วัดใจภาคประชาสังคมวันลงประชามติ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หลังจากที่สองพรรคการเมืองใหญ่ประกาศว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง นายกรัฐมนตรีก็ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 11 เมษายนว่า

“จะมีผลอะไร ใครจะคิดว่ามีก็มี ผมคิดว่ามีประชาชนที่อยู่กับผมพอสมควร ดังนั้น คนตรงกลางจะเชื่อเขาหรือเชื่อผม”

จากคำพูดของนายกรัฐมนตรี ผมขอตีความว่า ตอนนี้มีสามฝ่ายคือ ฝ่ายรัฐบาลรวมทั้งข้าราชการและประชาชนผู้สนับสนุน ฝ่ายพรรคการเมืองและประชาชนผู้สนับสนุน ส่วน “คนตรงกลาง” อาจหมายถึงชนชั้นกลางและคนรากหญ้าส่วนหนึ่งและภาคประชาสังคมซึ่งยังไม่ตัดสินใจ แม้ยังไม่มีการสำรวจความเห็นกันอย่างชัดเจน แต่ดูเหมือนว่าชนชั้นกลางในเมืองจำนวนมากเชื่อนายกรัฐมนตรี ส่วนชนชั้นกลางในชนบทจำนวนมาก “เชื่อเขา” (เชื่อพรรคการเมืองในเรื่องนี้) นายกรัฐมนตรีคงเชื่อว่าสามารถดึงคนรากหญ้ามาอยู่ข้างตนได้พอสมควรโดยใช้สื่อของรัฐเป็นต้น ส่วนพรรคการเมืองซึ่งถูกห้ามจัดกิจกรรมที่ทหารมองว่าเป็นการเมือง จะสามารถระดมหัวคะแนนและคนรากหญ้ามาสนับสนุนตนได้มากน้อยเพียงใดในยามที่ขั้วอำนาจมาอยู่ที่ฝ่ายทหารนั้น ก็ยังเป็นคำถามอยู่ ผมเลยคิดว่าภาคประชาสังคมและฝ่ายวิชาการ ถึงจะมีจำนวนน้อยและไร้อำนาจบังคับ แต่ก็พอจะถกแถลงแจงเหตุผลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญได้พอสมควร ทั้งนี้ เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ออกเสียงประชามติ

อันที่จริงการลงประชามติ แม้จะเป็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ แต่จากคำตอบนักสื่อข่าวที่อ้างถึงข้างต้น ดูจะกลายเป็นประชามติให้เลือกว่าจะอยู่ฝ่ายไหนไปเสียแล้ว จึงขอถือโอกาสนี้กลับมาที่ร่างรัฐธรรมนูญ โดยยกบางประเด็นของร่างที่ภาคประชาสังคมส่วนหนึ่งให้ความสนใจขึ้นมาพิจารณา

ภาคประชาสังคมจะสนใจหมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หน้าที่ของรัฐ และแนวนโยบายแห่งรัฐ เป็นสำคัญ เริ่มต้นด้วยเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เคยหายไปจากหมวดทั่วไปในร่างเบื้องต้น ซึ่งตอนนี้ก็กลับมาแล้ว แต่ไม่มีการพูดถึงสิทธิมนุษยชน หรือผู้ไม่ถือสัญชาติไทยซึ่งอย่างน้อยพึงมีสิทธิตามหลักมนุษยธรรมและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี อีกทั้งมีการถกแถลงกันมากถึงการที่ร่างรัฐธรรมนูญย้ายเรื่องสิทธิบางเรื่องจากการเป็นสิทธิของบุคคล มาใส่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ ประเด็นที่ถกแถลงมีอาทิ

- สิทธิและเสรีภาพในการใช้คลื่นความถี่ เปลี่ยนมาเป็นหน้าที่ของรัฐในการรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่

- สิทธิในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เปลี่ยนมาเป็นรัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาภาคบังคับเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ

- สิทธิในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เปลี่ยนมาเป็นรัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง

- การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่กระทบต่อชุมชนทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพซึ่งต้องศึกษาและประเมินผลกระทบ โดยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน เปลี่ยนมาเป็นในกรณีที่ผู้ใดจะดำเนินการอันอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมฯลฯ รัฐมีหน้าที่จะศึกษาและประเมินผลกระทบดังกล่าว ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ในเรื่องสิทธิและเสรีภาพนั้นยังมีข้อสังเกตอีก เช่น

- บทบัญญัติที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดขึ้นใหม่ ได้แก่ สิทธิของมารดาในช่วงระหว่าง ก่อนและหลังการคลอดบุตร

- สิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม เช่น การเข้าถึงที่ง่าย สะดวก รวดเร็วและทั่วถึง  เปลี่ยนเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐในการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรม

- บทบัญญัติที่ว่า การรอนสิทธิโดยรัฐเพราะเหตุแห่งการนับถือนิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนาที่แตกต่างจากบุคคลอื่นจะกระทำมิได้ ซึ่งเคยมีในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 นั้นได้ขาดหายไป

สำหรับหมวด แนวนโยบายแห่งรัฐ มีประเด็นพึงพิจารณาดังนี้

- รัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าชื่อกันเสนอกฎหมายตามหมวดนี้ได้ แต่ร่างรัฐธรรมนูญได้รอนสิทธินี้ไป

- รัฐธรรมนูญ 2550 ได้บัญญัติแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้อย่างละเอียดกว่าร่างรัฐธรรมนูญ อีกทั้งได้บัญญัติไว้ “การมีส่วนร่วมของประชาชนตามมาตรานี้จะต้องคำนึงถึงสัดส่วนของหญิงชายที่ใกล้เคียงกัน” ซึ่งไม่มีในร่างรัฐธรรมนูญ

- บทบัญญัติว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ คราวนี้บัญญัติไว้ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งตามปกติเป็นแนวทางให้รัฐตรากฎหมาย แต่ในร่าง ได้กำหนดกรอบ การบังคับใช้ ระยะเวลาการออกกฎหมาย ระยะเวลาการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติไว้แล้ว ซึ่งดูเหมือนจะเกินกว่าการเป็นแนวทางจนจะกลายเป็นการกำกับนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดต่อ ๆ ไปหรือไม่           

นอกจากหมวดที่ภาคประชาสังคมให้ความสนใจดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การเลือกตั้ง ส.ว. ทั้งชุดดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หรือการเลือกตั้ง ส.ว. ครึ่งหนึ่งสรรหาครึ่งหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 นั้น น่าจะดีกว่าหรือไม่เมื่อเทียบกับการได้มาซึ่ง ส.ว. โดยวิธีการเลือกกันเองจากกลุ่มบุคคล “ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม” โดยที่ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนว่าจะเลือกกันอย่างไร มิหนำซ้ำในช่วง 5 ปีแรกของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ยังมีคำถามพ่วงว่า เห็นด้วยกับการให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ โดยที่ ส.ว. ในช่วง 5 ปีแรกนี้ จะมีการสรรหามา 400 คน แล้วให้ คสช. เลือกให้เหลือ 200 คน มีการเลือกกันเองจากกลุ่มต่าง ๆ 100 คน แล้วให้ คสช. เลือกให้เหลือ 50 คน หากเห็นด้วยกับคำถามพ่วง ก็เท่ากับว่านายกรัฐมนตรีสองคนถัดไปซึ่งปกติมีวาระ 4 ปีนั้น มีโอกาสสูงที่จะถูกเลือกโดยคนที่ คสช. เลือกเอาไว้          

ในการให้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในคราวเดียวกันกับที่กล่าวข้างต้น นายกรัฐมนตรีตอบคำถามถึงแนวทางกรณีรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติว่า

“ถ้าไม่ผ่านอำนาจก็อยู่ที่ฉันไงเล่า เข้าใจคำว่าอำนาจไหม อำนาจที่จะเปิด[เผย]ไม่เปิดก็เรื่องของผม ทำไมอยากรู้กันนักหนา ให้ประชามติก็ประชามติไป”

ผมขออนุญาตเห็นต่างนะครับ เพราะที่นี่คือประเทศไทย และประชาชนไม่ใช่ผู้ใต้บังคับบัญชา ทำไมผมถึงอยากรู้ในเรื่องนี้หรือครับ ผมอยากรู้ก็เพราะนี่เป็นเรื่องสำคัญประกอบการตัดสินใจของผม ท่านคิดว่ามันยุติธรรมไหมครับ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ท่านได้รัฐธรรมนูญที่ท่านมีส่วนกำหนดในการร่างอย่างมาก ถ้าคำถามพ่วงผ่าน ท่านน่าจะมีส่วนกำหนดว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ก็ดีเพราะถ้าประชามติเสรีและเที่ยงธรรม (free and fair) ก็แสดงว่าประชาชนส่วนใหญ่อยู่ข้างท่าน

แต่ถ้าประชาชนเขาไม่เอาละครับ ท่านจะยังเป็นผู้กำหนดอนาคตของสังคมการเมืองไทย โดยอาศัยอำนาจที่มี และจะทำอะไรก็เป็นเรื่องของท่านต่อไปหรือครับ ?

            

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท