‘ประมงพื้นบ้านระยอง’ ยื่นแผนฟื้นฟูทะเลต่อ ‘กสม. -ปตท.’

สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง และตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำมันดิบของ ปตท.รั่วไหลลงทะเลระยอง ปี 2556 เข้ายื่นแผนฟื้นฟูทะเลต่อ กสม. – ปตท. ชี้ 3 ปีน้ำมันรั่ว สารพิษยังตกค้าง-สัตว์น้ำล้มตาย หวังปตท.จริงใจร่วมแก้ไขปัญหา
 
 
เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2559 ที่ผ่านมา สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง และตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (พีทีทีจีซี) รั่วไหลลงทะเลระยองเมื่อเดือนกรกฏาคม 2556 เข้ายื่นแผนฟื้นฟูทรัพยากรทะเลระยองต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร เป็นผู้รับแผนฯ จากนั้นช่วงบ่ายตัวแทนชาวบ้านได้เดินทางต่อไปยังบริษัท ปตท. จำกัด ในฐานะบริษัทแม่ของพีทีทีจีซี เพื่อยื่นแผนฟื้นฟูทรัพยากรทะเลระยองด้วย โดยมีนายประเสริฐ สลิลอำไพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด เป็นผู้รับแผนฟื้นฟูฯ
 
โดยในวันเดียวกัน สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง และตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำมันดิบ รั่วไหลลงทะเลระยอง ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ขอให้รับแผนฟื้นฟูทะเลระยองและดำเนินการฟื้นฟูเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรทะเล” ใจความ ดังนี้
 
“จากเหตุการณ์น้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รั่วไหลลงทะเลระยองเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2556 มาจนถึงปัจจุบัน ทะเลระยองเริ่มเสื่อมโทรมรุนแรงขึ้นทั้งในด้านทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศ โดยมีสัตว์น้อยใหญ่ เช่น เต่า ปลาโลมา ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากล้มตายในหลายพื้นที่ ทั้งที่เก็บได้และที่พบเห็นลอยตายกลางทะเล
 
หลังจากเหตุการณ์น้ำมันรั่น บริษัทฯและหน่วยงานได้เข้าฟื้นฟูทะเลระยองในระดับหนึ่ง แต่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวบริเวณเกาะเสม็ดและอ่าวพร้าว ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งที่มีน้ำมันเล็ดรอดไปติดอ่าว ขณะที่ก้อนน้ำมันส่วนใหญ่ซึ่งถูกสารสลายคราบน้ำมันฉีดพ่นจมลงจากจุดเกิดเหตุยังคงตกค้าง โดยยังคงมีการตกค้างของคราบน้ำมันในเส้นทางที่น้ำมันไหลผ่าน ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีทั้งหินธรรมชาติ ปะการังเทียม ซึ่งบางแห่งเป็นเขตน้ำตื้น โดยพื้นที่ที่ห่างจากจุดเกิดเหตุนั้นอยู่ห่างจากเกาะเสม็ดไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 36 กิโลเมตร ยังไม่ได้มีการแก้ไขหรือจัดเก็บคราบน้ำมันแต่อย่างใด ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
 
ด้วยเหตุนี้ ทรัพยากรในทะเลระยองที่เคยมีจึงลดน้อยและล้มตายลงตามลำดับ ส่วนสัตว์น้ำที่พอจับได้ก็ตายในเครื่องมือประมงและเน่าก่อนเวลาอันควร นอกจากนี้สัตว์น้ำที่เคยจับได้ตามฤดูกาลเช่น กุ้ง เคย ก็หายไป
 
ต่อมาในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559 บริษัทฯมีข้อเสนอที่จะรับแผนฟื้นฟูทะเลระยองจากสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง สมาคมฯจึงได้จัดทำแผนฟื้นฟูทะเลระยองร่วมกับชุมชนชายฝั่งเพื่อเสนอต่อบริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด โดยหวังว่าบริษัทฯจะได้ดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรทะเลเพื่อความยั่งยืนสืบไป”
 
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวสืบเนื่องมาจากสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง ชาวประมงพื้นบ้าน และกลุ่มแม่ค้าผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (พีทีทีจีซี – บริษัทในเครือ ปตท.) รั่วไหลออกทะเลพื้นที่จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 รวม 429 ราย ได้ยื่นฟ้อง บริษัท พีทีทีจีซี ในฐานะผู้ก่อมลพิษ ต่อศาลจังหวัดระยอง โดยขอให้มีการชดใช้ค่าเสียหายจากการสูญเสียรายได้ในการประกอบอาชีพและขอให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติจากปัญหาน้ำมันรั่ว ซึ่งปัจจุบันแม้เหตุการณ์จะผ่านมากว่า 3 ปี แต่ผลกระทบต่อทะเลและวิถีการทำมหากินของชาวประมงยังดำรงอยู่
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท