การเมืองไทยในภาวะโคม่าใน ‘รักที่ขอนแก่น’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ภาพยนตร์เรื่อง ‘รักที่ขอนแก่น’ (Cemetery of Splendour – ไม่มีการเผยแพร่หรือจัดจำหน่ายในประเทศไทย) เป็นจดหมายรักที่อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จ่าหน้าซองถึงจังหวัดภูมิลำเนาของตนเอง และยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองอันแยบยลที่เค้นคั้นจากความขมขื่นของความสัมพันธ์ระหว่างเมืองหลวงกรุงเทพกรุงไทยและภาคอีสาน

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยที่มีชื่อเสียง โดยได้รับรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์จากเรื่อง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ เมื่อปี 2553  ผลงานล่าสุดของเขาเรื่อง ‘รักที่ขอนแก่น’ ก็ได้เข้าฉายในสาขา Un Certain Regard ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อปีที่ผ่านมา


เจน (เจนจิรา พงศ์พัศ) กับอิฐ (บัลลพ ล้อมน้อย) ซึ่งอยู่ในร่างของเก่ง (จรินทร์ภัทรา เรืองรัมย์)
พากันลัดเลาะไปตามซากปรักหักพังแห่งพระราชวังอีสานในอดีตที่บัดนี้กลายเป็นป่าสาธารณะว่างเปล่า
ภาพจาก Kick The Machine

‘รักที่ขอนแก่น’ บอกเล่าเรื่องราวของป้าเจน (เจนจิรา พงศ์พัศ) หญิงวัยกลางคนที่ขาข้างหนึ่งมีปัญหา เธอที่ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาลเฉพาะกิจแห่งหนึ่งซึ่งเคยเป็นโรงเรียนประจำชุมชนมาก่อน ผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลแห่งนี้ล้วนเป็นนายทหารหนุ่มที่ต่างนอนหลับใหลบนเตียงด้วยอาการของโรคหลับแบบไม่มีสาเหตุ เก่ง (จรินทร์ภัทรา เรืองรัมย์) ร่างทรงผู้มีญาณพิเศษบอกป้าเจนว่าโรงพยาบาลแห่งนี้ตั้งอยู่เหนือเขตพื้นที่พระราชวังแห่งยุคโบราณ วิญญาณกษัตริย์นักรบที่เคยอาศัยอยู่ในพระราชวังเหล่านี้ก็ยังยาดกันไปมาบ่ได้เซา จึงได้มาดูดเอาพลังจากร่างของทหารซุมนี้เพื่อทำการศึกต่อไป ร่างเจ้าแม่ประจำศาลเจ้าจำแลงกายเป็นหญิงสาวรูปงามสองคน เก่งทำหน้าที่เป็นร่างทรงให้ทหารหนุ่มนามว่าอิฐ (บัลลพ ล้อมน้อย) ซึ่งยังคงหลับใหลไม่รู้สึกตัวอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลเฉพาะกิจ ฮูปเงาเรื่องนี้นำเสนอภาพแห่งห้วงอดีตและอนาคต วิญญาณและเรื่องรักโรแมนติกที่เดินทางข้ามวัฒนธรรมและข้ามภพข้ามชาติ ที่ต่างซ้อนทับกันเป็นเรื่องเดียวท่ามกลางภาพผืนป่าโปร่งในเมืองขอนแก่น

โลกวิญญาณ โลกสามัญ โลกการเมืองโลกวิญญาณ โลกสามัญ โลกการเมือง

อภิชาติพงศ์นำเสนอ “สัจนิยมมหัศจรรย์แบบอีสาน” (Isaan-ese Magical Realism – การฉายภาพความจริงอย่างสามัญผ่านปรากฏการณ์เหนือจริงแบบอีสาน) เส้นแบ่งระหว่างโลกของคนเป็นกับโลกของวิญญาณพร่าเลือนไป กฎเกณฑ์ทางตรรกะวิทยาศาสตร์ต้องชิดซ้ายเมื่อเทียบกับพลังบังคับบัญชาของกษัตริย์โบราณและสุสานเจ้าที่แรง

เก่งมีญาณวิเศษและสามารถสื่อสารกับวิญญาณทหารนิทราที่ถูกกักขังอยู่ภายใต้ในร่างอันหลับใหล เธอทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้เหล่าญาติผู้ป่วยนิทราได้ถามคำถามต่างๆ เช่น  “อยากกินอีหยัง?” หรือ “สิทาสีครัวใหม่เป็นสีใดดีล่ะ?” ภาพดังกล่าวสื่อถึงโลกของภูตผีที่ได้ร้อยรัดเข้ากับโลกสามัญ


ศาลเจ้าแม่ของเจ้าหญิงลาวสองนางในขอนแก่นที่ป้าเจนกับริชาร์ดเข้าไปบูชา เป็นแหล่งที่พึ่งทางใจและศูนย์รวมจิตวิญญาณของท้องถิ่น อันห่างไกลจากวิถีพุทธเถรวาทตามขนบแบบกรุงเทพกรุงไทย 
ภาพจาก: Kick The Machine

ตอนป้าเจนกราบไหว้บูชาศาลเจ้าแม่แถวบ้านเพื่อขอพร โดยเธอเสนอถวายรูปปั้นสัตว์ต่างๆ ขนาดจิ๋วไม่กี่ตัว ภาพนี้คนไทยคงเห็นเป็นเรื่องปกติ แต่คนต่างชาติคงเห็นเป็นของแปลกแต่ก็เข้าใจได้ ผิดกันกับยามเจ้าแม่กลายร่างมาเป็นมนุษย์เดินดินใส่เสื้อผ้าคือคนธรรมดา (“ปกติหมู่เฮากะบ่ได้แต่งโตแต่งหน้าแบบนี้ดอก”) บัดนั้นความเชื่องมงายก็ข้ามไปสู่ปริมณฑลของความเป็นจริงและความมหัศจรรย์

เวลาที่ดำเนินไปในหนังเรื่องนี้ก็ดูบิดเบี้ยวไม่เป็นเส้นตรง เมื่อเก่งทำหน้าที่เป็นร่างทรงของอิฐให้กับป้าเจน อิฐที่อยู่ในร่างของเก่งได้พาป้าเจนเดินไปยังพื้นป่าโปร่งอันแห้งแล้งและรกร้าง พลางเล่าถึงภาพพระราชวังในในอดีต เช่นว่าโถส้วมนั้นทำมาหินอ่อนสีชมพูและอ่างสรงทำจากหยก การบอกเล่าภาพของสถานที่แห่งนี้ที่เคยเป็นเปรียบเสมือนการโหยหาซึ่งอดีตอันรุ่งโรจน์ของอีสาน ซึ่งตอนนี้ “มองไปทางไหนก็มีแต่ทุ่งนา” อิฐที่อยู่ในร่างของเก่งกล่าว

ถ้าพื้นที่สักแห่งยังสามารถมีเจ้าแม่เทพธิดาและวิญญาณสิงสู่อยู่ได้เป็นพันๆ ปี ความรุ่งโรจน์ที่ผ่านไปแล้วก็ย่อมสามารถอยู่ในความจำของผู้ที่อยู่อาศัยในปัจจุบันเช่นกัน ตามที่ปรากฎในภาพยนตร์เรื่องนี้อภิชาติพงศ์ได้นำเสนอภาพแห่งห้วงกาลเวลาที่มีลักษณะแบบไทย แบบพุทธ หรือจะเรียกว่าแบบศาสนาผีก็ได้ นั่นคือ เวลาไม่ได้เดินเป็นเส้นตรงเหมือนกับที่ชาวตะวันตกรับรู้ ทว่าเวลาเป็นวัฏจักร คล้ายจะบอกว่าการหมุนเวียนจากวังอันโออ่ามโหฬารสู่ผืนดินอันเปล่าเปลี่ยวรกร้างนั้นเป็นเพียงภาวะของความไม่เที่ยง และมุมมองว่าเวลาเป็นวัฏจักรนี้ยังส่งสารอันไม่น่าอภิรมย์สะท้อนไปถึงเรื่องการเมืองได้อย่างแยบยลว่า ในเมื่ออำนาจของกษัตริย์ในยุคโบราณต่างก็พังทลายเหลือแค่ผืนดินว่างเปล่า ไฉนเลยระบอบการปกครองปัจจุบันจะไม่พังทลายลงเช่นเดียวกันได้

ภาวะของความไม่เสถียรของผู้มีอำนาจปรากฏชัดที่สุดครั้งหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้  เป็นภาพฉากโรงหนังแห่งหนึ่งที่กำลังฉายหนังสยองขวัญที่ดูแปลกแต่ก็น่าขันและฉากห้างสรรพสินค้าที่มีบันไดเลื่อนและแสงไฟนีออนจัดวางอย่างน่าพิศวงดูเหมือนเขาวงกต ห้างสรรพสินค้าสไตล์กรุงเทพฯ ที่ปรากฎอยู่ในขอนแก่น คือวิหารละลานตาของระบอบทุนนิยมที่พยายามสะกดบรรดาผู้ชมภาพยนตร์ไว้ด้วยเสียงกรีดร้องแห่งห้วงอารมณ์ล้นเอ่อบนจอเงิน เพื่อที่ว่าเมื่อหนังจบ ผู้ชมทั้งหลายเหล่านั้นจะได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ เดินออกจากโรงภาพยนตร์อย่างว่าง่าย

แต่สิ่งที่ปรากฎเห็นอยู่เหนือแถวที่นั่งนั้นกลับเป็นอะไรที่ผิดแผกแตกต่างไปจากห้างแบบกรุงเทพกรุงไทย แทนที่จะใช้เครื่องปรับอากาศ โรงหนังแห่งนี้กลับใช้พัดลมหลายตัวเสียงดังหึ่ง รสชาติแบบท้องถิ่นนี้ยิ่งทวีความหมายขึ้นเมื่อแสงไฟนีออนอาบทัศนียภาพให้เป็นสีนั้นสีนี้ ก่อนจะลงเอยที่สีแดง อันเป็นสัญลักษณ์การเมืองกีฬาสีของประเทศไทย รวมถึงมวลชนคนเสื้อแดงในอีสานด้วย

สายตาแบบตะวันตกคงจะมองว่าฉากเต้นแอโรบิกอย่างพร้อมเพรียงกันนั้นเป็นการบังคับร่างกายและเจตจำนงเสรีของปัจเจกบุคคล เพราะการรับรู้เรื่อง “ตัวตน” แบบตะวันตกนั้นมีพื้นฐานมาจากแนวคิดเรื่องความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ขึ้นกับใคร แต่สายตาแบบไทยนั้นมอง “ตัวตน” ในแบบที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเป็นหมู่คณะมากกว่า คนแต่ละคนทำเหมือนว่าสิ่งที่ตัวเองแสดงออกมีที่มาจากคนอื่นและส่งผลกระทบต่อคนอื่น จังซั่นถ้าเราจะวิเคราะห์แนวคิดเรื่องการพึ่งพาอาศัยกันในทางการเมือง ก็จะเห็นได้ว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของอีสาน และของประเทศไทย ไม่ได้เป็นผลมาจากปัจเจกชนคนเดียวที่เที่ยวใช้อำนาจกดขี่ตามอำเภอใจ แต่เป็นผลมาจากการกระทำซ้ำๆ ต่อๆ กันมาโดยคนทั่วทุกหมู่เหล่าเสียมากกว่า


สีเปลี่ยนอย่างชวนพิศวงราวกับว่าจะเป็นสัญลักษณ์แทนภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทย
และภาวะความผันแปรกลับไปกลับมาทางการเมืองของประชาชน ภาพจาก Kick The Machine

เสียงของอีสาน

อิฐที่อยู่ในร่างของเก่งพาป้าเจนเดินชมป่าโปร่งอันเคยเป็นที่ตั้งพระราชวังโบราณ ทั้งสองได้เห็นสุภาษิตปริศนาธรรมบนป้ายไม้ที่ตอกติดยึดไว้กับต้นไม้หลากหลายชนิด เช่น “เศรษฐีตัวเท่ามดคนยังเห็น ยาจกตัวเท่าภูเขาไม่มีใครเห็น” ราชาจอมทัพเมื่อสหัสวรรษไกลโพ้นยังมีอำนาจเหนือพลทหารคนยากในยุคปัจจุบัน สามารถดูดพลังชีวิตไปใช้เพื่อการต่อสู้ของตัวเองได้อย่างหน้าตาเฉย เรื่องราวจังซี่หละที่อาจถือเป็นการกรีดร้องแบบมิดจี่หลี่ เสียงของอีสานที่กู่ตะโกนต้านการกดขี่แผ่นดินแห่งนี้

อภิชาติพงศ์เคยให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า การเป็นพลเมืองในประเทศไทยนั้นไม่ต่างจากการตกอยู่ใต้อาณัติของฤดูรัฐประหารอันน่าเศร้าใจที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาตลอด วงจรที่กดประชาชนให้ไร้ซึ่งอำนาจที่จะปลดเปลื้องอาณัตินี้ ญ่อนเป็นอย่างนี้แล้ว ก็เลยง่ายกว่ากันหลายที่จะ “นอน” เพื่อหลบลี้สู่โลกเพ้อฝันแฟนตาซี โดยอภิชาติพงศ์ยกตัวอย่างว่าการดูข่าวทีวีที่รัฐอนุมัติก็เป็นแฟนตาซีอย่างหนึ่ง จังซั่นภาพของความฝันและการหลับใหลที่ปรากฏมาตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง ‘สุดเสน่หา’ และงานแสดงชุด Primitive ก็จึงยิ่งเหมาะแก่กาลและทวีความหมายขึ้นไปอีกขั้นในเรื่อง ‘รักที่ขอนแก่น’ นายทหารหลายคนพากันเป็นโรคหลับซึ่งเทียบได้กับกองทัพไทยในโลกจริงที่กำลังหลับใหลได้ปลื้มอยู่กับการกระชากลากถูประเทศไปตามรอยความขัดแย้งโบราณที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น  แต่เมื่อมองจากตัวละครที่ต่าง “ตื่นรู้” (ซึ่งอาจเป็นภาพแทนของการตื่นรู้ทางการเมือง) ทหารที่นอนหลับก็ทั้งชวนขันและน่าตื่นตระหนก (ดังที่เห็นได้จากฉากที่พยาบาลเล่นกับ “ของ” ทหารที่แข็งอยู่ใต้ผ้าห่ม และจากการที่ป้าเจนเฝ้าพะวงกับอาการโคม่าของอิฐ)

ทหารซุมนี้หลับๆ ตื่นๆ อย่างไวคือผีเข้าผีออก เช่นเดียวกับพลเมืองที่ช่วงหนึ่งก็ไร้ความรู้สึกทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง แต่อีกช่วงหนึ่งก็ตื่นตัวสุดเหวี่ยง  ในตอนหนึ่งของห้วงเวลาอันน้อยนิดที่อิฐมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน เขาบอกป้าเจนว่าอยากลาออกจากกองทัพ ญ่อนว่า “เป็นทหารมันไม่มีอนาคต วันๆ ล้างแต่รถนายพล”

อิฐบอกว่า หากเลือกที่จะทำได้แทนการเป็นทหาร (ซึ่งหมายถึงการอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองของทหาร) เขาอยากเป็นพ่อค้าขายขนมเปี๊ยะสูตรไต้หวันส่งตามปั๊มน้ำมันทั่วภาคอีสาน ฉันใดก็ฉันนั้น ทางออกแทนการยึดกุมประเทศชาติด้วยลัทธิชาตินิยมแบบล้นเกินและยึดทหารเป็นสรณะ ‘รักที่ขอนแก่น’ ก็เสนอว่าอาจมีทางอื่นให้เลือกอยู่ก็เป็นได้ นั่นคือ ทางเลือกของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่ไหลเวียนไปทั่วถึงทุกภูมิภาคในประเทศไทย


เจนและเก่งยืนมองเซลส์สาวสลับภาษาไปมาระหว่างภาษาอีสานเพื่อสร้างความรู้สึกเป็นกันเองกับผู้ฟัง
และภาษาไทยมาตรฐานเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าที่เธอขาย ภาพจาก Kick The Machine

ภาษาถิ่นอีสาน: ซูเปอร์แมน, แคลอรี่, อเมริกันดรีม

‘รักที่ขอนแก่น’ เพียบพร้อมไปด้วยภาพชวนฝันของอีสาน ผสมผสานความเป็นศิลปะที่เราไม่ค่อยเคยเห็นได้เคียงคู่กับภูมิประเทศแห้งแล้งแดดเริงแรง ภาพระยะไกลของสิ่งสามัญปรากฎในหนัง ทำให้คนดูตระหนักได้ว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของขอนแก่นและภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นบิลบอร์ดโฆษณาสตูดิโอถ่ายภาพเจ้าบ่าวชาวตะวันตก-เจ้าสาวคนไทย ภาพร่างทรงในศาลาริมบึง เครื่องมือการแพทย์จากประเทศอเมริกาที่ฉายแสงนีออนไปทั่วโรงเรียนที่กลายเป็นโรงพยาบาลเฉพาะกิจ

สำหรับคนกรุงเทพอย่างผู้วิจารณ์ การใช้ภาษาถิ่นอีสานอย่างตะพึดตะพือแทนการใช้ภาษาไทยมาตรฐานเหมือนภาพยนตร์และตามรายการโทรทัศน์กระแสหลักทั่วไป ออกจะชวนสนเท่ห์ใจและทำให้ได้คิดต่อ  ตัวละครในหนังที่เป็นคนอีสานสลับไปมาระหว่างภาษาถิ่นทั้งสองตามแต่สถานการณ์ ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์จริงของคนอีสานจำนวนมาก สำเนียงนุ่มนวลกลมกล่อมแบบอีสานตอนกลางไม่ได้เป็นภาษาที่ใช้สนทนาแต่เรื่องการเกษตรและความอึดอยากอย่างที่รายการทีวีช่อง 3 ทำให้เราต่างหลงเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น ทว่าภาษาอีสานยังใช้พูดถึงป๊อปคัลเจอร์ของสหรัฐอเมริกา (pop culture – วัฒนธรรมกระแสหลัก) สถานการณ์ปัจจุบันของนานาประเทศ การนับจำนวนแคลอรี่อาหารที่ทานเข้าไป และเรื่องใดก็ตามที่คนกรุงเทพคิดว่าจะได้ยินเป็นภาษาไทยมาตรฐาน  ภาษาอีสานยังเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์คนบ้านเดียวกันได้อย่างไว ดังเห็นได้จากที่คนแปลกหน้าจากโลกจริงและโลกเหนือจริงใช้พาสาลาวนี้ทลายกำแพง เฉกเช่นในฉากที่เจ้าแม่สีสองนางที่เคยเป็นเจ้าหญิงจากเมืองลาวมาเยี่ยมยามป้าเจน

ในโรงพยาบาล พยาบาลต่างพากันเว่าพื่นเป็นภาษาอีสาน แต่ครั้นจะรายงานให้คุณหมอทราบ ก็สลับกลับเป็นภาษาไทยมาตรฐาน  ภาษาไทยมาตรฐานกลายเป็นเสียงของอำนาจจากส่วนกลางที่ตั้งอยู่ห่างออกไปจากภูมิภาค  แพทย์ผู้มาเยือนนำกลุ่มพยาบาลและผู้ดูแลทำสมาธิตามหลักพุทธศาสนาแบบเพ่งจิต โดยบอกว่าหลักศาสนานี้มีเหตุผลและอยู่เหนือ “ความเชื่องมงาย” ตามแบบศาสนาผีและมนตราของท้องถิ่น เซลส์สาวขายครีมทาผิวผสมผสานภาษาทั้งสองเพื่อสร้างความรู้สึกร่วมกับลูกค้าคนอีสานพร้อมไปกับแสดงอำนาจแบบส่วนกลางของรัฐ

ภาษาอังกฤษก็มีที่ทางในฮูปเงาเรื่องนี้เช่นกัน โดยปรากฏอยู่ในบทสนทนาระหว่างป้าเจนและริชาร์ด สามีชาวอเมริกันของเธอ  ความสัมพันธ์ของทั้งสองขัดต่อภาพจำในแง่ลบของ “อีปึก” ที่ได้ “ผัวฝรั่ง” เพราะหนังเรื่องนี้นำเสนอป้าเจนว่าเป็นฝ่ายที่ตัดสินใจทำอะไรเองมากกว่าและมีความรู้มากกว่า “ป้าชอบคนยุโรปมากกว่าคนอเมริกันนะ คนอเมริกันน่ะจน คนยุโรปต่างหากที่ใช้ชีวิตตามแบบอเมริกันดรีมเลยละ” ป้าเจนบอก

อภิชาติพงศ์ส่งสารอันแยบยลและขื่นขมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพกรุงไทยและภาคอีสานผ่านภาพยนตร์เรื่อง ‘รักที่ขอนแก่น’  กาลเวลาหมุนเป็นวัฏฏะ และการรัฐประหารก็เป็นแค่เหตุการณ์ตามฤดูกาล ทหารที่หลับใหลในภาวะโคม่าใช้ชีวิตอยู่ในโลกเพ้อฝันแฟนตาซีอยู่กับผู้ที่นอนหลับทับการตื่นรู้ทางการเมือง และแม้แต่ผู้ที่ “ตื่นรู้” ก็ยังต้องปฏิบัติตามพิธีกรรมและกิจวัตรที่ทำตามๆ กันมา  ภาษาถิ่นอีสานเป็นตัวชูโรง เป็นของแปลกแปร่งทว่าน่าชื่นใจซึ่งสวนกระแสสื่อใหญ่ซึ่งพกพาภาพลวงละลานตามามึนชามวลชน  คือแม่นป้ายในป่าอีสานซึ่งเตือนผู้กดขี่ไว้ว่า “ความกระหายอยากไปสวรรค์ จะฉุดท่านลงนรก”

 

0000

 

หมายเหตุ:  เนื้อหาบางส่วนของบทวิจารณ์นี้ถูกตัดออกเนื่องจากข้อกังวลทางกฎหมาย

เกี่ยวกับผู้เขียน: เอสรี ไทยตระกูลพาณิช เป็นนักเขียนอิสระที่มีผลงานเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาไทอิงลิชออนไลน์และสำนักข่าวภาษาอังกฤษอื่นๆ ในประเทศไทย เอสรีเกิดและโตในกรุงเทพมหานคร และได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสาขาภาษาและวัฒนธรรม

เผยแพร่ครั้งแรกใน:  เดอะอีสานเรคคอร์ด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท