Skip to main content
sharethis

จุดเด่นของการขับเคลื่อนของคนเวียงแหงในครั้งนี้ ก็คือมีการผสมผสานแนวคิด ทั้งในเรื่องวัฒนธรรมความเชื่อ และการสร้างกฎกติกาของท้องถิ่น จนเป็นที่ยอมรับทั้งภาครัฐและชาวบ้าน และนำไปสู่การจัดการที่ดินและป่าไม้ ส่งผลทำให้พื้นที่ป่าถูกบุกรุกลดลง ไม่มีความขัดแย้งและชาวบ้านยังยินยอมพร้อมใจคืนพื้นที่บางส่วนให้กับรัฐด้วย

<--break- />

สืบสานพิธีบวชป่า สืบชะตาป่าต้นน้ำ :วัฒนธรรมความเชื่อเพื่อการปกป้องผืนดินผืนป่า                                                                                  

หมู่บ้านแม่แพม ตั้งอยู่ในหุบเขาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวอำเภอเวียงแหง เป็นชุมชนชนเผ่าปกาเกอะญอ หรือ กะเหรี่ยง ถือว่าเป็นเผ่าพันธุ์ที่รักความสงบ สันโดษ มีวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมสอดคล้องและสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมา อย่างแนบแน่นและยาวนาน  โดยมีการก่อตั้งชุมชนมานานนับร้อยๆ ปีมาแล้ว  แน่นอน ชุมชนแห่งนี้ ยังคงรักษาดูแลป่าต้นน้ำ โดยยืนอยู่บนฐานความเชื่อ เคารพและศรัทธาในธรรมชาติ และยังมีการนำภูมิปัญญาชนเผ่ามาพลิกฟื้นผืนป่าให้อุดมสมบูรณ์ เหมือนกับคำ ‘ทา’ อันเป็นคำสอนของพี่น้องปกาเกอะญอที่ได้สืบทอดต่อๆ กันมา ว่า “อ่อ ที กะต่อ ที อ่อ ก่อ กะต่อก่อ กินน้ำต้องรักษาน้ำ อยู่ป่าต้องรักษาป่า”
 
บ้านแม่แพมนั้นมีประเพณีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรในชุมชนที่สำคัญๆ หลายประเพณี หลายความเชื่อ ที่น่าศึกษาเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นพิธีเลี้ยงผีเจ้าเมือง พิธีเลี้ยงขอบคุณป่า ความเชื่อเรื่องกองมูระโกระ หรือป่าห้วยวัดร้าง ความเชื่อเกี่ยวกับผีต้นไม้ใหญ่ที่คอยช่วยดูแลสัตว์เลี้ยง ความเชื่อเกี่ยวกับการหยุดงานทุกวันขึ้น 15 ค่ำ พิธีกรรมเกี่ยวกับการเลี้ยงผีน้ำ หรือที่เรียกกันว่า ‘ทีกะจ่า’ เป็นต้น จนกล่าวได้ว่า การนำประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ มาปรับใช้กับการอนุรักษ์ผืนดินผืนป่าและสายน้ำ ได้กลายเป็นจุดแข็งของหมู่บ้านแห่งนี้
 
และพิธีบวชป่า ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่ง ที่ชุมชนบ้านแม่แพมได้จัดขึ้นทุกปี โดยในปีนี้เป็นปีที่ 12 แล้วและทางเครือข่ายฯ ก็ได้เข้าไปร่วมงานพิธีบวชป่า ซึ่งนอกจากเป็นการร่วมสืบสานภูมิปัญญาชาวบ้านแล้ว ยังเป็นการร่วมประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายฯ ที่เหมือนจะช่วยกันสะท้อนให้คนในหมู่บ้านอื่นๆ ได้เรียนรู้และสามารถนำไปปรับใช้กับชุมชนของตนได้ต่อไป   

 

ผัด ปุมะ ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่แพม

“เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่าเราต้องรักษาป่า และการทำพิธีบวชป่าในครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของเราด้วย” ภัททิยา จะแคะโพ ชาวบ้านแม่แพม บอกเล่าให้ฟัง

“บวชป่าแล้วทำให้ป่าศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีการทำลาย และที่จริงแล้ว วัตถุประสงค์อีกอย่างหนึ่ง ก็คือเราอยากให้พี่น้องบ้านอื่น จากตำบลเดียวกัน หรือทั้ง 3 ตำบล ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าหรือการมีส่วนร่วม ทำให้กิจกรรมแบบนี้เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องไปด้วย” ผัด ปุมะ ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่แพม บอกเล่า

“งานบวชป่า ที่ผ่านมา ยังสะท้อนให้ทุกคนได้เห็น ว่า เครือข่ายเราได้ทำงานประเด็นทรัพยากรร่วมกับทุกหน่วยงานทุกหมู่บ้าน  และแม่แพมก็เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่เราทำงานร่วมกันมาตลอด  เพราะแม่แพมมีจุดเด่นเยอะมาก ในเรื่องการจัดการทรัพยากรโดยวิถีชีวิต โดยการสืบทอด   แล้วการทำมาหากินทุกวันนี้ เขาก็อาศัยอยู่กับป่า พึ่งพิงป่า”  อิสรภาพ คารมณ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ สะท้อนมุมมอง

มากกว่าไปนั้น งานบวชป่าของหมู่บ้านแม่แพมในปีนี้ นอกจากจะเน้นพิธีกรรม ความเชื่อ การเคารพต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันแล้ว ภายในงานปีนี้ ยังมีการสรุปทิศทางการจัดการเรื่องการใช้ที่ดินของชาวบ้าน และการจัดการแนวเขตป่า ซึ่งทั้งผู้นำหมู่บ้านและชาวบ้าน ต่างยอมรับและเข้าใจ พร้อมให้ความร่วมมือกับทางเครือข่ายกันอย่างดี

และที่น่าสนใจมาก ก็คือ ในพิธีบวชป่าในครั้งนี้ ชาวบ้านแม่แพมมีการคืนพื้นที่ ให้เป็นผืนป่ากันหลายแปลง ด้วยความเต็มใจ จนทางเครือข่ายฯ ได้จัดทำใบประกาศเกียรติคุณ “บันทึกการมอบคืนพื้นที่ป่า” เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา โดยมีนายอำเภอเวียงแหง ผู้แทนจากกรมอุทยานแห่งชาติ ผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่ ทหาร ตำรวจ ผู้นำท้องถิ่น และเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ร่วมกันลงนามเป็นสักขีพยาน ว่าชาวบ้านแม่แพม ได้ยินยอมมอบคืนผืนป่า เพื่อเป็นเกียรติ เป็นศักดิ์ศรีของวงศ์ตระกูลอีกด้วย

“มี 10 กว่าราย รวมพื้นที่ทั้งหมดเกือบ 50 ไร่ ที่มอบคืนไป ส่วนมากเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ รวมไปถึงพื้นที่ที่เคยเป็นไร่หมุนเวียน 5-6 ปี เราก็คุยกันว่า ถ้าเป็นป่าที่มันโตแล้ว  เราขอคืนได้ไหม  เรามาคุยกัน ก็ได้มาบางส่วน  บางส่วนยังไม่ได้ ก็ค่อยๆพยายามทำต่อไป  ปีหน้าก็จะพยายามทำทุกปี แต่มีแนวโน้มว่าจะมีชาวบ้านคืนพื้นที่ป่าให้อีก  เพราะเบื้องต้น ชาวบ้านบางคนก็บอกว่า ลองดูปีหน้า ถ้าทำไร่ไม่ไหว ถ้าไม่ทำไร่หมุนเวียน ก็จะคืนให้ มันน่าจะเป็นสัญญาใจมากกว่า มันเป็นความรู้สึกทางใจมากกว่า ว่าเรารู้สึกยังไง ว่าเราอยากให้มีป่าเอาไว้ซึ่งคิดว่ามีแนวโน้มว่าน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ และเราก็เชื่อว่าการบล็อกพื้นที่ น่าจะหยุดเรื่องการทำลายป่าได้” ภัททิยา จะแคะโพ หนึ่งในชาวบ้านแม่แพม ผู้คืนพื้นที่ทำกิน บอกเล่าเรื่องราว

“ชาวบ้านที่เขาคืน  แต่ก่อน เขาทำไร่หมุนเวียน  เราก็ได้คุยกัน  ไม่ต้องให้ป่าไม้เจ้าหน้าที่มาชี้ว่าคุณต้องทำอย่างนี้ๆ  เราเห็นคุณค่าของป่า พี่น้องก็รับรู้อยู่แล้ว ทุกวันนี้ ร่วมด้วยช่วยกันเพิ่มขึ้น  รัฐก็มองเห็นในจุดนี้ด้วย  ทุกฝ่ายพยายามร่วมด้วยช่วยกัน ร่วมจัดการดูแลรักษา เพราะไม้ซีกเดียวไม่ทนทาน  ข้าวเม็ดเดียวจะกลั่นเป็นเหล้าไม่ได้  มันต้องรวมกัน” ผัด ปุมะ ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่แพม บอกเล่า

เช่นเดียวกับ อิสรภาพ คารมณ์กุล ที่ปรึกษาเครือข่ายฯ ก็บอกเล่าให้ฟังอีกว่า “นอกจากการบวชป่าในครั้งนี้  สิ่งที่เราอยากบอกกล่าวให้คนอื่นหน่วยงานอื่นได้รับรู้คือ  ในส่วนการทำงานเครือข่ายเรา เราทำงานเรื่องที่ดิน  เราต้องการบล็อกพื้นที่ไม่ให้มีการบุกรุกป่าต่อไป ในส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราก็อยากให้เขาได้เห็นว่าวิถีชีวิตของบ้านแม่แพม มันเป็นอย่างนี้นะ เรื่องการจัดการป่า โดยเฉพาะการคืนพื้นที่เป็นรูปธรรม  เพราะเราไปจับจีพีเอส คืนมา 49 ไร่   อันนี้ชัดเจนว่า ไม่จำเป็นต้องมาทวงเรา  เราสามารถคืนพื้นที่ป่าให้โดยความสมัครใจของเราเอง   อันนี้เป็นเรื่องการพูดคุยกันในหมู่บ้านมากกว่า  ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนมาบีบให้เราคืน  ทางเครือข่ายเราก็ไม่ชี้แนะชี้นำว่าต้องคืน  แต่หลังจากกรรมการเข้าไปวัด พิจารณาพื้นที่ พูดคุยกันเองในหมู่บ้าน  เขาก็คืนมาโดยไม่มีอะไรผิดใจกัน  ยินดีคืนให้ ทั้งที่เป็นสิทธิ์ของเขา อันนี้แสดงว่า การทำงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน  มันน่าจะให้ผลดีมากกว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปไล่จับกุม  อันนี้เป็นตัวชี้วัดหนึ่ง”

“ใช่ งานบวชป่า นี่ถือว่าคือภาพพจน์ของชุมชนคนอยู่ในป่า ว่าคนในชุมชนช่วยกันดูแลป่า และอยู่ร่วมกับป่าได้ และอยากให้คนในชุมชนเวียงแหง เอาเรื่องเหล่านี้มารวมกัน มาคุยกัน  อย่างวันที่บวชป่าแม่แพม เราไปเห็นป่าที่สมบูรณ์  ถ้าเรานำชุมชนอื่นๆ มาดูมาเรียนรู้ด้วย  เขาก็อาจจะเอาอย่างบ้าง  อยากเห็นป่าตรงไหนที่มันสมบูรณ์  แล้วเราไปทำกันอีก  ขยายตัวไปเรื่อยๆ  จาก 1 2 3 ไปเรื่อยๆ  วันที่เราอยากให้มาถึง คือมีพื้นที่ป่าอย่างนั้นทั่วเวียงแหง  มันอาจไม่เต็มทั่วทุกพื้นที่ 100% แต่ก็อยากขอให้มันมีทุกบ้านที่มีป่า เป็นป่าอย่างนั้น” ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ประธานเครือข่ายฯ บอกย้ำ

ศึกษาดูงาน เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์  ก่อนนำไปปรับใช้จริงในพื้นที่เวียงแหง

หลังจากที่ เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อำเภอเวียงแหง ปรับกระบวนการทำงานกันแล้ว ทำให้มองเห็นปัญหาและช่วยกันหาทางออกกัน ทุกเดือน นอกจากจะมีการประชุมปรึกษาหารือ รวมไปถึงการลงพื้นที่ทำงานกันแล้ว ทางเครือข่ายฯ ยังมีการพาตัวแทนชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น เดินทางไปศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในหลายพื้นที่ที่เคยมีปัญหาเรื่องการใช้ที่ดินและการรุกล้ำพื้นที่ป่า เพื่อนำมาปรับใช้ปรับแก้ในพื้นที่เวียงแหงกันต่อไป

ยกตัวอย่าง กรณีพื้นที่ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่  เป็นพื้นที่ของชาวบ้านทั้งที่เป็นชนเผ่าบนดอยและคนพื้นเมืองที่ราบอาศัยอยู่กันมานาน อีกทั้งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำปิง นั่นคือ ลำน้ำแม่กลาง ซึ่งไหลผ่านและหล่อเลี้ยงชุมชนต่างๆ ในเขตพื้นที่อำเภอจอมทอง  อำเภอฮอด  และอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำปิง ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าไม้ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติ มีผลให้ปริมาณและคุณภาพของน้ำที่ไหลจากพื้นที่ต้นน้ำย่อยต่างๆ โดยมีลำน้ำสายสำคัญหลายสาย  คือ ได้แก่ ลำน้ำแม่ยะ ลำน้ำแม่ปอน ลำห้วยแม่กลาง และลำน้ำแม่หอย มีความสมบูรณ์และลำน้ำไหลตลอดปี แต่แล้วก็เกิดปัญหาจนได้ เมื่อพื้นที่ป่าถูกบุกรุก ซึ่งทำให้ลำน้ำหลายสายเหือดแห้ง จนเกิดปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างภาครัฐกับชุมชน และเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนคนบนดอยกับคนพื้นราบกันอย่างหนักหน่วง

ก่อชิ เพชรไพรพนาวัลย์ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลบ้านหลวง บอกเล่าถึงปัญหาความขัดแย้งการจัดการดิน-น้ำ-ป่า ในพื้นที่ให้ฟังว่า ในช่วงปี 2540 – 2541 พี่น้องชาวบ้านทั้งคนบนดอย คนพื้นราบ ทะเลาะขัดแย้งกันในเรื่องการใช้ที่ดินทำกิน การใช้น้ำ มีปัญหาถึงขั้นมีการปิดถนนประท้วงกัน จนถึงขั้นมีการฟ้องร้องกันเลยว่ากันว่า มีปัญหาความขัดแย้งสูงมาก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องแย่งน้ำกันระหว่างคนบนดอยกับคนพื้นราบ มีการปิดถนนดอยอินทนนท์ มีการรื้อท่อระบบเกษตรของชนเผ่าข้างบนโดยกลุ่มอนุรักษ์จอมทองข้างล่าง ถึงขั้นเรียกว่าไม่เผาผีกันเลย

“ตอนนั้น คนข้างล่าง เขาก็มีความคิดว่า จะไล่คนข้างบนลงมาอยู่ข้างล่างหมด ให้อพยพลงมาทั้งหมด ทีนี้พอเราไปดูเรื่องพื้นที่ที่จะมาทดแทน ไปดูเรื่องกฎระเบียบ งบประมาณ อะไรหลายๆ อย่างเขาทำไม่ได้ ชาวบ้านบนดอยก็อยู่ต่อไป” นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลบ้านหลวง บอกเล่า

นอกจากปัญหาขัดแย้งเรื่องการแย่งน้ำแล้ว ยังมีปัญหาความขัดแย้งเรื่องเผาป่าอีก ตอนนั้น ปี 2541 ดอยอินทนนท์เกิดไฟป่าหลายพันไร่ ถือว่าเป็นวิกฤติของดอยอินทนนท์กันเลยทีเดียว

“ตอนนั้น ทางอุทยานฯ ก็กล่าวหาชาวบ้าน ชาวบ้านก็บอกว่าไม่ได้เผา คนข้างล่างก็ว่าชนเผ่าเผาแล้วกักน้ำไว้ คนข้างล่างก็บอกว่าเราอยู่ปลายน้ำไม่ได้เผาแน่ๆ แล้วมองว่าพืชที่คุณปลูกมันแย่งน้ำเยอะนะ คุณปลูกกะหล่ำ คนข้างล่างก็ต้องการน้ำ เพราะพื้นที่ตำบลบ้านหลวงนี่ทำเกษตรเป็นหลัก มีไม่ต่ำกว่า 70 % ทำให้ต้องเดิมพันเรื่องทรัพยากรเป็นเรื่องที่รุนแรง ความขัดแย้งรุนแรงมาก “ ธีระศักดิ์ โฆษคุณวุฒิ ปลัดเทศบาลตำบลบ้านหลวง บอกเล่า

แต่ในที่สุด จากวิกฤติปัญหา ก็พลิกกลับมาเป็นโอกาส เมื่อทุกฝ่ายหันหน้ามาจับมือกัน มีการตกลง สร้างความเข้าใจร่วมกัน ระหว่างชาวบ้านบนดอยกับชาวบ้านพื้นราบ รวมทั้งองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยจัดการต้นน้ำแม่กลาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อุทยานแห่งชาติอินทนนท์ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(ภาคเหนือ).จนนำไปสู่การสร้างเครือข่ายลุ่มน้ำแม่กลางตอนบน กันขึ้นมา นำมาสู่การเจรจาทำความเข้าใจและการสร้างกลไก ระบบการบริหารจัดการน้ำร่วมกันขึ้นมาภายใต้กลไกคณะกรรมการที่เป็นทางการได้แก่  กลไกคณะกรรมการลุ่มน้ำใหญ่ และคณะกรรมการลุ่มน้ำย่อยขึ้นมาเพื่อกำหนดกฎระเบียบและกติกาในการใช้น้ำร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการกับน้ำในพื้นที่เพื่อรองรับระบบการเกษตรที่แตกต่างกันระหว่างคนบนพื้นที่สูงและคนพื้นราบเพื่อให้ทุกคนมีน้ำเพียงพอในการแบ่งปันและใช้ประโยชน์ร่วมกันบนหลักการความยุติธรรม

ต่อมา เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เมื่อมีการหยิบเอาประเด็นปัญหาเหล่านี้ นำเข้าสู่ในที่ประชุมและมีการเสนอเป็น ‘ข้อบัญญัติตำบลว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม’ โดยวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการมีข้อบัญญัติตำบล ฉบับนี้ ก็คือ (1)เพื่อให้การอนุรักษ์การใช้ประโยชน์การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สมดุลและยั่งยืน (2) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและลดความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติละ สิ่งแวดล้อม (3) เพื่อยกระดับ สิทธิชุมชน ให้สามารถตอบสนองตอการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนร่วมกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (4) เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ องค์กรชุมชน และภาคีเครือข่าย เป็นกลไกสําคัญในการ บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ พื้นที่ตำบลบ้านหลวง มีการบูรณาการการทำงานในเรื่องการออกกฎกติกามากำกับดูแลจัดการเรื่องการใช้ที่ดินและป่าได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม นั่นคือ การใช้กฎ 3 รูปแบบ คือ 1.กฎวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี 2. กฎของชุมชน สังคม เครือข่ายลุ่มน้ำ หมู่บ้าน และ 3. กฎหมาย เช่น กฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ  พรบ.ป่าไม้ พรบ.อุทยานแห่งชาติ เป็นต้น

“จะอยู่อย่างไรให้มันยั่งยืน ก็ต้องช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ต้องดูแลป่าไม้ ต้องไม่ขยายพื้นที่ แล้วเราจะทำยังไงให้เกิดสิทธิชุมชนให้ได้ เพราะที่ผ่านมา เราทำแต่ลอยๆ จึงมีการบุกรุกป่า และขอบเขตการจัดการที่ดินไม่จบ สิทธิชุมชนก็ไม่เกิด ก็เลยคิดกันว่าน่าจะทำให้พื้นที่ที่เหลืออยู่ให้หยุดแค่นี้ แล้วที่ดินที่ทำกินน่าจะมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อรองรับการทำกินของชาวบ้าน เพื่อไม่ให้บุกรุกเพิ่ม เพื่อไม่ให้ขาย ผมก็เลยคิดว่า การออกข้อบัญญัติ จะเป็นช่องทางให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่างป่าไม้กับชาวบ้านเรื่องการใช้ที่ดิน น่าจะยุติ น่าจะชัดเจน” นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลบ้านหลวง บอกย้ำ

ว่ากันว่า หลังจากที่เครือข่าย มีการสำรวจพื้นที่ กันเขตต่อเนื่องจาก มติ ค.ร.ม.  2541 มีการจับ GPS ไว้หมดแล้ว ตอนนี้เหลือเรื่องการจัดทำเป็นเอกสารเป็นรูปแบบ มีชื่อ มีคนเซ็นรับรอง ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งถ้ามีออกข้อบัญญัติ ก็สามารถรับรองตรงนี้ได้ทันที

ทั้งนี้ ปลัดเทศบาลตำบลบ้านหลวง ได้สรุปไว้ว่า ข้อบัญญัติตำบล จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเชื่อมระหว่างคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน เครือข่ายลุ่มน้ำ  ส่วนราชการ ว่าเราจะทำงานตามเป้าหมายนี้ ไม่มีนอกลู่นอกทางจากนี้ ตามคำนิยามเรื่องลุ่มน้ำ คำนิยามเรื่องทรัพยากรต้องระบุให้ชัดในตัวร่างเทศบัญญัติ  ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดความขัดแย้งลงได้

ตั้งกฎกติกาให้สอดคล้องกับท้องถิ่น ข้อบัญญัติตำบล -ธรรมนูญตำบล –คณะทำงานแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินอำเภอฯ

หลังจากตัวแทนคณะทำงานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ได้ไปศึกษาดูงานที่เทศบาลบ้านหลวง กลับมาแล้ว ทำให้เห็นแนวทางแนวคิดมาปรับใช้ในพื้นที่อำเภอเวียงแหงกันหลายเรื่องหลายประเด็นกันเลย

อนุสรณ์ คำอ้าย นายกอบต.เปียงหลวง บอกว่า เห็นด้วยกับการออกข้อบัญญัติตำบล เพราะว่าการออกข้อบัญญัติ นั้นเป็นการหนุนเสริมให้เกิดความมั่นใจในส่วนของชุมชนชาวบ้านได้

“ถ้าถามว่าเราอยากออกข้อบัญญัติตำบลไหม เราอยากออก ตอนนี้เราเริ่มมีตุ๊กตาบ้างแล้วในส่วนของชุมชนที่ลงมือทำ โดยใช้พื้นที่อื่นๆ ที่เขาทำและประสบความสำเร็จ เอามาเป็นแบบอย่างปรับใช้ในพื้นที่ คิดว่าทิศทางที่เราทำ มันถูกต้องแล้วนะ  ซึ่งทางอุทยานฯ ก็ให้สิทธิเราในการคิดทำ โดยทางเราก็ประสานกับอุทยานโดยใกล้ชิด  ทำร่วมกัน เดินไปด้วยกัน คิดด้วยกัน ต่อไป ถ้าข้อมูลพร้อม ประชาชนชาวบ้านเข้าใจ แล้วทาง อบต.เราพร้อม เราก็จะออกข้อบัญญัติ ประเด็นคือ เราอยากให้กฎระเบียบต่างๆที่ออกมา  ให้มันเกิดจากชุมชนจริงๆ ซึ่งทุกวันนี้ เราหลอมรวมคนให้มีแนวคิดเดียวกันได้บนพื้นฐานการอนุรักษ์นี้ได้แล้ว  เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำจบเรื่องนี้ ทุกส่วนพร้อม เราต้องออกข้อบัญญัติ เพื่อให้เรื่องนี้มันเกิดความยั่งยืนต่อไป” นายกอบต.เปียงหลวง บอกย้ำและยืนยัน     

นุจิรัตน์ ปิวคำ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ

นุจิรัตน์ ปิวคำ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ หนึ่งในคณะทำงานของเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน บอกว่า หลังจากกลับจากการศึกษาดูงาน ทางเครือข่ายฯ ก็มาสรุปกันหลายรอบ คือ คณะทำงานที่ไปทุกคนก็อยากให้มันเกิดข้อบัญญัติที่มารับรอง  แต่บางทีความเข้าใจบางท่านอาจจะไม่ตรงกัน  บางคนก็ว่าข้อบัญญัติก็คือกฎหมายท้องถิ่นจะออกให้ แต่ว่าสิ่งที่เราคุยกันมาตลอดคือ ข้อบัญญัติ นั้นจะไปช่วยรับรองตัวระเบียบกติกาเรื่องที่ชาวบ้านทำมา ไปรับรองกลไกคณะกรรมการ  ไปทำให้สถานการณ์ทำงานที่มีกลไกมีระเบียบตัวนี้เป็นนิติบุคคลที่อนาคตท้องถิ่นอาจจะลงมาสนับสนุนให้เกิดการทำงานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

“ถ้าสมมติองค์กรที่เข้าไปสนับสนุน ณ ปัจจุบันไม่อยู่ตรงนี้ เราก็ยังมีท้องถิ่นคอยดำเนินการทำเรื่องนี้อยู่ ถ้ามีข้อบัญญัติตำบล ถ้าถามว่าจะเกิดข้อบัญญัติไหม  ก็มีแนวทาง แต่ว่าใช้เวลาหน่อย  ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ผู้บริหารเองว่าจะกล้าไหม เพราะว่าบางทีก็กลัวว่าจะไปขัดกับกฎหมายอื่น ๆ โดยเฉพาะกฎหมายของพื้นที่อนุรักษ์  สองรัฐธรรมนูญก็ยังไม่มี อันนี้คือประเด็นสำคัญ  เพราะไม่รู้จะไปอ้างอิงตัวไหน  แต่เราก็พยายามศึกษาเรียนรู้จากพื้นที่อื่น ๆ ว่าเขาทำอย่างไร รูปแบบไหน  แล้วลองมาเอาดูกับพื้นที่ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป”

คณะทำงานของเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ยังกล่าวอีกว่า “จริง ๆ แล้วคิดว่าข้อบัญญัติมีความจำเป็นนะ  อย่างน้อยก็มีการรับรองสิทธิของชุมชนในทางกฎหมาย แม้จะไม่ใช้กฎหมายระดับใหญ่ระดับชาติ แต่เป็นกฎหมายในระดับท้องถิ่นที่สามารถจะเข้ามาบริหารจัดการให้ชุมชนมีสิทธิในการที่จะอยู่กับทรัพยากรของตัวเองได้  ถึงแม้ว่าจะมีธรรมนูญตำบล  จะมีระเบียบกติกา  แต่ว่าเสมือนหนึ่งว่ามันไม่มีสถานะทางกฎหมาย  ถ้าท้องถิ่นเอากฎหมายของตัวเองมารองรับ  มีกลไกมารองรับระเบียบเหล่านี้มันก็จะทำให้ตัวระเบียบตัวกลไกมันมีสถานะที่มีกฎหมายมารองรับส่วนหนึ่ง  มันสามารถทำได้ทั้ง พ.ร.บ.กระจายอำนาจท้องถิ่น ในเรื่องของมาตราที่มันเกี่ยวข้อง พ.ร.บ.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เรื่องที่มันเชื่อมโยงกันอยู่”

เช่นเดียวกับ ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ประธานเครือข่ายฯ ก็ได้อธิบายถึงเรื่องข้อบัญญัติตำบลว่า “ที่เราอยากให้มีข้อบัญญัติ ไม่ใช่เอาไปรองรับที่ของนาย ก นาย ข ว่าเป็นที่ถูกต้อง หรือที่จะต้องออกโฉนดให้  แต่ที่เราได้คุยกันคือ เพื่อรับรองกฎกติกาของชุมชนที่คุยกันไว้ โดยมีเทศบัญญัติ ข้อบัญญัติต่างๆ ควบคุมช่วยอีกทาง ซึ่งจะไม่ใครอยากจะไปฝ่าฝืนแล้วทีนี้  โดยมีท้องถิ่น ช่วยกำกับอีกทีให้เป็นไปตามนั้น ความมั่นใจก็จะเกิดขึ้นกับคนในชุมชน”

อิสรภาพ คารมณ์กุล ผู้ประสานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ก็มีมุมมองความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า แรกๆ ก็มีปัญหาอยู่ แต่ว่าระยะหลัง มานี้ก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง หลังจากกลไกในระดับตำบล หมู่บ้านชัดแล้ว เรามองไปถึงเรื่องข้อบัญญัติท้องถิ่น

“เรื่องข้อบัญญัติตำบล ตอนนี้ยังติดอยู่ในเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่กำกับดูแลท้องถิ่น  โดยเฉพาะท้องถิ่นก็ยังไม่มีความเข้าใจ  เกรงกลัวเรื่องจะผิดกฎหมาย  จะผิดระเบียบแบบแผน นั่นแหละกฎหมายของทางท้องถิ่นนั่นแหละ  ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็เป็นหน้าที่โดยตรงด้วยซ้ำในเรื่องการจัดการทรัพยากร และในการออกข้อบัญญัติก็เป็นเพียงแค่ตัวที่จะมารับรองคณะกรรมการเท่านั้น  แต่ไม่ใช่การมารับรองแนวเขตอะไร ถ้าถามว่าจะไปถึงไหน จะไปได้ไหม มันก็ยังก้ำกึ่งว่าจะสามารถออกข้อบัญญัติระดับตำบลได้หรือไม่ ถ้าได้มันก็ดีต่อชาวบ้าน  ฉะนั้น มันอยู่ที่ตัวนายกฯ แหละ มันอยู่ที่ตัวผู้นำองค์กรเอง ซึ่งผมคิดว่า ถ้าท้องถิ่น เข้าใจเหมือนกับ นายกฯ และปลัดเทศบาล ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง ที่เราไปศึกษาดูงานมา มันก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร เพราะตัวนายกฯ เอง ก็เป็นคนที่นี่อยู่แล้ว ดังนั้น ตอนนี้มันอยู่ที่วิธีคิดเท่านั้นว่าจะออกข้อบัญญัติตำบลของตนเองได้หรือไม่อย่างไร”

ทั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ มีการวิเคราะห์และประเมินผลของแต่ละตำบลแล้ว ว่าแนวโน้มในเรื่องการออกข้อบัญญัติตำบลได้เลยหลังจากนี้ ก็คือ อบต.เปียงหลวง เพราะตัวนายกฯ และทีมงานชัดเจนในเรื่องนี้  ในขณะตำบลแสนไห และตำบลเมืองแหง ในขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจกันอยู่ แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีเป็นอย่างมาก เมื่อทางเทศบาลตำบลแสนไห และอบต.เมืองแหง ก็ได้เข้ามาหนุนเสริมมีการเข้าร่วมกิจกรรมของเครือข่ายฯกันทุกครั้ง มีการประชุม มีการออกสำรวจแนวเขตร่วมกัน เพื่อให้ไปในทิศทางเดียวกันต่อไป

“ใช่ เพราะว่า ณ ขณะนี้เรามองที่ท้องถิ่นนี่แหละ เราไม่ได้มองสูงไปกว่าท้องถิ่นหรอก ถ้าท้องถิ่นยังคงอยู่และเข้าใจเรื่องเครือข่ายมันก็จะมีการส่งเสริมกันเกิดขึ้น โดยบทบาทหน้าที่ของท้องถิ่นเอง ก็มีเรื่องไฟป่า หมอกควัน เรื่องดิน น้ำ ป่า อยู่แล้ว มันก็ต้องมีการเชื่อมกันกับเครือข่าย ซึ่งจะยิ่งทำให้กระบวนการเครือข่ายนั้นเป็นปึกแผ่นมากขึ้น ” อิสรภาพ คารมณ์กุล ที่ปรึกษาเครือข่ายฯ บอกย้ำ

ทั้งนี้ หลายฝ่ายระดมแนวคิด ค้นหาแนวทาง ออกกฎกติกาให้สอดคล้องกับท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งในเรื่องของการออกข้อบัญญัติตำบล,ธรรมนูญตำบล รวมไปถึงการตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดิน

ใช่ว่า ทางเครือข่ายฯ จะมุ่งเน้นหรือคาดหวังจะให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องออกข้อบัญญัติตำบลเหมือนกันหมดทั้ง 3 ตำบล แต่ก็ขึ้นอยู่กับแนวคิดของผู้บริหาร และความพร้อมของท้องถิ่น กระนั้น เครือข่ายฯ ก็วาดหวังและหาทางออกในการร่วมกันสร้างกฎกติกาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับท้องถิ่นของตนเอง

อนุสรณ์ คำอ้าย นายก อบต.เปียงหลวง กล่าวว่า “สามตำบลนี้ ทิศทางเหมือนกัน เพียงแต่ว่า การออกกฎระเบียบแต่ละหมู่บ้านอาจไม่เหมือนกัน หนึ่งตำบลอาจออกรวมเป็นแบบเดียวกันก็ได้   หรือจะแยกเป็นหมู่บ้านก็เป็นไปได้ หรือทั้งอำเภอ อาจหลอมรวมเป็นอย่างเดียวกันก็เป็นไปได้ อันนั้นเป็นเรื่องอนาคต  ซึ่งเรากำลังมองไปถึงจุดนั้นอยู่  ตอนนี้อยู่ในขั้นกระบวนการที่เราจะเดินไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้”

เหรียญชัย อ้วนคำ นายก อบต.เมืองแหง ก็บอกว่า ที่ผ่านมา ก็ได้เข้ามาร่วมกับทางเครือข่ายฯ มีการประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการระดับตำบล มีการจัดประชุมเครือข่ายฯ ในอบต. ซึ่งพร้อมที่จะช่วยเหลือและแก้ไขอยู่แล้ว   แต่ก็ต้องเข้าใจกันว่า ปัญหาแต่ละพื้นที่ แต่ละตำบลนั้นไม่เหมือนกัน ก็พยายามหาทางออกร่วมกันอยู่

อีกแนวทางหนึ่ง ที่เครือข่ายกำลังร่วมกันผลักดันให้มีการขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้า นั่นคือ ถ้าไม่ได้ออกข้อบัญญัติ เราก็อาจจะเสนอให้เป็นเรื่องธรรมนูญตำบล เป็นการประกาศนโยบายว่าด้วยเรื่องการจัดการป่าไม้ที่ดินในระดับตำบล รวมไปถึงการขอให้มีการแต่งตั้ง ‘คณะทำงานแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินอำเภอเวียงแหง’

“ตอนนี้ที่ทางเครือข่ายฯ ได้เสนอกับทางอำเภอ ก็คือ ให้มีกลไกระดับอำเภอขึ้นมาว่าด้วยเรื่องคณะทำงานแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินอำเภอเวียงแหง แต่ ณ ตอนนี้ที่ยังขยับไปไม่ถึง คือ จะเอากฎเกณฑ์ของหมู่บ้าน จุดดี จุดแข็ง นำไปเลือกเฟ้นให้เป็นกฎตำบลอีกครั้ง   พอทำเสร็จแล้ว มันก็น่าจะก้าวไปถึงข้อบัญญัติ เทศบัญญัติ  ก็คงรออีกสักหน่อย  แต่ตอนนี้ ในระดับชุมชน ระดับหมู่บ้าน กฎเกณฑ์ในหมู่บ้านต่างๆ เริ่มนิ่งแล้ว  เริ่มรู้เรื่องกันหมด  ผ่านการประชาสัมพันธ์ เสียงตามสาย ประชุมเมื่อไรก็คุยกัน” นุจิรัตน์ ปิวคำ ตัวแทนเครือข่ายฯ บอกเล่าทิศทางการขับเคลื่อนกลไกต่อไปข้างหน้า

สมพงษ์ ปละทองคำ หัวหน้าหน่วยจุดสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติ ก็มีมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า มองเรื่องข้อบัญญัติไหม คือมอง แต่เราก็ไม่รู้  เราคงต้องดูความพร้อม ดูองค์ความรู้ ว่าบางตำบล เขาอาจไปไม่ถึงเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติ ถ้ามองไปถึงเทศบัญญัติ  จริง ๆ เทศบัญญัติมันก็เป็นกฎหมายที่อยู่ระดับล่างสุด ที่บังคับใช้ได้ก็ถูกอยู่ แต่ถ้าชุมชนไม่เข้มแข็งจริง กฎระเบียบจะไปตั้งอะไรมันก็ทำอะไรไม่ได้

“ดังนั้น ถ้าเครือข่ายค่อยๆ ขยับช้าๆ หมายความว่า ค่อยๆ ขยับไปตามแผนที่วางไว้ ภายใน 2 ปีต้องไปถึงให้ได้ เพื่อไปถึงจุดที่วางไว้  แต่มันไปไม่ได้บางอย่าง ก็ลดความเร็วลงมา คุยกันให้เคลียร์ก่อน แก้ปัญหาให้เสร็จก่อน คุยเรื่องวัดพื้นที่ให้ชัด จะวัดยังไง คุยกฎระเบียบให้ชัดก่อนไปสู่เทศบัญญัติ  ถ้าไปถึงจุดนั้น อาจไม่ใช่ 1-2 ปี กว่าชุมชนจะเข้าใจจะยอมรับ  กว่าที่หน่วยงาน โดยเฉพาะกรมอุทยานจะยอมรับ มันต้องมาคุยกัน ขณะนี้ ผมจะมองเรื่องกฎกติกา  เราพยายามจะคุยกับหมู่บ้านบางหมู่บ้าน กับตำบลบางตำบล ฉะนั้น คงต้องเป็นขั้นตอนที่ค่อยเป็นค่อยไป ถามว่าชาวบ้านเข้าใจไหมเรื่องข้อบัญญัติตำบล ทุกวันนี้ 2 ปีกว่า ที่เครือข่ายฯ ทำงานร่วมกับอุทยานฯ คิดว่า70 เปอร์เซ็นต์ ชาวบ้านรับรู้กระบวนการทำงานนี้แล้ว  แต่อีก30เปอร์เซ็นต์ คือที่ยังไม่รับรู้  ฉะนั้น ประเด็นการขับเคลื่อนต่อไป ไม่ได้ติดที่อุทยานแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่า เครือข่ายเราจะร่วมกันอย่างไร จะสร้างองค์ความรู้กันอย่างไร” หัวหน้าหน่วยจุดสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติ ได้เสนอมุมมองความเห็นต่อเรื่องนี้

 

ข้อมูลประกอบ
 
1.หนังสือ เสียงจากคนต้นน้ำแตง...บทเรียน ความร่วมมือ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,จัดทำโดย เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน,มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ,สนับสนุนโดย กองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม,เมษายน 2559 
2.การจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่ตำบลบ้านหลวง,ปาริชาต กลิ่นขจร,มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(ภาคเหนือ), 16 ตุลาคม 2557 
3.เทศบัญญัติ’บ้านหลวง’: ตัวเชื่อมทุกภาคส่วน ที่ทำให้เราทำงานง่ายขึ้น,ธีระศักดิ์ โฆษคุณวุฒิ,poepleVOICE,6 เม.ย.2557
4.เทศบัญญัติ’บ้านหลวง’: บันไดก้าวแรกให้คนรุ่นต่อไป..ก่อชิ เพชรไพรพนาวัลย์ poepleVOICE, 04 เม.ย. 2557

                                                                                                                                                                                              

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net