นประธานร่วมกับทางกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ เพื่อหนุนเสริมกระบวนการให้โครงการนี้มีผลจริงในพื้นที่ ซึ่งพอเรา”

จากนั้น เมื่อได้กลไกระดับตำบล ชัดเจนแล้ว ก็นำไปสู่การแต่งตั้งกลไกระดับหมู่บ้านขึ้นมา ซึ่งกลไกระดับหมู่บ้านจะมีมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่หมู่บ้าน จำนวนประชากรในหมู่บ้าน บางชุมชนก็มี 10 คน บางหมู่บ้านก็มี 12 คน หรือ 15 คน แล้วแต่พื้นที่ ก็จะมีสัดส่วนของผู้นำ สัดส่วนของคนที่มีแรงมีใจเข้ามาทำงานกับเครือข่าย มีผู้นำท้องถิ่นหลายคน พร้อมและเต็มใจเข้ามาร่วมเป็นกลไกในระดับหมู่บ้าน ก็จะร่วมกันทำงาน ลงไปปฏิบัติการสำรวจแนวเขตด้วยกัน

นอกจากกลไกระดับหมู่บ้าน ซึ่งจะมีตัวแทนชาวบ้านเข้ามาเป็นคณะทำงานระดับหมู่บ้านแล้ว ก็ยังคณะทำงานอีกชุดหนึ่งเข้ามาร่วมหนุนเสริมกัน นั่นคือ คณะอนุกรรมการ PAC หรือที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้สถานะกลไกระดับชุมชนทำงานกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในช่วงที่เริ่มต้นลงสำรวจแนวเขตพื้นที่นั้นไปในทิศทางเดียวกัน และทำให้กระบวนการทำงานนั้นง่ายมากขึ้น

 

เรียนรู้เทคนิค เครื่องมือสร้างการเรียนรู้ ก่อนลงพื้นที่ช้ GPS วัดแนวเขต สำรวจรายแปลง

หลังจาก เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ร่วมกันสร้างกลไกกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการจับมือกับหลายๆ ฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในแต่ละพื้นที่ จากนั้น อันดับแรกของกระบวนการทำงาน ก็คือ ลงพื้นที่เพื่อทำการประชุมสร้างความเข้าใจในระดับหมู่บ้าน มีการประมวลองค์ความรู้ โดยเอาข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน การขับเคลื่อนชุมชน องค์ความรู้ในอดีต มาผสานกับเทคนิค เครื่องมือที่ใช้ในการสร้างการเรียนรู้แบบใหม่ ว่าจะทำอย่างไรถึงจะร่วมกันปกป้องฐานทรัพยากร

แข่ง วันคำ ผู้ใหญ่บ้านบ้านใหม่มะกายอน บอกเล่าว่า “เรามีการประชาคมหมู่บ้าน พูดคุยกับชาวบ้าน เกี่ยวกับกฎระเบียบของหมู่บ้าน และการออกสำรวจแนวเขตป่า ผมคิดว่ามันสำคัญมาก ถ้าเราไม่ออกกฎระเบียบให้เขา กลัวเขาจะบุกรุกที่ดินเพิ่ม ถ้าไม่มีกฎระเบียบบังคับกัน มันจะบังคับกันไม่ได้ในอนาคต ถ้าเราทำแบบนี้ มันก็คลุมหลายอย่างที่เราจะได้อยู่ร่วมกันในอนาคต”

“เมื่อมีการประชุมสร้างความเข้าใจ ในแต่ละหมู่บ้าน ก็จะมีการเลือกคนที่จะลงมาสำรวจแนวเขตกับเรา ส่วนใหญ่ก็ประมาณสัก 5 คน 10 คน พอเลือกแล้วก็จะมีทีมแผนที่ ทีมสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ของมูลนิธิ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่รับผิดชอบในพื้นที่มาอบรมชาวบ้านประมาณ 1-2 ชั่วโมง เพื่อที่จะเรียนรู้การใช้เครื่องไม้เครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องมือวัดค่าพิกัดบนผิวโลกจากดาวเทียม (GPS) การอ่านแผนที่ การใช้กล้องถ่ายรูป ที่ต้องประกอบไปด้วยกัน แล้วก็มีแบบฟอร์มบันทึกข้อมูล 4 ส่วน แล้วก็แบ่งบทบาทของแต่ละคน เพราะว่าเวลาลงสำรวจเราจะแบ่งกลุ่มออกเป็นโซน ถ้าใช้กลุ่มเดียวมันใช้เวลานาน แต่พอเราแบ่ง สมมติ 4 กลุ่ม ก็จะกระจายไปแต่ละพื้นที่ ผู้นำก็จะแบ่งกัน ป่าไม้ ทหารก็จะแบ่งชุดกัน และเราก็แบ่งทีมที่จะลงไปช่วยกระจายลงไป” นุจิรัตน์ ปิวคำ หนึ่งในทีมงานของเครือข่ายฯ อธิบายถึงการทำงานของเครือข่าย

ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ประธานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน

“ที่เราทำตอนนี้ เราแยกเป็น 2 ข้อมูล ตามมติ ครม. ทางอุทยานเขาก็มาช่วยจับจีพีเอสแปลงถือครอง ซึ่งก็เกิดความมั่นคงระดับหนึ่ง แล้วทีนี้ ไอ้ที่มันหลัง มติ ครม.ปี 2545 จะทำอย่างไร พี่น้องเขาทำกินกันแล้ว คนในชุมชนเรา มันยังเป็นคนในชุมชนจริงๆ ที่ทำ ไม่ได้มีนายทุน เพราะฉะนั้น คนที่มีมากสุดก็ไม่น่าเกิน 15 ไร่ ส่วนมาก 3-4 ไร่ หรือประมาณ 5-6 ไร่ ทำกินกันจริงๆ เราก็กลับมาทำข้อมูลกัน ที่มันเป็นมติ ครม.ก่อน หรือหลัง ปี2545 ก็ให้ทางอุทยานดูแลกันไป แล้วที่มันมีความจำเป็นจริงๆ เราก็เอาคณะกรรมการในชุมชนช่วยกันดูแล ดูแลนี้ คือ ทั้งให้ความมั่นคงกับเขาว่า นาย ก มีที่อยู่ 3-4 ไร่ จับ GPS จนครบคนในชุมชน แล้วนำเสนอกับหน่วยงานภาครัฐว่า คนเหล่านี้ไม่มีที่ทำกินแล้ว ถ้าจะไปยึดเขาหมด เขาจะกินอะไร ความมั่นคงของพี่น้องเราจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราช่วยกันดูแล แล้วไม่ให้รุกล้ำ สรุปคือ เราทำไปพร้อมๆ กัน ทั้งให้ทำกิน และป้องกันไม่ให้รุกล้ำเพิ่มอีก ส่วนไหนที่เก็บไว้ เราก็เก็บไว้” ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ประธานเครือข่ายเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ก็บอกเล่าให้เห็นภาพ

“ใช่แล้ว เวลาทีมงานลงไป เราก็ต้องสร้างความเข้าใจก่อนลงพื้นที่ว่า อันนี้ไม่ได้ไปรังวัดเหมือนโฉนดชุมชน เพราะไม่มีอำนาจที่จะเอาที่ดินของรัฐให้ใครแม้แต่ตารางเดียว แค่ไปบอกว่า อันนี้คุณทำกินแล้วไม่บุกรุกเพิ่ม แค่นั้นเอง ที่คณะกรรมการเน้นกับชาวบ้านตลอดคือ ถ้าคณะกรรมการลงไปวัดให้แล้ว ให้ทำกินเฉพาะในกรอบที่กรรมการวัดให้ คือ 1.ห้ามบุกรุกเพิ่ม 2. แปลงคดีห้ามไปแตะต้อง สองอย่างนี้จะบอกตลอดเวลาลงไปพบปะชาวบ้าน” นุจิรัตน์ ปิวคำ กล่าวเสริมถึงการลงไปสำรวจแนวเขต

เช่นเดียวกับ อัมพร เหม่ถ่า รองนายก อบต.เปียงหลวง ซึ่งเข้ามาเป็นหนึ่งในทีมงานของเครือข่ายฯ ในการขับเคลื่อน ก็ได้ยกกรณีตัวอย่างในเขตพื้นที่ตำบลเปียงหลวง เอาไว้ว่า “พื้นที่ตำบลเปียงหลวง วิธีการของเราก็คือ ผู้ใหญ่บ้านจะประกาศแจ้งให้กับลูกบ้าน สมมติจะลงพื้นที่สำรวจหมู่ 3 พ่อหลวงก็ประกาศให้ชาวบ้านที่มีที่ดินในเขตหมู่ 3 มาประชุมกัน แล้วคณะกรรมการตำบลจะมี 2 ชุด มีกรรมการตำบล กับอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นในหมู่บ้าน สร้างความเข้าใจกับพี่น้องชาวบ้านว่า เดี๋ยวนี้นโยบายรัฐมาอย่างนี้ เราจะต้องทำเรื่องสำรวจแนวเขตที่ดินทำกินอย่างนี้มารองรับ แล้วทีนี้ตกลงกันว่าเราจะลงพื้นที่วันไหน พอตกลงแล้ว ก็จะให้เจ้าของที่ดินไปรอที่สวน แล้วคณะกรรมการก็ลงพื้นที่ โดยมีแบบสัมภาษณ์พร้อมถ่ายรูปเจ้าของแปลงเอามาเป็นองค์ประกอบ ต่อจากนั้นก็จะมีการคืนข้อมูลเหมือนที่เห็นที่วัดบ้านจอง”

ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อมาถึงกระบวนการคืนข้อมูลให้ชุมชน จะมีการพิจารณาเป็นรายแปลงไป ว่าแปลงไหนที่ชัดเจน แปลงไหนที่สุ่มเสียง แปลงไหนที่ต้องขอคืนเป็นพื้นที่ป่า

“พอเราได้ข้อมูลจากเจ้าของแปลง ไปสู่กระบวนการคืนข้อมูลเรียบร้อย ก็จะมีการประชุมคณะกรรมการตำบลกันเพื่อร่วมกันพิจารณาว่า แปลงไหนที่สุ่มเสี่ยง หรือแปลงไหนที่อยู่หัวน้ำ หรือตรงไหนเป็นแปลงกระโดด หรือเป็นที่ป่า อันนั้น เราก็จะพิจารณาเป็นรายๆไป ไม่ใช่ว่า วัดสำรวจทุกคนแล้วได้ทุกคนนะ บางคนก็ต้องขอคืน ที่มันเสี่ยงจริงๆก็ต้องขอคืน เพราะมันจะมีทางเจ้าหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คณะกรรมการบางคนก็ลูบหน้าปะจมูก ก็ระบบอุปถัมภ์ยังมีอยู่ อันนี้เราก็ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป” ตัวแทนเครือข่ายฯ คนหนึ่งอธิบายให้ฟัง

ประธานเครือข่ายฯ ก็บอกเล่าให้ฟังว่า “เรามีคณะกรรมการในชุมชน มาพิจารณาเป็นรายๆ ไป ว่า ที่ตรงนี้สมควรให้ สมควรทำกิน ดูแลกันไปชั่วลูกชั่วหลาน ยกตัวอย่าง สมมติว่า นาย ก กับ นาย ข มีที่เหมือนกัน แต่ของนาย ก ดันไปอยู่ที่เราอนุรักษ์ไว้ เป็นหัวน้ำ เราขอตรงนั้นได้ไหม ก็ขอคืนได้หลายราย โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ต้องมายุ่ง พวกเราขอกันเอง สมมตินาย ก มีที่หัวน้ำ แล้วที่อื่นก็มีอยู่ เราขอตรงนั้นได้ไหม แล้วท่านมาทำกินตรงข้างล่างนี้ ซึ่งมันไม่กระทบกับความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำ ส่วนมากคุยกันได้ ต่อรองกันได้ คุณเอาตรงนี้นะ ให้มีคณะกรรมการช่วยดูแล”

 

ตัวแทนอุทยานฯ ขานรับแนวคิดของเครือข่ายฯ ย้ำจุดยืน เน้นการทำงานร่วมกับชุมชน ควบคู่ไปกับกฎหมาย

สมพงษ์ ปละทองคำ หัวหน้าหน่วยจุดสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติผาแดง

สมพงษ์ ปละทองคำ หัวหน้าหน่วยจุดสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติผาแดง กล่าวว่า เห็นด้วยและพร้อมสนับสนุนแนวคิดการทำงานของเครือข่ายฯ ว่า “ทุกวันนี้ การทำงานของเรา จะอิงเครือข่าย อิงท้องถิ่นในการทำงาน ทำให้เราคุยภาษาเดียวกันได้ ซึ่งผมโชคดีที่มาอยู่เวียงแหง ผมมาครั้งแรก ก็มาศึกษา มาดู ก็รู้ๆ กันว่า เจ้าหน้าที่ที่เราทำงานมีเพียง 6 คน ซึ่งมันไม่ไหวแน่นอน ที่ต้องดูแลรับผิดชอบทั้ง 3 ตำบล 14 หมู่บ้าน แต่พอมาเจอเครือข่ายที่นี่เข้มแข็งมาก ผมพูดมาตลอดว่าเวียงแหงโชคดีที่มีเครือข่ายนี้ จริง ๆ เครือข่ายมีทุกที่ ถ้าเป็นอย่างนี้นะ ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการพื้นที่เขาเอง เพื่ออนุรักษ์ป่าที่ยังคงสภาพไว้ ส่วนที่ทำกิน เขาก็ทำกินไป ส่วนที่เป็นป่า เขาก็คงไว้ ป่าต้นน้ำเขาก็คงไว้ ซึ่งพอเป็นแบบนี้ ก็ให้ชุมชน เครือข่ายดูแลกันได้ มีกฎระเบียบของชุมชนเข้ามากำกับ มาคุยกัน ทำให้กฎหมายจะอยู่ลำดับสอง แต่ถ้ามีการทำผิดกฎหมาย ถ้านอกเหนือนั้น คุยไม่ได้ ก็ต้องจับกุมอย่างเดียวนะ ดำเนินคดีทางกฎหมาย แต่ถ้าคุยกัน พ่อหลวง กำนัน บอกว่าคืนได้ อันนี้ขอคืนได้ง่าย เราก็ได้ป่าคืน โดยที่เราไม่ต้องสูญเสียกำลัง และไม่ต้องมีศัตรู”

“ดังนั้น ผมจะอิงเรื่องชุมชน คุยกันก่อน ฉะนั้น ผมจึงเอาประเด็นจับไว้ทีหลัง แต่ผมก็สนองนโยบายของอุทยานฯ นะ คือรักษาผืนป่า ทวงคืนผืนป่า ในกรณีที่เป็นแปลงคดี ผมไม่ให้แน่นอน คือยังไงเรายังใช้กฎหมาย เราจะดูเรื่องบริบทของกฎหมาย อันไหนที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย อะไรที่มีกฎหมายรองรับเราก็จะช่วยกัน” หัวหน้าหน่วยจุดสกัดเวียงแหง บอกย้ำให้ฟัง

ที่ผ่านมา อุทยานแห่งชาติผาแดง จะใช้ในรูปของคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานฯ หรือแพ็ค มีอนุกรรมการหมู่บ้าน โดยกำหนดไว้ หมู่บ้านละ 10 คน ถ้า 14 บ้าน ก็140 คน รวมเจ้าหน้าที่อุทยานฯ อีก 6 เป็น 146 คน คนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังหลักในการช่วยกันดูแลป่า 70,000 ไร่ ฉะนั้น พอมีเครือข่ายฯ เข้ามาหนุนช่วยอีกทางหนึ่ง ก็ยิ่งสอดคล้องกัน ช่วยกันดูแลพื้นที่ป่าไปพร้อมๆ กัน

 

การบล็อกพื้นที่รายแปลง : สร้างความมั่นคงในที่ดิน
ได้ข้อมูลชัดเจน แล้วยังได้พื้นที่ป่าคืนอีกหลายแปลง

หลังจากมีการประชุมสร้างความเข้าใจกันแล้ว ทุกฝ่ายต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า เรื่องการบล็อคพื้นที่รายแปลง เป็นโจทย์สำคัญที่ต้องรีบลงมือทำ เนื่องจาก สภาพพื้นที่ของอำเภอเวียงแหงนั้นอยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า ข้อมูลจำนวนประชากรในพื้นที่เวียงแหงมีการเพิ่มขึ้นและมีการเคลื่อนย้ายประชากร มีประชากรแฝง เข้ามาอยู่อาศัยและใช้พื้นที่ทำกินกันเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ถ้าไม่ทำการบล็อกพื้นที่เอาไว้ ปัญหาก็จะยิ่งลุกลามไปเรื่อยๆ

“คือเราต้องทำความเข้าใจและยอมรับความจริงกันก่อนว่า ปัจจุบันนี้ เวียงแหง ประชากรจะไม่ใช่ประชากรเวียงแหงทั้งหมดโดยตรง แต่จะมีคนต่างถิ่นมาใช้ประโยชน์ร่วม หมายความว่าอาจจะมีคนข้างนอกนั่นแหละ อันนี้เรามองตามเป็นจริง ตามที่เราได้ลงสำรวจดู จะพบว่าปัญหาหนึ่งของการครอบครองที่ดิน ส่วนใหญ่แล้ว คนเวียงแหงก็จะมีพื้นที่ทำกินน้อย แต่ว่าพื้นที่ทำกินน้อย แต่เขาก็ใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่านะ ยกตัวอย่างเช่น การปลูกกระเทียม การปลูกกระเทียมมันใช้พื้นที่น้อย แต่ว่าที่เป็นปัญหา พื้นที่ถูกเปิดเพื่อการปลูกข้าวโพด ซึ่งเราต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งอาจมีคนในชุมชนดั้งเดิมด้วย แต่ก็จะมีคนจากข้างนอก จากฝั่งพม่าที่อพยพเข้ามาอาศัยและเข้ามาใช้ประโยชน์ตรงนี้ มันเลยเกิดการขยายพื้นที่ป่ามากขึ้น ถามว่าบล็อกพื้นที่ทันไหม ณ ปัจจุบันนี้ ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ถ้าเราไม่บล็อกเลย มันก็จะกลายเป็นพื้นที่ที่จะเป็นปัญหาลุกลามไปเรื่อย ๆ ซึ่งไม่สามารถตอบโจทย์อะไรได้เลย” ตัวแทนเครือข่ายฯ คนหนึ่งอธิบายให้เห็นปัญหาและความจริงที่เกิดขึ้น

อิสรภาพ คารมณ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน

เช่นเดียวกับ อิสรภาพ คารมณ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอบน อีกคนหนึ่งที่บอกเล่าให้ฟังว่า ประเด็นหลักของเราคือ ต้องการบล็อกพื้นที่ของเราไม่ให้มีการขยายเพิ่ม หลักๆ คือ เราต้องการความมั่นคงในที่ดินทำกินมากกว่า ทำกินโดยไม่ต้องไปวิ่งหนี ป่าไม้ก็ไม่ต้องมาวิ่งไล่จับ เพราะว่าเราจัดทำข้อมูลให้ชัดเจน ก็คุยกันว่าบล็อกตรงนี้ๆ แค่นี้นะ เราจะไม่บุกรุกต่อ แล้วใช้กฎกติกาหมู่บ้านในการเข้าไปจัดการ ใช้กติกาหมู่บ้านบังคับ

“เราจะย้ำเสมอว่า ที่ดินตรงนี้ เป็นที่ดินที่เราต่อรองเพื่อให้ได้สิทธิในการทำกินแค่นั้น เราไม่ต้องการเอกสารสิทธิ์อะไร เพียงแต่เราต้องการความมั่นคงในระดับหนึ่ง และสิทธิที่จะเข้าไปทำกิน เพราะเรื่องที่ดินเป็นเรื่องใหญ่กว่าอะไรทั้งหมด เพราะว่าถ้าไม่มีที่ดิน ก็ไม่มีที่ทำกิน เพาะเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ แต่เรื่องกรรมสิทธิ์อาจเป็นปลายทางซึ่งเราอาจใช้ข้อมูลชุดนี้ในวันหลัง หากแนวนโยบายของรัฐเปลี่ยนไป ซึ่งก็เข้าใจว่า มันน่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้า แต่สิ่งที่เราต้องการหลักๆ คือความมั่นคงในที่ดิน และข้อมูลที่มันชัดเจนว่าเป็นที่ของใครยังไง และเราจะใช้ข้อมูลชุดนี้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอื่นๆ ต่อไป ไม่ว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องการเพาะปลูก เรื่องการส่งเสริมอาชีพอะไรที่มันยั่งยืนและไม่ทำลายทรัพยากร อย่างนี้เป็นต้น” อิสรภาพ คารมณ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ เอ่ยออกมา

สมพงษ์ ปละทองคำ หัวหน้าหน่วยจุดสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติผาแดง ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ป่าในเขตอำเภอเวียงแหง ก็ออกมายอมรับกระบวนการของเครือข่ายว่า "ผมเห็นด้วยกับการทำงานของเครือข่ายตั้งแต่แรก โดยเฉพาะเรื่องการสำรวจแนวเขต การบล็อกพื้นที่ และการคืนข้อมูล อันนี้ของเครือข่ายจะชัดเจนมาก ในฐานะเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้ใหญ่ข้างบนหรือรัฐจะมองยังไง ผมไม่รู้ แต่ผมคิดว่า นี่มันเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถจัดการป่าได้ เชื่อเถอะครับ ถ้าไม่มีการบล็อกพื้นที่ การจัดการอย่างนี้ อีก 10 ปี ผืนป่าเวียงแหง ไม่เหลือครับ ดังนั้นเราต้องบล็อก ตรงนี้ มันจะเป็นสิ่งที่ช่วยเราได้”

ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ประธานเครือข่ายฯ กล่าวว่า หลังจากมีการลงพื้นที่สำรวจ มีการบล็อกพื้นที่แปลงต่างๆ แล้ว ก็บอกกับเราว่า หลังจากมีการจับจีพีเอส แนวเขตกันเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่จะทำต่อไปคือ การทำความเข้าใจกับพี่น้องที่อยู่ในแนวเขตที่เราจัดไว้ การดูแลกัน คือมีกฎกติกาที่เอาหลายความคิดของคนในชุมชนมานั่งคุยกัน ถกกันว่า เราจะมีกฎกติกาอะไรบ้างที่จะคุมพื้นที่นี้อยู่

“ยกตัวอย่าง กรณี นาย ก. มีพื้นที่ทำกินสามไร่ก็สามไร่นะ ถ้าปีหน้ามีสามไร่ครึ่งเมื่อใด แสดงว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าไปอีกครึ่งไร่ แล้วเราจะมีวิธีการอย่างไรถ้าเป็นอย่างนี้ จะเริ่มมีการสร้างกฎกติกาซึ่งมีไว้เรียบร้อยแล้ว ถ้าใครบุกรุก หรือรุกล้ำก็จะมีการเตือนก่อน คณะกรรมการจะเตือนก่อนโดยยังไม่ได้ให้ถึงเจ้าหน้าที่ จะพูดคุยกันก่อนเพื่อเลื่อนไหลเข้าหากัน ว่าปล่อยได้ไหมให้มันเป็นพื้นที่ป่าเสีย ก็รู้สึกว่าได้ผลนะครับ เครือข่ายฯเราได้รับคำชมเชยจากหัวหน้าหน่วยจุดสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติผาแดง เพราะว่าตั้งแต่เราทำมานี้ หมู่บ้านปางป๋อ ของผมนี้ถือว่าเกือบเป็นที่หนึ่งเลยนะ ซึ่งตอนแรกผมก็บอกเจ้าหน้าที่ไปว่า ถ้ามีปัญหาพื้นที่ไหน อย่างถ้ามีการลาดตระเวนแล้วตรงนั้นทำท่าว่าจะเป็นปัญหา ก็ขอให้บอกผมก่อน จะพาคณะกรรมการเข้าไปดูแล แล้วก็แก้ปัญหากันเป็นจุด ๆ ไปครับ ถามว่ามีการฝ่าฝืนไหม ยอมรับว่ามี แต่น้อยมาก ถือว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ดี ถ้า 1-2 คนจะฝ่าฝืน ผมว่ามันไปไม่รอดหรอก คนอีกเป็น 10 เป็น 100 ร่วมกันได้ ผมว่ามันเป็นกฎเกณฑ์ที่ในชุมชนยอมรับกันอยู่ในตอนนี้” ประธานเครือข่ายฯ บอกย้ำและยืนยัน

 

เรียนรู้ กระบวนการ และยืดหยุ่น การบล็อกพื้นที่ : กรณีไร่หมุนเวียน

อย่างไรก็ตาม การบล็อกพื้นที่ ทางเครือข่ายฯ ก็พยายามให้มีการสร้างกฎกติกาให้สอดคล้องกับกฎกติกาและวัฒนธรรมการจัดการดูแลป่าของชุมชนบางชุมชนที่มีอยู่เดิมด้วย ยกตัวอย่างกรณี หมู่บ้านแม่แพม ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนปกาเกอะญอ ที่มีการระบบการจัดการที่ดินที่อิงไปกับวัฒนธรรมดั้งเดิมมายาวนาน เช่น ระบบการจัดการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ซึ่งทางเครือข่ายฯ ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์และหาทางออกร่วมกัน

“กรณีการบล็อกพื้นที่ ในกรณีหมู่บ้านที่มีการทำไร่หมุนเวียน เราได้เก็บข้อมูลออกเป็น 2 ส่วน ตอนนี้ที่เก็บมานี้ ก็คือ ถ้าเป็นพื้นที่นา พื้นที่ไร่ถาวร ก็ให้ยึดเอาตามแนวขอบเขตเดิม แต่ถ้าเป็นพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน ก็ใช้มติชาวบ้านรับรอง กลไกคณะกรรมการหมู่บ้านรับรอง แล้วให้มีกฎกติการะเบียบว่าด้วยการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งในกรณีไร่หมุนเวียน อาจจะพิเศษกว่าพื้นที่ทำกินที่เป็นไร่ถาวร เพราะไร่หมุนเวียน คือมันต้องหมุนเวียน ย้ายไปทำกินอีกแปลงหนึ่ง แปลงเดิมปล่อยทิ้งไว้เพื่อรักษาหน้าดิน ฉะนั้น มันต้องบอกได้ว่า ถ้าคุณจะหมุนเวียน ในระเบียบกติกาหมุนได้กี่รอบ ในรอบปี เพราะปกติสัก 3 ปี ไม่เกินนี้ ถ้าเลย 3 ปีไป ต้นไม้อาจโตใหญ่ เดี๋ยวก็จะถูกกกล่าวหา กลายเป็นชาวบ้านบุกรุกไปเสียอีก ฉะนั้น จำเป็นต้องมีการกำหนดระยะเวลาให้มันชัดเจน” นุจิรัตน์ ปิวคำ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ บอกเล่า

 

ทุกฝ่ายยอมรับ กระบวนการเครือข่าย ย้ำการบล็อกพื้นที่ ทำให้หยุดการบุกรุกป่าได้

เป็นที่ยินดีและพอใจกันทุกฝ่าย ทั้งชุมชน เครือข่าย ทั้งภาครัฐ เมื่อวันเวลาผ่านไปในรอบหนึ่งปี หลังจากที่เครือข่าย และเจ้าหน้าที่รัฐ ร่วมกันสำรวจแนวเขต มีการบล็อกพื้นที่ ทำให้ปัญหาที่เคยมีมานานเริ่มคลี่คลายลงอย่างเห็นเด่นชัด

“เรายอมรับเลยว่าปัญหาการบุกรุกป่าลดลง ในระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่ผมย้ายมาอยู่ที่เวียงแหงนะ จำได้ว่าในปีแรกผมยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ก็ยังลาดตระเวนสะเปะสะปะอยู่ แต่พอได้เข้ามาทำงานร่วมกับเครือข่าย มีการประชุม การออกสำรวจแนวเขตป่า พื้นที่ทำกินของชาวบ้าน มีการบล็อกพื้นที่ เราทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ มากขึ้น แต่การจะต้องใช้กำลังขับเคลื่อนของอุทยานนั้นน้อยลง เพราะเราใช้วิธีพูดคุยกัน ซึ่งปัญหาบางปัญหามันไม่ต้องใช้กฎหมายก็ได้ แต่ใช้เวทีเสวนาหาทางออกร่วมกัน” สมพงษ์ ปละทองคำ หัวหน้าหน่วยจุดสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติผาแดง บอกเล่า

หัวหน้าหน่วยสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติ บอกอีกว่า “ทุกวันนี้นะ ที่เราไปบล็อกพื้นที่ มันไปตอบโจทย์บางตัวของคำสั่งของรัฐบาลได้ คำสั่งของกระทรวงได้ คำสั่งของอธิบดีได้นะ ว่ามันสามารถจะหยุดยั้งได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นชุมชนเองก็ต้องเข้มแข็ง ชุมชนเองจะต้องช่วยกัน แต่ถ้าผลักดันชุมชนอย่างเดียวมันก็ไม่รุ่งเหมือนกัน มันเหมือนลูบหน้าปะจมูก ถ้าเจ้าหน้าที่ร่วมกับชุมชน ใช้คำว่า ‘ร่วม’ นะ ไม่ใช่ให้ชุมชนทำกันเอง ไม่ใช่ให้หน่วยงานภาครัฐทำกันเอง ถ้าหน่วยงานของรัฐทำเองเราก็จะได้แค่ปริมาณแต่เราไม่มีคุณภาพ แต่ไม่ยั่งยืน แต่ถ้าเราให้ชาวบ้านร่วม มันจะได้พื้นที่ที่นอกเหนือจากนั้นเพิ่มขึ้นมาด้วย ฉะนั้น ชาวบ้านกับรัฐต้องร่วมกันหาจุดแกนกลางให้ได้ หาจุดที่ไปด้วยกันให้ได้ รัฐมาครึ่ง ชาวบ้านมาครึ่ง มาเจอกันตรงกลางแล้วเดินไปด้วยกัน รัฐนี้ไม่ได้หมายถึงกรมอุทยานอย่างเดียวนะ แต่รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ด้วย แต่หน่วยงานอื่นอาจจะเสริมเข้ามา หนุนเข้ามา เพื่อไปหาเป้าหมายให้ได้

หัวหน้าหน่วยสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติ กล่าวย้ำอีกว่า ปัญหาป่าไม้และที่ดิน เป็นปัญหาเชิงซ้อน ที่จำเป็นต้องละเอียดอ่อนและหาทางแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กัน

“เชิงซ้อน หมายความว่าเรื่องที่ดินเรื่องป่าไม้เป็นเรื่องซับซ้อนนะ ความต้องการทุกวันนี้ คนเขาจะเอาที่ดินเป็นสินค้า ฉะนั้นบางครั้งเราก็แปลกใจว่าที่ป่าที่ดินอยู่ในเขตอุทยาน แต่กลับมีการซื้อขายกัน และซื้อขายในราคาที่แพงมากด้วย บางแปลงราคา สี่ห้าหมื่น บางทีเป็นแสนสองแสน ซึ่งนี่มันเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดนะ เพราะคนเข้าไปจับจอง เขาไม่ได้มองว่าสิ่งที่ได้มาจะเอามาทำประโยชน์ทำกินอย่างเดียว เขาขายด้วย”

 

เครือข่ายเป็นตัวกลาง คลี่คลายความขัดแย้ง คือสะพานเชื่อมความเข้าใจระหว่างรัฐกับชาวบ้าน

อิสรภาพ คารมณ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ บอกว่า ทุกวันนี้ เครือข่ายฯ มีการประชุมกันทุกเดือน เพื่อสรุปงาน นำเอาปัญหาในพื้นที่ที่เจอและงานที่จะทำมาคุยกัน แล้วคุยถึงเรื่องงานที่ผ่านมาว่ามีอะไรบ้าง รวมไปถึงเรื่องเหตุการณ์ ณ ปัจจุบัน ว่าสถานการณ์บุกรุกป่าไปถึงไหน เกิดกรณีพิพาทขัดแย้งกันในพื้นที่ไหนบ้าง

“ยกตัวอย่าง กรณี อบจ.จะเข้าไปปรับพื้นที่ที่โครงการแปกแซม จนเกิดกรณีพิพาท ไม่ทำตามขั้นตอนเราก็เรียกไปคุยกัน ไปประชุมกันที่อำเภอ แล้วก็ตกลงโดยเครือข่ายเป็นแกนกลาง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ โดยเฉพาะ กรณีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เราก็ใช้เงื่อนไขคำสั่งของ คสช. แล้วก็กฎหมายป่าไม้ มันก็เปิดช่องอยู่ว่าในกรณีการจะใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ก็ต้องขออนุญาตโดยให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตรวจสอบ โดยการแก้ไขปัญหาตรงนี้ ก็สามารถจบลงที่หัวหน้าอุทยานได้ ไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งจากกรมฯ เหมือนสมัยก่อน จริงๆ ความเข้าใจเรื่องกฎหมายป่าไม้ซึ่งมีมานานแล้ว แต่มันไม่ถูกเปิด มันไม่ถูกนำมาเสนอให้รู้ว่ามีกฎหมาย มีข้อจำกัดแบบนี้นะ เวลาจะทำอะไรในเขตอนุรักษ์เราจะต้องทำอะไรบ้าง ทางเครือข่าย ก็นำไปสู่การเรียนรู้และเริ่มปรับกระบวนในเรื่องของการทำงานของหน่วยงานที่เคยมีความขัดแย้งกับป่าไม้ในอดีตจนปัญหามีการคลี่คลายลงได้”

ด้าน นุจิรัตน์ ปิวคำ ผู้ประสานงานมูลนิธิฯ ที่เข้าหนุนเสริมในเรื่องกระบวนการของเครือข่าย รวมไปถึงจัดส่งเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้ในเรื่องการใช้เครื่องมือในการสำรวจแนวเขต ก็บอกเล่าให้ฟังว่า “ปัญหาส่วนใหญ่ไม่ค่อยเจอ ส่วนใหญ่ จะตกลงกันได้ ยกเว้นจะมีบางแปลงที่เป็นแปลงคดี เพราะว่าบางแปลงชาวบ้านไม่รู้มก่อนว่าเป็นแปลงคดี แปลงคดีบางแปลงมันก็นานมากแล้วตั้งแต่ปี 2543-2554 และเป็นแปลงคดีที่ไม่ได้เอาป้ายไปติด แล้วพอมาจับพิกัดปุ๊บ ป่าไม้ก็จะบอกว่านี่เป็นแปลงคดีไปแล้ว ก็เกิดเรื่องคือ กรณีคนที่ทำกินปัจจุบัน ไปซื้อต่อเขามา บางแปลงไม่ รู้ว่าเป็นแปลงคดีแต่ก็ซื้อไปแล้ว

“ถ้าเจอกรณีแบบนี้ เราก็ไม่วัดให้ เราจะวัดเฉพาะขอบเขตที่อยู่เหนือนอกแปลงคดีออกมา หรือไปเจอแปลงที่บุกรุกใหม่ เจ้าของก็ยอม ยอมให้วัดแนวเขตเดิม อันที่บุกรุกใหม่ก็เหมือนว่าไม่เอาแล้วขอคืนให้รัฐเสียประมาณนี้ หรือบางแปลงขอสลับ บางแปลงนี่คือแปลงถือครองของตัวเองมีตามมติ ค.ร.ม. แต่มันเป็นป่าไปแล้วมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นเยอะแยะมากมายแล้ว มีสภาพเป็นป่า แล้วแกไปทำที่ทำกินใหม่ซึ่งอยู่ด้านล่างไม่ติดแนวเขตป่า แกก็ขอกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่าขอแลกกันเสีย อันนี้ก็ตกลงกันได้” ผู้ประสานงานมูลนิธิฯ บอกเล่ากระบวนการทำงานของเครือข่ายฯ กับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งต่างก็พยายามหาทางออกของปัญหาร่วมกันอยู่ตลอดเวลา

 

สรุปบทเรียน ประเมินผลการทำงาน หาทางออกร่วมกัน ให้เครือข่ายฯเดินหน้าต่อไปได้

พอกระบวนการทำงานของเครือข่ายฯ ผ่านไปในรอบปี ทางเครือข่ายฯ ก็จะมีการสรุปบทเรียนจากการทำงาน ประเมินผล หลังจัดกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนและเครือข่าย ว่าผลการดำเนินงานเป็นอย่างไรบ้าง มีการค้นหาจุดเด่น จุดด้อยของกระบวนการทำงาน ว่ามีปัจจัยเงื่อนไข ปัญหาและหาทางออกกันอย่างไรบ้าง

“อย่างที่เคยบอกย้ำเอาไว้นั่นแหละว่า สมัยก่อน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ จะใช้วิธีแก้ปัญหาเหมือนอย่างแมวจับหนู ซึ่งไม่มีวันจบ พี่น้องชาวบ้านก็หลบ ๆ ซ่อน ๆ ทำกันอยู่ตลอด เจ้าหน้าที่ก็คอยจะจับ ผลสุดท้ายคือกินข้าวด้วยกันไม่ได้ แต่ ณ ปัจจุบันนี้ เราจะไม่ทำอย่างนั้น เจ้าหน้าที่ไปไหนพี่น้องก็ชวนกินข้าวด้วยกัน โดยเครือข่ายเราจะเป็นเหมือนองค์กรหนึ่งที่จะพยายามเชื่อมหน่วยงานภาครัฐกับพ่อแม่พี่น้องชาวบ้านให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ส่วนที่พี่น้องชาวบ้านที่มีการรุกพื้นที่ป่าทำเกินนั้น อันนี้เราก็คุยกันได้ คณะกรรมการเรามีในหมู่บ้านคอยกำกับดูแลอยู่ ยกตัวอย่าง ลุง ก. ไปถางไร่รุกล้ำเข้าไปในป่า ทำอะไรล่วงล้ำก้ำเกินไปแล้ว คณะกรรมการก็จะเรียกมาคุยก่อน เอาเหตุเอาผลไปคุยกันก่อน ถ้าเขาไม่ยอมรับการทำงานของคณะกรรมการจริง ๆ แล้วค่อยเป็นหน้าที่ของฝ่ายกฎหมายของทางเจ้าหน้าที่เขาไป” ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ประธานเครือข่ายฯ บอกเล่า

ด้าน สมพงษ์ ปละทองคำ หัวหน้าหน่วยจุดสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติผาแดง ก็ได้สรุปสถานการณ์เอาไว้ว่า “จากการลาดตระเวนในช่วงปีที่ผ่านมา ในเขตพื้นที่ตำบลแสนไห ต้องยอมรับว่ามีพื้นที่ที่บุกรุกลดลงมาก ในพื้นที่ตำบลเปียงหลวง ก็แทบจะไม่มีการบุกรุก มีก็มีน้อย ถือว่างานที่เราขับเคลื่อนในการบล็อกพื้นที่นี้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งทางอุทยานฯ เองก็ต้องขอบคุณชาวบ้าน ขอบคุณเครือข่าย ขอบคุณพ่อหลวงกำนัน ขอบคุณนายกเทศมนตรี ที่ร่วมกันดูแลแก้ไขปัญหานี้ด้วยกัน คือถ้าให้เราทำเอง ก็ไม่สามารถที่จะไปควบคุมดูแลได้ทั้งอำเภอ เพราะ อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ของเรามีไม่กี่คน แต่ดูแลพื้นที่เจ็ดหมื่นกว่าไร่ ซึ่งไม่สามารถจะดูแลทั้งหมด ถ้าไม่มีเครือข่ายฯ เข้ามาหนุนช่วยกันแบบนี้”

ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ ประเมินกันด้วยว่า ในหมู่บ้านใด ถ้ามีมติถือครองอยู่นั้น การขยายก็จะไม่มีการขยายพื้นที่นอกเหนือไปจากนั้น แต่ถ้าบางบ้านไม่มีร่องรอยมติถือครองที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ อนุโลม ชุมชนนี้จะมีการขยายพื้นที่มาก อันนี้สังเกตได้ชัด ยิ่งถ้าบางหมู่บ้าน ที่ไม่มีหน่วยงานรัฐเข้าไป หรือไม่มีองค์กร ไม่มีเครือข่าย เข้าไปจัดการ พื้นที่ตรงนั้นจะมีการขยายมากอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่าง กรณีพื้นที่บ้านห้วยไคร้ บ้านห้วยลึก และบ้านแม่แตะ ถ้ามองบริบทของบ้านแม่แตะ เขาจะมีมติถือครอง แต่เขาขยาย ดังนั้น ถ้ามีกรอบให้เขาอยู่ มันจะย่นระยะการใช้ประโยชน์ที่มากขึ้น ประมาณว่าถ้ามีหน่วยงานเข้าไปดูแล การขยายเพิ่มจะมีน้อยลง มันจะสวนทางกัน เราสัมผัสได้ว่า ถ้ามีหน่วยงานเข้าไปดูแลการขยายพื้นที่จะลดลง แต่ถ้าบ้านไหนถูกปล่อยปละละเลย บ้านนั้นจะขยายเพิ่ม

“มันก็มีบ้าง ทั้งคนในชุมชนที่ดื้อรั้น ยังมีอยู่ บางพื้นที่ก็มีการท้าทายกับคณะกรรมการ คนทำงานของเครือข่าย ซึ่งเราก็จะต้องเข้าไปสร้างความเข้าใจให้เขา” ประธานเครือข่ายฯ บอกเล่าให้ฟัง

 

 

ข้อมูลประกอบ

1.หนังสือ เสียงจากคนต้นน้ำแตง...บทเรียน ความร่วมมือ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,จัดทำโดย เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน,มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ,สนับสนุนโดย กองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม,เมษายน 2559

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net