Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"หลายคนคงทราบกันดีว่า แมลงจำนวนมากตาย หลังจากช่วงเวลาของการผสมพันธุ์ ทั้งหมดของความสุขสันต์ที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะเป็นเป้าหมายยิ่งใหญ่ของชีวิต หากแต่ความสมฤดีแห่งชีวิตในวินาทีของความยั่วยวนน่าหลงใหลนั้น ต้องแลกมาด้วยความตาย"

                                                   Søren Kierkegaard’s Either/Or : Diapsalmata

ภาวะความตรอมใจ (Melancholy) เป็นประเภทหนึ่งของอารมณ์ความรู้สึกทางสุนทรียศาสตร์ ภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นและมีบทบาทสำคัญขณะที่ปัจเจกบุคคลกำลังเผชิญหน้ากับผลงานศิลปะ นอกจากนี้ อาจเกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่บุคคลตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมทางสังคมหรือทางธรรมชาติ กล่าวได้ว่าภาวะความตรอมใจอยู่รอบๆ ตัวมนุษย์ในชีวิตประจำวัน

ภาวะความตรอมใจเป็นประเด็นข้อถกเถียงทางปรัชญาตะวันตก ซึ่งมีสถานะแตกต่างจากความเสียใจ (Sadness) ความสิ้นหวัง (Despair) หรือความซึมเศร้า (Depression) ภาวะความตรอมใจมีสถานะทั้งในด้านดีและร้าย ซึ่งทำให้ตัวมันเองอยู่ระหว่างกลางของความรู้สึกเปี่ยมปิติ (Pleasure) ที่ไม่เป็นทั้งการยินดีและยินร้าย

'melaina kole' ปรากฏในสมัยกรีก แปลว่า 'น้ำดีสีดำในตับ' หรืออารมณ์ร้าย (Black Bile) ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) อธิบาย Melancholy ว่าเป็นความหดหู่ผิดหวัง (Dejection) และภาวะซึมเศร้า (Depression)  นอกจากนี้ ภาวะการตรอมใจ (Melancholy) กับการลุ่มหลงชื่มชมตัวเอง (Narcissism) มีความสัมพันธ์กัน

จูเลีย คริสเตวา (Julie Kristeva) กล่าวว่าภาวะตรอมใจ (Melancholy) กับภาวะซึมเศร้า (Depression) มีเส้นแบ่งที่ไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ภาวะความซึมเศร้าเป็นสถานะหนึ่งของอารมณ์ที่นำไปสู่การถดถอย อาการไม่อยากทำอะไร เบื่อโลก ซึ่งสะท้อนความเจ็บปวดและการมองโลกในแง่ร้าย ในขณะที่ Melancholy ไม่ได้มีสถานะดังกล่าวนี้

ในทางกลับกัน Melancholy เป็นเรื่องของความเปี่ยมปิติที่สะท้อนออกมา เป็นลักษณะหนึ่งของการจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยแรงปรารถนาและความรักในบริบทเวลาต่างๆ ซึ่งในห่วงเวลาของการจดจ่อที่เกิดขึ้นนี้ได้เปิดโอกาสให้ปัจเจกบุคคลได้สะท้อนย้อนคิดและสำรวจเรื่องราวของสิ่งนั้นๆ รวมถึงการสำรวจแรงปรารถนาที่ต้องการครอบครองสิ่งนั้นด้วยการตามใจตัวเอง ที่อาจนำมาซึ่งทั้งความสมหวังหรือความผิดหวัง ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้น คือการได้ไตร่ตรองภาวะอารมณ์ในห่วงเวลาดังกล่าว และนำไปสู่การยกระดับความรู้สึกเปี่ยมปิติภายใน ที่ก้าวข้ามลักษณะทางกายภาพของโลกเชิงวัตถุ หรือแม้แต่ก้าวข้ามหลักอธิบายเชิงเหตุผลอีกด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะที่บุคคลอยู่ในภาวะตรอมใจคือ ความโทมนัส ความทุกข์ การสูญเสีย แรงปรารถนาที่จะครอบครอง การโหยหา ความเปี่ยมปิติ ความผิดหวัง ความสมหวัง เหล่านี้จะเขยิบเข้าเหลื่อมซ้อนกัน ถูกยกระดับ และนำไปสู่ภาวะการปลดปล่อยในที่สุด


ภาพ : Melencolia I, 1514 โดย Albrecht Dürer

เส้นสายในภาพ Melencolia I ผลงานภาพพิมพ์โลหะของ อาลเบรท ดูเรอร์ (Albrecht Dürer) ในศตวรรษที่ 16 ได้ตัดผ่านร่องลึกของจินตนาการสมัยใหม่ ภาพของเทวฑูตที่จมจ่อมอยู่ในห่วงคนึงของความหดหู่ผิดหวัง ท่ามกลางข้าวของวัตถุทางศิลปะ งานฝีมือ และอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ มือข้างหนึ่งถือวงเวียน ดูราวกับว่ากำลังครุ่นคิดถึงบางสิ่ง ในขณะที่แววตาฉายประกายในความมืดมนหม่นหมองที่ปรากฏบนใบหน้า ซึ่งอาจบ่งบอกถึงความมุ่งมั่นที่ฉายแสดงออกมาในท่าทางที่อ่อนล้าโรยแรง

ผลงานของ ดูเรอร์ ที่แสดงการโพสท่าการครุ่นคิดนี้เป็นอิทธิพลที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในศิลปะเรนาซองค์ยุโรปในศตวรรษที่ 16 และเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงยุคสมัยที่มนุษย์อยู่ในภาวะความขัดแย้งจากอาการตรอมใจ (Melancholy) ที่มิได้เพียงเกิดขึ้นเพราะการความซึมเศร้าในจิตใจของผู้คนเท่านั้น แต่ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นจากความทะยานอยากที่มนุษย์ใช้ความอุตสาหะอย่างเต็มกำลังในทางประวัติศาสตร์ และในพัฒนาการของอารยธรรมในภาพที่กว้างขึ้นด้วย

ภาพที่เกิดจากเทคนิคภาพพิมพ์หมึกดำร่องลึก ด้านหนึ่งกำลังแสดงถึงการเล่นตลกของภาวะการตรอมใจ ที่เกิดจากสาเหตุของความขุ่นมัวในความรู้สึกที่เป็นความผิดปกติของการหลั่งน้ำดีในตับ (black bile) ในทางการแพทย์ ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ภาพนี้กำลังสะท้อนถึงวิญญาณที่จมทุกข์และกำลังจะหาทางออกด้วยปัญญาในวิถีทางต่างๆ

หนังสือ The Anatomy of Melancholy ถูกเขียนขึ้นในปี 1621โดย โรเบิรท์ เบอร์ตัน (Robert Burton) อธิบายถึงภาวะหดหู่ตรอมใจในฐานะอาการเจ็บป่วยประเภทหนึ่งด้วยวิธีอธิบายแบบพญาธิกายวิภาคศาสตร์ (Pathological Anatomy) ในสมัยนั้น เบอร์ตันเชื่อว่าความตรอมใจคือลักษณะหนึ่งของอาการป่วยไข้และความตาย ที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบการทำงานภายในร่างกาย รอบวงโคจรของดวงดาว หรือแม้แต่เสียงการครอบงำของภูติผีปีศาจ อันนำมาซึ่งการสูญเสียสมดุลระหว่างร่างกายและจิตใจ


ภาพ : หนังสือ The Anatomy of Melancholy (1621) โดย Robert Burton

มาร์ซิลิโอ ฟิชิโน่ (Marsilio Ficino) นักปรัชญาชาวฟรอเรนซ์ในศตวรรษที่ 15 ก็เคยกล่าวว่า ผู้มีปัญญาคือผู้ที่ได้รับพรสวรรค์และวิญญาณที่ตระหนักรู้อยู่ภายใน มักมีแนวโน้มที่จะจ่อมจมอยู่กับภาวะการตรอมใจ (Melancholy) ฟิซิโน่สาธยายถึงหนทางที่น่าฉงนมากมายในการเยียวยาอาการดังกล่าว ที่เกี่ยวข้องกับพลังของพื้นพิภพ เทพเจ้าวีนัส ซึ่งอาจจะช่วยให้บุคคลได้ปลดปล่อยตัวเองและก้าวข้ามไปสู่ภาวะของความไม่ยินดียินร้ายต่อสิ่งใด

อาลเบรท ดูเรอร์ ได้แปลแนวคิดของฟิซิโน่ เรื่องปัญญาญาณแห่งความโทมนัส (the sad intellectual) ผ่านผลงาน Melancolia I โดยใช้สัญลักษณ์การอุปมาอุปมัยของวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ ท่ามกลางเครื่องไม้เครื่องมือที่ไร้ประโยชน์สำหรับการสำรวจโลก จักรวาล และความคิดสร้างสรรค์

ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เขียนเรียงความเรื่อง “ความเศร้าสลดและภาวะหดหู่ตรอมใจ (Mourning and Melancholia)” ขึ้นในปี 1917 เพื่ออธิบายถึงสถานะที่บุคคลสูญเสียสิ่งอันเป็นที่รัก (the lost-loved object) ฟรอยด์เชื่อว่าบุคคลอยู่ในภาวะอารมณ์ที่จมจ่อมอยู่กับความสูญเสีย ซึ่งมิใช่หมายความถึงการสูญเสียสิ่งอันเป็นที่รักทางกายภาพหรือในทางภาวะนามธรรมเท่านั้น หากแต่หมายถึงความสูญเสียสมดุลย์ในความเชื่อถือและความภักดีต่อตัวเองและต่อทุกสิ่งในโลกแห่งความเป็นจริง ภาวะอารมณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งกลไกการรื้อถอนความเป็นปัจเจกของตัวบุคคลนั้นๆ เอง (Destructive Subjectivity)

ฟรอยด์อธิบายความหมายที่แตกต่างกันระหว่าง “ความเศร้าสลด” (Mourning) และ “ภาวะหดหู่ตรอมใจ” (Melancholy) ที่เกิดขึ้นจาก “การสูญเสีย” (Loss)

“ความเศร้าสลด” คือปฏิกริยาที่เกิดขึ้นเมื่อบุคลเผชิญหน้ากับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือความสูญเสียที่มีนัยทางนามธรรม เช่นการสูญเสียอิสรภาพ การล่มสลายของอุดมคติทางสังคมที่สำคัญ หรือการสูญเสียความสามารถในการทำให้แรงปรารถนาต่อเรื่องหนึ่งๆบรรลุผล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ฟรอยด์เชื่อว่า “ความเศร้าสลด” เกิดขึ้นบนระนาบของสำนึก (Conscious) ที่ซึ่งการใช้เหตุผลสามารถพอที่จะเยียวยาได้

“ภาวะหดหู่ตรอมใจ” คือภาวะที่บุคคลจุ่มจมตัวเองกับความสูญเสียสิ่งอันเป็นที่รัก ทั้งนี้มิได้หมายถึงความสูญเสียทางกายภาพ เช่นการที่คนรักได้ตายจากไป หากแต่หมายถึงสถานะของความสูญเสียที่ไม่อาจระบุและอธิบายได้อย่างแน่ชัดว่ากำลังสูญเสียสิ่งใด ความรู้สึกถึงการสูญเสียเช่นนี้ทำให้บุคคลถลำลึกเข้าไปในห้วงอารมณ์อันนำมาซึ่งภาวะหดหู่ตรอมใจซึ่งเกิดขึ้นบนระนาบของจิตไร้สำนึก (Unconscious) ที่ไม่สามารถอธิบายด้วยหลักเหตุผล กล่าวโดยที่สุด มันคือการจนตรอกของเหตุผลที่จะดึงบุคคลออกมาจากห่วงอารมณ์ดังกล่าวได้โดยง่าย

ความเศร้าสลดและภาวะหดหู่ตรอมใจทำให้บุคคลอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ระหว่างอัตตาของตัวเอง (Ego) และสิ่งอันเป็นที่รักที่สูญเสียไป ด้วยกลไกการทำงานของจิต บุคคลละทิ้งอัตตาของตัวเองและได้เข้าสวมรอยกลายมาเป็นสิ่งที่สูญเสียไปด้วยตัวของเขาเอง ทว่าในสภาพเช่นนี้ บุคคลอยู่ในภาวะระหว่างกลางของสิ่งที่ดำรงอยู่และสิ่งที่สูญเสียไปแล้ว หรืออยู่ระหว่างกลางของภาวะความเป็นและความตาย  โดยมีความเสี่ยงที่ไม่อาจคาดการณ์ได้รออยู่ทุกขณะจิต

วอลเตอร์ เบนจามิน (Walter Benjamin) ทำความเข้าใจภาวะความหดหู่ตรอมใจอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีความหมายที่ต่างออกไปจากมิติทางจิตวิทยาของฟรอยด์ ในความเรียงเรื่อง “กำเนิดของละครโศกเยอรมัน” (The Origin of German Tragic Drama) เบนจามินอธิบายภาวะความหดหู่ตรอมใจในมิติทางปรัชญาและประวัติศาสตร์

เบนจาบินเชื่อว่า การล่มสลายของอดีตอันยิ่งใหญ่ของชาตินำมาซึ่งความรู้สึกสูญเสียสมดุลย์ในการทำความเข้าใจโลกร่วมสมัยในเวลาปัจจุบัน และภาวะความตรอมใจจากการสูญเสียดังกล่าวทำให้เกิดการเรียกร้องความภักดีต่ออดีตอันเป็นที่รัก ซึ่งมิได้ดำรงอยู่อีกต่อไป อย่างไรก็ตามมันเรียกร้องพันธะในการถักทออดีตที่สูญสิ้นไปแล้วขึ้นมาใหม่ ในนัยนี้ เบนจามินหมายถึงรัฐชาติในโลกสมัยใหม่และภาวะความตรอมใจของผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตในรูปแบบของ ”รัฐ ” ดังกล่าว อันนำมาซึ่งความคลั่ง ”ชาติ” ในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย ทั้งนี้การล่มสลายไปของอดีตที่ยิ่งใหญ่และการกำเนิดใหม่ของอารยธรรมที่วิวัฒน์ไปข้างหน้าเป็นคนละด้านของเหรียญที่ต่างไม่อาจปฏิเสธซึ่งกันและกันได้ ในนัยนี้ เบนจามินเชื่อว่าภาวะความหดหู่ตรอมใจ (Melancholy) มีสถานะที่เป็นปฏิทรรศน์ (Paradox) หรือความขัดแย้งในตัวเองระหว่างความโศกเศร้า (Mourning) และความท่วมท้นเปี่ยมปิติยินดี (Delightfulness) สำหรับเบนจามินแล้ว ภาวะความหดหู่ตรอมใจจึงเป็นสถานะของความจ่อมจมทางอารมณ์ที่โศกสลดและเป็นพื้นที่ของความขัดแย้งอย่างหาที่สุดมิได้ ซึ่งบุคคลไม่อาจทั้งปฏิเสธ ผลักไส หรือแม้แต่ปรารถนาที่จะสวมกอดมันไว้ได้ ในทางใดทางหนึ่ง

โรซาลินด์ ซี. มอร์ริส  (Rosalind C. Morris) เขียนบทความเรื่อง “Returning the Body without Haunting : Mourning “Nai Phi” and the End of Revolution in Thailand” เพื่อคลี่ให้เห็นถึงเหตุการณ์การนำเสนอข่าวการนำร่างที่ไร้วิญญาณของนายผี (อัศนีย์ พลจันทร) กลับจากประเทศลาว เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2540 การนำศพของนายผี กลับบ้านเกิดเมืองนอน 10 ปี หลังจากการถูกสังหาร สะท้อนถึงภาพแทนของความสูญเสียที่ถูกสร้างขึ้นจากบรรยากาศชาตินิยม ซึ่งมันได้สร้างแฟนตาซีการหวลคืนที่เป็นไปไม่ได้ของประวัติศาสตร์การต่อสู่ของตัวนายผีเอง และการกลบเกลื่อนความรุนแรงทางประวัติศาสตร์การเมืองในประเทศไทยช่วงสงครามเย็น ทั้งนี้ข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์การเมืองในช่วงสงครามเย็นยังถูกกำหนดจากความเป็นชาติไทยร่วมสมัย ซึ่งทำหน้าที่คัดสรร ประดิษฐ์และตกแต่งการเล่าเรื่องที่ถูกเลือกขึ้นเพื่อที่จะเล่าใหม่

มอร์ริสทำให้เราเห็นว่า สื่อกระแสหลักมีบทบาทสำคัญในการตอกย้ำวาทกรรมการเล่าเรื่องดังกล่าวนี้อีกด้วย เรื่องราวของการนำร่างนายผีกลับบ้าน ทำหน้าที่ย้ำเตือนความสมานฉันท์และความปรองดองของคนในชาติ ซึ่งรัฐไทยยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดกรอบกติกา ศพของนายผี คือการปิดฉากสุดท้ายหลังโครงการเข้ามอบตัวของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไทยตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา ทว่าศพของนายผีเป็นเพียงสัญลักษณ์ของยุคสมัยที่เมืองไทยอยู่ภายใต้ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่มิได้นำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ชนชั้นในสังคมไทยอีกต่อไป ความทรงจำต่อตัวนายผีจึงมิใช่ความทรงจำของอดีต หากแต่เป็นการโหยหาความทรงจำที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตที่รัฐไทยต้องการที่จะประดิษฐ์ขึ้นใหม่หลังจากนั้น

ภาพของความสูญเสียต่อตัวนายผีจึงทำให้เกิดภาวะความเศร้าสลด (Mourning) ที่มิได้นำไปสู่ความเสียใจ (Sadness) อย่างแท้จริง หากแต่มันทำให้เกิด “ภาวะความหดหู่ตรอมใจทางประวัติศาสตร์” (Historical Melancholy) และความสิ้นหวัง (Despair) ที่ไม่อาจหาทางออกหรือหนทางที่จะเยียวยาได้ เหตุการณ์เสนอข่าวการนำร่างไร้วิญญาณของนายผีกลับบ้าน จึงเป็นภาพแทนที่มิได้เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ หากแต่มันกลับทำหน้าที่เป็นภาพแทนของการถืออำนาจนำโดยรัฐไทยที่จะดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต การสิ้นสุดยุคสมัยของการปฏิวัติ และการฝังตรึงภาวะความหดหู่ตรอมใจทางประวัติศาสตร์ต่อไปพร้อมๆ กัน

"ความยิ่งใหญ่ของขุนเขาที่สูงเสียดฟ้า ลำธารที่ไหลระลอกเป็นสายระหว่างหุบเขา ผืนดินรกร้างนอนเหยียดกายใต้เงามืดมิด เหล่านี้ทำให้เกิดการไตร่ตรองประสบการณ์ในภาวะความตรอมใจ (Melancholy) ที่ซึ่งความอัศจรรย์ใจและความหวาดกลัวเกิดขึ้นในปริมณฑลเดียวกัน"

                                                    Kant's Critique of Judgment 

สำหรับอิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) ความแตกต่างระหว่างการระเหิดของความรู้สึกภายใน (The Sublime) และภาวะความตรอมใจ (Melancholy) มีสิ่งที่คล้ายคลึงกันอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นจากภาวะทั้งสองนั้น ช่วยยกระดับอารมณ์ความรู้สึกจากพลังความหยาบดิบและความแข็งกร้าวที่มีอยู่เป็นคุณสมบัติของประสบการณ์ตรงต่อวัตถุ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ หรือผลงานศิลปะ ภาวะความตรอมใจมิได้ทำให้ทุกอย่างพังทลาย และภาวะการระเหิดก็มิได้ทำให้มนุษย์จ่อมจมอยู่กับความกลัวธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวพวกเขาเองไปเสียทั้งหมด 

ในภาวะความตรอมใจ มนุษย์ได้เรียนรู้ที่จะสำรวจอารมณ์ขุ่นมัวภายในด้วยการอยู่อย่างสันโดษ ในขณะที่การระเหิดของความรู้สึกเกิดจากประสบการณ์ต่อวัตถุทางธรรมชาติ ช่วยปลุกเร้าความรู้สึกภายใน และนำไปสู่การไตร่ตรองภาวะความตรอมใจที่บังเกิดขึ้น ทั้งนี้ Melancholy คือภาวะอารมณ์ที่มีความซับซ้อน เป็นทั้งความสมฤดีและความเจ็บปวด ความรัก ความสูญเสียและแรงปรารถนา อันเป็นสถานะทางจิตที่ใฝ่หาความสันโดษโดยธรรมชาติที่มนุษย์มีอยู่ และเป็นสถานะหนึ่งของประสบการณ์ทางสุนทรียศาสตร์อีกด้วย 

มนุษย์เผชิญหน้ากับภาวะความตรอมใจในประจำวัน เมื่อความปวดร้าวได้เปลี่ยนสถานะเป็นภาวะความตรอมใจ ความสิ้นหวังจากการสูญเสียได้บรรเทาเบาบางลง และได้แปรเปลี่ยนเป็นรูปแบบหนึ่งของความทรงจำที่มีคุณค่าเมื่อได้หวลย้อนคิดถึงมันอีกครั้งในยามที่เวลาผ่านพ้นไป

ภาวะความหดหู่ตรอมใจช่วยปลุกเร้าบริบททางสุนทรียศาสตร์ในตัวของมันเองที่เกิดขึ้นในวงเขตของวิถีชีวิต ถึงแม้ภาวะอารมณ์เหล่านั้นอาจไม่ทำให้เกิดประสบการณ์ทางศิลปะโดยตรงหรือแม้แต่ไม่นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันใดๆ เลยก็ตาม หากแต่มันทำให้เราเข้าใจความหมายของการดำรงอยู่ และเรียนรู้ที่จะฟังเสียงภายในจิตใจของเราให้มากยิ่งขึ้น

กระบวนการดังกล่าว ไม่อาจใช้วิธีวิทยาการศึกษาใดๆ ในการสร้างความเข้าใจและหาข้อสรุป

 

 

เอกสารอ้างอิง

Benjamin, Walter (1925) “The Origin of German Tragic Drama”, Verso.

Brady, Emily and Haapala, Arto  (2003) “Melancholy as an Aesthetic Emotion”, Contemporary Aesthetics, Volume 1.

Burtons, Robert (2012) “The Anatomy of Melancholy”, Amazon Digital Services LLC.

Freud, Sigmund (1917) “Mourning and Melancholia”, https://www.free-ebooks.net/ebook/Mourning-and-Melancholia

Morris, Rosalind C. (2002) “Returning the Body without Haunting : Mourning “Nai Phi” and the End of Revolution in Thailand” in “Loss: The Politics of Mourning, Eng, David and Kazanjian, David (Ed.), University of California Press.

Pensky, Max (2001) “Melancholy Dialectics : Walter Benjamin and the Play of Mourning (Critical Perspectives on Modern Culture)”, University of Massachusetts Press.
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net