Skip to main content
sharethis

รองประธาน สปท.คนที่หนึ่ง ยืนยัน ข้อเสนอปรองดองไม่เอื้อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ประธาน นปช. ลั่นไม่รับข้อเสนอ สปท. แนะต้องปล่อยประชาชนทุกฝ่ายโดยละเว้นแกนนำให้ไปสู้คดี ด้าน กษิตแนะสังคมลืมอดีต ให้อภัยกัน เดินหน้าสร้างปรองดอง

9 พ.ค. 2559 อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่หนึ่ง กล่าวถึง กรณี จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ออกมาคัดค้านข้อเสนอของ สปท.เรื่องกฎหมายรอกำหนดโทษเพื่อการปรองดอง ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่ใช่ข้อเสนอของสปท. เพราะยังไม่ได้พิจารณาหรือมีมติเรื่องนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการทำงานของคณะกรรมาธิการ ทั้งนี้ส่วนตัวเชื่อว่าทุกคนต้องการเห็นบ้านเมืองสงบและเห็นด้วยกับการปรองดองเพียงแต่จะทำอย่างไรและเมื่อไหร่ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงได้กำหนดโรดแมปให้ไปดำเนินการเรื่องการปรองดองในปีหน้า เพราะปีนี้มีงานใหญ่งานสำคัญคือการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและการเร่งรัดการปฏิรูปประทศ ส่วนข้อเสนอที่เป็นร่างกฎหมายชัดๆ เช่นนี้คงต้องหารือนอกรอบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปพลางก่อน ซึ่งคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองก็พยายามดำเนินการตามแนวทางนี้อย่างเงียบๆมาตลอด อย่างไรก็ตามเมื่อเปิดประเด็นเป็นข่าวก็ย่อมมีเสียงเห็นด้วยไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา แต่ยืนยันได้ว่าข้อเสนอปฏิรูปการเมืองชุดของ เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. เป็นตัวอย่างหนึ่งของความตั้งใจที่จะหาทางออกให้กับประเทศไม่ได้มีเป้าหมายจะเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดและขณะนี้ยังเป็นเพียงการศึกษาในระดับคณะกรรมาธิการซึ่งพร้อมจะเปิดใจพูดคุยกับฝ่ายต่างๆ รวมทั้ง นปช. และยังต้องปรึกษาหารือกับแม่น้ำสายอื่นๆด้วยเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ก่อนจะจัดทำเป็นรายงานปฏิรูปเสนอต่อสปท. ตามขั้นตอนต่อไป

ประธาน นปช. ไม่รับข้อเสนอสปท. แนะปล่อยประชาชนทุกฝ่ายก่อน

ขณะที่ จตุพร กล่าวในรายการมองไกล เมื่อ 9 พ.ค.ว่า เสรี สุวรรณภานนท์ มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ที่เสนอแนวคิดออกกฎหมายละเว้นโทษให้ผู้ชุมนุมปิดสนามบิน ปิดถนน แต่ต้องสารภาพ รับกระทำผิดในศาลก่อนจึงจะเข้าข่ายละเว้นโทษ โดย จตุพร ยืนยันว่า ตนไม่เห็นด้วยกับ เสรี เพราะไม่ได้ทำผิดอะไร จึงไม่ต้องสารภาพ ขอต่อสู้ในชั้นศาลตามเดิม แต่สิ่งที่ เสรีสมควรทำคือ การเสนอให้ปลดปล่อยประชาชนทุกฝ่ายโดยละเว้นแกนนำ ซึ่งต้องดำเนินคดีไปตามกฎหมาย

จตุพร กล่าวว่า เสรี ได้เสนอการละเว้นโทษในการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา แต่ไม่รวมคดีทุจริต มาตรา 112 และการวางเพลิงเผาทรัพย์ โดยกำหนดแนวทางไว้ 2 ประการคือ ใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 สั่งยกฟ้องในคดีที่ไม่ร้ายแรง ส่วนคดีร้ายแรงให้ออกเป็นกฎหมายหรือพระราชกำหนดรอการกำหนดโทษ แต่ผู้ถูกดำเนินคดีต้องยอมรับความผิดในศาลเสียก่อน แล้วถูกควบคุมด้วยเงื่อนไขไม่ยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองไปตลอดชีวิต

จตุพร ระบุว่า ความเห็นของ เสรีดูเหมือนทำให้การต่อสู้เพื่อประชาชนตามอุดมการณ์ ตามความเชื่อกลายเป็นสิ่งตลก เป็นของเล่นๆ แต่การชูประเด็นเช่นนี้ขึ้นมาราวกับต้องการเสี้ยมให้เกิดปัญหาขึ้นกับประชาชน จึงแสดงถึงเจตนาไม่สุจริต

"ข้อเสนอของ เสรี ผมไม่เอา ไม่ยอมรับ คุณเจตนาไม่สุจริต และสร้างเงื่อนไขเสมือนหนึ่งว่า พาไปประจานก่อน ให้สารภาพก่อน ผมไม่ได้ทำผิด ไม่ไปสารภาพในสิ่งที่ไม่ได้กระทำ เพียงแค่ต้องการไม่ต้องขึ้นศาล คุณอย่ามายุ่ง ผมไม่รู้ว่า ไปเสนอแบบนี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จะหยุดหรือไม่ ถ้าหยุดก็เสียคน เพราะออกตัวแรง ถ้าไม่แสดงอาการใดๆ แสดงว่า ยอมรับ ซึ่งผมเองก็ไม่เชื่อ ผมเชื่อว่า เขาคิดใหญ่กว่า คงไม่ทำเรื่องกระจอกแค่นี้ กปปส. เมื่อบอกว่า ไม่ผิด ก็ต้องสู้คดี เข้าสู่ศาลอย่างเสมอภาค พวกผมไม่มีโอกาสเหมือนคนพวกนี้เลย ดังนั้น กฎหมายล้างโทษแกนนำทุกสี ไม่เอา อย่ามายุ่ง เพราะเจตนาคุณไม่ดี" จตุพร กล่าว

จตุพร กล่าวว่า ข้อเสนอของ เสรี นั้น เสมือนหนึ่งให้มายืนตรงแล้วสารภาพผิด แต่ตนไม่ได้ทำผิดตามข้อกล่าวหา และได้ต่อสู้ในชั้นศาลมานานถึง 6 ปีแล้ว สิ่งที่อยากได้คือ การปลดปล่อยประชาชนทุกฝ่าย ส่วนแกนนำต้องให้ต่อสู้ในชั้นศาล เพราะถ้าเอาตามข้อเสนอนี้แล้ว ท้ายที่สุดแล้ว อนาคตประเทศไทยล้วนเกิดจากแกนนำแต่ฝ่ายเป็นพวกคนเลวทั้งนั้น

ตนต้องการให้แกนนำแต่ละฝ่ายไปต่อสู้คดี โดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ต้องไปสู้กรณีการยึดสนามบิน ซึ่งเป็นคดีก่อการร้ายสากล จนถูกเรียกค่าเสียหายมาแล้วกว่า 600 ล้านบาท ส่วน สุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวก กปปส. ไปต่อสู้คดีก่อการร้าย คดีกบฎ และการพยายามฆ่า รวมแล้ว กปปส. เจอข้อหาร้ายแรงถึง 9 คดี มีโทษประหารชีวิต อัยการส่งฟ้องศาลแล้ว 4 คน เหลืออีกกว่า 50 คนที่ถูกดึงเรื่องเอาไว้ยังไม่ฟ้องศาล ดังนั้น ข้อเสนอของ เสรี ตนเชื่อว่า  สนธิ ลิ้มทองกุล และ สุเทพ คงไม่รับเช่นกัน หากต้องการฆ่าตัวตายแล้ว อาจตอบรับว่า เอาก็ได้ แล้วมวลชนของเขาจะมองอย่างไร

"นายเสรีอย่ามาเสนอ สิ่งที่คุณและพวกเสนอนั้น ต่อไปจะไม่มีการต่อสู้เพื่อประชาชนเกิดในประเทศนี้อีก เพราะถูกจับไว้เป็นตัวประกันตลอดชีพแล้ว ส่วนพวกผมไม่เอาด้วย พร้อมต่อสู้คดีในศาลสถิตยุติธรรม แต่ข้อเสนอนี้เป็นการดิสเครดิตการต่อสู้ของประชาชนทุกฝ่าย และสุดท้ายจะทำให้แกนนำทุกฝ่ายเป็นคนชั่วร้าย เป็นคนกระจอก เป็นคนรักตัวกลัวตาย พร้อมทรยศในการต่อสู้ นายเสรีไม่รู้หรอกว่าระยะทางประชาชนเจออะไรมาบ้าง แต่เขาไม่ได้เสพสุขกับการอำนาจที่ยึดเอามาเหมือนคุณ ดังนั้น ขอบอกอีกครั้งว่า อย่าโดยสงวนอีกคำไว้เพื่อความสุภาพ" จตุพร กล่าว

กษิตแนะสังคมลืมอดีต ให้อภัยกัน เดินหน้าสร้างปรองดอง

วันเดียวกัน กษิต ภิรมย์ รองประธาน กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กล่าวถึงแนวทางสร้างความปรองดองว่า ในหลักการเห็นด้วยกับประธาน กมธ.ที่ให้ความเห็นดังกล่าว คือ ต้องพิสูจน์ความจริงเรื่องที่เกิดขึ้น และมีจำเลยต้องสารภาพความผิดในชั้นศาล และจึงมีการอภัยโทษเพื่อให้สังคมเดินหน้าต่อไป ซึ่งรายละเอียดและการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมจะเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย.
 
"ในหลักการของผมนั้น ก่อนที่จะไปถึงการออกกฎหมายหรือใช้นโยบายของรัฐ เพื่อสร้างความปรองดองนั้น ต้องถามทุกฝ่ายในสังคมรวมทั้งญาติของเหยื่อที่เสียชีวิต จะอภัยให้กันและทำใจลืมอดีตได้หรือเปล่า หากทำได้ก็เดินหน้าปรองดองและหามาตรการเยียวยา แต่ในทางกลับกัน หากสังคมไม่ยอมรับ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็คงปล่อยให้ปัญหาในอดีตเกาะกินกันต่อไปไม่จบสิ้น" กษิต กล่าว
 
กษิต กล่าวต่อว่า สำหรับคดีความที่เข้าสู่กระบวนการของศาลไปแล้ว ก็ให้ดำเนินการต่อไปให้จบ ไม่มียุติเรื่องหรือแทรกแซงอำนาจศาล และต่อมาเมื่อผลการตัดสินเป็นอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น และเมื่อภายหลังมีการสารภาพความผิดต่อศาล ก็จะได้รับการอภัยโทษ แต่หากไม่ยอมรับก็สู่คดีตามกระบวนการต่อไป รวมทั้งคนที่อยู่เรือนจำหากสารภาพความผิดก็ได้รับการยกเว้นการจำคุกได้ สำหรับคดีที่เชื่อมโยงที่เกี่ยวพันกับการเมืองก็ต้องยกเลิกกันให้หมด ไม่ว่าจะมีส่วนร่วมทำให้มีคนบาดเจ็บหรือล้มตายหรือไม่ ในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา ดังเช่นที่ประเทศไอร์แลนด์เหนือ ก็เคยนิรโทษกรรมสำหรับบุคคลที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต แต่ต้องไม่ใช่ความตายหรือบาดเจ็บที่เกิดขึ้นโดยการจงใจ เจตนาฆ่า หรือในลักษณะที่เป็นอาชญากร อีกทั้งผู้ที่ไม่เข้าองค์ประกอบในเงื่อนไขการรอการลงโทษอื่นๆ อีกคือ ต้องไม่ใช่คดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง และคดีทุจริตคอร์รัปชัน
 
"ยกตัวอย่างตัวเองบุกรุกสนามบินสุวรรณภูมิในครั้งเข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ต่อต้านรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ก็สารภาพว่าผมผิดฐานบุกรุก ส่วนการอภิปรายคัดค้านรัฐบาลก็ถือว่าเป็นสิทธิที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่ในประเด็นก่อการร้ายตัวเองตามที่ตำรวจสันติบาลตั้งข้อหา ผมก็ไม่ยอมรับ เพราะไม่มีเจตนาจะปิดกั้นขัดขวางไม่ให้เกิดการบินให้เกิดขึ้น" กษิต กล่าว

 

ที่มา : เว็บไซต์วิทยุรัฐสภาฯ, ไทยรัฐออนไลน์ และเพจ Jatuporn Prompan - จตุพร พรหมพันธุ์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net