เพราะสิ้นคิดหรือคิดขบถ? ทำไมคนฟิลิปปินส์จึงเลือก โรดริโก ดูเตร์เต?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ที่มาภาพ: http://mugstoria.com/christianceniza/11-quotable-quotes-from-mayor-rodrigo-duterte/

สืบเนื่องจากเรื่องการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์

ช่วงกลางดึกของวันที่จัดเลือกตั้งฟิลิปปินส์ มิตรสหายสองสามท่านที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนส่งข้อความทาง facebook มาถามว่า  โรดริโก ดูเตร์เต ซึ่งมีชื่อเล่นว่า “ดิกอง” นั้นมีดีอะไร ทำไมผู้คนจำนวนมากถึงได้พากันเลือกเขาเป็นผู้นำ บ้างก็ถามว่าทำไมตัวผู้เขียนเองดูไม่ยินดียินร้าย ประหนึ่งไม่ตกใจกับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ

ตอบเพื่อนไปอย่างมักง่ายและกำปั้นทุบดิน ดิกองมีอะไรดีน่ะเหรอ คงไม่มี ทำไมถึงไม่ยินดียินร้าย อ๋อ เรื่องทำนองนี้มันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ชิน

แต่ก็แน่นอน… ไม่มีใครเข้าใจตามคาด ยิ่งงงหนัก

ผู้เขียนไปงานเปิดตัวหนังสือ ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ของคุณภาณุ ตรัยเวชที่ bookmoby มาเมื่อสองวันก่อน (13 พฤษภาคม 2559) มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเชิงเปรียบเทียบการเมืองไวมาร์กับการเมืองไทย คำถามที่รู้สึกว่าฟังแล้วหัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษคือคำถามที่ว่าเราคิดว่าใครเป็น “ยิว” ในบริบทสังคมปัจจุบัน หมายถึงใครกันที่ระบอบการเมืองของเรา (เช่นเดียวกับที่ระบอบนาซีกระทำต่อชาวยิวในช่วงสงครามโลก) ถือว่าเป็นภัยคุกคามและเป็น “ขยะแผ่นดิน” ควรถูกกำจัดให้สิ้น (ตามปณิธานขององค์กรที่มีอยู่จริงไม่อิงนิยาย) อาจารย์โสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์ จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึง “ยิวแห่งบุรพาทิศ” สมัยรัชกาลที่ 6 นั่นคือชาวจีนในประเทศไทย อีกทั้งเสริมว่าเป็นเพราะชาวจีนนั้นต่อต้านแนวคิดอนุรักษ์นิยมจึงถูกตราหน้าว่าเป็นยิว ผู้เขียนอยากจะขอเสริมในจุดนี้เล็กน้อย

แน่นอนมื่อนึกถึงไวมาร์ ก็ต้องนึกถึงหนังแวมไพร์อันเป็นหนังเงียบสุดคัลท์อย่างเรื่อง Nosferatu (1922) ซึ่งจริง ๆ ตั้งใจดัดแปลงจากเรื่อง Dracula ที่เรารู้จักกันดีแต่เนื่องจากติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์จึงต้องเปลี่ยนชื่อเรื่อง แถมงบจำกัดต้องไปถ่ายทำในดินแดนของประเทศสโลวะเกียในปัจจุบัน (ดูฉากของหนังเรื่องนี้ดี ๆ จะเห็นวิถีชีวิตสังคมสลาวิกของแท้ นักแสดงตัวประกอบคือชาวบ้านในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ ทีมงาน production บังเอิญเดินทางผ่านและตัดสินใจแวะถ่ายทำเพราะงบกำลังจะหมด) เช่นเดียวกับหนังสือสุดคลาสสิกเรื่อง Dracula ของ Bram Stoker ความน่ากลัวของแวมไพร์ที่ชื่อ Nosferatu นั้นหาใช่เพราะแวมไพร์หน้าตาน่ากลัว ดุร้าย แต่อย่างใด หากเป็นเพราะแวมไพร์ตั้งใจอยากจะย้ายถิ่นฐานไปพำนักเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาวบ้านมนุษย์ธรรมดา ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นภยันตรายอย่างยิ่งยวดเทียบเท่าโรคระบาด เพราะเมื่อแวมไพร์ดูดเลือดใครแล้วทำให้คน ๆ นั้นตาย เสียสติ หรือ (โดยเฉพาะใน fan fiction แวมไพร์ต่าง ๆ ) กลายเป็นแวมไพร์ไป

การที่แวมไพร์นั้นค่อนข้าง pro-globalisation แถมมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีความสามารถทางภาษาสุงส่ง มีทุนทรัพย์ สามารถทำตัวกลมกลืนแต่กลับทำให้ “เลือด” ของชุมชนเป็นพิษ ไม่บริสุทธิ์ อีกต่อไป ทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนความกลัว ความไม่มั่นคงและ anti-semitism ของยุโรป ฉันใดฉันนั้น การที่ชาวจีนในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่พำนักอาศัยและเจริญก้าวหน้าทางธุรกิจในสยาม แต่พร้อมที่จะสละเรือความเป็นสยาม เปลี่ยนสัญชาติเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและรักษาสวัสดิภาพของตนในยามศึกสงครามหรือสมัยที่ชาตินิยมเป็นสิ่งเดียวที่จะเป็นยารักษาความไม่มั่นคง ปัจจัยนี้เองน่าจะสำคัญมากพอให้ชาวจีนได้รับฉายาจากองค์ธีรราชเจ้าว่าเป็น “ยิวแห่งบูรพาทิศ” ส่วนในบริบทปัจจุบันนี้น่ะเหรอ ผู้ที่ดูจะ enjoy the best of both worlds เช่น ได้ทุนอันเป็นสัญลักษณ์สถาบันอันสูงส่งแต่กลับมาวิพากษ์วิจารณ์ตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ที่ถูกใช้เพื่อโหนสถาบันนั้น ๆ เป็นผู้นำ “ขบถ” (ผู้ที่ต่อต้าน “Dracula” หรือ “Nosferatu” เมืองไทย หาคิดไม่ว่าผู้ที่มุ่งมั่นจะปฏิวัติในระบอบคือผู้ที่รักชาติอย่างแท้จริงและหวังดีต่อสถาบันต่าง ๆ พูดง่าย ๆ คือหวังดีต่อท่านอย่างสุดจิตสุดใจ) คนที่ passable as สลิ่มคุณภาพ แต่เนื้อในไม่สิ้นแสงฉาน แถมเป็นแวมไพร์น่ากลัวเพราะสามารถแพร่เชื้อความคิด “ไร้อารยะ” ให้คนทั่วไป

คนเหล่านี้แหละที่ผู้เขียนคิดว่าสังคมมองและปฎิบัติเยี่ยงยิวในสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งน่าเศร้า   

โอเค ฟังและคิดอย่างเพลิดเพลินอยู่ดี ๆ พลันคำถามเดียวกันกับที่เพื่อนส่งข้อความมาถามในคืนเลือกตั้งก็ผุดขึ้นมาหลอกหลอน ยิ่งกว่าแวมไพร์ อันนี้ไม่ได้คาดคิดมาก่อน

นั่นก็คือคำถามที่ว่าทำไมคนอย่างดูเตร์เตถึงชนะการเลือกตั้ง มันเป็นเพราะตอนนี้สังคมฟิลิปปินส์นั้นคือไวมาร์หรอกหรือ เนื่องจากหนังสือของคุณภาณุไม่ได้กล่าวถึงตัวฮิตเลอร์มากเท่าที่หน้าปกทำให้หลงเข้าใจไป (ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าดีงาม) ผู้เขียนคิดว่าหนังสือคงจะพยายามสื่อว่าฮิตเลอร์ไม่ได้ made ฮิตเลอร์ จะเข้าใจว่าคนอย่างฮิตเลอร์เรืองอำนาจได้อย่างไร เราต้องพิจารณาสภาพสังคมของประเทศที่แพ้สงครามสมรภูมิรบต่างแดน ข้างนอกในเมืองดูสุกใส ข้างในเป็นมากกว่าโพรงที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ไม่พอใจที่กลายเป็นผู้แพ้ หวาดระแวงนักการเมืองยิวว่าเป็นตัวคุกคามความมั่นคงแห่งชาติ ไปเซ็นสนธิสัญญาที่ทำให้เยอรมนีเสียเปรียบ สังคมประมาณนี้เป็นแปลงเพาะผู้นำอย่างฮิตเลอร์ชั้นดี

เอาเข้าจริง ๆ มันทั้งใช่และไม่ใช่ในขณะเดียวกัน ความสามารถทางการโฆษณาชวนเชื่อของฮิตเลอร์นั้นเราอาจต้องซูฮกยอมรับ แต่ปัจจัยบุคคลและสภาพสังคมนั่นแหละที่ทำให้เกิด Third Reich ที่เรารู้จักกัน เราไม่อาจจะเทียบไวมาร์กับฟิลิปปินส์ตอนนี้ ทำนองเดียวกันกับที่ว่าเราไม่สามารถเทียบไวมาร์กับยุโรปตะวันออกแห่งกลุ่มปาร์ตี้ผู้นำขวาจัดอย่าง มิลอช เซมาน (สาธารณรัฐเช็ก) ที่เทียบการอพยพลี้ภัยว่าเทียบเท่ากับการรุกรานจากภายนอกอย่างเป็นระบบ “organised invasion” หรือ ยาโรสวัฟ คาชินสกี (สาธารณรัฐโปแลนด์) ผู้เคยกล่าวเป็นนัยว่าผู้อพยพนั้นอาจนำเชื้อโรคเข้ามาแพร่ในโปแลนด์ ซึ่งจริง ๆ น่าจะเทียบได้ง่ายกว่าเพราะมรดกทางประวัติศาสตร์ของภูมิภาคยุโรปตะวันออกนั้นเกี่ยวพันกับนาซีเยอรมนีมากกว่าของเรา แต่เวลาผ่านไป ประวัติศาสตร์ (ซึ่งจริงอย่างที่พี่ติ๊นาได้ร้องไว้ในเพลงประ-หวัด-สาด) นั้นจะไม่ “ซ้ำ” เป็น carbon copy ของอดีตเสียทีเดียว แต่กระนั้นแหละ เหตุการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดและภูมิภาคที่ “มีปัญหา” เหล่านี้มีอะไรคล้ายคลึงกัน เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่กำลังสิ้นคิดและ/หรือหมายเป็นขบถเพื่อบรรเทาความกลัว ความไม่มั่นคง การเลื่อมศรัทธาในเสรีนิยมประชาธิปไตย ความยากจนข้นแค้นและความรู้สึกอับจนหมดหนทาง

วิทยากรทั้งสองท่านในงานเปิดตัวหนังสือได้ตอบคำถามโดยยกกรณีของโดนัลด์ ทรัมป์ มาเทียบเคียง แต่คำตอบดูจะยังไม่โดนใจคนถามและคนที่นั่งฟังในที่นั้น

ผู้เขียนขอลองบ้าง… สักตั้ง

ผู้คนในประเทศฟิลิปปินส์จำนวนมากเดินเข้าคูหาเและเลือกผู้นำของตนด้วย อารมณ์ เป็นหลัก ไม่ใช่ด้วยเหตุและผลโดยอิงมาตรวัดจริยธรรมและคุณความดีของผู้สมัครแต่อย่างใด

มารดาและยายของผู้เขียนซึ่งเป็นชาวฟิลิปปินส์ได้ให้เหตุผลสั้น ๆ ประมาณว่า “ไม่เลือกดูเตร์เตเพราะเขาเกลียดเกาะเนกรอสของเรา เขาเกลียดคนบิสายัน” จบข่าว.

เหตุผลนี้ไม่สามารถสะท้อนอะไรอื่น นอกจากลักษณะ ภูมิภาคนิยม ในประเทศที่ประกอบด้วยหมู่เกาะกว่าเจ็ดพันเกาะ ความหลากหลายทางภาษาสูงเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้ (และในที่นี้ไม่ได้กล่าวถึง dialect หรือภาษาถิ่นแต่อย่างใด เพราะแต่ละภาษานั้นไวยากรณ์ คำศัพท์ต่างกันสุดขั้ว จนแทบจะสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง)

ผู้ที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารการเมืองฟิลิปปินส์ ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเอกราชหรือการล้มลุกคลุกคลานทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองชองประเทศนี้คงจะไม่ get คงจะไม่เข้าใจปรากฏการณ์ ดิกองฟีเวอร์กระมัง

ผู้เขียนเป็นเพียงนักวรรณคดี ไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญ เข้าใจความย้อนแย้งแห่งเวทีการเมืองประเทศนี้แจ่มแจ้ง แต่เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวและใกล้หัวใจของผู้เขียน  ผู้เขียนจึงขอเสนอตามความเข้าใจจากประสบการณ์ส่วนตัว หวังว่าอาจพอทำให้ผู้อ่านเริ่มสนใจศึกษาเปรียบเทียบการเมืองฟิลิปปินส์และการเมืองในประเทศบ้านเกิดที่รักยิ่งของเรา

เมื่ออ่านจนจบ ผู้อ่านจะตัดสินเอาเองและอาจเข้าใจในที่สุดว่าทำไม ดิกอง ผู้มีสมญานาม “โดนัลด์ ทรัมป์แห่งบูรพาทิศ” ผู้มีวาทะเหยียดเพศ นำประเด็นเรื่องข่มขืนมาล้อเล่น เน้นความรุนแรง หยาบคาย เรียกง่าย ๆ ว่าแทบจะหาความดีงามในตัวไม่ได้แม้จะพยายามเค้นแล้วเค้นอีกก็ตามนั้น ถึงดูเหมือนจะ (ย้ำว่า “ดูเหมือนจะ”) ชนะใจมวลมหาประชากรปินอยแลนด์


(จากหน้าเฟซบุ๊กของมิตรสหายท่านหนึ่ง ขอขอบคุณทุกท่านมา ณ ที่นี้)

ดิกองเป็น Farce และ Foil ของการสืบสันตติวงศ์ทางการเมือง (Political Dynasty)

ตั้งแต่เด็ก ผู้เขียนถูกปลูกฝังแนวคิดที่ว่า เวทีการเมืองฟิลิปปินส์นั้นเปรียบเสมือนละครสัตว์ หรือถ้าจะเบากว่านั้นคือเป็น farce (ภาษาไทยเรียก หัสนาฏกรรม) มีไว้กระตุ้นอารมณ์ขัน (แม้หลายครั้งเสียงหัวเราะจะแฝงไว้ด้วยความระทมขมขื่นก็ตาม) แต่เป็น foil หรือคู่เปรียบเทียบกับการเมืองไทยว่าเหมือนต่างอย่างไร  

การขบขันกับคอลเลกชันรองเท้าเว่อร์วังอลังการของ อิเมลดา มาร์กอส การขบขันผู้นำสุดเปิ่นอย่าง “เอรัป” โจเซฟ เอสตราดา นักการเมืองผู้อาศัยบารมีความเป็นนักแสดงจูงใจมวลมหาประชาชีให้เลือกตนเป็นผู้นำประเทศ  ช่วงเวลาเหล่านั้นดูจะไม่มีวันจบสิ้น (จนในช่วงสิบปีมานี้ เมื่อความขื่นขันเริ่มจุกคอเมื่อบ้านเราต้องพบกับการรัฐประหารติด ๆ กันถึงสองครั้ง) คำถามก็คือผู้คนในประเทศฟิลิปปินส์ไม่เคยเรียนรู้หรือไงว่าการเลือกบุรุษจอมคัลท์หรือเซเลบต่าง ๆ แล้วต้องตกม้าตาย ไม่รอดทุกคน

คำตอบก็คือไม่ ! ก็ดูสิคะ ปาเกียวเพิ่งได้ที่นั่งในวุฒิสภาของฟิลิปปินส์ไปหยก ๆ

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศและชนชาติที่หวนหาความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ แต่เมื่อหวนกลับไปมองตัวตนรากเหง้าทางวัฒนธรรมก็มีแต่ความสับสน จะเป็นแบบสเปนหรืออเมริกันหรือมาเลย์? สิ่งที่จะสนองความต้องการคือการยึดมั่นกับระบอบการสืบสันตติวงศ์ทางการเมือง (Political Dynasty) ดังนั้นแล้วจึงไม่แปลกแต่อย่างไรที่ลูกหลานของผู้นำในอดีตเช่นกลอเรีย อาโรโย บุตรีของโจสดาโด มาคาปากัล ประธานาธิบดีคนที่ 9 และนอยนอย อาคีโน บุตรของนีนอยและโคราซอน อาคีโน จะขึ้นมาเป็นผู้นำแห่งชาติได้

ด้วยอานิสงส์จากเกลียวคลื่นทางอารมณ์โหยหาอดีตของมวลชน ลูกหลานชนชั้นนำที่ร่ำรวยสามารถที่จะกินบุญเก่าได้อย่างสบาย ไม่ต้องลงแรงมาก เพราะการสืบสันตติวงศ์ทางการเมืองเปรียบดั่งกระดานโต้คลื่นที่จะนำพาให้บุคคลเหล่านี้ล่องลอยขึ้นเหนือยอดคลื่นได้เป็นผลสำเร็จ (ไม่ล่มตั้งแต่ปากอ่าวเหมือนคนธรรมดาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ) แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน “รัชทายาททางการเมือง” ที่ขึ้นมาแต่ละคนไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ แต่กลับแย่กว่าเดิมด้วยทำให้ผู้คนเบื่อ เหนื่อยหน่าย ผู้คนรู้สึกถูกกดขี่และคุกคาม

แน่นอนว่าไพ่ตัวเลือกที่มีในมือของนอยนอยที่พยายามยื่นให้ประชาชนคือ มาร์ โรฮัส ผู้เป็นเหลนของมานูเอล โรฮัส (ประธานาธิบดีคนที่ 5 และนับเป็นผู้นำคนแรกของชาติหลังจากที่ได้รับเอกราชจากสหรัฐอเมริกา) นั้นไม่ตอบโจทย์ของผู้ที่เบื่อหน่ายกับสภาพพายเรื่อในอ่าง จึงไม่เป็นที่แปลกใจที่ทำไมมวลมหาประชาฟิลิปิโนรากหญ้าถึงตัดมาร๋ โรฮัสออกไปจากตัวเลือกอย่างไรเยื่อใย

Eric Hoffer ผู้เขียนหนังสือสุดคลาสสิกที่ผู้เขียนต้องขอร้องให้นักเรียนวรรณคดีของตัวเองอ่านเสมอเรื่อง The True Believer: Thoughts On The Nature Of Mass Movements กล่าวไว้ตั้งแต่บทแรกว่า ความปรารถนาหรือความโหยหาการเปลี่ยนแปลง(desire for change) นั้นเป็นตัวขับเคลื่อนอันทรงพลังที่ทำให้มวลชนลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ความโหยหาดังกล่าวต้องเป็นความโหยหาที่อยู่บนฐานความคิดความเชื่อที่ว่าชีวิตของตนนั้นแตกสลาย ทุกอย่างในชีวิตพังทลาย ไม่สามารถกู้คืน  อนาคตเป็นเพียงภาพสีจาง ลางเลือน  ที่ไม่มีวันเป็นจริง อัตลักษณ์ของพวกเขาเต็มไปด้วยรอยร้าวเกินจะประสาน จนทำให้ได้ข้อสรุปว่า เมื่อโชคชะตาไม่เป็นใจก็ทุบทำลาย ให้ความแตกสลายกลายเป็นความภูมิใจหนึ่งเดียว เป็นการ rebrand ตัวตนประหนึ่งได้จุติใหม่ แม้ว่าบริบทในหนังสือของ Hoffer นั้นจะไม่ใช่ไทยหรือฟิลิปปินส์ก็ตาม


ตัวอย่างของการ
fixate หมกมุ่นกับการสืบสันตติวงศ์ทางการเมือง (Political Dynasty) ช่วงหาเสียง

แต่ผู้เขียนจะนึกถึงหนังสือเล่มนี้ก่อนเล่มอื่นเสมอเมื่อพินิจสถานการณ์ทั้งในประเทศพ่อ (พ่อจริง ๆ ไม่ใช่พ่อ collective) คือประเทศไทย มิใช่เพราะเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากจะยอมรับหรือแม้แต่คิดเหตุการณ์หนึ่งหรอกหรือที่ทำให้ชนชั้นกลางส่วนมากลุกขึ้นมาเป่านกหวีด ยันว่าไม่ใช่การผดุงรักษา status quo กลัวอำนาจหรือสถานะความมั่นคงจะหลุดมืออย่างเดียว แต่รวมพลังเป็นมวลมหาประชาชนพลเมืองดีเพราะไม่อยากคิดไม่อยากพูดถึงสิ่งที่ unthinkable & unspeakable ที่จะเป็นจุดพลิกผัน point of no return ของประเทศเรา หากจะวิเคราะห์โดยอิงหรือได้รับแรงบันดาลใจจาก Hoffer เราคงจะพูดได้ว่า “นกหวีด” นั้นเป็นสัญลักษณ์แทน desire for change บนฐานของความสิ้นหวัง ใจหนึ่งอยากให้ระบอบที่ตนเองอาศัยอยู่ใต้ร่มเงามาเป็นเวลานานนั้นแข็งแกร่งยิ่งขึ้นและคงอยู่สืบไป แต่ใจหนึ่งก็รู้ว่าไม่มีใครพ้นความตายได้ ไม่มีระบอบใดอยู่ยงคงกระพัน จึงต้องการมโนสภาพสังคมที่สะท้อนความใฝ่ฝันของตัวเอง ไม่น่าแปลกที่ทำไมเราจึงพบคนที่เหมือนไม่ได้อยู่โลกเดียวกับเรา ไม่รู้เรื่องแม่จ่านิว ไม่รู้ว่าตอนนี้นักการเมืองพากันไล่นักการทูตที่ไม่ได้พูดไปตามโพยที่รัฐต้องการ “เราไม่ได้เป็น alien นะ” บางครั้งอยากจะเอ่ยคำนี้เมื่อพบผู้ที่คิดว่าตัวเองแปลกแยก คุยกับคนบางคนแล้วคนนั้นดูจะไม่ get ไม่ได้อยู่ในประเทศขื่นขันประเทศเดียวกัน

นอกจากประเทศพ่อแล้ว หนังสือของ Hoffer ยังทำให้นึกถึงประเทศแม่ (ในที่นี้ประเทศแม่ literally หมายถึงดินแดนของมารดาจริง ๆ) พวกรัชทายาทแห่งระบอบการสืบสันตติวงศ์ทางการเมืองคงจะเข้าใจไปว่าประชาชนคงจะเลือกตนเพราะตนเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งที่ทุกคนโหยหา นั่นคืออดีตและประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์ของประเทศสมัยโรฮัสและมาคาปากัล แน่นอนว่าต้องพบกับคำว่า “เงิบ” เพราะในขณะที่คนเหล่านี้ frozen (in time) ร้องเพลง let it go [it ในที่นี้คือปัจจุบันและความเป็นจริงตามท้องถนน] อย่างเฉิดฉายสวยงาม ความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมของมวลมหาประชาชนนั้นเปลี่ยนไปกับบริบทแห่งเวลาอย่างไม่เหลือเค้าเดิม พูดง่าย ๆ คือมุกเดิมไม่เวิร์กอีกแล้ว เมื่อผู้สมัครเป็นสัญลักษณ์ของความไม่เซอร์ไพรส์ ความจำเจ แน่นอนดูเตร์เตเป็นสัญลักษณ์แห่งสิ่งที่ตรงกันข้ามที่สตรอง เมื่อผนึกกำลังความสตรองของ foil และ farce เข้ากับความสตรองของแนวคิดสไตล์ทรัมป์และการออกตัวว่าเป็นขบถ มันจึงเป็นยิ่งกว่าจุดหักเหเพราะมันเป็นจุดแตกหักทางการเมือง


ที่มาภาพ: http://philippinesdaily.org/sara-duterte-supporters-shave-heads-for-rodys-presidential-bid/

ผู้คนอาจไม่คิดว่าดูเตร์เตเป็นผู้นำที่เหมาะสมถูกต้องยิ่งนักหรือมีคุณความดีที่จะนำมาสู้กับบรรดากลุ่ม “คนดีศรีสังคม” ลูกหลานเซเลบของผู้มีคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อชาติในอดีต รัชทายาทเกิดมาพร้อมช้อนเงินช้อนทองผู้มีภาพลักษณ์ผู้สะอาดหมดจดแต่หลายครั้งเหยียบขึ้ไก่ไม่ฝ่อ (คุ้น ๆ มั้ยคะ) เป็นเช่นนี้เลือกคนหยาบกร้าน โผงผาง เหยียดเพศแต่ย้อนแย้งที่ลูกสาวตัวเองคือ “อินได” (คำแปลที่น่าจะเข้าเค้าคือ “เจ๊”) ซาร่า ดูเตร์เต กลับประกาศตนว่าสนับสนุนสิทธิ LGBT อย่างเปิดเผย เกิดข่าวลือว่านางเป็นเลสเบียน ซึ่งสำหรับสังคมอนุรักษณ์นิยมอย่างฟิลิปปินส์ถือเป็นเรื่องใหญ่ – แม้จะเป็นเรื่องเม้าท์สนุก ๆ ทำให้ชาวบ้านอย่างเรา ๆ ลืมทุกข์ยากด้วยความอยากเผือกอยากรู้ก็ตาม (นี้เองส่งผลให้กลุ่ม LGBT แห่ง Davao City บูชานางและตั้งความหวังว่านางจะมาโปรดการต่อสู้ด้านสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ) เจ๊ซาร่าคนเดียวกันนี้เคยมีเรื่องชกต่อยเจ้าพนักงานศาลที่ยืนยันว่ามีคำสั่งศาลให้รื้อทำลายบ้านเรืองในชุมชนที่ชื่อบารังไกโซลิมัน ซึ่งอยูในเขตปกครองของเจ๊ (ย้อนแย้งหนักเมื่อลูกสาวของพ่อมาชิสโมที่เหยียดเพศนั้นเป็นนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของดาเวา) พลันการใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องคุ้มครอง “ชาวบ้าน” กลับเป็นปัจจัยที่ทำให้เรื่องราวของสองพ่อลูกนี้น่าติดตาม ท่อนฮุคของเพลงประกอบละครน้ำเน่าสะท้อนในคำประกาศกร้าวของเจ๊ลูกสาวว่าตนมีปัญหากับพ่อ และจะไม่ยอมเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งโดยเด็ดขาด เป็น love-hate relationship คล้ายเลือกละครน้ำเน่าที่จะทำให้ตนรู้สึกเอ็นเตอร์เทนไปถึงหมดวาระ ให้ผู้คนหลีกหนีจากสภาพการณ์อันน่าหดหู่ของความเป็นจริง

แต่เรามาดูกันชัด ๆ ซิว่าดิกองเป็นดิกองอย่างที่ (เขาอยากให้) เราคิดไว้มากน้อยเพียงใด


ที่มาภาพ: http://newsinfo.inquirer.net/20498/mayor-sara-duterte-smacks-the-sheriff

ข้อเท็จจริง 2 ข้อ (ซึ่งย้อนแย้งหนักกว่าเดิม): การสร้างอัตลักษณ์ขบถและการฮั้วกันของพ่อและลูกสาว “นอกคอก”

1. น้อยคนนักจะทราบว่า โรดริโก ดูเตร์เตก็เป็นหนึ่งในรัชทายาทของการสืบสันตติวงศ์ทางการเมือง (อุ๊ต๊ะ!) พ่อของเขาเป็นนายกเทศมนตรีแห่งดาเวา ปู่ก็มีตำแหน่งทางการเมืองเช่นเดียวกัน ส่วนญาติเป็นนายเทศมนตรีของเมืองเซบู! แต่แทนที่จะนำจุดนี้มาเป็นจุดขายสตรอง ๆ ในช่วงหาเสียงเยี่ยงมาร์ โรฮัส เขากลับตั้งใจเน้นความเป็น The Punisher เน้นความรากหญ้าของตัวเอง เน้นความแคร์ชุมชนในสังกัดและความดูแลอย่างรุนแรงจนกล้าอ้าแขนรับความรุนแรง ถึงจุดนี้คงไม่ต้องถามแล้วว่าเขาเลือกวิถีนี้เพราะอะไร

2. ลูกสาวดิกอง คือ อินได aka “เจ๊” ซาร่านั้นเป็นทนายก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรี นางแต่งงานกับเพื่อนทนาย ปัจจุบันมีลูกสองคน คือลูกชายสายเลือดตัวเองและลูกสาวบุญธรรม เมื่อพ่อของตัวเองนำเรื่องข่มขืนมาล้อเล่นจนผิดไปหมด เจ๊ซาร่าก็ออกมาประกาศกร้าวว่าตนเคยถูกข่มขืน ปฏิกิริยาแรกของคนเป็นพ่อคือด่าว่าซาร่าเป็นราชินีดราม่า พ่วงด้วยคำกล่าวโบนัสที่ว่า “เป็นไปไม่ได้ (ที่ซาร่าเป็นเหยื่อข่มขืน) ก็นางพกปืนนะ (จะบอกให้)” และแน่นอนสักพักก็ออกมาขอโทษสไตล์พระเอกหนังน้ำเน่าว่า “Sometimes my mouth can get the better of me” ทำนองปากร้ายแต่ใจไม่ได้ร้ายเท่าปากนะแจ๊ะ หลายคนที่ติดตามข่าวคงจะคิดว่าบ้าทั้งพ่อทั้งลูก ฆ่าตัวตายทางการเมืองชัด ๆ แต่เมื่อมาวิเคราะห์ดูดี ๆ เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าพ่อลูกฮั้วกันและส่งเสริมกันอย่างจีเนียส ลูกสาวลงทุนโกนหัวเชียร์พ่อ ดูดี ๆ ระบบการสืบสันตติวงศ์ทางการเมืองนั้นไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่แฝงพรางตัวอยางแนบเนียน ซาร่าได้ทำให้คนเป็นพ่อออกมาขอโทษขอโพย ย้ำสิ่งที่ประชาชนทั่วไปที่เชียร์เขาอยู่แล้วคิดและคุยกันในวงเหล้าหรือโต๊ะอาหาร “โอ๊ย ดิกองอะเหรอ มันปากหมาแต่ใจดี” “ถึงดิกองจะมารยาททรามแต่ก็ทำงานเห็นผล ดูดาเวาสิ เดินเล่นกลางดึกแล้วยังรู้สึกปลอดภัย ไม่ธรรมดา” ประมาณนี้ 

นักการเมืองไม่สิ้นคิด ไม่คิดขบถ หากฉวยโอกาสอันเหมาะ และเวลามันก็ช่างเหมาะเหม็งเป็นใจให้พ่อลูกคู่นีเหลือเกิน

คนที่เลือกเขาล่ะ สิ้นคิดหรือคิดขบถ?
 

แล้วตัวเต็งคนอื่นอย่างโจโจ บินายและเกรซ โปล่ะ? ไม่เด่นพอ? (ไม่ต้องพูดถึงบองบอง มาร์กอส)

คำตอบง่าย ๆ คือถูกต้องนะคร้าบ... ทั้งสองคนไม่ตอบโจทย์ desire for (drastic) change โจโจ บินาย แม้ว่าจะเป็นรัฐบุรุษผู้เปี่ยมประสบการณ์แต่ก็เป็นคนของรัฐบาล แถมพ่วงข้อครหาฉ้อราษฎร์ ทำให้ประชาชนเอือมหนักไปใหญ่ ส่วนเกรซ โป บุตรบุญธรรมของดาราชื่อดัง แม้จะไม่อ่อนด้อยประสบการณ์ในเวทีการเมืองอย่างคอรี อาคีโน แต่บุญวาสนานั้นเทียบรัศมีกับคอรีไม่ได้เลย ก็สามีของเกรซไม่ใช่นีนอย และหากแม้นเธอเป็นลูกหลานเหลนเซเลบเช่นมาร์ โรฮัสหรือนอยนอย เธอก็คงจะตกม้าตายเช่นกัน

แล้วทีนี้จะเหลือใครล่ะ ก็มีอยู่คนเดียวคือ ดิกอง ผู้มีจุดขายคือ present ความไม่มิอะไรดีงามมางัดข้อสู้กับนักการเมืองที่พยายามขายภาพลักษณ์ดีงามทั้งหลาย

ความดีอย่างเดียวชองดิกอง?

อย่างน้อยดิกองฟีเวอร์ทั้งในและนอกประเทศฟิลิปปินส์ อย่างน้อยคำถามที่ผู้สนใจการเมืองฟิลิปปินส์ชาวไทยถามด้วยความสงสัยใคร่รู้และ/หรือประหวั่นพรั่นพรึงก็เป็นเครื่องยืนยันให้เราเห็นว่าเราจะดูถูกการตัดสินใจของมวลมหาประชาชนประเทศเพื่อนบ้านเรามิได้ แม้มันค่อนข้างชัดเจนว่าผู้นำคนต่อไปจะเป็นเผด็จการ แต่ผู้คนเหล่านี้ก็ยังใช้สิทธิอันชอบธรรม “เลือก” เผด็จการด้วยตัวเอง มีสิทธิมีเสียงเลือกตั้งในระบบที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้า คลื่นลมมันบังเกิด ผิดกับประเทศที่เป็น farce และ foil ดินแดนลับแลที่ผู้คนตกอยู่ใต้ระบอบเผด็จการเช่นกัน ที่แม้ว่าตอนนี้ คลื่นลมดูสงบ คลื่นใต้น้ำถูกสยบ แต่พวกเราไม่มีโอกาสได้ ”เลือก” แม้แต่ผู้นำห่วย ๆ และคงจะไม่มีมีสิทธิไปอีกนาน พูดง่าย ๆ เราไม่มีแม้แต่สิทธิที่จะพัฒนาความ “เบื่อ” ไม่มีโอกาสพัฒนาสำนึกของความรู้สึกติดแหง่ก frozen อยู่ในดินแดนสนธยาที่หลายคน “มโน” เอาว่าได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดในปฐพี ไม่มีโอกาสพูดอย่างที่เจ๊ซาร่าเคยพูดไว้ตอนที่ประกอบกิจกรรมที่ผู้เขียนขอเรียกว่า

Sawang-sawa na kami [We’re sick and tired]. We want change.

และแน่นอนการเปลี่ยนแปลงที่เจ๊หมายถึงคือพ่อของเจ๊เอง ปากบอกว่าเกลียดกันแต่หาเสียงให้กันและกันทางอ้อม ช่างเป็นกิจการในครัวเรือนที่น่ารัก

ขอจบด้วยวาทะเด็ด ๆ จากดิกอง ให้ตัวเลือกสรรพนามตามที่เห็นสมควร

 

“Dictatorship? I will be a dictator against all bad guys, evil people, criminals, drug lords. It will be a harsh condition for them”

“เผด็จการนิยมน่ะเหรอ ผม (กู) จะเป็นเผด็จการต้านพวกผู้ร้าย ไอ้พวกคนเลว อาชญากร ผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ ชีวิตพวกนั้นจะต้องลำบากแน่”

“I have to take care of the country. Of course, I will listen to human rights… but you cannot deter me, not even the United Nations”

“ผม (กู) จะต้องดูแลประเทศนี้ แน่นอนผม (กู) จะรับฟังใส่ใจสิทธิมนุษยชน… แต่พวกคุณ (พวกมึง) หยุดผม (กู) ไม่ได้หรอก แม้แต่สหประชาชาติก็หยุดผม (กู) ไม่ได้”

 

ปัดโธ่! ทำไมมันยอกย้อนอย่างนี้

แต่อย่างน้อยคนฟิลิปปินส์จำนวนมากก็รู้ตัว รู้ว่า election นี้ เป็น erection ทางอารมณ์ ที่เดี๋ยวก็ซาเดี๋ยวก็เฟดและเฟล เดี๋ยวก็เปลี่ยนแปลงผันแปรไปตามเทรนด์และสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นเช่นเดิม ความกลัวความไม่แน่นอนและความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยมักทำให้ผู้คนสนองตอบตัวเลือกและการตัดสินใจตรงหน้าด้วยสัญชาตญาณดิบ

after all นี่คือศตวรรษแห่งความกลัวและความรู้สึกอับจนหมดหนทาง เช่นเดียวกับไวมาร์?

ไม่ได้จะบอกว่าการเลือกตั้งจะนำพามาซึ่งประชาธิปไตย เป็นข้อยุติอันสวยหรู แต่การหันไปใช้อำนาจคุมบังเหียน คุมคลื่นลมอารมณ์แห่งมวลมหาประชาชนคนเดินดินจะส่งผลเสียมากกว่าการปล่อยให้เป็นไปตามครรลอง หากจะล้มเหลวก็ล้มเหลวและเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ล้มล้างระบอบที่สามารถให้โอกาสผู้คนได้แสดงความคิดเห็นและความรู้สึกอันหลากหลายออกมาร่วมกัน

เพราะสิ้นคิดหรือคิดขบถ? คุณจะยังจะแปลกใจอยู่มั้ยว่าทำไมผู้คนจำนวนมากถึงเลือกดิกอง?

เช่นเดียวกับคำขึ้นต้นเวลานั่งดูซีรียส์ต่าง ๆ “Previously on Filipino Election” เรื่องราวต่อมาจะเป็นเช่นไร ขอเชิญชวนให้มาร่วมฟังเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองการเมืองประเทศเพื่อนบ้านแล้วย้อนดูตัว

แม้ “ดิกอง คือ ดิกอง” ตัวพ่อแห่งความหยาบกร้านและความไม่น่าจะเป็นแต่กลับกลายเป็นฝันร้ายที่เกิดขึ้นจริง

แต่ในบ้านของเรา การมโนว่า “ปรองดอง คือ ปรองดอง” นั้นร้ายแรงกว่ามาก เชื่อเถอะ

คิดแล้วช่างแสนจะสะท้านทรวงเสียเหลือเกิน… จะ จะ จะ จ้าาาา

 

อ้างอิง

http://time.com/4300382/rodrigo-duterte-philippines-daughter-rape-sara-inday-president-jacqueline-hamill/

http://newsinfo.inquirer.net/784974/i-will-be-a-dictator-vs-bad-guys-duterte

http://news.abs-cbn.com/halalan2016/nation/regions/10/14/15/look-sara-duterte-shaves-her-head-change

https://www.theguardian.com/sport/2016/may/10/manny-pacquiao-philippine-elections-senate

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท