Skip to main content
sharethis

อัคราฯ วอนรัฐเร่งหาข้อเท็จจริงสาเหตุความขัดแย้งด้านผลกระทบที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ระบุยังไม่ได้รับคำสั่งปิดเหมืองจาก ยัน 7 เดือนปิดเหมืองปรับแผนทำเหมืองไม่ทัน เผยกระทบคุณภาพชีวิตของพนักงานและครอบครัวกว่า 4,000 คน ต้องขาดรายได้ และย้ายถิ่นฐานไปทำงานพื้นที่อื่น 

12 พ.ค. 2559 หลังจากเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) สั่งปิดเหมืองชาตรี อัครา หลังสิ้นปี 59 แต่ขยายเวลาใบอนุญาตไปจนถึง สิ้นปี 2559 ส่วนพนักงานและผู้รับเหมา รวม กว่า 1,000 กว่าคน ให้ กระทรวงแรงงานดูแล ตามข้อเสนอของ รัฐมนตรี 4 กระทรวงเสนอ ในระหว่างนี้ ให้ บริษัท ขนแร่ ได้ถึงสิ้นปี โดย รัฐมนตรี 4 กระทรวง เห็นร่วมกันว่า เพื่อบรรเทาความขัดแย้ง การต่อต้านของประชาชน ในพื้นที่ ไม่หวั่น เหมืองฟ้องร้อง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุด (12 พ.ค.59) สำนักข่าวไทย รายงานว่า เชิดศักดิ์ อรรถอารุณ  ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า แม้ทางบริษัท อัคราฯ ประหลาดใจมติของคณะรัฐมนตรีที่เห็นควรให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมจนถึงสิ้นปี 2559 เท่านั้น และให้ปิดเหมืองแร่ทองคำชาตรีลง แต่ก็เข้าใจถึงเหตุผลการตัดสินใจดังกล่าวว่าเพื่อลดความขัดแย้งด้านผลกระทบที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี  แม้จะยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่ามาจากการดำเนินงานของเหมืองแร่ทองคำชาตรี ดังนั้น  บริษัทจึงขอวิงวอนให้ภาครัฐเห็นใจผู้ประกอบการที่ดำเนินงานตามกฎหมายและใส่ใจต่อชุมชนบริเวณรอบเหมืองมาโดยตลอด

ทั้งนี้  ขอเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งดำเนินการหาข้อเท็จจริงของสาเหตุความขัดแย้งด้านผลกระทบที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรีตามหลักของวิทยาศาสตร์และธรณีวิทยา เพื่อให้เกิดความกระจ่างและสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นต่อทุกฝ่ายโดยเฉพาะชาวบ้านตัวจริงที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำ โดยบริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือทุกด้านเต็มที่ เพื่อให้ความจริงปรากฎชัด ซึ่งจะนำไปสู่มาตรฐานที่เป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังไม่ได้รับหนังสือข้อสั่งการอย่างเป็นทางการจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จึงยังไม่สามารถให้ข้อมูลรายละเอียดแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ได้และ ยังไม่มีนโยบาย แนวทางในการใช้มาตรการทางกฎหมาย  เนื่องจากต้องการดูข้อสั่งการอย่างละเอียด เพราะถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
 
เชิดศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทฯ มีแปลงเหมืองทองคำรวมทั้งสิ้น 14 แปลงบนเนื้อที่ 3,700 ไร่ มีโลหะทองคำรวม 80 ตัน  หลังทำเหมือง 15 ปี ได้รับทองคำ 50 ตัน จึงยังคงเหลือทองคำอีก 30 ตัน ระยะเวลาที่เหลืออีก 7 เดือนหยุดทำเหมือง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะได้ทองคำครบตามจำนวน เพราะปกติแล้วการทำเหมืองจะนำทองคำขึ้นมาได้ปีละ 5 ตัน หรือ 130,000 ออนซ์ต่อปีเท่านั้น  ด้านมาตรการฟื้นฟูพื้นที่ บริษัทดำเนินการฟื้นฟูควบคู่กับการประกอบกิจการอยู่แล้วตามแผนการดำเนินงานภายใต้มาตรการ EHIA อย่างเคร่งครัดแต่หากเหมืองแร่ทองคำชาตรีต้องปิดดำเนินการลงระยะเวลาอีก 7 เดือนข้างหน้า ทางบริษัทจะต้องดำเนินการปรับแผนการทำงานใหม่  ทั้งนี้  มั่นใจการทำเหมืองของบริษัทไม่เป็นสาเหตุของการปนเปื้อนและสาเหตุด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด
 
เชิดศักดิ์ กล่าวต่อว่า  หลังจากนี้บริษัทจะเร่งเดินหน้าโครงการ “ให้ความรู้ สู่การลดความขัดแย้ง”เนื่องจากเชื่อว่าความขัดแย้งเกิดจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตลอดจนไม่เข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำตามมาตรฐานระดับสากล จึงทำให้เกิดความกังวลในคนบางกลุ่ม หากคนเหล่านั้นได้รับข้อมูลที่เพียงพอ เช่น ข้อมูลของสารโลหะหนัก เกณฑ์มาตรฐาน ผลที่เกิดต่อสุขภาพ ตามหลักวิทยาศาสตร์และสาธารณสุข ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีต่อประชาชนในชุมชน และบริษัทฯ สามารถดำเนินงานอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
 
“บริษัทฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ เตรียมร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทุกด้านเร่งให้ความรู้ประชาชนเพราะเชื่อว่าการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง คือ หนทางสู่การลดความขัดแย้ง และแน่นอนว่าความตั้งใจดี ความจริงใจในการแก้ปัญหา และข้อเท็จจริงที่ทางบริษัทฯ มีจะสามารถลดความขัดแย้ง ทำให้เกิดความกระจ่าง จนส่งผลให้ภาครัฐพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้” เชิดศักดิ์ กล่าว
 
สิโรจ ประเสริฐผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท อัคราฯ กล่าวว่า บริษัทไม่สามารถปรับแผนให้ดำเนินการทำเหมืองทันกำหนด 7 เดือนที่จะต้องปิดเหมืองชาตรี ขณะนี้บริษัทโดนลงโทษก่อนชี้ชัดความผิดลงทุนไป 14,000 ล้านบาท โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  (บีโอไอ) และช่วยสร้างงานชุมชนและดูแลอย่างเต็มที่ ปัจจุบันบริษัทยังคงดำเนินการทุกด้านตามปกติ ทั้งนี้ บริษัทมีความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการปิดเหมืองแร่ทองคำชาตรี หลังมติออกมาให้ปิดเหมืองภายในปี 2559 เนื่องจากจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของพนักงานและครอบครัวกว่า 4,000 คน ต้องขาดรายได้ และย้ายถิ่นฐานไปทำงานพื้นที่อื่น  จากการปิดเหมืองแร่ทองคำชาตรีจะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากการดำเนินงานของเหมืองทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจในชุมชน เกิดการจ้างงานต่อเนื่องเป็นลูกโซ่หลายพันคน การกระจายรายได้สู่ภาคธุรกิจต่าง ๆ ในท้องที่ อาทิ ธุรกิจที่พักอาศัย รีสอร์ท ร้านอาหาร ต่างก็ได้รับอานิสงส์อย่างถ้วนหน้า ทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในท้องที่กว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net